เสนอแบ่ง 25% จาก “ดิจิทัลวอลเล็ต” หนุนเด็กไทย “เรียนฟรี”

สภาผู้บริโภค จัดเวที ‘เรียนฟรีต้องมีอยู่จริง’ รศ.ษัษฐรัมย์ มอง “สิทธิการศึกษาเรียนฟรี” ควรติดตัวเด็กเหมือน “สิทธิบัตรทอง” กมธ.ศึกษา พท. ชี้ ต้องแก้ พ.ร.บ.การศึกษาฯ ด้าน “รทสช.” รร.ต้องเลิกเก็บแป๊ะเจี๊ยะ ฝั่ง “พรรคประชาชน” แนะ การศึกษาต้องพัฒนาคู่เศรษฐกิจ

วันนี้ (24 ส.ค. 2567) ที่โรงแรม เดอะ บาซาร์ แบงค็อก ห้องรัชโยธิน แกรนด์ สภาองค์กรของผู้บริโภค เปิดพื้นที่เวทีสาธารณะ ร่วมกับ  ชวนทุกคนร่วมรับฟัง แลกเปลี่ยนความเห็น ‘เรียนฟรีต้องมีอยู่จริง’ สิทธิที่นักเรียนทุกคนควรได้รับตามรัฐธรรมนูญ โดยในช่วงเสวนา เรียนฟรี: เพราะอะไร ต้องทำอย่างไร ทำไมจึงยังไม่เกิดขึ้นจริง เนื่องจากเรียนฟรี 15 ปี ถูกบัญญัติไว้เป็นสิทธิพื้นฐานในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 เพื่อส่งเสริมให้เด็กทุกคนมีสิทธิเข้าถึงการศึกษาภาคบังคับอย่างมีคุณภาพโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่ปัจจุบันกลับพบปัญหาที่โรงเรียนหลายแห่งเรียกเก็บเงินบำรุงการศึกษา หรือค่าธรรมเนียมอื่น ๆ ทำให้ผู้ปกครองต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายส่วนนี้ และยังทำให้นโยบายสิทธิเรียนฟรีตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญยังไม่สามารถบังคับใช้ได้อย่างแท้จริง โดยมีตัวแทนจาก สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) นักวิชาการศึกษา กรรมาธิการฯ การศึกษา และตัวแทนพรรคการเมืองเข้าร่วม

ภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กล่าวว่า สิ่งที่รัฐสนับสนุนให้ คือ ค่าใช้จ่ายทางการศึกษา 5 ประการ คือ 1. ค่าจัดการเรียนการสอน 2. ค่าหนังสือ 3. ค่าอุปกรณ์การเรียน 4. เครื่องแบบนักเรียน 5. ค่ากิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ซึ่งจัดสรรให้นักเรียนทุกคนทั้งในสังกัด สพฐ. สังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) สังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และการศึกษาตามอัธยาศัย ที่อยู่ในการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งเป็นไปตามกฎหมาย แต่อย่างไรก็ตามใน 5 รายการนี้ จะมีการแบ่งรายละเอียดปลีกย่อยอีกประมาณกว่า 20 รายการ โดยในแต่ละปีจะมีแนวทางการสนับสนุนค่าใช้จ่ายทางการศึกษา ตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงมัธยม ซึ่งจะแจกจ่ายไปตามโรงเรียน ให้ถือเป็นแนวปฏิบัติ

