สวนโมกข์กรุงเทพฯ ร่วมกับ กลุ่มแยกขยะกันเถอะ จัดกิจกรรมทางศาสนาควบคู่การจัดการขยะ เพื่อเป็นต้นแบบวัดไทยไร้ขยะ หลังพบว่ามีขยะจำนวนมากเกิดขึ้นในวันทำบุญใหญ่
วันนี้ (1 ส.ค. 2566) หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ หรือ สวนโมกข์ กรุงเทพฯ จัดกิจกรรม อาสาฬหบูชา “จุดเริ่มต้นของตรีรัตนะ” เนื่องในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เป็นวันเกิดขึ้นของพระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ครบเป็นครั้งแรก โดยมีกิจกรรม ทำบุญตักบาตร ทำวัตร ฟังธรรม เวียนเทียนในสวน ร่วมประดิษฐานตรีรัตนะ และภาวนารูปแบบต่าง ๆ ซึ่งนอกจากจะเป็นกิจกรรมเชิงศาสนาแล้ว ยังมีกิจกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม ด้วยการจัดตั้งสถานีแยกขยะ ในโครงการพุทโธ zero waste
ชณัฐ วุฒิวิกัยการ หรือ ก้องกรีนกรีน เจ้าของโครงการพุทโธ zero waste กล่าวว่า โครงการนี้เกิดขึ้นโดยความร่วมมือของ กลุ่มแยกขยะกันเถอะ ร่วมกับสวนโมกข์กรุงเทพฯ ตั้งแคมเปญ พุทโธ zero waste วัดไทยไร้ขยะ เพื่อเป็นต้นแบบการแยกขยะในวัด หรือสถานที่ปฏิบัติธรรมให้วัดอื่น ๆ ทั่วประเทศได้รู้วิธีในการแยกขยะ และเอาไปใช้ประโยชน์ได้ ที่ผ่านมาพบว่าขยะที่เกิดจากในวัดไม่น้อย เพราะงานบุญที่รวมคนจำนวนมาก และแต่ละคนก็เอาของมามีบรรจุภัณฑ์มากมายที่ติดมาด้วย รวมไปถึงขยะเศษอาหารที่เหลือจากการเลี้ยงอาหาร ใส่บาตรเลี้ยงพระ ถ้ามีการแยกอย่างมีประสิทธิภาพจะช่วยลดปริมาณขยะในภาพรวมได้มาก
ซึ่งได้มีการออกแบบประเภทถังขยะให้ละเอียดมากที่สุด อย่างแรกคือเศษอาหาร เพื่อสอดรับกับขยะที่จะเกิดขึ้นในวัดและหาทางไปให้ขยะ ถ้าอยู่ใกล้กับเกษตรกรก็จะให้เอาไปเป็นอาหารสัตว์ ถ้าอยู่ในเขตกรุงเทพฯ ก็จะเข้าร่วมโครงการไม่เทรวม ต่อมาก็ประเภทขยะรีไซเคิลทั้งหมด แยกประเภท ชนิดออกมาย่อย ๆ ตั้งแต่ขวดพลาสติกใส แก้วกาแฟ กล่องพลาสติกใส่อาหาร กระดาษ กล่องนม โลหะ แก้ว ที่รีไซเคิลได้จะเป็นสีเหลือง ถ้าคนมาเป็นอาสา หรือคนที่จะเข้าร่วมกิจกรรมก็จะพูดสั้น ๆ ว่า ‘รีไซเคิลได้สีเหลืองเลยครับ’
ต่อมีคือ ขยะพลังงาน ถังสีฟ้า เช่น ซองขนม ถุงแกง หลอด เหล่านี้รีไซเคิลไม่ได้แต่นำไปเป็นพลังงานได้ ส่วนขยะติดเชื้อจะเป็นสีแดง เป็นหลักสากล สุดท้ายคือขยะทั่วถังสีน้ำเงิน เช่น อะไรที่เลอะไม่ล้าง กล่องอาหาร ถุงใส่อาหาร ให้ใส่ถังนี้ แต่เราอยากจะให้มีการล้างขยะให้มากที่สุดเพื่อนำไปแยกประเภทได้ จุดแยกขยะจึงใกล้จุดล้างจาน ทั้งนี้ได้มีการประหยัดน้ำด้วยการใช้กะละมัง คือแบ่งเป็น กะละมังน้ำยาล้างจาน กะละมังล้างน้ำเปล่า คอนเซปต์ง่าย ๆ คือ จุ่ม-จุ่ม-จบ
“เรียกว่าเป็นการทำบุญแบบ 360 องศา เพราะนอกจากจะเอาของมาทำบุญทำทานแล้ว ยังได้ช่วยจัดการขยะให้วัดด้วย เพราะถ้าขยะไปตกค้างในหลุมฝังกลบก็จะเป็นการสร้างบาปโดยไม่รู้ตัว ทั้งผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ธรรมชาติ หรือสัตว์ที่เผลอกินเข้าไป… เราจะมีการให้ข้อมูลด้วยว่าขยะจะไปที่ไหนบ้าง โดยเอากิมมิกของการเกิดใหม่มาใช้ เชื่อมกับหลักพุทธศาสนาเวียนว่ายตายเกิด ต้องการสื่อว่าขยะถ้าเราแยกดี ๆ น้องสามารถไปเกิดใหม่หมุนเวียนการใช้ประโยชน์ได้ ไม่ใช่ตกค้างอยู่บนโลก ซึ่งน้องจะเกิดใหม่ได้ก็ด้วยน้ำมือเราทุกคนเนี่ยแหละ เพราะเราเป็นคนเอาน้องเข้ามาที่วัด”
