insKru Festival 2025 เดินหน้าเสริมทักษะ ‘บริหารความขัดแย้ง’ สร้างโรงเรียน เป็น ‘พื้นที่ปลอดภัย’ ให้กับทุกคน ย้ำ ครูไม่จำเป็นต้องรู้ทุกเรื่อง แต่ต้องรู้จักตัวเอง พื้นฐานสำคัญช่วยให้ครู นักเรียน รับมือกับโลกที่หมุนเร็วขึ้น อย่างมั่นคง
เมื่อวันที่ 26 – 27 เม.ย.ที่ผ่านมา มหกรรม insKru Festival 2025 จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “Keep ครู Stay ครู เป็นตัวเองในวันที่ฉันเป็นครู” ด้วยความเชื่อว่า การพัฒนาครูให้มีสุขภาพจิตที่ดี มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับคนรอบตัวและสังคม คือ กุญแจสำคัญในการยกระดับคุณภาพการเรียนรู้ของเด็กไทยอย่างยั่งยืน ผ่านแนวทาง Inspire by Creative Choices หรือ การจุดประกายครูด้วยทางเลือกที่สร้างสรรค์และหลากหลาย เพื่อผลักดันครูให้มองเห็นศักยภาพในตัวเอง พร้อมสร้างสรรค์การเรียนรู้ในแบบเฉพาะตัว
หนึ่งในกิจกรรมสำคัญของงาน คือ Workshop “บริหารความขัดแย้งด้วยความมั่นใจ เพื่อสร้างความเข้าใจในชั้นเรียน” นำโดยครูมะพร้าว – ฉัตรบดินทร์ อาจหาญ กระบวนกรและนักออกแบบการเรียนรู้ ผู้ชวนเพื่อนครูสำรวจแนวทางการจัดการความขัดแย้งในห้องเรียนอย่างสร้างสรรค์ ผ่านการใช้บอร์ดเกม Talk to Transform

โดยครูผู้เข้าร่วมได้ร่วมกันกำหนดประเด็นถกเถียง แบ่งฝ่ายตามมุมมองที่แตกต่าง และเปิดพื้นที่อภิปรายอย่างปลอดภัย โดยเป้าหมายสุดท้ายไม่ใช่การเอาชนะกัน แต่คือการฟังกันอย่างลึกซึ้ง เพื่อค้นหาทางออกใหม่ที่ทุกฝ่ายยอมคุณค่าร่วมกันได้ บอร์ดเกมนี้จึงช่วยเสริมทักษะการฟัง การสื่อสาร และการอยู่ร่วมกับความเห็นที่แตกต่างอย่างสันติ ซึ่งเป็นทักษะสำคัญในการพัฒนา พื้นที่ปลอดภัย ให้เกิดขึ้นจริงในห้องเรียน
ยากที่จะรับฟังความขัดแย้ง…
หาก ‘โรงเรียน’ ยังไม่เป็น ‘พื้นที่ปลอดภัย’ กับทุกคน
ครูมะพร้าว บอกว่า ทักษะการบริหารความขัดแย้งเป็นสิ่งที่ต้องสร้างและฝึกฝน เพราะมนุษย์ไม่ได้ถูกฝึกมาเพื่อการสื่อสารอย่างสันติ (Non-Violent Communication; NVC) แต่เรามักใช้เหตุผลกดทับและโจมตีความคิดของผู้อื่น การเปลี่ยนแปลงนี้ต้องอาศัยการย้ายจุดศูนย์กลางจากตัวเรา ไปอยู่ที่ผู้อื่น ด้วยการฟังให้เข้าใจความรู้สึก ความต้องการ และคุณค่าของเขาอย่างแท้จริง โดยเราจะหาทางออกร่วมกันได้ ก็ต่อเมื่อเราฟังอย่างตั้งใจและไม่มุ่งเอาชนะกัน ความขัดแย้งจึงไม่ใช่เรื่องเลวร้ายเสมอไป หากมันนำไปสู่การเติบโตและพัฒนาร่วมกัน
