ศูนย์เด็กเล็กต้องมีทุกที่ ถ้วนหน้า ลดภาระพ่อแม่กลุ่มเปราะบาง

แนะเปิดรับตั้งแต่ 6 เดือน-6 ปี อุดรอยต่อใหญ่ พร้อมยืดหยุ่นเวลาเปิด-ปิด และเร่งสร้างมาตรฐานบ้านตา-ยายในชุมชน ด้าน กทม.เร่งเสนอแก้ พ.ร.บ.การศึกษาภาคบังคับ กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นจัดการตนเอง

หลังสถาบันวิจัยประชากรและสังคม ม.มหิดลเผยผลวิจัยว่า ในปี 2567 มีจำนวนเด็กเกิดใหม่เพียง 462,240 คน ซึ่งต่ำว่า 500,000 คนเป็นครั้งแรก ถือว่าเป็นวิกฤตประชากรครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย สวนทางกับจำนวนผู้สูงอายุที่มีมากกว่า 13 ล้านคนในปีนี้

วิกฤตประชากรนี้สะท้อนการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรครั้งใหญ่ จนนำไปสู่ทิศทางเศรษฐกิจและสังคมของไทยในอีกเพียงไม่กี่สิบปีข้างหน้า

วันนี้ (20 เม.ย. 68 ) ผศ.สุนีย์ ไชยรส ประธานคณะทำงานขับเคลื่อน นโยบายสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า ชี้ว่า ชัดเจนแล้วว่าตอนนี้ ไทยมีจำนวนเด็กเกิดน้อย แต่เหตุใดรัฐไทยยังคงไม่มีสิทธิขั้นพื้นฐานที่จะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตพวกเขาอย่างถ้วนหน้า โดยเฉพาะการมีศูนย์เด็กเล็ก

จากข้อมูล ปี 2566 พบว่า มีสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยทุกสังกัดทั่วประเทศ รวม 50,622 แห่ง มีจำนวนครู-พี่เลี้ยง 202,511 คน ดูและเด็ก 2,368,411 คน ในส่วนสังกัด อปท.จำนวน 19,517 แห่ง ดูแลเด็ก 756,215 คน และสังกัด  สพฐ. 25,568 แห่ง ดูแลเด็ก 859,689 คน แต่ก็ยังมีจุดติดขัดอยู่มาก

“ตอนนี้ศูนย์เด็กเล็กเริ่มรับเด็กตั้งแต่ 2.5-3 ขวบ แต่ในช่วงอายุก่อนหน้านั้น (0-2 ปี) กำลังเป็นรอยต่อใหญ่ ในขณะที่ศูนย์เด็กเล็กเองก็มีเวลาเปิด-ปิดแบบราชการ ซึ่งไม่สอดรับกับอาชีพของผู้ปกครองบางส่วนที่เลิกงานไม่เป็นเวลา เช่น ไรเดอร์ หรือลูกจ้างรายวัน สุดท้ายเขาก็ไม่รู้จะเอาเด็กไปไว้ที่ไหน” ผศ.สุนีย์ อธิบาย

ด้วยปัญหาดังกล่าว ผศ.สุนีย์ จึงมีข้อเสนอต่อรัฐบาลและองค์กรปกครองท้องถิ่น ดังนี้

  1. รัฐต้องขยายศูนย์พัฒนาเด็กเล็กถ้วนหน้าตั้งแต่ 6 เดือน – 6 ปี ให้ยืดหยุ่นเวลาเปิด-ปิด มีจำนวนมากเพียงพอ และกระจายตัวที่ใกล้บ้าน-ที่ทำงาน เพื่อสอดคล้องวิถีชีวิตผู้ปกครอง
  2. รัฐต้องกระจายอำนาจเต็มรูปแบบ จัดงบประมาณ กำลังคน แก้ไขระเบียบ สนับสนุนศูนย์เด็กเล็กนอกสังกัดของรัฐ เพื่อตอบสนองตรงความต้องการชุมชน

“ทุกวันนี้ เรามีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ขณะที่เด็กเกิดน้อยลงทุกวัน จึงยิ่งต้องทำให้พวกเขามีคุณภาพสูงสุด การกระจายอำนาจจากส่วนกลางสู่ท้องถิ่นจะทำให้พวกเขาได้รับการดูแลอย่างทั่วถึงไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนบนผืนแผ่นดินไทย และการมีสวัสดิการที่เหมาะสมจะจูงใจให้คนมีลูกเพิ่มมากขึ้นด้วย” ผศ.สุนีย์ อธิบาย