ภูธร อธิบายรายละเอียดในแนวทางที่แจกให้ทางโรงเรียนว่า สถานศึกษาสามารถจัดการเรียนการสอนที่ไม่สามารถจัดเก็บเงินจากนักเรียนหรือผู้ปกครองได้ เนื่องจากรัฐได้จ่ายเงินงบประมาณอุดหนุนให้แล้ว ดังนี้ ค่าเล่าเรียน ค่าหนังสือเรียน ค่าอุปกรณ์การเรียน ค่าเครื่องแบบนักเรียน ค่าใช้จ่ายในการจัดกิจกรรมวิชาการปีละ 1 ครั้ง ค่าใช้จ่ายในการจัดกิจกรรมคุณธรรม ลูกเสือ เนตรนารี ยุวกาชาดปีละ 1 ครั้ง ค่าใช้จ่ายในการไปทัศนศึกษาปีละ 1 ครั้ง ค่าใช้จ่ายบริการอินเทอร์เน็ตตามหลักสูตร ค่าวัสดุศึกษา ค่าสอบ ค่าบริการห้องสมุด ค่าสมุดรายงานประจำตัวนักเรียน ค่าบริการห้องพยาบาล ค่าวัสดุสำนักงาน ค่าวัสดุเชื้อเพลิงหล่อลื่นต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการเรียนการสอน ค่าวัสดุงานบ้านเรือน อุปกรณ์ กีฬาซ่อมแซมครุภัณฑ์ สำหรับการเรียนการสอน ค่าใช้จ่ายในการดูแลนักเรียน ค่าบัตรประชาชนค่าปฐมนิเทศ ค่าวารสาร ฯลฯ 

ภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)

“ส่วนที่โรงเรียนสร้าง Option เสริมนั้น ผมก็มีลูก มีหลาน ในฐานะผู้ปกครองเราต้องการให้ลูกเราได้อะไรที่ดี ที่มีความพร้อม และสะดวกสบาย เราก็พยายามที่จะบริหารจัดการ อย่างกรณีค่าแอร์ ที่ถ้าหากเป็นการบริหารจัดการภาครัฐ ในระบบเรียนฟรี เราไม่สามารถจ่ายได้ เลยเกิดเป็นโปรแกรมพิเศษต่าง ๆ ที่โรงเรียนจัดขึ้น โดยมีระบบ ระเบียบ มีวิธีการบริหารจัดการเรื่องของค่าใช้จ่ายเหล่านั้น พอโรงเรียนจัดให้มีห้องโปรแกรมพิเศษขึ้น ส่วนหนึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่ามาจากความต้องการของผู้ปกครอง ความต้องการบริหารจัดการของโรงเรียนที่ต้องการให้เด็กเรียนดีขึ้นด้วย ต้องเป็นข้อตกลงร่วมกันหลายภาคส่วน แต่ถ้าโรงเรียนเปิดไม่มีเด็กเรียนก็ไม่สามารถเปิดได้ การเปิดห้องเรียนต้องมีคณะกรรมการ มีการประเมิน มีการพูดคุย ขออนุญาตไปยังกระทรวงศึกษาธิการ ต้องดูความพร้อมของโรงเรียน การที่โรงเรียนเรียกเก็บเพิ่มในส่วนนี้ต้องมาจากความยินยอมของผู้ปกครอง แต่คนที่ไม่พร้อมจ่ายก็จะมีประเด็นว่าอยากให้ลูกได้เรียน เลยเกิดเป็นประเด็นไปกู้เงินมาเพื่อเรียน เป็นปัญหาที่เราทราบดี และคุยกันว่าจะทำอย่างไรให้เกิดการขับเคลื่อนในทิศทางที่ดีและเกิดความพึงพอใจต่อกัน”

ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)

เสนอการศึกษาฟรีเป็น “สิทธิ” เหมือนบัตรทอง

รศ.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เวลาพูดถึงเรื่องการศึกษาฟรี ย้อนกลับเมื่อ 1 ปีที่แล้ว พรรคการเมืองทุกพรรค มีประเด็นนี้อยู่ในนโยบายหาเสียง  และไม่ใช่ครั้งแรกเพราะหาเสียงกันมาทุกการเลือกตั้ง แต่น่าสงสัยว่า เราสามารถพูดถึงเรื่องคมนาคมขนส่งฟรีได้ เราสามารถพูดถึงเรื่องการรักษาพยาบาลที่ซับซ้อน ก็ยังสามารถทำให้ฟรีได้ แต่การศึกษาซึ่งเป็นบริการทางสังคมที่เก่าแก่ที่สุดของมนุษยชาติ กล่าวง่าย ๆ ว่า เรามีโรงเรียนมาก่อนการผ่าตัดมะเร็ง โรงเรียนมาก่อนรถไฟฟ้า แต่เรายังไม่สามารถที่จะทำให้โรงเรียนฟรีได้