อย่างไรก็ตาม แม้รูปแบบความขัดแย้งในโรงเรียนไทยจะไม่แตกต่างจากอดีตมากนัก แต่ปัญหายังคงสะสมและส่งผลกระทบต่อสุขภาวะของครูอย่างชัดเจน ครูมะพร้าว ย้ำว่า ครูจำนวนไม่น้อยไม่ได้ทุกข์จากการสอน แต่ทุกข์จากปัญหาความสัมพันธ์ในโรงเรียน ทั้งกับผู้บริหาร เพื่อนครู นักเรียน ผู้ปกครอง หรือแม้แต่คนในชุมชนเองก็มี
“เราเห็นแพทเทิร์นเดิม ๆ ซ้ำในวงการการศึกษา โดยเฉพาะในโรงเรียน
ความขัดแย้งเกิดขึ้นบ่อย แต่คนส่วนใหญ่มักไม่รู้วิธีจัดการกับมัน”

ความขัดแย้งที่ไม่ได้รับการจัดการอย่างเหมาะสมส่งผลให้ครูเครียด ขาดแรงจูงใจ และบางรายตัดสินใจลาออกจากระบบการศึกษา นี่คือสาเหตุหนึ่งที่นำไปสู่การจัดเวิร์กชอปดังกล่าว โดย ครูมะพร้าว ย้ำว่า วิธีการสื่อสารเพื่อหาทางออกมีหลายวิธี โดยบอร์ดเกมข้างต้นเป็นหนึ่งในนั้นที่นำไปต่อยอดได้ ที่สำคัญคือ การมีเครื่องมือสื่อสารที่ดีเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการจัดการความขัดแย้ง แต่สิ่งสำคัญกว่าคือ สภาพแวดล้อม ที่เอื้อต่อการพูดคุยอย่างปลอดภัย
“ตอนนี้ระบบโรงเรียนแยกครูออกจากกัน สอนใครสอนมัน ห้องพักใครห้องพักมัน เราจำเป็นต้องออกแบบให้ครูมีโอกาสได้คุยกันก่อน โดยไม่ใช่การสั่งให้คุยกัน แต่ต้องสร้างโครงสร้างที่เอื้อให้เกิด เช่น ลดภาระงาน มีคาบว่างที่เอื้อต่อการพูดคุย รวมถึงสร้าง พื้นที่ปลอดภัย ที่คนรู้สึกสบายใจที่จะสื่อสาร เช่น มุมพักผ่อนพร้อมขนม เวลาช่วงเย็นที่ชวนกันคุยเล่น หรือแม้แต่การที่หัวหน้าหมวดหรือผู้บริหารเปิดพื้นที่เริ่มบทสนทนาอย่างจริงใจ”
ครูมะพร้าว – ฉัตรบดินทร์ อาจหาญ

ครูมะพร้าว ยังเตือนว่า การพยายามสร้างพื้นที่พูดคุยต้องทำด้วยความสมัครใจ ไม่ใช่การบังคับ เช่น บังคับให้ประชุมหรือถกปัญหาในเวลาที่ไม่เหมาะสม เพราะอาจทำให้เกิดการต่อต้านและไม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง หากคุณครูสามารถเริ่มต้นด้วยการสื่อสารความรู้สึกและความต้องการในระดับปัจเจก แม้เพียงเล็กน้อย ก็สามารถแพร่กระจายไปยังผู้คนรอบตัวได้เหมือน ไวรัส แห่งการเปลี่ยนแปลง
“เราไม่ได้หวังให้ทุกคนเปลี่ยนแปลงในทันที แค่ครูคนหนึ่งเริ่มพูดว่า ฉันรู้สึกยังไง หรือ ฉันต้องการอะไร แล้วสื่อสารออกไปอย่างจริงใจ แค่นั้นก็นับว่ายอดเยี่ยมแล้ว”