ชณัฐ วุฒิวิกัยการ
ก้องกรีนกรีน กล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งสำคัญของการแยกขยะคือ การบอกให้ทุกคนทำขยะให้สะอาด เอาเศษอาหารออกจากถุงพลาสติก กล่องพลาสติก บรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ เพราะด้วยความเคยชินของคนทั่วไป กินทุกอย่างแล้วก็จะยัดขยะที่เหลือรวมกันหมด เราก็ต้องบอกเขาว่าต้องแยกอีกรอบ และทำความสะอาดก่อนทิ้ง โชคดีที่เราทำในวัด บรรยากาศก็เลยค่อนข้างเอื้อต่อการเรียนรู้ ใจเย็นที่จะรับฟัง ช่วงแรก ๆ คนอาจจะงงนิดหน่อย
“ทุกวัดสามารถร่วมกิจกรรมแบบโครงการนี้ได้ เพราะคนมาวัดก็มีจิตกุศลอยู่แล้ว คนเกิดความร่วมมือง่าย และอาจจะนำกลับไปทำให้ที่บ้าน ที่ทำงาน ชีวิตส่วนตัวของเขา อยากเชียร์ให้วัดทำกิจกรรมแบบนี้เยอะ ๆ เพราะมีพลังมากกว่าที่คิด มีหลายคนที่มาแล้วบอกว่าจะเอาไปให้ที่อื่น ๆ ด้วย หรือเข้ามาเป็นเครือข่ายกลุ่มแยกขยะกันเถอะ จากจุดเริ่มต้นตรงนี้”
ชณัฐ วุฒิวิกัยการ
จุฑารัตน์ วินโกมินทร์ต อาสาสมัครกิจกรรมพุทโธ zero waste บอกว่า อยากหากิจกรรมดี ๆ ให้ลูก ๆ มีส่วนร่วม หยุดหลายวันเลยมาร่วมสร้างประโยชน์ ที่บ้านมีการแยกขยะอยู่แล้ว พอเห็นกิจกรรมนี้ก็ลองสมัครมาดู พาลูกมาด้วยเด็กก็สนุก ซึ่งที่นี่มีการแยกละเอียดมากกว่าที่บ้าน ทำให้ได้นำความรู้ไปปรับใช้เพิ่มเติมด้วย โดยพบว่าขยะในสถานปฏิบัติธรรมมีจำนวนมาก แทนที่จะทิ้งทั้งหมด 100% การแยกจะสามารถช่วยให้เอาไปทำประโยชน์ได้ ถ้าเราไปงานไหนแล้วเห็นขยะถูกทิ้งเยอะ ๆ รู้สึกเสียใจไม่อยากให้มันไปอยู่ในหลุมฝังกลบ อยากจะมีส่วนร่วมทำอะไรด้วยบ้าง หรือไปบางงานที่มีการแยกขยะจริงจัง ก็รู้สึกดีใจ คิดว่าถ้าคนเราใส่ใจเรื่องนี้กันมากขึ้นก็จะช่วยได้
อามองดีน โชส อาสาสมัครกิจกรรมพุทโธ zero waste วัย 8 ขวบ เล่าว่า การทำกิจกรรมนี้สร้างความสนุกให้กับเธอ โดยมองว่าการแยกขยะไม่ใช่เรื่องยาก เป็นการประหยัดงบประมาณ และช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม
“ก็แค่ไม่ทิ้งรวมกัน แค่แยกสิ่งต่าง ๆ ออกมาจากกันแค่นั้นเอง แยกเศษอาหารออกจากถ้วยจาน ถ้ามีถังขยะอันเดียวไม่แยกจะเปลืองเงินซื้อถุงพลาสติกมาใส่ขยะ และทำให้โลกร้อนด้วย แต่ถ้าแยกแล้วขยะในถังก็จะน้อยลง ที่โรงเรียนก็แยกแต่ไม่มาก อยากให้ทุกที่แยกขยะเยอะ ๆ การเผาขยะจะน้อยลง อากาศก็จะดีขึ้นด้วย อยากจะชวนเพื่อนมาร่วมทำกิจกรรมที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม โดยจะเริ่มชวนเขาว่า เธออยากแยกขยะให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้นไหม”
อามองดีน โชส
สำหรับวัดในที่สนใจเข้าร่วมโครงการพุทธโธ zero waste สามารถติดต่อได้ที่ พุทโธ zero waste หรือบุคคล หน่วยงานทั่วไปที่สนใจ สามารถเรียนรู้แนวทางการแยกขยะ และแบบฟอร์มการแยกขยะ ได้ที่ facebook group ชื่อกลุ่ม ‘เราแยกขยะกันเถอะ(กลุ่มใหม่)’