พล.ต.อ. เพิ่มพูน ฝากนโยบายการศึกษา “เรียนดี มีความสุข” ชูเรียนฟรี-มีงานทำ คืนชีพ 1 นักเรียน 1 แท็บเล็ต หวังช่วยแก้ความเหลื่อมล้ำ พร้อมแก้หนี้ครู สส.ก้าวไกล เสนอต้องส่งเสริมรูปแบบและวิธีการเรียนรู้การจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสมต่อการใช้อุปกรณ์ด้วย
วันนี้ (14 กันยายน 2566) พล.ต.อ. เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นำประชุมมอบนโยบายการศึกษา และแนวทางการขับเคลื่อนนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” โดยชูนโยบายเรียนฟรี-มีงานทำผ่านแนวคิด Learn to Earn พร้อมหนุนอุปกรณ์ทางการศึกษาให้กับครูและนักเรียน เช่น แจกแท็บเล็ต พร้อมเสนอแนวทางแก้หนี้ข้าราชการครู ระบุครูต้องช่วยลดค่าใช้จ่าย พอกินพอใช้
พล.ต.อ. เพิ่มพูน กล่าวว่า ผู้ที่มีโอกาสจะมีสื่อการเรียนการสอนที่มีคุณภาพมากกว่า ขณะที่เด็กด้อยโอกาสจะขาดแคลน จึงจำเป็นต้องมีการจัดหาอุปกรณ์การเรียน อย่างแท็บเล็ตเพื่อสร้างความเท่าเทียมทางการศึกษา ถ้าซื้อไม่ได้อาจต้องเช่า หรือ ยืม หรือทำด้วยวิธีการใดวิธีหนึ่ง ย้ำว่าพื้นฐานแล้ว สื่อการสอนต้องมีก่อน โดยยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลางขับเคลื่อนแนวนโยบาย ทำให้นโยบายเพื่อนักเรียนและผู้ปกครอง จะเน้นที่เรื่องของการแก้ไขความเหลื่อมล้ำเป็นหลัก ดังนี้
- เรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา
- เรียนฟรี มีงานทำโดยยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง
- มีระบบหรือแพลตฟอร์มการเรียนรู้ โดยผู้เรียนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย
- ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาด้วยนโยบาย 1 นักเรียน 1 Tablet
- พัฒนา 1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ
- สร้างระบบแนะแนวการเรียน (Coaching) และเป้าหมายชีวิต
- จัดทำระบบวัดผลรับรองมาตรฐานวิชาชีพ (Skill Certifcate) เพื่อให้ผู้เรียนสามารถเรียนเพิ่มเติมเพื่อรับประกาศนียบัตรในการประกอบอาชีพ
- จัดทำระบบวัดผลเทียบระดับการศึกษาและประเมินผลการศึกษา เพื่อให้ผู้เรียนที่มีความสามารถเป็นเลิศไม่ต้องเสียเวลาในระบบ
- สร้างระบบให้นักเรียนมีรายได้ระหว่างเรียน จบแล้วมีงานทำ (Learn to Earn)
พล.ต.อ. เพิ่มพูน กล่าวต่อว่า อีกด้านหนึ่งจะเป็นนโยบายเพื่อช่วยเหลือครูและบุคลากรทางการศึกษาเป็นหลัก มุ่งหวังให้ครูได้มีคุณภาพชีวิตและสามารถสอนหนังสือได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยนโยบายหลักที่เกี่ยวข้องกับครูมีดังนี้
- ปรับวิธีการประเมินวิทยฐานะครูและบุคลากรทางการศึกษา ลดขั้นตอนมุ่งผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน
- นำครูและบุคลากรทางการศึกษาคืนถิ่นภูมิลำเนา ด้วยความโปร่งใส ไม่มีการซื้อขายตำแหน่ง
- แก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา ตลอดจนจัดหาอุปกรณ์การสอนและสวัสดิการ (1 ครู 1 Tablet)
ในประเด็นเกี่ยวกับการแก้ไขหนี้สินครู พล.ต.อ. เพิ่มพูน มองว่าควรมีการทำสื่อให้ความรู้ในการวางแผนค่าใช้จ่าย ให้รู้จักออม รู้จักใช้เงิน นำเอาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในหลักการ พร้อมปลูกฝังครูบรรจุใหม่ป้องกันปัญหาหนี้สิน ทั้งนี้ ยังได้นำเอาปรัชญาในการใช้หนี้ สมัยทำงานตำรวจมากล่าวในที่ประชุมอย่างเช่น ‘ไม่เบี้ยว ไม่หนี ไม่มี ไม่จ่าย ไม่ตาย’ แนะว่าให้ช่วยเหลือกันก่อน
“ผมว่าครูไม่แตกต่างจากตำรวจที่อยากฆ่าตัวตาย แต่ครูโชคดีหน่อยที่ไม่มีปืนใกล้ตัว (เจ้าหน้าที่ในห้องประชุมหัวเราะ) ก็เลยไม่ฆ่าตัวตาย แต่อย่างไรก็ตามไม่ฆ่าตัวตายก็ดีแล้ว ต้องช่วยกัน ซึ่งกระบวนการในช่วยกันก็คือศึกษาปัญหาต่าง ๆ อย่างเช่น เวลาไปสอนอาจจะรวมรถไปสอน แล้วก็อยู่ในความพอเพียง จะไปงานแต่งงานใส่ซอง แก้ค่านิยมเรื่องนี้ มี 20 ก็ใส่ 20 ไม่มีก็ไม่เป็นไร ก็ไปช่วยเขาล้างจาน”
พล.ต.อ. เพิ่มพูน ชิดชอบ
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีการรายงานผลการดำเนินงานของกระทรวงศึกษาธิการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ระบุว่า ทาง ศธ. ได้ร่วมมือกับหน่วยงานและสถาบันการเงินแก้ไขปัญหาหนี้สินครู ซึ่งมีครูได้รับการปรับโครงสร้างหนี้ 132,876 ราย ด้วยงบประมาณทั้งสิ้น 141,715 ล้านบาท
ขณะที่ ปารมี ไวจงเจริญ สส. พรรคก้าวไกล ได้ให้ความเห็นต่อนโยบายแจกแท็บเล็ตไว้ว่า ตนไม่เห็นแย้งกับหลักการเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ แต่กังวลในประเด็นของการจัดสรรงบประมาณ การจัดซื้อจัดจ้างที่ไม่โปร่งใส และรัฐจะต้องจัดหาสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่มีประสิทธิภาพ-ครอบคลุม ทั้งแนะว่า ไม่ควรมุ่งเน้นไปที่การได้รับอุปกรณ์การเรียนแต่เพียงอย่างเดียว แต่ต้องส่งเสริมรูปแบบการจัดการเรียนการสอน และวิธีการเรียนรู้ที่เหมาะสมต่อการใช้อุปกรณ์เหล่านั้นด้วย
“ท่านไม่ควรใส่ใจเพียงการนำเข้าหรือการบริโภคเทคโนโลยีการศึกษาสมัยใหม่จากต่างประเทศเท่านั้น แต่ท่านควรส่งเสริมให้ภาครัฐผลิตเทคโนโลยีทางการศึกษา ที่ทันสมัยทัดเทียมต่างประเทศขึ้นใช้เองภายในประเทศ และท่านควร สนับสนุนให้ EDTECH ของคนไทยซึ่งมีคนไทยที่เก่ง ๆ อยู่มากมาย”
ปารมี ไวจงเจริญ