ครูมะพร้าว – ฉัตรบดินทร์ อาจหาญ
ครู…ไม่ต้องรู้ทุกเรื่อง นักเรียนไม่ต้องเก่งไปหมด
ขอแค่ให้เขาเข้าใจตัวเองในวันที่โลกหมุนเร็ว
ฟาตีมะห์ มุเสะ ครูโรงเรียนเดชะปัตตนยานุกูล จังหวัดปัตตานี ตัดสินใจเข้าร่วมโครงการพัฒนาทักษะการบริหารความขัดแย้งและการรับฟังในช่วงปิดเทอมที่ผ่านมา ด้วยความตั้งใจอยากเติมไฟให้ตัวเอง และค้นหาเทคนิคใหม่ ๆ เพื่อพัฒนาการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

ครูฟาตีมะห์ ยังเล่าว่า กิจกรรมที่ฝึกการสะท้อนตัวเองทำให้ตระหนักว่า “ครูไม่จำเป็นต้องรู้ทุกเรื่อง” แต่สำคัญที่สุดคือต้องรู้จักตัวเอง เข้าใจว่าต้องการอะไร และค่อย ๆ ตามหาเครื่องมือที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิตตามเป้าหมายส่วนตัว เธอย้ำว่า ความเข้าใจตนเองเป็นพื้นฐานสำคัญที่ช่วยให้ทั้งครูและนักเรียนสามารถรับมือกับโลกที่หมุนเร็วขึ้นได้อย่างมั่นคง
ในการทำงานกับเด็กยุคใหม่ ครูฟาตีมะห์ มองว่า การเข้าใจความแตกต่างของเด็กเป็นเรื่องสำคัญ เด็กแต่ละคนมีบริบทและเส้นทางชีวิตไม่เหมือนกัน การเรียนรู้จึงไม่ควรมีรูปแบบตายตัว เธอยังเชื่อว่า การสร้างกระบวนการที่ช่วยให้เด็กตั้งคำถาม และทบทวนตัวเองได้ จะทำให้เด็กสามารถเลือกเส้นทางชีวิตของตนเองได้อย่างเหมาะสม แม้ผลลัพธ์อาจไม่เห็นทันที แต่ในระยะยาวจะสร้างการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง
ประสบการณ์สอนกว่า 8 ปีทำให้ ครูฟาตีมะห์ เข้าใจว่า ความพยายามของครูหนึ่งคนในห้องเรียนสามารถส่งผลกระทบต่อชีวิตเด็กหลายคน และอาจขยายผลต่อไปยังเพื่อน ครอบครัว และชุมชน เธอจึงอยากส่งกำลังใจให้ครูทุกคนว่า สิ่งที่ทำอยู่มีความหมาย และมีพลังในการเปลี่ยนแปลงสังคมในระดับที่คาดไม่ถึง แม้จะยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น แต่ความพยายามบางสิ่งของครูย่อมทำงานแล้วในใจของนักเรียนอย่างแน่นอน
“วิธีการสื่อสารแบบที่ไม่ตัดสิน จะช่วยให้เด็กได้ทบทวนความรู้สึกของตัวเอง เด็กหลายคนแค่ต้องการคนฟังนะคะ ถ้าเราสอนให้เขาสื่อสารได้ เช่น ถามว่า รู้สึกกับปัญหานี้ยังไง, เราคิดว่ามีทางออกยังไง เขาจะค่อย ๆ เรียนรู้วิธีแก้ปัญหาเอง และนำไปใช้ในชีวิตได้จริง เมื่อความขัดแย้งได้รับการแก้ไข จะเกิดความสัมพันธ์ที่ดี เด็กจะรู้สึกดีกับตัวเอง มั่นใจ กล้าเปลี่ยน และมีพลังพัฒนาต่อไป”
