กยศ. แจงกรณี นศ. พยาบาลไม่ได้รับอนุมัติเงินกู้ เผยพบความผิดปกติของข้อมูล อยู่ระหว่างตรวจสอบและรอการชี้แจงจากทางสถานศึกษา ยัน หากคุณสมบัติครบ ได้กู้ทุกคน
29 พ.ย. 2566 กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ชี้แจงกรณีนักศึกษาพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยกาญจนาภิเษก ศรีสะเกษ ได้ยื่นหนังสือร้องทุกข์กับศูนย์ดำรงธรรม จังหวัดศรีสะเกษ ว่ายังไม่ได้รับอนุมัติเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา ด้านกองทุนฯ พบความไม่สอดคล้องของข้อมูลและพบความผิดปกติในการยื่นขอกู้ยืม ขณะนี้กองทุนฯ กำลังตรวจสอบและรอการชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมจากทางสถานศึกษา
ชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เผยว่า จากกรณีข้อร้องเรียนของนักศึกษาพยาบาลข้างต้น ทางกองทุนได้พบ “ความไม่สอดคล้องกัน” ของข้อมูลการยื่นกู้ยืม เช่น ผู้กู้ยืมบางรายแจ้งว่าไม่ทราบข้อมูลของบิดามารดา และเมื่อกองทุนฯ ขอข้อมูลเพิ่มเติม บางรายแจ้งว่าไม่สะดวกในการเตรียมเอกสาร นอกจากนั้นผู้รับรองรายได้บางราย มีการรับรองรายได้ให้กับครอบครัวของผู้กู้ยืมหลายคนที่มีภูมิลำเนาต่างจังหวัดกัน และเมื่อกองทุนฯ ติดต่อไปยังเบอร์ที่ให้มาก็ไม่สามารถติดต่อได้
นอกจากนี้ ยังพบความผิดปกติของจำนวนการขอยื่นกู้ของมหาวิทยาลัยดังกล่าว โดยในแต่ละปีมีจำนวนผู้ยื่นขอกู้เพิ่มมากขึ้นทุกปี ดังนี้
- ปีการศึกษา 2564 มีผู้ยื่นขอกู้ยืมจำนวน 9,199 ราย
- ปีการศึกษา 2565 มีผู้ยื่นขอกู้ยืมจำนวน 14,937 ราย
- ปีการศึกษา 2566 มีผู้ยื่นขอกู้ยืมจำนวน 23,136 ราย
ซึ่งผู้กู้ที่ได้ยื่นขอกู้ยืมเงินในปี 2566 ได้รับการอนุมัติให้กู้ยืมเงินแล้ว จำนวน 16,313 ราย คงเหลือยังไม่อนุมัติให้กู้ยืม จำนวน 6,823 ราย เนื่องจากได้ตรวจสอบพบว่าในกลุ่มที่ยังไม่อนุมัตินี้เป็นผู้ที่มีงานทำไปแล้ว 2,644 ราย ซึ่งไม่เป็นไปตามคุณสมบัติของการกู้ยืม
ทั้งนี้ กองทุนได้กำหนดคุณสมบัติของผู้กู้ยืมเงิน ได้แก่
- มีสัญชาติไทย
- ศึกษาหรือได้รับการตอบรับให้เข้าศึกษาอยู่ในสถานศึกษาที่ร่วมดำเนินงานกับกองทุน
- เป็นผู้ขอกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาในการเข้าศึกษาที่สถานศึกษาเพียงแห่งเดียวในคราวภาคการศึกษาเดียวกัน
- มีผลการเรียนดีหรือผ่านเกณฑ์การวัดและประเมินผลของสถานศึกษา
- มีความประพฤติดี ไม่ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของสถานศึกษาขั้นร้ายแรงหรือไม่เป็นผู้ที่มีความประพฤติเสื่อมเสีย
กองทุนได้กำหนดลักษณะต้องห้าม ได้แก่
- ไม่เป็นผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีในสาขาใดสาขาหนึ่งมาก่อน
- ไม่เป็นผู้ปฏิบัติงานและรับเงินเดือนหรือค่าจ้างประจำในหน่วยงานของรัฐหรือเอกชนในลักษณะเต็มเวลา เว้นแต่จะได้กำหนดเป็นอย่างอื่นในคุณสมบัติเฉพาะสำหรับการให้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาลักษณะหนึ่งลักษณะใด
- ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย
- ไม่เป็นหรือเคยเป็นผู้ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกเว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
- ไม่เป็นหรือเคยเป็นผู้ที่ผิดนัดชำระหนี้กับกองทุน เว้นแต่ได้ชำระหนี้ดังกล่าวครบถ้วนแล้ว ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบและรอการชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมจากทางสถานศึกษา
ชัยณรงค์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ทางกองทุนได้แจ้งกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ซึ่งเป็นต้นสังกัดของสถานศึกษาให้ทราบแล้ว โดยกองทุนฯ และเจ้าหน้าที่ของทางกระทรวง อว. จะลงพื้นที่เพื่อไปตรวจสอบและรับฟังคำชี้แจงของสถานศึกษาในสัปดาห์หน้า
อย่างไรก็ตาม กองทุนฯ ขอยืนยันว่า ผู้กู้ยืมที่มีคุณสมบัติครบถ้วน ไม่มีลักษณะต้องห้ามและดำเนินการตามระเบียบที่กองทุนกำหนดจะมีสิทธิได้กู้ยืมอย่างแน่นอน
ส่วนกรณีผู้กู้ยืม กยศ. ที่ถูกบังคับคดีและกำลังถูกดำเนินการยึดทรัพย์ ทาง กยศ. ยืนยันว่า หน่วยงานไม่ได้นิ่งนอนใจต่อประเด็นดังกล่าว จะเร่งดำเนินแก้ไขปัญหาลูกหนี้ทุกราย โดยเฉพาะกลุ่มลูกหนี้ที่ถูกฟ้องและอยู่ในการดูแลของกรมบังคับคดีราว 46,000 ราย ซึ่งจะมีการคำนวณให้แล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนธันวาคมปี 2566 โดยอัตโนมัติ ขณะที่กลุ่มลูกหนี้ทั่วไปที่ไม่ได้ถูกบังคับคดี อีกราว 3.5 ล้านราย กำลังอยู่ในขั้นตอนการคำนวณ ซึ่งคาดจะแล้วเสร็จในพฤษภาคมปี 2567 โดยหลังจากนี้จะมีการเปิดให้ลงทะเบียนเพื่อยืนยันการปรับโครงสร้างหนี้ในต้นปี 2567 ขอให้ผู้กู้ยืมรอประกาศและรายละเอียดอย่างเป็นทางการ และติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด