พร้อมดำเนินการตามกฎหมาย ลูกหนี้โดนคดีแล้วสามารถแปลงหนี้ใหม่ได้ทุกราย
สืบเนื่องจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ได้พิจารณากรณีวุฒิสภาแก้ไขเพิ่มเติมร่าง พ.ร.บ. กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ …) พ.ศ. … เสร็จสิ้นไปแล้วเมื่อปลายปีที่ผ่านมา และเตรียมนำร่าง พ.ร.บ. กยศ. ฉบับนี้ ขึ้นทูลเกล้าฯ และประกาศใช้ โดยรายละเอียดนั้นเป็นการกลับไปกำหนดให้มีดอกเบี้ยไม่เกิน 1% และเบี้ยปรับในอัตราไม่เกิน 0.5% ท่ามกลางการตั้งคำถามของ ส.ส. บางส่วนที่ไม่สนับสนุนในเรื่องนี้
ในขณะที่ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ได้เตรียมความพร้อมดำเนินการตามกฎหมายใหม่แล้ว โดย ชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ได้เปิดเผยว่าขณะนี้ร่างพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ตามร่าง พ.ร.บ. ที่แก้ไข กองทุนจะคิดดอกเบี้ยในอัตราไม่เกินร้อยละ 1 ต่อปี อัตราเบี้ยปรับกรณีผิดนัดชำระไม่เกินร้อยละ 0.5 ต่อปี ไม่ต้องมีผู้ค้ำประกันในทุกกรณี และช่วยเหลือผู้กู้ยืมที่อยู่ระหว่างดำเนินคดีหรืออยู่ระหว่างการบังคับคดีให้สามารถผ่อนผันการชำระเงินคืน ปรับโครงสร้างหนี้ แปลงหนี้ใหม่ หรือระงับการชำระเงินคืนตามเงื่อนไขที่คณะกรรมการกองทุนกำหนด
“กฎหมายใหม่ดังกล่าวจะสามารถช่วยเหลือผู้กู้ยืมที่ถูกดำเนินคดีแล้ว จะสามารถแปลงหนี้ใหม่ เพื่อให้กลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติ กองทุนขอยืนยันว่าจะดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อช่วยเหลือและให้โอกาสทุกคน และจะเป็นหลักประกันของทุกครอบครัวว่าเด็กทุกคนที่เกิดมาในประเทศนี้จะมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาได้ทุกคน…”
โดยระยะเวลาการผ่อนชำระต้องคำนึงถึงรายได้ และความสามารถในการชำระเงินคืนของผู้กู้ยืม แต่ต้องไม่เกิน 15 ปี หลังจากปลอดหนี้ 2 ปี ผู้กู้ยืมสามารถผ่อนชำระเงินคืนเป็นงวดรายเดือน รายไตรมาส หรือรายปีได้ กรณีที่ผู้กู้ยืมมีหนี้ค้างชำระให้ทำการตัดชำระหนี้จากเงินต้นก่อนดอกเบี้ย และเบี้ยปรับตามลำดับ รวมถึงอาจมีมาตรการจูงใจหรือลดหย่อนเงินต้นเพื่อให้ผู้กู้ยืมเงินไม่ผิดนัดชำระเงิน สามารถคืนเงินได้
โดยก่อนหน้านี้ มีการตั้งคำถามของ ส.ส. บางส่วนที่ไม่สนับสนุนในเรื่องนี้ อย่างเช่น พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ อภิปรายว่า ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขร่าง พ.ร.บ. กยศ. ของวุฒิสภา เนื่องจากการแก้ไขร่าง พ.ร.บ. กยศ. ที่กลับไปกำหนดให้มีดอกเบี้ยไม่เกิน 1% และเบี้ยปรับในอัตราไม่เกิน 0.5% ซึ่งแตกต่างจากร่าง พ.ร.บ. กยศ. ของสภาผู้แทนราษฎรที่กำหนดให้ไม่ต้องมีดอกเบี้ย ไม่ต้องมีเบี้ยปรับ และไม่ต้องมีผู้ค้ำประกันนั้น เป็นการขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 54
ทั้งนี้ ยังมองว่ารัฐธรรมนูญในมาตรานี้ ซึ่งในหมวดหน้าที่ของรัฐ บัญญัติว่า ให้ตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ นั่นคือ รัฐธรรมนูญมีเจตนาให้มีการเรียนฟรีสำหรับผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ ซึ่งเป็นเรื่องของทุนการศึกษา ไม่ใช่ทุนกู้ยืม