เน้นสมัครใจสอบ วัดทักษะคิดวิเคราะห์ หวังลดความซ้ำซ้อน ไม่เสียเวลา เตรียมส่งงานให้ สกร. ขับเคลื่อนต่อ คาดเสร็จทันปีการศึกษานี้
เมื่อเร็ว ๆ นี้ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยผลการประชุมประสานภารกิจ ครั้งที่ 7/2567 ว่า ที่ประชุมได้ติดตามการดำเนินการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) เพื่อขับเคลื่อนเรื่องการสอบดังกล่าวให้มีประโยชน์ต่อการพัฒนาผู้เรียนมากขึ้น ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการวางแนวทางมาตรฐานการวัดความรู้และทักษะของผู้เรียน ลดภาระในการสอบซ้ำซ้อน ตอบโจทย์นโยบาย “เรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา” การศึกษาของเด็กแต่ละช่วงชั้นควรสอบวัดประเมินผล เพื่อนำมาใช้วิเคราะห์จุดอ่อนจุดแข็งในการพัฒนาผู้เรียน จะได้ทราบว่าต้องปรับปรุงหลักสูตรการเรียนหรือปรับการสอนหรือไม่ ให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางเพื่อนำเกณฑ์มาประเมินกระบวนการผลิตและพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาได้ด้วย
พล.ต.อ.เพิ่มพูน บอกด้วยว่า ในอนาคตจะนำการสอบเทียบกลับมาเป็นการสอบรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า O-NET+ (โอเน็ตพลัส) อาจปรับแนวข้อสอบให้เน้นทักษะคิดวิเคราะห์มากขึ้น เพราะการสอบแบบเดิมไม่ครอบคลุม 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ในรูปแบบใหม่หากใครมีคะแนน O-NET 4 วิชาเดิมอยู่แล้ว ก็นำคะแนนมาใช้ในการสอบเทียบเพิ่มได้เลย เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน เหมือนเป็นการสะสมหน่วยกิต ไม่ได้เป็นการบังคับ แต่ให้สอบด้วยความสมัครใจ ไม่เป็นการเสียเวลาและยังนำไปใช้ประโยชน์ทางการศึกษาได้ด้วย
“การสอบก็คือกระบวนการเดียวกันกับการส่องกระจกเงา ที่ทำไปเพื่อดูว่าเราพร้อมหรือยัง หรือมีสิ่งที่ควรแก้ไข ทำอย่างไรเราถึงจะดูดี ทำอย่างไรเราถึงจะเก่ง เราขาดตกบกพร่องตรงไหนที่ยังไม่สมบูรณ์ ไม่อยากให้คิดแค่ว่าการสอบเป็นเรื่องบังคับเพื่อจัดลำดับเข้ามหาวิทยาลัย ควรเปลี่ยนทัศนคติใหม่ให้สอบอย่างมีความสุข เห็นประโยชน์ที่ทำให้รู้ตัวตนเหมือนเราส่องกระจกเงา”
พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ
พลิกโฉม กศน. สู่ สกร. ปรับองค์กรขนานใหญ่ รองรับการเรียนรู้ไร้รอยต่อ
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 18 ม.ค. 67 รมว.ศธ. ได้เน้นย้ำให้ กรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) ฟื้นเรื่องระบบสอบเทียบ คาดว่าจะเร่งดำเนินการให้เกิดขึ้นในปีการศึกษา 2567 นี้ โดยหวังพึ่ง สกร. เป็นหน่วยขับเคลื่อนและดำเนินการนโยบายดังกล่าว เพื่อตอบสนองการเรียนรู้และสร้างโอกาสทางการศึกษาอย่างเท่าเทียม และให้ สำนักทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) รับผิดชอบการดำเนินการสอบเทียบ โดยการสอบเทียบจะยึดเนื้อหาตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานในสายสามัญ
สำหรับการปรับหลักสูตรของ สกร. นั้นจะใช้หลักสูตรแกนกลางของ สพฐ. เป็นหลักสูตรหลัก แต่วิธีการอาจปรับตำราเรียนให้ทันสมัยมากขึ้น และบูรณาการหลายวิชารวมเป็นวิชาเดียวกัน โดยความคืบหน้าล่าสุดเมื่อวันที่ 15 ก.พ. ที่ผ่านมา ธนากร ดอนเหนือ ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ เปิดเผยว่า โครงสร้างภายในของหน่วยงาน สกร. ได้สมบูรณ์แล้ว ประกอบด้วย