“เมื่อ 2 ปีก่อนผมได้ร่วมมือกับเด็ก ๆ ทำแคมเปญเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยเรียนฟรี น่าแปลกใจว่ามีคนต่อต้าน มองว่าเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องเพ้อเจ้อ ทำไม่ได้จริง และโจมตีว่าข้อเรียกร้องเหล่านี้จะทำให้คนขี้เกียจ สิ่งที่ได้นำมาเสนอในวันนี้ คือการทำการเรียนฟรีตั้งแต่ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ไปจนถึงระดับมหาวิทยาลัย ขอย้ำว่าเป็นสิ่งที่ทำได้จริง มีประชากรในโลกนี้เรียนฟรีตั้งแต่อนุบาลจนถึงระดับปริญญาเอก มากกว่า 20 ประเทศทั่วโลก มีทั้งประเทศใหญ่ ประเทศเล็ก มีทั้งประเทศที่รวย ประเทศที่จน เพราะฉะนั้นไม่ใช่ข้ออ้างว่าประเทศเรามีคนเยอะ เป็นไปไม่ได้ ประเทศเราไม่มีเงิน ทำไม่ได้ เรื่องนี้เกี่ยวกับทุกคนที่อยู่บนเวทีวันนี้ มันคือเจตจำนงทางการเมือง มากกว่าเรื่องทางเทคนิค ทุกคนที่มีความฝันควรได้รับโอกาสอย่างดีที่สุด”

รศ.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี
รศ.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

รศ.ษัษฐรัมย์ กล่าว่า สิ่งที่อยากย้ำ คือ การศึกษาทุกระดับมีความสำคัญเท่ากัน คือควรจะฟรีเหมือนกันหมด ประชาชนไม่ต้องมาแย่งกันว่าจะให้ใครฟรีก่อนฟรีหลัง เพราะเราควรจะได้สิ่งเหล่านี้ตั้งแต่เริ่มต้น หลักเกณฑ์ใหญ่ที่อยากกล่าวคืออยากมุ่งไปที่ Demand side คือ การให้สิทธิตัวนี้ติดอยู่กับนักเรียนนักศึกษา คล้ายกับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพื่อให้สิทธิ์ตัวนี้ติดอยู่กับคนไม่ว่าจะไปอยู่ที่ไหนก็สามารถใช้สิทธิ์ได้

“การศึกษาบางคนบอกว่าเราได้รับงบประมาณเยอะ แต่ผมอยากบอกว่าไม่พอนะครับ เพราะคนไทยเวลาเราไปหาหมอเป็นผู้ป่วยนอก 4 ครั้งต่อปีโดยเฉลี่ย เป็นผู้ป่วยใน 0.1 ครั้งต่อปีโดยเฉลี่ย หรือ 10 ปีนอนโรงพยาบาล 1 วัน แต่เด็กของเราไปโรงเรียนทุกวัน เว้นเฉพาะปิดเทอม ตั้งแต่ 3 ขวบจนอายุ 18 หรืออายุ 22 กระทั่งจบมหาวิทยาลัย การใช้บริการโรงเรียนสถานศึกษาใช้ทุกวัน งบใกล้เคียงกับกระทรวงกลาโหมแต่เราไม่ได้ทำสงครามกับใคร แต่โรงเรียนมีเด็กมาใช้บริการทุกวัน”

รศ.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

ทำให้การศึกษาไทยฟรี เป็นไปได้หรือไม่ ?

รศ.ษัษฐรัมย์ นำข้อมูลที่นำมาจากสำนักงานประกันสังคมมาเผยให้เห็นว่า สถิติการเบิกค่าคลอดบุตรน้อยลงอย่างมีนัยยะสำคัญ หมายความว่า ต่อให้นโยบายการดูแลเด็กจนถึงนโยบายการศึกษาเพิ่มไป 100% ในวันนี้ในอีก 20 ปีข้างหน้างบประมาณส่วนนี้จะน้อยลงไป 35% โดยอัตโนมัติเพราะว่าคนเกิดน้อยลง แต่หากใช้โมเดลการให้เรียนฟรีโดยใช้งบประมาณ และจากการทำงานเห็นภาพชัดเจนว่า หมอกับครูต้องทำงานหนักโดยหน้าที่ ด้วยคุณค่าบางอย่าง หมอทำงานกะหนึ่ง ประมาณ 28 ชั่วโมง ครูก็เช่นกัน และเราจะเห็นว่าหลายคนที่มีความฝันอยากเป็นครู ก็ต้องลาออกไป จากงานวิจัย พบว่า ค่าตอบแทนก็เป็นส่วนหนึ่งที่มีผล แต่อีกส่วนที่สำคัญ คือ งบประมาณที่จะทำให้ชีวิตการทำงานดีขึ้นไม่ได้ถูกกระจายออกมา เช่น ครูอาจจะไม่ต้องทำงานเฝ้าโรงเรียน งานที่ไม่เกี่ยวกับเรื่องการเรียนการสอน สิ่งเหล่านี้ต้องใช้งบประมาณ

สถิติการเบิกค่าคลอดบุตร สำนักงานประกันสังคม

“ถ้าเราเพิ่มงบได้ ขอไม่มากครับ ประมาณ 25% ของดิจิทัลวอลเล็ต ถ้าหากเราเพิ่มงบสัก 1 แสนล้านบาท มันจะทำให้ระบบการจัดการต่าง ๆ ดีขึ้น ไม่ต้องมาถกเถียงกันว่าโรงเรียนนั้นจะเปิดหรือจะปิด ครูกระจายตัวมากน้อยแค่ไหน”

รศ.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

รศ.ษัษฐรัมย์ ยกตัวอย่าง โมเดลการศึกษาแพ้คัดออก โมเดลการสอบซ่อม ที่ประเทศไทยแทบจะถอดแบบมาจากสหรัฐอเมริกา คือ การทำให้การศึกษากลายเป็นสินค้า ไม่ว่าจะเป็นห้องพิเศษ ห้องเรียนสองภาษา ที่บอกว่าสิ่งเหล่านี้จะเป็นการเพิ่มคุณภาพการศึกษา ซึ่งเป็น ความเชื่อที่ผิด ขณะที่ประเทศที่มีการศึกษาพัฒนาอย่างฟินแลนด์ เอาคำว่าห้องเรียนพิเศษออก เพราะเขานิยามว่า “เด็กทุกคนคือเด็กพิเศษต้องได้รับการดูแลแบบใกล้ชิด” สิ่งที่เกิดขึ้นคือ งบประมาณที่ประเทศรัฐสวัสดิการเอามาใช้จึงแตกต่างจากประเทศที่มีระบบทุนนิยมสุดโต่งอย่างสหรัฐอเมริกา

“มหาวิทยาลัย เรียนฟรี คือการเพิ่มงบประมาณให้ปีละ 40,000 ล้านบาท เทียบเท่ากับเรือดำน้ำ 1.3 ลำ ทำให้คนสามารถเรียนมหาวิทยาลัยฟรีได้เลย”

