เด็กในครอบครัวกว่า 70 ชุมชนแออัด กทม. พบพัฒนาการถดถอย ขาดการศึกษาต่อเนื่องมากสุด ขณะที่ กทม. เร่งสร้างกลไกศูนย์เด็กเล็ก พัฒนาการเรียนรู้ ทักษะผู้สอน ปรับเงินอุดหนุน หวังแก้ปัญหาตรงจุด
การไม่ทิ้งเด็กไว้ข้างหลัง ยังเป็นสิ่งที่ทุกชาติควรปฏิบัติ เพราะตามหลักสิทธิของเด็ก 4 ด้าน ที่ควรมีสิทธิที่จะมีชีวิตรอด สิทธิที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครอง สิทธิในการพัฒนา และสิทธิในการมีส่วนร่วม และตั้งอยู่บนหลักการไม่เลือกปฏิบัติ และถือประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นที่ตั้ง คือสิ่งที่เป็นหลักสากลที่ต้องปฎิบัติ แต่ขณะนี้พบเด็กยากจนหลายคนกำลังถูกทิ้งเด็กไว้ข้างหลัง จากผลกระทบโควิด-19
รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า หลังมีโครงการการเฝ้าระวังและฟื้นฟูผลกระทบต่อเด็กในภาวะยากลำบากภายหลังการระบาดของ โควิด-19 และนโยบายของกรุงเทพมหานคร เฝ้าระวังและฟื้นฟูผลกระทบต่อเด็กจากภาวะยากลำบากภายหลังการระบาดของ โควิด-19 ได้พัฒนาระบบค้นหากลุ่มเด็กยากจนและอยู่ในครอบครัวที่มีภาวะบกพร่องซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะหลุดออกนอกระบบการดูแลสุขภาพและระบบการศึกษา และเสี่ยงต่อการได้รับผลกระทบจากการระบาดโควิด-19 โดยทำงานร่วมกับครูปฐมวัย อาสาสมัครสาธารณสุข (อสส.) อาสาสมัครพัฒนาสังคม (อพม.) กว่า 70 ชุมชน โดยศึกษาเด็กปฐมวัย 1,392 คน ในพื้นที่ชุมชนแออัด พบว่า
ร้อยละ 41 ของเด็กเหล่านี้ยากจนและขาดแคลนสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิต
ร้อยละ 24 ต้องอยู่ในครอบครัวที่มีภาวะบกพร่องอย่างน้อย 2 ใน 5 ด้าน (ครอบครัวที่มีภาวะแตกแยก, ตีกัน, ติดคุก, ติดยา, สภาพจิตไม่ปกติ)
ร้อยละ 28 ได้รับการเลี้ยงดูไม่เหมาะสม อย่างน้อย 1 ใน 5 ด้าน (ละเลยทางกาย, ละเลยทางอารมณ์, ทำร้ายทางกาย, ทำร้ายทางอารมณ์, ทำร้ายทางเพศ) ในช่วงโควิด-19
ร้อยละ 77 มีพัฒนาการถดถอย
และ ร้อยละ 90 ขาดการศึกษาต่อเนื่อง
“เด็กบางคนถูกค้นพบว่า แม้ถึงวัยที่จะเข้าสู่สวัสดิการเรียนฟรี 15 ปี ซึ่งจะได้รับการช่วยเหลือทั้งค่าเรียน ค่าอาหารและนม แต่ก็ยังอยู่นอกระบบการศึกษาปฐมวัย เด็กนอกระบบกลุ่มนี้มีสัดส่วนของความยากจน ภาวะครอบครัวบกพร่องถึงร้อยละ 90”
จากผลที่ได้คาดว่า ร้อยละ 23.6 ของเด็กในพื้นที่ชุมชนแออัดต้องตกอยู่ในภาวะยากลำบาก หรือ ปริแยก แตกร้าว คือ อยู่ในครอบครัวที่มีภาวะยากจน ขาดแคลน ภาวะครอบครัวบกพร่อง หรือได้รับการเลี้ยงดูไม่เหมาะสม ที่มีความรุนแรงที่ต้องให้การช่วยเหลือ คิดเป็น 5,360 คน
“ก่อนหน้านี้ ครูปฐมวัย อสส. อพม. ในพื้นที่ปฏิบัติงาน และนักวิชาการของโครงการ ได้ให้การช่วยเหลือเด็กและครอบครัวที่เป็นกลุ่มเสี่ยงสูงที่จะได้รับผลกระทบขจากการระบาดโควิด-19 ทั้งทางสุขภาพ โภชนาการ การส่งเสริมพัฒนาการ การเชื่อมต่อสู่การช่วยเหลือต่างๆ ของภาครัฐ มีการติดตามเยี่ยมบ้าน (Intensive Home Visit) ทำงานกับครอบครัวเหล่านี้ต่อเนื่อง และการจัดระบบดูแลทดแทนและผู้ดูแลทดแทนบางช่วงเวลาเสริมการเลี้ยงดูครอบครัว เช่น การจัดพื้นที่การเล่น (Play Area) บ้านรับเลี้ยงเด็ก รวมทั้งได้เตรียมศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัย เพื่อฟื้นฟูเด็กหลังการระบาด”
