แนะปฏิรูปงบฯการศึกษา ทุ่ม 770 ล้านบาท ช่วย นักเรียนในพื้นที่ห่างไกล 

งานวิจัยระบุ โรงเรียนขนาดเล็กโดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกลบนเขา ต้องใช้ต้นทุนสูง กว่าโรงเรียนในพื้นที่ราบ กสศ. เสนอปรับสูตรคำนวณการจัดสรรงบประมาณ  ตามความจำเป็นของนักเรียน และความเฉพาะของพื้นที่

วันนี้ (29 พ.ค.2566) รศ.ชัยยุทธ  ปัญญสวัสดิ์สุทธิ์   อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และหัวหน้าโครงการงานวิจัยแนวทางการจัดทำงบประมาณในลักษณะบูรณาการด้านการศึกษาเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ) กล่าวว่า โรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกล ที่ตั้งอยู่นอกเขตเทศบาล ผู้ปกครองส่วนใหญ่มีฐานะยากจน ทำให้มีจำนวนนักเรียนยากจน พิการ และพักนอนสูงกว่าโรงเรียนในพื้นที่ราบ โรงเรียนจึงมีค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาสูงขึ้น แม้ว่าภาครัฐจะอุดหนุนนักเรียนเหล่านี้อยู่แล้ว แต่ข้อมูลจากแบบสำรวจเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาสถานศึกษาขนาดเล็กของคณะวิจัย แสดงให้เห็นว่าโรงเรียนมีค่าใช้จ่ายจากแหล่งอื่น เช่น จากผู้ปกครอง จากชุมชน และรวมถึงจากครู สำหรับใช้ในการจัดการศึกษาให้กับนักเรียน

“ยิ่งไปกว่านั้นโรงเรียนยังมีความเสียเปรียบจากลักษณะภูมิประเทศทำให้โรงเรียนมีต้นทุนในการบริหารจัดการสูงกว่าโรงเรียนในพื้นที่ราบ ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนการทำอาหารให้กับนักเรียน ค่าเดินทางในการติดต่อราชการ การเดินทางไปโรงเรียนของครู และค่าขนส่งวัสดุและครุภัณฑ์”

จากข้อค้นพบจากงานวิจัยจึงมีข้อเสนอการปฏิรูปอัตราการอุดหนุนโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกล 4 ข้อ 

1.​การอุดหนุนเพิ่มเติมตามความจำเป็นของนักเรียน

-นักเรียนทุกคน ​​​150 บาท/คน

-นักเรียนยากจน ​​​150 บาท/คน

-นักเรียนพิการเรียนรวม ​​150 บาท/คน

-นักเรียนพักนอน ​​​700 บาท/คน

2.​การอุดหนุนเพิ่มเติมตามความแตกต่างของลักษณะภูมิประเทศ

-โรงเรียนบนเกาะ /สันเขา /พื้นที่สูง ​​​​300 บาท/คน

-โรงเรียนในพื้นที่ชายแดนไม่เกิน 10 กิโลเมตร ​​400 บาท/คน

-โรงเรียนในอำเภอที่ติดชายแดนและห่างจากชายแดนมากกว่า 10 กิโลเมตร 450 บาท/คน

3.​การอุดหนุนเพิ่มเติมตามขนาดโรงเรียน

-โรงเรียนขนาด 41-50 คน ​​450  บาท/คน

-โรงเรียนขนาด 51-60 คน ​​250  บาท/คน

-โรงเรียนขนาด 61-70 คน ​​200 บาท/คน

-โรงเรียนขนาด 71-100 คน​ ​150 บาท/คน

-โรงเรียนขนาด 101-120 คน ​​100 บาท/คน

4.การอุดหนุนเพิ่มเติมตามความขาดแคลนบุคลากร

ค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรถูกจำแนกออกเป็น ค่าใช้จ้างในการจ้างครูอัตราจ้าง และค่าใช้จ่ายในการจ้างบุคลากรสายสนับสนุน (ธุรการ ภารโรง อื่น ๆ)คณะวิจัยกำหนดให้ค่าจ้างครูอัตราจ้างเป็น 180,000 บาท/คน/ ปี (หรือเดือนละ 15,000 บาท) ซึ่งเป็นอัตราสำหรับครูบรรจุใหม่หรือผู้ที่มีวุฒิการศึกษาในระดับปริญญาตรี  อย่างไรก็ดี เงินเดือนที่กำหนดนี้สูงกว่าค่าใช้จ่ายที่ใช้จ้างจริงในบางพื้นที่ ซึ่งไม่สามารถหาครูที่มีวุฒิ หรือเป็นโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในชุมชนที่มีฐานะยากจน ทำให้การระดมทรัพยากรจากชุมชนได้ค่อนข้างจำกัด

ส่วนค่าใช้จ่ายในการจ้างบุคลากรสายสนับสนุน กำหนดให้เท่ากับค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อเดือนของบุคลากรกลุ่มนี้ ข้อมูลจากการสำรวจในปีงบประมาณ 2564 พบว่าโรงเรียนจ้างบุคลากรสายสนับสนุนเฉลี่ยเดือนละ 9,899 บาท

โดยคาดว่า หากมีการอุดหนุนตามแนวทางที่นำเสนอ รัฐต้องใช้งบประมาณเพิ่มกว่า 770 ล้านบาท ในการอุดหนุนโรงเรียนจำนวน 907 โรง  โดยงบประมาณที่ใช้กว่า 92.8 % เป็นงบประมาณในการอุดหนุนตามความขาดแคลนของบุคลากร นอกจากนี้แล้วยังมีโครงการครูรักษ์ถิ่น ที่คาดว่าจะสามารถเข้ามาอุดช่องว่างของปัญหาที่ส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำได้ 