รศ.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

ทุ่มงบฯ ช่วย ล้างหนี้การศึกษา พัฒนาคุณภาพชีวิต

รศ.ษัษฐรัมย์ กล่าวถึง หนี้จากการศึกษาที่มีอยู่ ซึ่งน่าสนใจว่า รัฐบาลมีเงินให้คนกู้ไปเรียนได้ แต่ในหลายประเทศใช้วิธีการ เมื่อคนเรียนจบมหาวิทยาลัย เขาล้างหนี้ให้ 40% และมีทางเลือกให้หลายอย่าง เช่น หากกลับไปทำงานที่บ้านเกิด ทำงานในด้าน NGO สื่อมวลชน หรือ งานดูแลรับใช้สังคม ดูแลคนแก่ งานสอนหนังสือ งานด้านวรรณกรรม ที่ไม่ใช่งานแสวงหากำไรในชีวิต รัฐบาลล้างหนี้ให้หมดเลย ซึ่งหากมหาวิทยาลัยฟรีมีค่าครองชีพและทบทวนหนี้เพื่อการศึกษา จะทำให้ภาครัฐจะใช้งบประมาณเพิ่ม 16% ของบประมาณการจ่ายประจำปี แต่จะช่วยให้รายได้ของบุคคลกลุ่มที่อายุน้อยกว่า 40 ปีเพิ่มขึ้นถึง 36%

3 ไม่ ทำเด็กไทยไม่ได้เรียนฟรี

เทอดชาติ ชัยพงษ์ สส.พรรคเพื่อไทย รองประธานคณะกรรมาธิการการศึกษา (คนที่สอง) กล่าวว่า เหตุผลที่ทำไมเรียนฟรีถึงไม่ฟรีจริงเกิดจาก 3 ไม่ คือ ไม่เท่าเทียม ทางโอกาสทางการศึกษา ความไม่เท่าเทียมเหล่านี้ ไม่ได้ถูกระบุไว้ในรัฐธรรมนูญที่ชัดเจน และการพัฒนาประเทศต้องยึดกรอบกฎหมายแม่บทเป็นหลัก เพราะฉะนั้นรัฐธรรมนูญจึงมีบทบาทสำคัญที่จะสร้างโอกาสทางการศึกษา ความเท่าเทียมทำให้ทุกคนเท่ากันไม่ได้ แต่โอกาสด้านการศึกษานั้นต้องเท่ากัน ใครจะสร้างโอกาสตรงนี้ และรัฐธรรมนูญมาตรา 54 ระบุว่า คนไทยต้องได้รับการศึกษาไม่น้อยกว่า 12 ปีตั้งแต่การศึกษาก่อนการศึกษาภาคบังคับไปจนถึงการศึกษาภาคบังคับ นั่นหมายความว่า ตั้งแต่อนุบาลไปจนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 แล้วมีคำถามว่ามัธยมศึกษาปีที่ 4-6 และ อาชีวศึกษา ไม่ใช่การศึกษาขั้นพื้นฐานหรือ? นี่คือโจทย์ใหญ่ที่ทุกคนต้องเข้าใจให้ตรงกันถึงจะสามารถสร้างโอกาสที่เท่าเทียมกันได้ นอกเหนือจากนั้น คือ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ 2542 ที่เป็นกฎหมายแม่บทแรกทางการศึกษา ตอนนี้ก็ยังใช้อยู่ ใช้มา 25 ปี วันนี้โลกเปลี่ยนไปมาก ดังนั้นเราต้องไปแก้กฎหมายหลักที่ทำให้เกิดความเท่าเทียมทางโอกาสทางการศึกษาก่อนถึงจะไปสู่ปลายทางได้

เทอดชาติ ชัยพงษ์ สส.พรรคเพื่อไทย รองประธานคณะกรรมาธิการการศึกษา (คนที่สอง)

ไม่ที่ 2 ไม่ทันสมัย คือ กฎหมายที่ล้าหลัง โดยอยากเห็นความต่อเนื่องเชื่อมโยงในการจัดการการศึกษาร่วมกัน ตั้งแต่การศึกษาระดับปฐมวัยไปจนถึงระดับอุดมศึกษา แต่ตอนนี้การทำงานของแต่ละระดับชั้นแยกส่วนกันบริหารจัดการ