รศ.นพ.อดิศักดิ์ ยังพบด้วยว่า เด็กมีพัฒนาการล่าช้ามากขึ้น มีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงจากการได้รับผลกระทบจากภาวะเครียดในครอบครัว รวมทั้งต้องทำงานกับครอบครัวซึ่งมีทั้งความยากจนและภาวะบกพร่องที่รุนแรงขึ้น และการเก็บตกเด็กที่หลุดออกนอกระบบที่พบจำนวนมากขึ้น ซึ่งทางมหาวิทยาลัยมหิดลได้จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้แก่ทีมชุมชน ครู ผู้ดูแลเด็กปฐมวัย ในโครงการและให้การฝึกอบรมการดูแลเด็กในภาวะยากลำบากมากกว่า 11 หลักสูตร
ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กทม.ได้จัดตั้ง คณะอนุกรรมการพัฒนาศูนย์เด็กก่อนวัยเรียนและการดูแลเด็กปฐมวัยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร รวมพลังความร่วมมือจากองค์กรต่าง ๆ โดยมี รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลผลิตการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว เป็นกรรมการด้วย เพื่อเป้าหมายหลัก 2 ประการ ได้แก่
1. พัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนรู้ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กของ กทม. และการพัฒนาทักษะให้แก่ครูผู้ดูแลเด็กที่ไม่จำกัดเพียงศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่อยู่ในความรับผิดชอบของ กทม. 278 ศูนย์ ดูแลเด็ก 18,864 คน อยู่ในพื้นที่ 45 เขตเท่านั้น จากที่ กทม. มีทั้งหมด 50 เขต แต่ต้องมีแนวทางให้การสนับสนุนศูนย์ฯ ในชุมชนที่ไม่ได้รับการจัดตั้งและช่วยเหลือเด็ก กทม.อีก 63,997 คน ที่ยังไม่ทราบว่าอยู่ในการดูแลของสังกัดใด จากการสำรวจของสำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่ปี 2564
2. ติดตามกลุ่มเด็กยากจน เด็กในภาวะยากลำบากต่าง ๆ สนับสนุนการพัฒนากำลังคนและความสามารถของคนในชุมชนที่ต้องทำงานกับเด็กและครอบครัวที่มีภาวะยากลำบาก ให้มีความรู้และทักษะ ในการเฝ้าระวังและให้การดูแล ฟื้นฟู และป้องกันเด็กในภาวะยากลำบาก และจะขยายให้การดำเนินงานนี้ครอบคลุมทุกเขตพื้นที่ ครอบคลุมเด็กในภาวะยากลำบากทุกคน
อย่างไรก็ตาม กทม. มีความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนระเบียบต่าง ๆ ที่เป็นข้อจำกัดให้ศูนย์สามารถดูแลเด็ก ๆ ได้อย่างเต็มที่และมีคุณภาพ เช่น
1. การปรับสถานะของศูนย์ให้มีความเป็นอิสระให้สามารถบริหารจัดการตนเองได้มากขึ้น
2. การปรับสถานะครูให้ได้รับการพัฒนาทักษะและได้รับค่าตอบแทนอย่างเหมาะสม
3. การปรับเงินอุดหนุน ค่าอาหาร ค่านม และค่าอุปกรณ์การเรียนรู้ของเด็กรายบุคคลให้เหมาะสมและเพียงพอ โดยเบื้องต้น กทม. ได้ปรับระเบียบเงินอุดหนุนค่าอาหารและนมของเด็กต่อวันจาก 20 บาท เป็น 32 บาทต่อคนต่อวัน ค่าอุปกรณ์การเรียนการสอน/เสริมทักษะ จาก 100 บาท เป็น 600 บาทต่อคนต่อปี เรียบร้อยแล้ว
4. การปรับโครงสร้างการบริหารจัดการศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่อยู่ภายใต้การดูแลของฝ่ายพัฒนาชุมชน สำนักงานเขต ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านการช่วยเหลือสงเคราะห์มากกว่าด้านการจัดการเรียนรู้ ต้องเป็นจุดเชื่อมโยง อสม. อพม. โรงเรียนอนุบาล ให้เป็นทีมบูรณาการในพื้นที่เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ให้แก่เด็กปฐมวัย
