สวนโมกข์กรุงเทพ จัดกิจกรรมวันอาสาฬหบูชา เปิดตู้จัดแสดง ตรีรตนะ สัญลักษณ์ของพระรัตนตรัยอายุกว่า 2,300 ปี ยืนยันหลักฐานว่า แผ่นดินไทยคือสุวรรณภูมิที่มีอารยธรรมมาอย่างยาวนาน
1 ส.ค. 2566 หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ หรือ สวนโมกข์กรุงเทพ จัดกิจกรรม อาสาฬหบูชา “จุดเริ่มต้นของตรีรัตนะ” เนื่องในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นวันเกิดขึ้นของพระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ครบเป็นครั้งแรก โดยกิจกรรมประกอบด้วย การทำบุญตักบาตร ทำวัตร ฟังธรรม เวียนเทียนในสวน ร่วมประดิษฐานตรีรัตนะ และภาวนารูปแบบต่าง ๆ
นพ.บัญชา พงษ์พานิช ผู้อำนวยการ กรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการมูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ (สวนโมกข์กรุงเทพ) บรรยายรายละเอียดของนิทรรศการ ‘ตรีรัตนะ’ ว่า เดิมการที่จะปวารณาเป็นพุทธมามกะ จะต้องกล่าว ไตรสรณะคม แปลว่า พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่ง โดยกล่าว 3 ครั้ง เพื่อให้นึก ระลึก และย้ำถึงความศรัทธา เมื่อจะมีการสร้างอะไรเพื่อเป็นสัญลักษณ์ เป็นตัวแทนพระธรรม สมัยนั้นไม่ได้มีการสร้างพระพุทธรูป และไม่ได้เป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้าสนับสนุน ท่านอยากให้ระลึกถึงพระธรรมมากกว่าบุคคล จึงมีการสร้างตรีรตนะขึ้นมาในภายหลัง
‘ตรีรัตนะ’ ประกอบด้วยดอกบัวบานในวงกลม มีเปลวพุ่งขึ้นไปเป็น 3 ยอด ทำนองว่าการตรัสรู้ของพระพุทธองค์ ทำให้เกิดรัตนะทั้งสามขึ้นในโลก มีหลากหลายรู้แบบ เรียกกันอย่างแพร่หลายในเวลานี้ว่า Triratana Symbol เป็นเครื่องหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนามาแล้วตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 3-4 และยังมีหลักฐานว่าพระเจ้าอโศกมหาราช ได้จัดทำให้เป็นที่ห้อยติดตัว เพื่อเป็นเครื่องหมายแสดงตนในฐานะพุทธศาสนิกชน และนึกถึงพระรัตนตรัยเมื่อเห็นสัญลักษณ์นี้ หรือในอีกกรณีใส่อยู่ในผอบเก็บพระธาตุเพื่อสักการะบูชา
“ศ.ฮิมานชูประภาเรย์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเยาวราลเนห์รูห์ ประเทศอินเดีย เธอบอกว่าในสมัยการเกิดพุทธศาสนาใหม่ ๆ ส่งผลต่ออินเดียมาก เพราะยุคอินเดียโบราณมี 4 ชนชั้น คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร แต่พระพุทธเจ้าท่านมีแนวปฏิบัติให้มนุษย์ทุกคนเสมอกันในการเรียนรู้และเข้าถึงธรรม ไม่ว่าคุณจะมาจากชนชั้นไหน แต่เมื่อมาบวชแล้ว ทุกคนเท่าเทียมกัน นับความอาวุโสในทางธรรม ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในอินเดีย โดยคนที่แสวงหาอิสรภาพในทางโลกและทางธรรม ก็มุ่งเข้ามาพุทธศาสนา ยังพบว่ามีพ่อค้าจำนวนมากก็มุ่งสู่สังคมพุทธด้วย”
ในประเทศไทย ท่านพุทธทาสภิกขุได้ไปศึกษาธรรมที่ประเทศอินเดีย และได้นำแบบของตรีรตนะมาสร้างจำลองไว้ที่สวนโมกข์ไชยา หรือวัดธารน้ำไหล จ.สุราษฎร์ธานี เมื่อ 50 ปีที่แล้ว และเมื่อครั้งก่อสร้างสวนโมกข์กรุงเทพ ก็ได้อัญเชิญมา 1 องค์ และในโอกาสครบรอบ 12 ปีสวนโมกข์กรุงเทพ จึงมีการนำไปประดิษฐานอย่างเป็นทางการที่พระศรีมหาโพธิ์พุทธชยันตี บริเวณสวนรถไฟ เป็นหนึ่งในสัญลักษณ์สำคัญทางพุทธศาสนา นอกจากธรรมจักร ดอกบัว ที่คนหลายคนอาจจะไม่รู้จัก