“ผมมองว่า อย่างไรก็ไม่มีทางได้เรียนฟรี ถ้าการบริหารงบประมาณยังเป็นแบบนี้ เราต้องทำตั้งแต่ต้นทาง คือ การกระจายอำนาจไปสู่หน่วยปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นสถานศึกษา มหาวิทยาลัย สถาบันการศึกษาอาชีวะ สถานประกอบการ กฎหมายงบประมาณยังไม่ตามคน และการจัดสรรงบประมาณไม่ได้จัดสรรให้เป็นการเรียนฟรี เพราะหน่วยงานที่ปฏิบัติไม่มีงบประมาณ  เอาง่าย ๆ  ที่ท่านบอกว่า มีงบประมาณอุดหนุนไปให้นักเรียนเอาไป เมื่อก่อนมีการบอกว่าเอาไปฝึกให้เกิดประสบการณ์ มีสื่อการสอน ไปสอบไปวัดผล เงินของนักเรียน แต่เราเอาเงินมาบริหารโรงเรียน แทนที่จะเอาเงินของนักเรียนไปเพื่อการเรียนการสอน ให้เขาได้เรียนฟรี นี่คือปัญหาของงบประมาณที่ต้นทางไม่ถูก แม้แต่คำในแผนการจัดการงบประมาณ ยังมีคำว่าขยายโอกาสทางการศึกษา มันขยายยังไง ตอนนี้โลก คือ การศึกษายุคใหม่ เพราะฉะนั้นกฎหมายที่ล้าหลัง ต้องถูกแก้ทั้งหมด การบริหารงบประมาณที่ขยายอำนาจไปยังสถานศึกษาที่แท้จริง สถานศึกษาเป็นนิติบุคคลแต่ไม่มีเงินครับ จัดการคนไม่ได้ครับ เป็นบริษัทก็ทำอะไรไม่ได้หรอกครับ”

เทอดชาติ ชัยพงษ์

เทอดชาติ  กล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีเรื่องของครู ซึ่งน่าสงสารอย่างมาก ครูต้องหาอุปกรณ์การเรียนการสอนเอง แต่ว่าพูดว่าอยากเห็นความทันสมัยอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง แท็บเล็ต อินเทอร์เน็ต ให้ครูเป็นพี่เลี้ยง แต่ถามว่าเราช่วยอะไรครู เราไม่ให้เครื่องมือแต่เรากลับอยากเห็นผลเห็นวิธีการเห็นคุณภาพ รวมไปถึงระบบการวัดผลประเมินผลที่สอดคล้องกับการเรียนการสอนเชื่อมไปถึงการเรียนต่อแต่ละระดับชั้นด้วย งบประมาณกระทรวงศึกษาธิการสูงสุดเป็นอันดับที่ 2 รองจากกระทรวงมหาดไทย แต่อันดับ 2 นี้ งบประมาณส่วนใหญ่เป็นเรื่องเงินเดือนครู ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็น เมื่อมีคนก็ต้องให้ค่าตอบแทน แต่จะทำอย่างไรให้เกิดการพัฒนาคุณภาพในเชิงการจัดการศึกษา เพื่อที่จะทำให้งบประมาณเหล่านี้ไปถึงส่วนที่เป็นผู้ปฏิบัติจริงได้หรือไม่ และส่วนกลางถอยออกมา ไม่ต้องไปทำแผนโรงเรียน มีหน้าที่ดูแล ติดตาม ส่งเสริม ให้งบประมาณ นี่ก็คือวิธีการจัดการใหม่ ดังนั้น เราต้องจริงจังเพราะว่านี่คือภาระสำคัญของประเทศในการสร้างประเทศถ้าศักยภาพของคนมีคุณภาพ เพื่อเติมเต็ม

ไม่ที่ 3 คือ ความไม่พอ เพราะไม่พอก็เลยไม่ฟรี  อีกเรื่องคือ การจัดสรรงบประมาณเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างกรณีห้องติดเครื่องปรับอากาศ โลกมีการเปลี่ยนแปลง ทางสภาพพูมิอากาศ จะทำอย่างไรให้มีงบประมาณสำหรับเรียนในเรื่องนี้ ซึ่งปัญหานี้รัฐมีหน้าที่โดยตรงที่จะต้องดำเนินการ

