นำร่อง PLC-SLC ลดความเหลื่อมล้ำเชิงคุณภาพการศึกษาใน กทม.

นักการศึกษา เดินหน้า ‘บางรักโมเดล’ พัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน โรงเรียน กทม. เตรียมขยายผลดึงครูเข้าร่วมกระบวนการจัดการเรียนรู้ กระตุ้น นร.เกิดการเรียนรู้อย่างเต็มศักยภาพ คาดภายใน 2 ปี ขยายไปยังทุกเขต ใน กทม.  

จากการลงพื้นที่สำรวจปัญหาและการจัดการโรงเรียนใน กทม. พบว่านักเรียนมีความหลากหลายทั้งเชื้อชาติ สัญชาติ ศาสนา โดยมีภูมิหลังเป็นครอบครัวยากจน พ่อแม่หาเช้ากินค่ำ ไม่มีเวลาดูแลมากนัก  ปัญหาที่ตามมาคือการย้ายออกจากโรงเรียนกลางคัน  ส่งผลให้การเรียนรู้ไม่ต่อเนื่อง ถือเป็นโจทย์ใหญ่ที่ กทม. และบุคลากรในแวดวงการศึกษาจะต้องเร่งแก้ปัญหา

ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า คนมักมองข้ามโรงเรียน กทม. หรือมองว่าไม่มีคุณภาพ ทั้งที่โรงเรียนเหล่านี้สามารถผลิตเด็กเก่งเข้าโรงเรียนสังกัด สพฐ. ได้เป็นจำนวนมาก โดยเตรียมความพร้อมให้กับเด็กตั้งแต่ระดับอนุบาล 1 ถึง ป.6 จนกลายเป็นต้นทุนที่ดีส่งไปยังโรงเรียนใหญ่ ที่สำคัญโรงเรียน กทม. ถือเป็นโรงเรียนของชุมชนเป็นโรงเรียนที่ปล่อยทิ้งไว้ข้างหลังไม่ได้  

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาเกือบ 6 ปี ทางทีมการศึกษาได้ลงไปทำโครงการพัฒนา PLC ร่วมกับโรงเรียน กทม. เช่น โรงเรียนวัดหัวลำโพง  ซึ่งมีการอัพเดทกิจกรรมอย่างต่อเนื่องจนเห็นผลสัมฤทธิ์จากการทำกระบวนการ เริ่มต้นด้วยการเลือกพื้นที่และชวนผู้บริหารและครูเข้าร่วมการทำกระบวนการนี้ และติดตามอย่างต่อเนื่องโดย PLC คือ Professional Learning Community หรือชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ ซึ่งเป็นการรวมตัวร่วมมือกันของครู ผู้บริหาร นักการศึกษาในโรงเรียน และผู้ปกครอง เพื่อพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียนเป็นสำคัญ ทั้งด้านวิชาการและด้านสังคม

นอกจากนี้ ยังถือเป็นการพัฒนาแบบ Going together คือการเติบโตไปด้วยกัน ผ่านการเรียนรู้กันและกัน ครูจะคุยกันเรื่องการเรียนรู้ของเด็ก แต่ละคนเรียนรู้อย่างไร การอ่าน การเรียนรู้ของเด็กอย่างไร สิ่งเหล่านี้จะส่งผลให้ครูหาวิธีการที่อยู่บนฐาน ‘วิชาการ’กับ ‘ประสบการณ์’ สองอย่างรวมกันแล้วมาลองแก้ปัญหาช่วยกัน ว่าจะทำอย่างไรได้บ้างและหาวิธีปรับจูนจนเหมาะสมพอที่จะช่วยเด็กซึ่งอันนี้คือหัวใจสำคัญ

“ถ้าครูได้คุยกันเรื่องเด็ก ก็จะเหมือนการเอ็กซเรย์เด็ก 180 องศา ทำให้เห็นทุกมุม และพอเราทำแบบนี้กับคุณครูจนเป็นวัฒนธรรมโรงเรียน หลายโรงเรียนคุยกันก็เลยกลายเป็นว่าครูทั้งโรงเรียนรู้จักเด็กหมด เพราะคุยกันเรื่องเด็กทุกวันจากการประชุมแบบ PLC และจริง ๆ กทม. มีโรงเรียนที่ทำอะไรคล้าย ๆ แบบนี้อยู่แล้ว หลังจากนี้เราก็มาทบทวนกันก่อน ว่ามีโรงเรียนไหนที่ทำแบบนี้อยู่แล้วบ้าง ปัดฝุ่นกันหน่อยเพราะช่วงโควิดสองปีมีการปิดโรงเรียนไป ภายในเทอมนี้ก็คงจะเริ่มกลับมาปรับกันกับโรงเรียนกลุ่มที่เคยทำงานร่วมกัน

