ยังไร้การยืนยันจาก อว. ผ่านงบฯ หนุนค่าสมัครสอบ TCAS67 ผู้เข้าสอบอาจต้องสำรองจ่ายเองไปก่อน แม้รองนายกฯ เคยประกาศไว้ว่าสมัครฟรี
วันนี้ (20 มีนาคม 2567) ทาง The Active ได้ติดต่อสอบถามกับ รศ.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ ผู้จัดการระบบการคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา (TCAS) ของที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ตามที่ ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มอบนโยบายให้ ทปอ. เปิดข้อสอบของปีเก่าเพื่อลดความเหลื่อมล้ำนั้น ทาง ทปอ. ยินดีให้ความร่วมมือ เล็งนำร่องที่การสอบ TGAT/TPAT ธันวาคม 2567 ที่จะเป็นการสอบครั้งแรกที่ผู้เข้าสอบสามารถนำกระดาษคำถามกลับบ้านได้
รศ.ชาลี ระบุว่า หลังสอบเสร็จ จะมีการเฉลยคำตอบภายใน 1 สัปดาห์ แต่ไม่เฉลยวิธีทำ โดยให้เหตุผลว่า ใน 1 โจทย์คำถามนั้น มีวิธีการพิสูจน์หรือมีกระบวนการหาคำตอบที่มากกว่า 1 วิธี หากเข้าไปกำหนดวิธีทำ จะเป็นการบังคับกรอบวิธีคิดแก้ไขปัญหาของผู้เข้าสอบซึ่งจะขัดต่อกระบวนการเรียนรู้ได้ แต่หลังสอบเสร็จ ผู้เข้าสอบจะมีเวลา 2 สัปดาห์เพื่อท้วงติงเฉลยและข้อสอบได้ โดยข้อโต้แย้งทั้งหมดจะถูกส่งไปที่คณะกรรมการพิจารณา เพื่อลงมติว่าจะมีการแก้ไขเฉลยหรือยืนยันคำตอบเช่นเดิมหรือไม่ และเมื่อสิ้นสุดกระบวนการท้วงติงแล้ว ก็จะนำกระดาษคำตอบเข้าเครื่องลงคะแนน และประกาศผลคะแนนภายใน 1 เดือนหลังสอบเสร็จ
ทั้งนี้ ทปอ. ยืนยันว่าจะเริ่มเฉลยข้อสอบตั้งแต่ปี 2568 เพราะปีก่อนหน้าได้ตั้งข้อตกลงกับผู้ออกข้อสอบไว้แล้วว่าจะไม่มีการเปิดเผยข้อสอบ ดังนั้น เฉลยข้อสอบที่เก่าที่สุดคือข้อสอบปี 2568 และจะไม่มีการเฉลยหรือเปิดเผยข้อสอบของปีก่อนหน้านั้น
“ที่ผ่านมา ทปอ. เคยมีนโยบายที่จะไม่เปิดเผยข้อสอบเก่า เพราะจะนำข้อสอบเก่าที่มีคุณภาพดี มีอำนาจในการจำแนกผู้เข้าสอบได้ดี มาปรับใช้ใหม่ในรูปแบบคลังข้อสอบ จึงไม่เฉลยข้อสอบ แต่เมื่อรัฐมนตรีว่าการ อว. ขอความร่วมมือมา ทปอ.ก็เห็นด้วยว่าจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ เด็ก ๆ สามารถเข้าถึงข้อสอบได้โดยไม่ต้องเข้าหาติวเตอร์ เราก็ยินดี ซึ่งก็จะต้องปรับคลังข้อสอบใหม่ โดยขอให้ผู้ออกข้อสอบออกข้อสอบจำนวนมากขึ้นมาเก็บในคลังข้อสอบ ซึ่งทุกอย่างก็ลงตัวแล้ว”
รศ.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์