“ภายใน ปี 2566 กทม. มีแผนทดลองนำร่องการพัฒนาศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนผ่านกลไก Sandbox อย่างน้อย 30 แห่ง ร่วมกับองค์กรภาคี ได้แก่ กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), กองทุนเพื่อความเสมอภาคการศึกษา (กสศ.), รักลูก เลิร์นนิ่ง กรุ๊ป, สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล, มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก และมูลนิธิเด็กอ่อนในสลัม เพื่อสร้างต้นแบบการพัฒนาคุณภาพของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทุกมิติ ตั้งแต่อายุ 2 ถึง 8 ปี ให้มีความพร้อมเพื่อพัฒนาสุขภาพ ศักยภาพการเรียนรู้ และพฤติกรรมที่พึงประสงค์ของเด็ก ๆ ให้เติบโตไปด้วยกันทั้งเด็กปกติและเด็กที่อยู่ครอบครัวที่ไม่สมบูรณ์ ทั้งในภาวะปกติ และภาวะวิกฤติต่าง ๆ ของสังคม”
ศ.นพ.สมเกียรติ วัฒนศิริชัยกุล ผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า โครงการวิจัย “การเฝ้าระวังภาวะประสบการณ์ชีวิตไม่พึงประสงค์ของเด็กปฐมวัยและการแทรกแซงเพื่อฟื้นฟูสุขภาวะเด็กและครอบครัวในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจจากโรคระบาด COVID-19 และหลังวิกฤต” เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างในส่งเสริมและสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรมของ วช. ที่สามารถสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมมาใช้แก้ไขปัญหาในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ได้
“จากผลการศึกษาพบปัญหาความจริงที่สังคมต้องยอมรับว่า คำว่า ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ยังเป็นคำสวยหรูที่ห่างไกลความจริง การศึกษานี้พบความสัมพันธ์ของความยากจน ภาวะครอบครัวบกพร่อง การเลี้ยงดูไม่เหมาะสม และการตกหล่นออกนอกระบบการศึกษาปฐมวัย เด็กปฐมวัยในพื้นที่ชุมชนแออัดยังอยู่ในความยากจน อยู่ในครอบครัวที่มีความบกพร่อง ได้รับการเลี้ยงดูไม่เหมาะสม และหลุดออกนอกระบบสวสดิการของภาครัฐ เมื่อเกิดภาวะวิกฤตในสังคม ครอบครัวของเด็กเหล่านี้จะได้รับผลกระทบให้ยากจนมากขึ้น ครอบครัวมีภาวะเครียดทำหน้าที่บกพร่องมากขึ้น”
ดังนั้น ผู้กำหนดนโยบาย ชุมชน ท้องถิ่นต่าง ๆ ต้องนำผลการศึกษาไปขยายผลต่อ พัฒนาระบบการเฝ้าระวังและชี้เป้าเด็กในครอบครัวยากจนรุนแรง และมีภาวะครอบครัวภาวะบกพร่องร่วมด้วย พัฒนากระบวนการป้องกัน ช่วยเหลือ ฟื้นฟูทั้งการพัฒนาระบบข้อมูล กำลังคน นโยบาย และงบประมาณ ร่วมกับนักวิชาการ มหาวิทยาลัยกับท้องถิ่นต้องทำงานคู่กัน ให้เกิดนโยบาย แนวทางการปฏิบัติบนฐานความรู้เชิงประจักษ์ เพื่อสร้างสังคมสุขภาวะ สังคมสงบสุข โดยสำนักงานวิจัยแห่งชาติ (วช.) พร้อมสนับสนุนงานวิจัยที่มุ่งเน้นการแก้ปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำ กลุ่มเปราะบางและปัญหาวิกฤตทางสังคมต่าง ๆ เพื่อประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชนต่อไป
ขณะที่ รศ.ดร.ภก.สมภพ ประธานธุรารักษ์ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาคุณภาพและบริการวิชาการมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมหิดล มีพันธสัญญาต่อชุมชนในการ “การยกระดับ” ทางวิชาการเพื่อทำให้ตอบโจทย์ความต้องการของสังคม สร้าง
องค์ความรู้ การสร้างความสามารถของคนที่จะร่วมกันเป็นพลังเดินหน้ายุทธศาสตร์ชาติ และผลักดันแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs ขององค์การสหประชาชาติ โดยเฉพาะการสนับสนุนให้เกิด “ความครอบคลุมทางสังคม – Social Inclusiveness” โดย กทม.เป็นมหานครขนาดใหญ่ที่มีความซับซ้อนของปัญหาที่มากขึ้นกว่าพื้นที่เขตเมืองปกติ เป็นพื้นที่ให้นักวิชาการมองว่า การนำองค์ความรู้ จากงานวิจัยมาทำให้เกิดประโยชน์จะเป็นประโยชน์ต่อสังคมในภาพรวม