ส่วนหลักฐานการค้นพบตรีรตนะเก่าแก่ในประเทศไทย มีการระบุว่าขุดพบโดยชาวบ้านในพื้นที่ภาคใต้ ช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา ทั้งตรีรตนะที่เป็นเหมือนจี้ห้อยคอ และยังมีเบ้าหล่อ ที่ชี้ว่านอกจากจะมีอยู่แล้ว ไทยยังมีการผลิตด้วย มีการส่งออกด้วย รวมไปถึงการค้นพบลูกปัดโบราณ เครื่องใช้โบราณต่าง ๆ บริเวณชายหาด พื้นที่คอคอดกระ เช่น ชุมพร ระนอง พังงา และเมื่อตรวจสอบกับผู้เชี่ยวชาญแล้วพบว่าเป็นตรีรตนะเก่าแก่ อายุราว ๆ 2,300 ปี ยืนยันความสัมพันธ์ของไทยกับอินเดียโบราณว่า หลังจากพุทธกาลไม่นาน ก็มีการเผยแผ่พุทธศาสนามาถึงไทย สนับสนุนหลักคิดเรื่องสุวรรณภูมิว่ามีอยู่จริง ไม่ใช่เรื่องเลื่อนลอย
“สุวรรณภูมิมีจริงไหม หลายคนตั้งคำถาม แต่วันนี้ไม่เลื่อนลอยแล้ว จากหลักฐานสิ่งที่เจอยืนยันว่าสุวรรณภูมิมีจริง ชายหาดบางกล้วย จ.ระนอง เมื่อ 5-6 ปีที่แล้ว ก็พบไม้กาบเรือโบราณ จากการศึกษากรมศิลปากร หาค่าอายุด้วยคาร์บอน พบว่ามีอายุกว่า 2,000 ปี เก่าแก่ที่สุดของเอเชียตะวันออกเชียงใต้ ที่ใกล้กันยังพบตราทองคำสลักอักษรพราหมีโบราณ ซึ่งเป็นอักษรที่เก่าที่สุดของอินเดีย แปลเป็นภาษาไทยว่า สิ่งนี้เป็นตราของนักเดินเรือ คาดว่าจัดทำขึ้นตั้งแต่สมัยพุทธศตวรรษที่ 7 แปลว่าอาจจะมีการเดินเรือทำการค้าแล้วตายที่นี่ เรือร่มที่นี่ ยืนยันความเชื่อมโยงการมาถึงของตรีรตนะในประเทศไทย ซึ่งหลังจากชาวบ้านค้นพบก็ได้ส่งต่อมาให้ เก็บไว้เป็นคลัง เพื่อให้ประชาชนได้ศึกษาถึงหลักฐานของสุวรรณภูมิ และหากมีโอกาสก็อยาจะทำพิพิธภัณฑ์จัดแสดงอย่างจริงจัง”
นพ.บัญชา กล่าวถึงความตั้งใจในการจัดแสดงตรีรตนะในครั้งนี้ว่า มีจุดประสงค์ 1. เพื่อให้ชาวเราทั้งหลาย (ไม่ใช่เฉพาะพุทธศาสนิกชน) ได้รู้ว่า พระพุทธศาสนามาถึงแผ่นดินนี้เนิ่นนานกว่า 2,000 ปีเป็นแน่แล้ว และผู้คนในแผ่นดินนี้รู้จัก ใช้ สามารถผลิตตรีรตนะเองได้ด้วย เพื่อให้เราได้รู้ และมั่นใจ ว่าพุทธศาสนาตั้งมั่น ลงราก และแผ่ขยายให้เราได้เรียนรู้ และนำมาใช้ในชีวิตเป็นพัน ๆ ปีแล้ว
2. การทำความเข้าใจบริบททางประวัติศาสตร์ของพื้นที่ ว่าจริง ๆ แล้วพื้นที่ประเทศไทย และอาเซียน ไม่ใช่บ้านป่าเมืองเถื่อน แต่คนที่นี่รู้จักรับพุทธศาสนาตั้งแต่เมื่อ 2,000 กว่าปีที่แล้ว เป็นหน่วยหนึ่งของสุวรรณภูมิมายาวนานกว่า 2,000 ปีแล้ว และสุวรรณภูมิที่ว่า พุทธศาสนาก็มีอารยธรรมมากพอ ร่วม ๆ กับสมัยของอารยธรรมโบราณของโลก ไม่ว่าจะกรีก อินเดียโบราณ อียิปต์โบราณ แม่น้ำฮวงโห และแยงซีเกียง พร้อมย้ำว่า “อาเซียนเราก็เป็นหนึ่งในฮับทางอารยธรรมของโลก”
โดยตรีรตนะจะจัดแสดงตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 31 สิงหาคมนี้ นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมอื่น ๆ ที่น่าสนใจอีกมากมาย เช่น ล้อมวงสวนโมกข์เสวนา หัวข้อ “ธรรมจักรของพระองค์หมุนไปทุกโลกโดยไม่มีใครต้านทานได้” อานาปานสติภาวนา โดย พระอาจารย์จักรี จักกวโร วัดธารน้ำไหล จ.สุราษฎร์ธานี ฝึกสมาธิด้วยศิลปะระบายสีน้ำ “Mandala” ศิลป์ภาวนา : ดอกบัวและกุหลาบใบเตยภาวนา Retreat Breath & Emotional Vibration Frequency Healing ณ ห้องนิพพานชิมลอง ชั้น 2 ฝึกสมาธิผ่านลมหายใจและฝึกผ่อนคลายอย่างลึกไปกับคลื่นเสียงบำบัด ส่วนกิจกรรมช่วงสุดท้าย คือบรรยายธรรม และเวียนเทียนในสวน ท่ามกลางบรรยากาศธรรมชาติ ภาวนาใต้แสงจันทร์ กับพระครูวินัยธร นวลจันทร์ กิตติปัญโญ และทีมศิลปิน และปฏิบัติบูชา “เพ็ญภาวนา ชาคริยานุโยค” โดย อาสากลุ่มอยู่เย็นเป็นประโยชน์ เวลานี้ ต่อเนื่องจนถึงเวลา 22.00 น. ณ สวนโมกข์ กรุงเทพฯ