ทางด้าน ศุภมาส ระบุว่า ในปีที่ผ่านมา มีการซื้อขายข้อสอบ หรือได้ข้อสอบมาจากโรงเรียนกวดวิชา สร้างรายได้จำนวนมากให้โรงเรียนกวดวิชาที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นในทุกพื้นที่ของประเทศ จนเป็นค่านิยมของสังคมไทยว่าจะเข้ามหาวิทยาลัยนี้ต้องเรียนจากโรงเรียนกวดวิชานี้เท่านั้น ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษามากขึ้นทุกปี หากมีการเปิดเผยข้อสอบนี้จะเกิดประโยชน์แก่คนทุกกลุ่ม ทั้งครูผู้สอนได้เนื้อหาข้อสอบไปปรับปรุงการสอน นักเรียนได้ฝึกฝนทักษะ และลดภาระทางเศรษฐกิจผู้ปกครองได้บ้าง
“ถือเป็นการเตรียมความพร้อมให้ลูกหลานได้เข้าถึงระบบอุดมศึกษาได้ง่ายขึ้น เป็นการนำอนาคตที่ดีมาไว้ในมือของเยาวชนได้อย่างทั่วถึง ขณะที่สถาบันอุดมศึกษาก็จะได้ผู้เรียนที่มีความพร้อมและศักยภาพที่จะเรียนจบในหลักสูตรเป็นกำลังสำคัญที่ตรงกับความต้องการของประเทศ”
ศุภมาส อิศรภักดี
ขณะที่ประเด็นการอุดหนุนค่าสมัครเพื่อเข้าเลือกคณะ (รอบที่ 3 Admission) ในระบบ TCAS ซึ่งทาง อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี เคยได้ประกาศไว้ว่าจะให้ทาง อว. ช่วยอุดหนุนเพื่อให้เด็กได้สมัครเลือกยื่นคะแนนในรอบที่ 3 อย่างไม่มีค่าใช้จ่าย ตอนนี้ยังไม่มีการยืนยันจากทาง อว. ว่างบประมาณดังกล่าวได้รับการอนุมัติแล้ว ด้าน รศ.ชาลี ระบุว่า ด้วยสถานการณ์พิจารณางบฯ ปี 2568 เป็นไปอย่างล่าช้า ไม่แน่ใจว่างบฯ ที่ใช้นั้นจะดึงจากงบฯ กลางด้วยหรือไม่ และด้วยความไม่ชัดเจนนี้ อาจส่งผลให้ผู้เข้าสอบอาจต้องสำรองจ่ายเองไปก่อน และนำไปเบิกย้อนหลังกับทาง อว. ด้วยตัวเอง
ทาง รศ.ชาลี อธิบายว่า หน่วยงาน ทปอ. เป็นการรวมตัวของอธิการบดีของแต่ละมหาวิทยาลัยเพื่อดูแลการรับสมัครเข้าเรียนในชั้นอุดมศึกษา มีลักษณะคล้ายกับมูลนิธิ จึงไม่อาจรับการจัดสรรงบฯ โดยตรงจากรัฐเพื่อไปจัดการค่าใช้จ่ายได้ แต่ตนมองว่า วิธีการที่ดีที่สุดเพื่อให้สะดวกต่อผู้เข้าสอบทุกคน คือการให้ผู้สมัครได้ลงทะเบียนเลือกคณะที่ต้องการยื่นคะแนนได้ฟรี แล้วเก็บเป็นเครดิตไว้ จากนั้น ทปอ. ก็จะใช้อำนาจหน้าที่แทนผู้สมัครสอบ นำเครดิตของผู้สมัครเหล่านั้นไปเบิกต่อภาครัฐ ซึ่งจะทำให้กระบวนการลดหย่อนค่าใช้จ่ายนั้นง่ายกว่าการผลักภาระให้นักเรียนเอาหลักฐานการจ่ายเงินกับ ทปอ. ไปเบิกโดยตรงกับ อว.
“ทาง ทปอ. ยังไม่ได้รับการยืนยันจากทาง อว. ในเรื่องการหนุนค่าสมัคร TCAS67 รอบ 3 ทำให้นักเรียนอาจต้องสำรองจ่ายไปก่อน ยืนยันว่า ทปอ. ไม่ได้เป็นหน่วยรับงบประมาณ แต่ทางเราก็ได้ตระเตรียมรับมือกับนโยบายที่ทาง อว. ประกาศ ถ้าได้งบฯ ทันก่อนสมัครรอบ 3 ก็ยินดีจัดระบบช่วยให้นักเรียนสมัครได้ฟรี แต่ถ้างบฯ ล่าช้า เราก็จะออกหลักฐานให้ทางผู้สมัครนำไปยื่นเบิกได้”
รศ.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์