กทม. เร่งเสนอแก้ พ.ร.บ. ลดอายุเด็กเข้าเรียน – จัดงบให้ทุนการศึกษาครูพี่เลี้ยง

ข้อมูลจากรายงานการศึกษาของสำนักพัฒนาสังคม กรุงเทพมหานคร ระบุว่าในปี พ.ศ. 2563 มีสถานรับเลี้ยงเด็กสังกัดสำนักพัฒนาสังคมจำนวน 286 แห่ง และสถานรับเลี้ยงเด็กเอกชนจำนวน 295 แห่ง รวมทั้งสิ้น 581 แห่งทั่วกรุงเทพฯ

ศานนท์  หวังสร้างบุญ รองผู้ว่ากทม. ชี้ว่า ตอนนี้ใน กทม.มีเด็กเล็กประมาณ 7 หมื่นคนต่อปี ที่กำลังได้รับการดูแลจาก 2 ระบบ ได้แก่ ศูนย์เด็กเล็กสังกัด กทม. (เช่น รร.อนุบาล) ดูแลเด็กประมาณ 5 หมื่นคน และศูนย์เด็กเล็กชุมชน (กทม.ไม่ได้ดูแล) ซึ่งมีประมาณ 200 แห่ง ดูแลเด็กประมาณ 2 หมื่นคน

ซึ่งปัญหาหลักที่พบใน กทม. คือ แม้จะดูแลเด็กเล็กได้กว่า 7 หมื่นคน แต่การศึกษาภาคบังคับกำหนดไว้ที่เด็กต้องเข้าศึกษาเมื่ออายุ 7 ปี ทำให้มีเด็กในช่วง 0-6 ปี หลุดจากระบบคิดเป็นจำนวน 3 ใน 4 ของเด็กทั้งหมด จึงเสนอทางแก้ไข 2 ประการ ได้แก่

  1. ทำให้เด็กเข้าถึงการศึกษาได้เร็วขึ้น
  2. ทำให้เด็กเข้าถึงการศึกษาที่ดีขึ้น

สำหรับการทำให้เด็กเข้าถึงการศึกษาได้เร็วขึ้นนั้น ศานนท์ ระบุว่า ใน กทม.มีศูนย์เด็กเล็กหลายรูปแบบ เช่น เอกชน มูลนิธิ และบ้านตายาย (บ้านเช่า-ห้องแถวที่คนในชุมชนดูแลกันเอง) การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นเป็นวิธีที่จะทำให้เด็กเข้าถึง รร.ได้มากขึ้น และเร็วขึ้น รวมถึงต้องมีการลดอายุเด็กที่จะรับเข้าโรงเรียน

ศานนท์  หวังสร้างบุญ รองผู้ว่ากทม.

แรกเริ่ม รร.จะรับเด็กที่มีอายุตั้แต่ 4 ขวบ แต่ตอนนี้ลดลงมาเป็น 3 ขวบแล้ว เพื่อให้เด็กเข้าระบบได้เร็วขึ้น

ส่วนการทำให้เด็กเข้าถึงการศึกษาให้ดีขึ้นนั้น ศานนท์ มองว่า การเพิ่มความรู้ ค่าตอบแทน และสวัสดิการของครูจะเป็นกุญแจสำคัญ

“โรงเรียนยุคนี้พยายามเร่งให้เด็กอ่านออก-เขียนได้ให้เร็วที่สุด ซึ่งทำให้พัฒนาการด้านอื่นของเด็กลดลง และหากดูแลไม่ถูกวิธี อาจนำมาซึ่งปัญหาเรื่องสมาธิสั้นหรือออทิสติกเทียมได้ การเลี้ยงเด็กที่ถูกต้อง ต้องทำให้สมวัย มีทั้งการเรียนรู้ และการเล่นควบคู่กันไป”

“แต่บางครั้งครูยังไม่มีความรู้เรื่องการดูแลเด็กเล็กเพียงพอว่าต้องทำอย่างไร การลงทุนกับครู เช่นส่งครูไปเรียนเฉพาะด้าน เพิ่มวุฒิการศึกษา หรือปรับให้มีตำแหน่งข้าราชการครู จะทำให้เด็ก ๆ เข้าถึงการศึกษาที่ดียิ่งขึ้นได้”

ก้าวต่อไปของ กทม.