ปัจจุบันสถานการณ์โรงเรียนขนาดเล็ก สังกัด สพฐ. จำนวน 29,117 แห่งทั่วประเทศมีโรงเรียนที่มีนักเรียนไม่เกิน 120 คน จำนวน 14,660 แห่ง หรือกว่า 50.35% จากนักเรียนทั้งหมด 6.5 ล้านคน จะมีนักเรียนในโรงเรียนขนาดเล็กนี้ราว 963,432 คน 

ขณะที่ข้อมูลสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)  (ณ วันที่ 10 มิ.ย. 2564) พบว่า ประเทศไทยมีโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกล (มีนักเรียนไม่เกิน 120 คน) ตั้งอยู่บนพื้นที่สูงบนดอย พื้นที่สันเขา บนเกาะ หรือตั้งในอำเภอติดชายแดน    จำนวน 1,092 โรงมีนักเรียน  81,036 คน  

ที่ผ่านมา โรงเรียนทุกแห่งในประเทศไทยได้รับงบประมาณเพื่อใช้ในการจัดการเรียนการสอนในอัตราเดียวกันสำหรับในแต่ละระดับการศึกษา โดยใช้สูตรการจัดสรรแบบเดียวกันทั้งประเทศ งบประมาณที่แต่ละโรงเรียนได้รับจะขึ้นกับจำนวนนักเรียนเป็นหลัก ดังนั้นโรงเรียนขนาดใหญ่ที่มีนักเรียนมากจะได้เงินสนับสนุนโดยรวมมาก  โรงเรียนที่มีนักเรียนน้อยจะได้เงินสนับสนุนในภาพรวมน้อย โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็กซึ่งมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนที่สูง เนื่องจากไม่ได้รับผลของการประหยัดต่อขนาด (Economy of Scale) เหมือนกับโรงเรียนขนาดใหญ่   

โรงเรียนขนาดเล็กมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยที่ 54,947 บาท/คน และมีการประหยัดต่อขนาด (Economy of Scale) ในช่วงขนาดที่ไม่เกิน 100 หมายความว่าเมื่อโรงเรียนมีขนาดใหญ่ขึ้น ค่าใช้จ่ายรวมต่อหัวจะลดลง ยกเว้นในโรงเรียนขนาด 100 – 120 คน ที่ค่าใช้จ่ายต่อหัวจะเพิ่มขึ้น เมื่อโรงเรียนมีขนาดใหญ่ขึ้น

หากพิจารณาโรงเรียนขนาดเล็กตามลักษณะภูมิประเทศ พบว่าโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ชายแดนที่ห่างจากชายแดนมากกว่า 10 กิโลเมตรมีค่าใช้จ่ายต่อนักเรียนสูงที่สุด(48,315 บาท/คน) รองลงมาเป็นโรงเรียนในพื้นที่ราบ (48,189 บาท/คน) โรงเรียนบนพื้นที่สูง (44,849บาท/คน)  โรงเรียนในพื้นที่ชายแดนไม่เกิน 10 กิโลเมตร (43,001 บาท/คน)  โรงเรียนบนเกาะ (41,239 บาท/คน) และโรงเรียนบนสันเขา (40,239 บาท/คน) ตามลำดับ

เมื่อไม่รวมค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร โรงเรียนพื้นที่ห่างไกลมีค่าใช้จ่ายต่อหัวสูงกว่าโรงเรียนพื้นที่ราบในขนาดที่เท่ากัน โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายเพื่อนักเรียนด้อยโอกาส (ยากจน พิการ พักนอน) และค่าอาหาร

สูตรการจัดสรรงบประมาณในปัจจุบันจึงไม่ได้ช่วยทำให้คุณภาพของโรงเรียนมีความใกล้เคียงกัน แต่กลับทำให้ช่องว่างของความเหลื่อมล้ำกว้างขึ้น อีกทั้งทำให้โรงเรียนขนาดเล็ก โรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลยิ่งเสียเปรียบ ไม่สามารถจัดการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพ ทั้งที่โรงเรียนเหล่านี้มักต้องดูแลเด็กกลุ่มเปราะบางในสัดส่วนที่สูงและมีปัญหาในหลายมิติ แต่งบประมาณกลับไม่ได้มีการปรับตัวตาม

ล่าสุด เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2565  คณะรัฐมนตรีมีมติให้ความเห็นชอบการปรับเงินอุดหนุนรายหัวตามความจําเป็นพื้นฐาน เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้เรียนและเพิ่มศักยภาพสถานศึกษาในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน แต่การปรับเพิ่มส่วนใหญ่เป็นการให้เงินอุดหนุนแบบไม่เจาะจงและไม่เป็นการจัดสรรตามความจําเป็นของโรงเรียนหรือนักเรียนด้อยโอกาสตามหลักความเสมอภาคทางการศึกษา

เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในมิติการศึกษาได้อย่างยั่งยืน  ภาครัฐควรให้ความสำคัญกับการปฏิรูปการจัดสรรงบเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (Equity-based Budgeting) ซึ่งไม่ใช่การจัดสรรงบประมาณด้วยสูตรเดียวกันทั้งประเทศ แต่ใช้หลักการเน้นความจำเป็นของนักเรียน ความแตกต่างของพื้นที่ ขนาดของโรงเรียน และความขาดแคลนของบุคลากร   มาคิดคำนวณอยู่ในสูตรการจัดสรรงบประมาณด้วย

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active