- กลุ่มพัฒนาระบบบริหาร
- กลุ่มตรวจสอบภายใน
- กลุ่มกฎหมายและนิติการ
- สำนักงานเลขานุการกรม
- กองบริหารการคลัง
- กองบริหารทรัพยากรบุคคล
- กองส่งเสริมและพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้เพื่อคุณวุฒิตามระดับ
- กองส่งเสริมและพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาตนเอง
- กองยุทธศาสตร์และแผนงาน
- กองส่งเสริมและพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้ตลอดชีวิต
- กองมาตรฐานความรู้และรับรองวุฒิ
- ศูนย์เทคโนโลยีดิจิทัลและสารสนเทศ ศูนย์เทคโนโลยีและนวัตกรรมการเรียนรู้ และศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์
ทางหน่วยงานได้เร่งดำเนินการในส่วนของกฎหมายลำดับรองเพื่อมาสอดรับกับ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 และได้ดำเนินการแล้วเสร็จไปแล้วส่วนหนึ่ง เช่น
- การกำหนดสถานที่ตั้งของสำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้จังหวัด (สกร.จังหวัด) สำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้กรุงเทพมหานคร (สกร.กรุงเทพมหานคร) ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้อำเภอ/เขต (สกร.อำเภอ หรือ สกร.ข.) ศูนย์การเรียนรู้ตำบล (ศกร.ตำบล) และศูนย์การเรียนรู้แขวง (ศกร.แขวง)
- การกำหนดอำนาจหน้าที่ของศูนย์การเรียนรู้ชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง”
- การประกาศให้จัดตั้งศูนย์หรือสถาบันการเรียนรู้เฉพาะด้านหรือเฉพาะกิจการ ซึ่งกำหนดให้เป็นสถานศึกษาไปแล้วจำนวน 39 แห่ง
- การกำหนดให้หน่วยจัดการเรียนรู้มีอำนาจในการรับรองคุณวุฒิให้แก่ผู้เรียนเมื่อสำเร็จการศึกษา โดยมีการแบ่งออกเป็นประกาศนียบัตร หรือวุฒิบัตร หรือหนังสือรับรองความรู้ เพื่อนำไปสะสมในการได้รับการรับรองคุณวุฒิ
ในส่วนของการจัดการศึกษาเพื่อเด็กอัจฉริยะ สกร. กำลังดำเนินการพัฒนาหลักสูตรสอบเทียบ ร่วมกับสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ซึ่งทำหน้าที่เป็นสถาบันพัฒนาหลักสูตรและการเรียนรู้ และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในการจัดทำหลักสูตรมาตรฐานของชาติมาจัดสอบ และมอบสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) เป็นผู้ออกข้อสอบ
นอกจากนี้ จะหารือกับมหาวิทยาลัย ให้ช่วยจัดทำหลักสูตรนักส่งเสริมการเรียนรู้ เพื่อให้ครูและบุคลากรเข้ารับการอบรม โดยเรียนที่มหาวิทยาลัยเพียง 1 – 2 วัน และศึกษาทำงานในพื้นที่ให้มาก 3 – 6 เดือน จบแล้วได้รับหน่วยกิตไปสอบเทียบระดับปริญญาโทได้ เพื่อเตรียมบุคลากรได้ปรับตัวและพร้อมปฏิบัติงานใหม่ ๆ ตามภารกิจในกฎหมายและโครงสร้างใหม่ของ สกร.
“สกร. เป็นกรมใหม่ เราต้องเร่งทำงานอย่างรอบด้านในทุกมิติ เพื่อให้มีการขับเคลื่อนงานได้ โดยมี 2 นโยบายที่ สกร.ต้องเร่งดำเนินการให้เร็วในปี 2567 นี้ คือ การจัดการศึกษาเพื่อเด็กอัจฉริยะ และการจัดการศึกษาเพื่อการมีงานทำ ซึ่งสอดคล้องกับภารกิจของ สกร.ในทุกมิติ เพราะงานของ สกร. คือ แผนที่เพิ่มโอกาสคนทุกกลุ่ม ทุกเพศ ทุกวัย“
ธนากร ดอนเหนือ