ศานนท์ ชี้ว่า กทม.เล็งเห็นถึงปัญหาดังกล่าว และพยายามผลักดันเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง โดยมีความคืบหน้า ดังนี้

  1. มีการเพิ่มจำนวนโรงเรียนที่รับเด็กแรกเข้าด้วยอายุที่ต่ำลง – โดยเริ่มรับเด็กตั้งแต่ 3 ขวบ ซึ่งที่ผ่านมาทำได้แล้ว 312 โรงเรียน ทำให้สามารถนำเด็กเข้ามาในระบบได้มากขึ้น 1.2 หมื่นคน โดยประมาณ
  2. มีการขยายจำนวนศูนย์เด็กเล็กเพิ่มอีกอย่างน้อย 100 ศูนย์ – ขณะนี้อยู่ระหว่าการร่าง พ.ร.บ. (ปัจจุบันมีประมาณ 200 ศูนย์)
  3. มีการจัดสรรงบประมาณเพื่อให้ทุนการศึกษาแก่ครูพี่เลี้ยง – อยู่ระหว่างนำเข้าร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2569

อย่างไรก็ตาม ศานนท์ มีข้อเสนอต่อภาครัฐ 2 ประการด้วยกัน ได้แก่

  1. ควรมีการแก้ไข พ.ร.บ.การศึกษาภาคบังคับให้เริ่มตั้งแต่ระดับอนุบาล (แต่เดิมเริ่มที่ ป.1)
  2. ควรมีการกระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่น ให้ชุมชนเป็นเจ้าภาพในการจัดการ โดยรัฐต้องสนับสนุนงบประมาณอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยมากขึ้น

มูลนิธิบ้านเด็กอ่อนในสลัมฯ เสนอ สนับสนุนศูนย์เด็กเล็กนอกระบบ – ฟันเฟืองสำคัญของชุมชน

มูลนิธิบ้านเด็กอ่อนในสลัมฯ เป็นอีกหนึ่งโมเดลสำคัญในด้านการเป็นศูนย์ดูแลเด็กเล็กใน กทม.ที่ขับเคลื่อนด้วยภาคประชาชน โดยสามารถออกแบบบริการที่อุดช่องว่างให้แก่ครอบครัวเด็กกลุ่มเปราะใน กทม.ได้เป็นอย่างดี

ครูต้อ – ศีลดา รังสิกรรพุม ผู้จัดการมูลนิธิเด็กอ่อนในสลัมฯ อธิบายว่า เด็กเล็กกลุ่มเปราะบางใน กทม.มีปัญหาหลากหลาย แต่ทั้งหมดล้วนมีต้นตอมาจากปัญหาโครงสร้างทางสังคม

“เด็กหลายคนอยู่ในครอบครัวที่ไม่พร้อม บางคนต้องอยู่กับผู้สูงอายุลำพัง บางคนมีพ่อแม่วัยใสที่ไม่พร้อมดูแล หรือเด็กบางคนมีพ่อแม่เป็นแรงงานรายวัน ทั้งแม่บ้าน กรรมกร คนส่งของ กระทั่งแรงงานข้ามชาติ เด็กกลุ่มนี้จะอยู่ในครอบครัวกลุ่มเปราะบาง ที่เผชิญปัญหาซับซ้อน ทั้งความยากจนและความรุนแรง”  ครูต้อ อธิบาย

ด้วยเหตุนี้ มูลนิธิฯ จึงออกแบบให้เป็นศูนย์ดูแลเด็กที่ตอบโจทย์ช่องว่างการเลีี้ยงเด็กให้แก่พ่อแม่ ทั้งการดูแลแม่ตั้งแต่ตั้งครรภ์ หรือรับเด็กเล็กมาดูแลตั้งแต่  3 เดือน (เพื่อรับช่วงดูแลต่อให้กับแม่ที่หมดช่วงเวลาการลาคลอด) โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย หรือสามารถสมทบค่าใช้จ่ายได้สูงสุด 30 บาท แต่ทั้งหมดนี้ ก็ยังไม่สามารถช่วยรองรับครอบครัวกลุ่มเปราะบางใน กทม.ได้เพียงพอ การให้ชุมชนดูแลกันจึงเป็นเรื่องสำคัญ

ครูต้อ – ศีลดา รังสิกรรพุม
ผู้จัดการมูลนิธิเด็กอ่อนในสลัมฯ

“ในชุมชนมีสถานรับเลี้ยงเด็กที่เรียกว่าบ้านตา-ยาย บ้างอาจเรียกกว่าสถานรับเลี้ยงเถื่อน เพราะไม่ได้ขึ้นทะเบียน แต่เราคิดว่านี่เป็นฟันเฟืองที่สิ่งสำคัญมากของชุมชน” ครูต้อย้ำ

