Policy Forum ครั้งที่ 9 เผยวิธีการสอนบางวิชาสายสามัญไม่ตอบโจทย์ สังคมควรยอมรับการศึกษานอกระบบ สร้างทักษะเท่าทัน ตลาดแรงงาน ชี้ระบบพร้อม แต่ต้องแก้ความเข้าใจของผู้การปฏิบัติงานให้ตรงกับประกาศกระทรวงฯ
เมื่อวันที่ 13 มี.ค. 67 The Active จัด Policy Forum : ‘วิชาชีวิต เทียบหน่วยกิตได้’ เรียนรู้มาเพียบ แต่เทียบโอนวุฒิไม่ได้ ทำไงดี ?โดยเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนข้อเสนอเชิงนโยบาย เพื่อออกแบบการเชื่อมต่อระบบการศึกษาให้คนทุกกลุ่ม ทุกวัยสามารถเข้าถึงโอกาสการเรียนรู้ได้ ทุกที่ ทุกเวลา และ สามารถเทียบโอนวุฒิระหว่างการศึกษา ใน และ นอก ระบบได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อก้าวสู่ตลาดแรงงานและนำทักษะที่มีปรับใช้กับการทำงานที่ใช่ในอนาคต
ภูมิปรินทร์ มะโน วิศวกรซอฟต์แวร์ บอกว่า แม้ตอนที่เรียนในสายสามัญจะเกรดไม่ดี หลุดออกจากระบบการศึกษาสายสามัญตอน ม.4 แต่ก็รู้ว่าตัวเองชอบเขียนโปรแกรมตั้งแต่เด็ก จากการเล่นเกมมาก่อน จนพบว่า วิธีการสอนในโรงเรียนไม่ใช่สิ่งที่ใช่สำหรับตัวเอง และสงสัยว่าสิ่งที่กำลังเรียนอยู่เป็นสิ่งที่อยากจะนำไปใช้ในชีวิตจริง ๆ หรือไม่
จึงมองว่าทักษะที่ใช้ในการทำงานปัจจุบัน จริง ๆ เกิดจากการเรียนรู้ด้วยตัวเองค่อนข้างเยอะ การเรียนในห้องไม่ทำให้เกิดข้อสงสัย หรือการตั้งคำถาม วิธีการเรียนในห้องเรียน บางครั้งขาดการประติดประต่อกัน ขาดความเชื่อมโยงกับตัวเอง แต่การเรียนนอกห้องเรียนทำให้การเรียนรู้สนุกขึ้น ด้วยการฝึกทักษะด้วยตัวเอง จนสามารถเข้าสู่การทำงานกับบริษัทต่างประเทศ
ส่วนปัญหาที่พบเจอ เนื่องจากเป็นที่ศึกษานอกระบบ แม้บริษัทรับเข้าไปทำงาน ผ่านการประเมินแล้วว่ามีทักษะ ความสามารถ แต่เวลาขอวีซ่าไปต่างประเทศก็ยังพบปัญหาในการเทียบวุฒิอยู่ เช่น การโดนกดค่าแรงมากกว่าคนอื่น ๆ ดังนั้น ตลาดแรงงานจึงยังมีข้อจำกัด
ศิธการญจน์ แสงพารา ผู้เรียนจากศูนย์การเรียนเซนต์ ยอห์นบอสโก บอกว่า บางวิชาที่สนใจในโรงเรียนไม่มี เลยเลือกออกจากโรงเรียนมาศึกษาด้วยตนเอง และจะได้มีเวลาทำงานมากขึ้น ซึ่งตอนนี้ทำงานเป็นไกด์ภาษาอังกฤษอยู่ และการเทียบโอนไปศึกษที่ศูนย์การเรียนรู้ตอนนี้ก็ยังไม่มีปัญหาอะไรที่ติดขัด
“การเรียนหลากหลายขึ้น ทำให้รู้ว่าตัวเองชอบอะไรไม่ชอบอะไร”
ศิธการญจน์ แสงพารา
ณิชา พิทยาพงศกร นักวิจัยอิสระ และที่ปรึกษาด้านการพัฒนาองค์กรและการเรียนรู้ มองว่า สถานการณ์การศึกษาไทยตอนนี้ ทักษะที่กำลังเป็นที่ต้องการในตอนนี้ ในโลกการทำงานนั้นเปลี่ยนไปเยอะและมีความหลากหลายมากขึ้น แต่ทักษะที่เรียนรู้ในระบบและทำให้ได้วุฒิ อาจไม่ได้สอดคล้องกับทักษะตรงนั้น และยากที่จะปรับได้อย่างเท่าทัน จึงเกิดปรากฏการณ์ที่มีเด็กหลายคนขอเลือกไปเรียนในทักษะอื่น ๆ นอกห้องเรียน และนำทักษะนั้น ๆ ไปเข้าสู่อาชีพและเข้าถึงรายได้
แต่ในอีมุมหนึ่งก็จะมีเด็กที่ยังอยู่ในระบบ ที่ยังไม่ได้สะท้อนทักษะที่จำเป็นต้องใช้ในอนาคต เลยนำมาสู่การพูดคุยที่ว่าเราจะเทียบโอนประสบการณ์และการเรียนรู้กันได้อย่างไร
“เป็นคำถามที่อาจจะมีมาดดยตลอด เพียงแต่ตอนนี้มันเห็นชัดขึ้น เป็นปัญหามากขึ้น เมื่อโลกการศึกษาหมุนเร็วขึ้น”
ณิชา พิทยาพงศกร
โจทย์ของโลกจริง : รู้ได้อย่างไร ว่าใครมีทักษะ ?