ฟาตีมะห์ มุเสะ
สังคมที่ประเมินทุกสิ่งเป็นขาว-ดำ
ทำให้คนขาดทักษะการฟังด้วยใจ
ขณะที่ อภิรมน เติมเจิม ครูระดับมัธยมศึกษา เปิดเผยถึงเหตุผลในการเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ว่า ต้องการหาแนวทางใหม่ ๆ ในการจัดการกับปัญหาความขัดแย้งในโรงเรียน โดยเฉพาะบทบาทการเป็น คนกลาง ระหว่างนักเรียนที่มีความรู้สึกแตกต่างกัน พร้อมระบุว่าอยากนำเทคนิคการรับฟังและการบริหารความขัดแย้งกลับไปใช้ เพื่อทำให้บรรยากาศในห้องเรียนดีขึ้น และช่วยประคับประคองความรู้สึกของเด็กให้มากที่สุด

ครูอภิรมนสะท้อนว่าหนึ่งในความท้าทายสำคัญในโรงเรียนปัจจุบันคือการรับมือกับปัญหาอบายมุขที่แพร่หลายมากขึ้น เช่น บุหรี่ไฟฟ้าและกัญชา ซึ่งเด็กมองว่าเป็นเรื่องปกติ เนื่องจากการเปิดเผยในสังคมที่มากขึ้นกว่าเดิม สื่อที่เข้าถึงได้ง่ายโดยปราศจากการคัดกรอง โดยเธอเห็นว่า เราจำเป็นต้องมี “กติกา” ที่ชัดเจนและเด็ดขาดมากขึ้น ให้เด็กเห็นความสำคัญของกฎเกณฑ์มากขึ้น โดยไม่ใช่แค่ห้ามอย่างเดียว แต่ต้องสอนให้เข้าใจว่าทำไมถึงห้าม และถ้าไม่ทำตามจะเกิดผลอะไรต่อไป
สำหรับครูอภิรมนเชื่อว่า เวิร์กชอปนี้มีประโยชน์ต่อเธอมาก โดยเฉพาะการสอนผ่านเกม ซึ่งทำให้เรื่องขัดแย้งที่ละเอียดอ่อนกลายเป็นสิ่งที่เรารับฟังและยอมรับได้ง่ายขึ้น แม้ปัญหาจริง ๆ จะรุนแรงกว่าในเกม แต่เกมทำให้เด็กเห็นอีกมุมหนึ่งโดยไม่กระทบความรู้สึกมากนัก ตั้งใจจะนำไปปรับใช้ในชั้นเรียนเพื่อให้เด็กเท่าทันต่อสถานการณ์ความขัดแย้งและมีทักษะในการเข้าใจตัวเองและผู้อื่นมากขึ้น
เธอยังเชื่อว่าถ้ามีพื้นที่สำหรับการรับฟังอย่างแท้จริง ไม่ใช่แค่ครูฟังเด็ก แต่รวมถึงเด็กฟังเด็กด้วยกันเอง การศึกษาไทยจะไปได้ไกลมาก เพราะตอนนี้สังคมแบ่งแยกเรื่อง ถูก-ผิด ตามมุมมองตัวเองมากเกินไป ถ้าเปิดใจรับฟังกันจริง ๆ ศักยภาพของเด็กแต่ละคนจะถูกปลดปล่อยออกมาอย่างเต็มที่ เด็กทุกคนมี ของ ในตัว แต่จะดึงออกมาได้หรือไม่ อยู่ที่เราจะเปิดพื้นที่ให้เขาอย่างไร
“ทุกวันนี้สังคมแบ่งแยกเรื่องถูกผิดตามมุมมองตัวเองมากเกินไป ถ้าเรารับฟังกันจริงๆ ศักยภาพของเด็กจะถูกปลดปล่อยออกมา เด็กทุกคนมี ‘ของ’ อยู่แล้ว แค่เราต้องเปิดใจและให้พื้นที่จริงๆ”
อภิรมน เติมเจิม