ด้าน ภัทรพล แก้วสกุณี ตัวแทนจากพรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าวว่า อยากให้กำลังใจฝ่ายที่ทำงานด้านการศึกษาเพื่อการเรียนฟรีมีอยู่จริงหรือไม่ ส่วนตัวตั้งแต่เรียนจนมาถึงวันนี้ยังไม่เคยได้สัมผัส ทุกวันนี้เข้าใจผู้ปกครอง เพราะเหมือน 2 มาตรฐานชัดเจน เรื่องสถานศึกษาเอกชนและรัฐบาล ทุกอย่างเป็นค่าใช้จ่ายหมดทุกวันนี้ประชาชนเป็นหนี้เพราะการศึกษาเยอะมาก จะทำอย่างไรที่รัฐบาลภายใต้การนำของ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มาดูแลได้อย่างเต็มที่ ส่วนตัวสนับสนุนให้เด็กไทยได้มีการเรียนฟรี ซึ่งปัจจุบันนี้มี 7 ล้านคนที่อยู่ในวัยเรียน อยากให้ช่วยกันนำงบประมาณที่มีอยู่ 3 แสนกว่าล้านที่ได้รับไปเอามาบริหารการศึกษาให้จริงจัง 

ภัทรพล แก้วสกุณี ตัวแทนจากพรรครวมไทยสร้างชาติ

“โรงเรียนเองก็ต้องเลิกเก็บแป๊ะเจี๊ยะ ผมไม่เห็นด้วย เพราะมันเป็นการบังคับผู้ปกครอง ที่เขาไม่มี ผมเองเห็นใจผู้ปกครองที่ยากจนแต่เขาอยากให้ลูกได้เรียนโรงเรียนที่ดี มีการศึกษาที่ดี เป็นเรื่องสองมาตรฐานที่บอกว่าโรงเรียนของรัฐบาล ควรจัดการเรียนการสอนให้ทัดเทียมโรงเรียนเอกชน โดยนำงบประมาณไปจ้างครูที่มีความรู้ความสามารถ ทั้งครูต่างชาติ เห็นใจผู้ปกครองที่ทำงานหนักมากเพื่อส่งลูกเรียน แต่ก็เห็นว่าโรงเรียนรัฐบาลบางแห่งมีการตั้งโต๊ะรับบริจาค อยากให้ลูกได้เรียนห้องแอร์แต่ไม่มีค่าบริหารจัดการเรื่องค่าไฟ ตรงนี้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลว่าจะเอาอย่างไร ในการที่จะช่วยเหลือโรงเรียน หรืออาจจะเป็นแนวทางการลดต้นทุนโดยการประหยัดพลังงาน  เช่นการใช้โซลาร์เซลล์พลังงานแสงอาทิตย์ อยากให้เรื่องนี้เป็นนโยบายของรัฐบาล”

ภัทรพล แก้วสกุณี

สะท้อน “การศึกษาไม่ดี” คนไม่อยากสร้างครอบครัว

ธีรศักดิ์ จิระตราชู พรรคประชาชน (ครูหนึ่ง) กล่าวว่า วันนี้มาร่วมเวที ภายใต้ 3 หมวก คือตัวแทนของพรรคมาร่วมคุยด้านการศึกษา และคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. …. ยืนยัน ว่าหนังสือที่สภาองค์กรของผู้บริโภคส่งไปถึงมือของคณะร่างกฎหมายเรียบร้อย โดยส่วนตัวเห็นด้วยทุกประการ ไม่ว่าจะเป็นรายละเอียดเกี่ยวกับช่วงวัย และรายละเอียดเกี่ยวกับซุปเปอร์บอร์ด จะนำเข้าสู่การขับเคลื่อนเป็นร่างกฎหมายของคณะกรรมาธิการต่อไป หมวกใบที่สามมาในฐานะประชาชนคนหนึ่ง ที่ผ่านทุกข์ร้อนผ่านหนาว มากับระบบการศึกษาเยอะมาก เช่นเดียวกัน 