บ้านตา-ยาย  มีข้อดีคือ ผู้เลี้ยงมีใจดูแลเด็กและเป็นคนในชุมชนด้วยกัน แต่ข้อเสีย คือ ผู้เลี้ยงเด็กขาดความรู้และทักษะ โดยเฉพาะการดูแลเด็กในยุคสมัยที่มีโซเชียลมีเดีย ที่ทำให้เด็กเสี่ยงต่อโรคสมาธิสั้นหรือออทิสติกเทียม อย่างไรก็ตาม ตอนนี้มีบ้านตา-ยายจำนวน 64 แห่งทั่ว กทม.ที่ทางมูลนิธิฯเข้าดูแลเพื่ออำนวยความสะดวกและให้เป็นไปตามมาตรฐานแล้ว

ในส่วนของข้อเสนอต่อภาครัฐ ครูต้อเห็นว่า ศูนย์ดูแลเด็กเล็กแต่ละแห่งสามารถมีในรูปแบบที่หลากหลายต่างกันได้ ทั้งใน-นอกระบบ แต่ไม่ว่าจะอยู่ในลักษณะใด รัฐควรมีการสนับสนุนอย่างจริงจัง เช่น เพิ่มเงินเดือนครู จัดอบรมความรู้-ทักษะการดูแลเด็กให้แก่ครู รวมถึงสนับสนุนค่าอาหาร อุปกรณ์ เพราะยังมีศูนย์เด็กเล็กทั่วประเทศอีกมากที่ยังขาดการสนับสนุนดังกล่าว

นายกเทศบาลนครยะลา ชี้ ดูแลเด็กให้ดี ทำได้ หากกระจายอำนาจแก่ท้องถิ่น 

หากถอยออกมาจาก กทม.มามองในระดับท้องถิ่น การจัดการเรื่องเด็กเล็กของเทศบาลนครยะลาถือเป็นอีกหนึ่งต้นแบบที่สามารถทำได้อย่างลงตัวจากการออกแบบจัดการด้วยตนเองของท้องถิ่น

พงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศบาลนครยะลา จ.ยะลา กล่าวว่า ปัญหาของเด็กเล็กในท้องถิ่นยะลาที่พบ คือ เด็กมาจากครอบครัวค่อนข้างยากจน และมีค่าเฉลี่ยของไอคิวที่ต่ำ ทางท้องถิ่นจึงมีการออกแบบการดูแลเพื่อแก้ปัญหาเด็กที่ตรงจุด

“เราพบว่าผลรวม IQ ของเด็ก ๆ ในยะลาไม่ค่อยดีนัก เราจึงพยายามแก้ปัญหาทั้งในเรื่องของสุขภาพและสติปัญญา โดยจัดสรรงบประมาณของเทศบาลแบบ 100% เพื่อจัดหาอาหารเช้าให้เด็กทั้งโรงเรียน ในทุกระดับชั้น เพื่อส่งเสริมโภชนาการ

ในขณะที่ด้านสติปัญญา เรามีนโยบายให้เด็กมีพัฒนาการสมวัย กระตุ้นการคิดและตั้งคำถาม เรียนรู้นอกห้องเรียน รวมทั้งเน้นเรื่องการใช้ภาษาไทย เพราะในพื้นที่เป็นเด็กมุสลิมอาจมีอุปสรรคด้านภาษาในการเรียนรู้”

พงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ
นายกเทศบาลนครยะลา จ.ยะลา

แม้ที่ผ่านมา จะทำให้เด็ก ๆ ในท้องถิ่นได้รับโอกาสที่มากขึ้น แต่ พงษ์ศักดิ์ ยังชี้ว่า ตอนนี้พบว่ามีเด็กพิเศษเพิ่มมากขึ้นด้วย รร.จึงจำเป็นต้องมีนักจิตวิทยาเข้ามาร่วมช่วยคัดกรอง โดยเฉพาะในเด็กเล็กที่ต้องทำเป็นกรณีพิเศษ แต่ยังพบจุดติดขัดคือ ขาดแคลนบุคลากรดังกล่าวเนื่องจากขาดแรงจูงใจในการปฏิบัติหน้าที่

อย่างไรก็ตาม พงษ์ศักดิ์ ย้ำว่า ในกรณีของเทศบาลยะลาเป็นการจัดการของท้องถิ่น ซึ่งสามารถทำได้จริง แต่สิ่งสำคัญ คือ ภาครัฐควรทำความเข้าใจตั้งแต่ต้นทางเสียก่อน ว่าแต่ละพื้นที่มีบริบทต่างกัน จะใช้นโยบายเดียวกันจากภาครัฐลงมาสั่งการทุกพื้นที่อาจไม่เหมาะสม หากให้ทุกแห่งจัดการเหมือนกันทั้งหมดคงเป็นไปไม่ได้

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active