ผศ.อรรถพล กล่าวถึงเป้าหมายว่า อยากทำกระบวนการนี้กับโรงเรียนใน กทม. ขนาดเล็ก เพราะเวลาคุยเรื่อง SLC หรือ School as Learning Community  โรงเรียนในฐานะชุมชนแห่งการเรียนรู้ เป็นการคิดถึงการออกแบบชั้นเรียน บทเรียน โดยคำนึงถึงความแตกต่างของเด็ก ซึ่งทำให้พัฒนาไปไวมาก โดยมีต้นทุนเรื่องความสัมพันธ์ในองค์กร ที่พร้อมจะสนับสนุนเด็ก นอกจากนี้ยังมีแรงบีบเพราะโรงเรียนเล็ก จะถูกตั้งคำถามเชิงคุณภาพ และนิยามความหมายของคำว่าโรงเรียนที่มีคุณภาพไม่ควรมีแบบเดียว อีกทั้งมีแผนจะทำร่วมกับ สพฐ. แต่ ปรากฏว่า ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. คนปัจจุบัน มีนโยบายที่ว่าด้วยเรื่องการเรียนรู้ จึงถือเป็นโอกาส ในการส่งเสริมนโยบายโรงเรียนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

“ผู้ว่าฯ ก็ประกาศนโยบาย พร้อมตกลงร่วมกันว่าจะทำเป็นโมเดลเขต ซึ่งโรงเรียนวัดหัวลำโพงก็จะเป็นแม่ข่ายและช่วยเชื่อมโยงกับเรา มีการเวิร์กช็อปด้วยกัน รองผู้ว่าฯ ศานนท์ ก็มาอยู่ด้วยและมาดูว่าแต่ละโรงเรียนเป็นอย่างไร ก็เลยเกิดคอนเซปต์ว่าถ้าอย่างนั้นเรามาทำให้มันเป็นโมเดลของเขตได้ไหม นั่นคือบางรักโมเดล

ผศ. อรรถพล กล่าวอีกว่า การออกแบบชั้นเรียน บทเรียน โดยคำนึงถึงความแตกต่างของเด็กเพื่อจะลดช่องว่างของความไม่เท่ากันในทางเชิงกายภาพ ความสามารถ ถือเป็นการลดความเหลื่อมล้ำเชิงคุณภาพของการเรียนรู้ ซึ่งโรงเรียนจะช่วยกันอุดรูรั่วให้เด็ก  กล่าวได้ว่านี่เป็นเครื่องมือสำคัญ แม้บริบทโรงเรียนไม่เหมือนกัน แต่เดินหน้าไปด้วยเป้าหมายเดียวกัน

“ไม่ได้คาดหวังว่า 437 โรงเรียนของกรุงเทพมหานครจะต้องเป็นแบบนี้ทั้งหมดภายในระยะเวลาสี่ปี อันนั้นมันคิดภาพฝันที่ไกลหน่อย แต่เราอยากเห็นอย่างน้อยทุกเขตมีโรงเรียนแบบนี้ปรากฏตัวให้เห็นเป็นหย่อม ๆ ขึ้นมาอย่างน้อยซักเขตละ 3 โรงเรียน ในเทอมหน้าพร้อมจะเคลื่อนไปด้วยกันระหว่างโรงเรียนเขตบางรักใหม่  5 โรงเรียนกับโรงเรียนที่มีต้นทุนเดิมประมาณ 12 -13 โรงเรียน ก็จะกลายเป็นว่า กทม. อาจจะมีประมาณ 18 โรงเรียน

นอกจากนี้ ยังตั้งเป้าว่าภายในสามปีนี้ทุกเขตจะมีโรงเรียนแบบนี้ให้เห็น นอกจากนี้ อาจจะขยายนอกจากทำงานอยู่ในพื้นที่โรงเรียนแล้ว อยากจะมีเครือข่ายสถาบันฝึกหัดครูที่มีต้นทุนทำงานเรื่องเหล่านี้ มาร่วมกับโรงเรียนเกาะกลุ่มเรียนรู้ไปด้วยกัน  ซึ่งเป็นการทำงานทั้งแนวดิ่งและแนวราบควบคู่ไป

ด้าน อารีวรรณ เพชรเลิศ ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดหัวลำโพง กล่าวว่า ทางโรงเรียนทำการพัฒนา PLC ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาประมาณ 2 ปี เห็นว่ากระบวนการที่โรงเรียนและคุณครูทำต่างจากที่เคยเห็น มีการจับคู่ระหว่างคุณครู  คอยตั้งคำถามซึ่งตอนแรกยังไม่รู้ว่าสิ่งนี้คืออะไร จนได้เข้ามาอบรมความรู้ ทำให้เข้าใจรูปแบบรายละเอียดมากยิ่งขึ้น กระบวนการนี้คือการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กร ของครูโดยให้ครูทุกคนมีเป้าหมาย และทิศทางไปในทางการเรียนการสอนเหมือนกัน ด้วยการตั้งวงคุยกันเรื่องเด็ก เพื่อสอนและพัฒนาในมิติใหม่ของการเรียนรู้ ปัจจุบัน

“เป็นรูปแบบของชุมชนแห่งการเรียนรู้ เรามองว่ามันเป็นมิติใหม่ของการเรียนการสอนและเป็นความท้าทายอีกรูปแบบหนึ่ง  ครูมาคุยกันเรื่องของเด็ก เราเลยมองว่าตรงนี้มันสามารถที่จะทำต่อ และก็นำมาพัฒนาการเรียนการสอน  พัฒนาครูด้วย พัฒนาเด็กด้วย และตัวผู้บริหารเรียนรู้ไปด้วยกัน  แล้วมองว่าสิ่งนี้น่าจะต้องสานต่อ

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active