“ผมมองว่าหัวข้อวันนี้เรียนฟรีต้องมีอยู่จริง ผมอยากจะเติมคำว่า เรียนฟรีและมีคุณภาพต้องมีอยู่จริง ผมคิดว่าถ้าทำ 2 ส่วนนี้ ไม่ได้การศึกษาของประเทศเราก็จะไม่ไปไหน”

ธีรศักดิ์ จิระตราชู
ธีรศักดิ์ จิระตราชู พรรคประชาชน

ธีรศักดิ์  กล่าวว่า เวลาทำเรื่องการศึกษา ต้องเชื่อเป็นฐานว่าการศึกษาสามารถยกระดับทางชนชั้น และสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของคนได้ และถ้าการศึกษาไม่ดีจะนำมาสู่ผลต่าง ๆ มากมาย ยกตัวอย่างเช่น ถ้าการศึกษาบ้านเราไม่ดีพอใครจะอยากมีลูก มาอยู่ในระบบการศึกษาแบบนี้ ถ้าการศึกษาไม่ดีพอใครจะมีชีวิตสู้อยากทำงานเพื่อสร้างครอบครัว สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยที่เกิดขึ้นจากการศึกษา และปัจจุบันภาพยิ่งฟ้องชัดว่า เรื่องของการศึกษามันมีผลจริง คนที่มีอำนาจมีเงินมากสามารถส่งลูกไปเรียนโรงเรียนเอกชน โรงเรียนนานาชาติ ส่งลูกไปเรียนต่างประเทศ ส่วนคนที่ไม่มีเงินก็ต้องสู้ทนกัดฟันส่งลูกไปเรียนโรงเรียนรัฐ

“ซึ่งบอกว่ารัฐต้องจัดการการศึกษาให้ฟรีตามรัฐธรรมนูญ แต่มันไม่ได้ฟรีจริง มันมีค่าธรรมเนียมมากมาย เข้าสู่ระบบการศึกษาของรัฐเมื่อไหร่ ชีวิตมีค่าทันที ค่าบำรุง ค่าเอกสาร ค่าทัศนศึกษา ค่าเข้าค่าย ค่าเต็มไปหมดเลย เหล่านี้เป็นโจทย์ที่ต้องร่วมแก้”

ธีรศักดิ์ จิระตราชู

ธีรศักดิ์  กล่าวถึงมุมมองทางกฎหมายว่า พ.ร.บ.การศึกษาฯ ปัจจุบันครอบคลุมในระดับหนึ่ง แต่การไม่ได้เรียนฟรี เป็นเพราะการปฏิบัติในระดับปฏิบัติการ ที่ไม่ได้มีแนวคิดที่ว่าต้องทำเรื่องนี้ให้เป็นสิทธิหรือสวัสดิการ โดยทางพรรคประชาชน ทำเรื่องนี้มาตั้งแต่ยังเป็นพรรคก้าวไกล

“ถ้าร่างฯ ของเราเกิดขึ้น ความจริงเกิดขึ้นแล้ว ล่าสุดที่ พริษฐ์ วัชรสินธุ สส.พรรคประชาชน ได้มาสื่อสารว่าผ่านกระบวนการพูดคุยของสมาชิกพรรค แต่เกิดเหตุการณ์ทางการเมืองถูกยุบพรรค ทำให้ความคืบหน้าช้าลง และตอนนี้ก็กำลังกลับมาผลักดัน เราการันตีเรื่องการศึกษาจะเป็นเรื่องฟรี จะต้องเป็นสิทธิ เพราะเราตระหนักว่าการศึกษาต้องทำไปควบคู่กับเศรษฐกิจ”

ธีรศักดิ์ จิระตราชู

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active