ขยับแล้ว! สกศ. ปัดฝุ่นร่าง พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ เล็งปรับให้ทันสมัย

ก้าวไกลหวั่นเนื้อหาขัดต่อพัฒนาการการเรียนรู้-วัดผลไม่ได้จริง เตรียมงัดร่างใหม่สู้ในสภาฯ รอดูท่าทีเพื่อไทยหลังเคยคัดค้านเมื่อสมัยที่แล้ว

วันนี้ (18 ตุลาคม 2566) มติชนออนไลน์รายงานว่า อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้ตั้งคณะกรรมการยกร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ โดยจะนำร่างเก่าในสมัยรัฐบาลที่แล้วนำมาทบทวนและแก้ไขเฉพาะในส่วนที่ขัดแย้ง เนื่องจากหลักการส่วนใหญ่ในร่างเดิม ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว จึงจะปรับปรุบเฉพาะบางประเด็น โดยจะทำประชาพิจารณ์ควบคู่ไปด้วยเพื่อให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน

อรรถพล เผยว่า นอกเหนือการยกร่าง พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติแล้ว จำเป็นต้องมีการจัดทำกฎหมายลูกเพื่อหนุนกฎหมายแม่ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยได้บทเรียนจากตอนจัดทำ พ.ร.บ. ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ.2566 ที่ออกกฎหมายลูกล่าช้าทำให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติ (ก่อนหน้านั้น กรมส่งเสริมการเรียนรู้ยังไม่เป็นนิติบุคคล ยังไม่มีอำนาจในการบริหารงบประมาณอย่างเบ็ดเสร็จ) จึงเร่งออกกฎหมายลูกกว่า 17 ฉบับ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับสิทธิประโยชน์ของข้าราชการครู

“จะทบทวนประเด็นที่ล้าหลัง เพราะร่างเดิมมีข้อครหาว่าไม่ทันสมัยเท่าที่ควร ประกอบกับโลกยุคปัจจุบัน การศึกษาเปลี่ยนแปลงไปมาก ดังนั้น จึงต้องดูพื้นฐานการผลิตคนเพื่อสร้างประเทศ โดยจะไม่ได้เน้นเฉพาะเรื่องเทคโนโลยีเท่านั้น แต่จะเน้นเรื่องการสร้างคนที่มีคุณธรรม จริยธรรม คู่ขนานไปกับการทักษะการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อให้สามารถผลิตคนที่มีคุณภาพ เหมาะสมกับโลกในยุคอนาคต”

อรรถพล สังขวาสี
No photo description available.
ภาพ: ประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา

ด้าน ปารมี ไวจงเจริญ​ สส. บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล คณะกรรมาธิการการศึกษา แสดงความเป็นกังวลต่อการยกร่างกฎหมายดังกล่าว เนื่องจากเนื้อหาของร่างกฎหมายนี้มีสาระสำคัญที่ขัดต่อการส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็ก วัดผลไม่ได้จริง และไม่ยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยเฉพาะในมาตรา 8 ว่าด้วยการจัดหลักสูตรการศึกษา ที่กำหนดเป้าหมายให้เด็กในแต่ละช่วงวัย ต้องบรรลุคุณสมบัติประการต่างๆ รวมกันกว่า 100 ข้อ ปารมี เห็นว่าเสมือนเป็นการตีกรอบยัดเด็กใส่กล่อง

นอกจากนี้ ปารมี ยังกังวลถึง การมอบอำนาจแบบเบ็ดเสร็จแก่ คณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ หรือ Super Board ที่ไม่มีความเชื่อมโยงกับประชาชน เน้นตัวแทนจากระบบราชการเป็นหลัก ไม่มีตัวแทนนักเรียน ครู หรือผู้ปกครอง แต่กลับมีอำนาจกำหนดคุณสมบัติต่าง ๆ ในร่างกฎหมายซึ่งจะส่งผลกระทบต่อทุกคนในระบบการศึกษา

“ทางก้าวไกลเราเห็นด้วยต่อการมี พ.ร.บ. การศึกษาฉบับใหม่ แต่ไม่เห็นด้วยเลยต่อเนื้อหาร่าง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว ในสิ้นเดือนตุลาคมนี้เราเตรียมที่จะปล่อยร่างกฎหมายการศึกษาแห่งชาติ เราจะเน้นไปที่การกระจายอำนาจในโรงเรียน ให้โรงเรียนมีสภาพเป็นนิติบุคคล สามารถจัดการศึกษาได้ตามบริบทของตัวเองโดยเต็มที่”

ปารมี ไวจงเจริญ
May be an image of 1 person and newsroom

ทั้งนี้ พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ เป็น 1 ในนโยบายที่ถูกเสนอโดยพรรคเพื่อไทยที่แถลงกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง แต่กลับไม่ปรากฏอยู่ในคำแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อรัฐสภา โดยก่อนหน้านี้เมื่อสมัยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ เพื่อไทยเคยได้คัดค้านร่าง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวไว้ว่า “เนื่องจากเนื้อหาไม่สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงการศึกษาของโลก อีกทั้งยังมีจุดเริ่มต้นมาจากแนวคิดการรวบอำนาจจนเคยชินของพลเอกประยุทธ์”

ซึ่งทางพรรคเพื่อไทยได้เสนอให้สภาพิจารณาฉบับปรับปรุงโดย กมธ. การศึกษาร่วมด้วย แต่การพิจารณาร่างกฎหมายยังคงตกค้างไร้ข้อสรุปมาจนถึงสมัยรัฐบาลเศรษฐา และต้องจับตาต่อไปว่าอนาคตของ พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ ในวาระนี้จะไปต่ออย่างไร

Nem érhető el leírás a fényképhez.

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active