ณิชา ยังบอกอีกว่า การที่จะรู้ได้ว่าคนหนึ่งมีทักษะอะไร ต้องใช้เวลาให้เขาได้แสดงออกมา ในขณะเดียวกันวุฒิที่ให้คนมีความน่าเชื่อถือ ก็ไม่ค่อยเฉพาะเจาะจงเท่าไหร่ เพราะบางอาจจะไปฝึกฝนทักษะบางอย่างมา แต่ไม่มีอะไรที่จะมารองรับได้เลย ซึ่งสังคมไทยยังเป็นแบบนี้อยู่
ขณะที่ สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ มองว่า ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าการศึกษาขั้นพื้นฐานเรียนไปเพื่ออะไร การศึกษาขั้นพื้นฐานอาจไม่ได้ตอบโจทย์ทั้งหมด อาจจะมีเพียงบางส่วนที่ตอบโจทย์ เช่น ทักษะด้านคณิตศาสตร์อาจจะได้ใช้ถ้าเราเป็นโปรแกรมเมอร์ หมอต้องใช้ทักษะเคมีชีวะ เป็นต้น
การศึกษาขั้นพื้นฐานทุกคนควรได้รับเท่าเทียมกัน แล้วแต่ว่าใครจะต่อหรือเสริมแบบไหน ทางกระทรวงศึกษาธิการมีความเข้าใจ และอยากให้เด็กมีความสุขในการเรียน เชื่อว่าการเรียนต้องตอบโจทย์ในการประกอบอาชีพ
ทำยังไงให้ผู้บริหารมีวิสัยทัศน์เปลี่ยน ต้องออกมาเป็นประกาศ ทำเป็นแนวทาง เพราะในมุมกฎหมายมีอำนาจให้ทำได้ ต้องบังคับให้ทำได้ในเฟสแรก ยืนยันว่าให้ความสำคัญแน่นอน เกณฑ์ต้องมีการปรับ ฉะนั้นต้องมีการนำร่องในพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ
เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต (Think Forward Center) บอกว่า ในยุคปัจจุบันผู้เรียนมองการศึกษาต่างจากอดีต วิธีเรียนต่างกัน และสิ่งที่เรียนต้องเติมเต็มอะไรบางอย่าง สิ่งนี้เป็นคีย์เวิร์ด ว่าการศึกษาไทยจะตอบโจทย์สิ่งนี้ได้แค่ไหน ส่วนจุดที่จะต้องปลดล็อก คือ รูปแบบการเรียน จะทำอย่างไรให้การเรียนหลายรูปแบบมันส่งผลถึงสิ่งที่มีความหมายสำหรับเด็กและได้วุฒิการศึกษาขั้นพื้นฐานเหมือนกัน
การแสดงออกของวุฒิมีหลายวิธี แต่การศึกษาไทยอาจมีการแสดงออกที่ยังจำกัด อยากให้มองในมุมที่ว่า ถ้าเราปรับระบบการศึกษาเราจะได้อะไร ไม่ใช่มองว่าเราจะดีขึ้นอย่างไร
แม้มีความพยายามตั้งแต่ ปี 2542 ที่จะทำให้การศึกษามีความหลากหลาย แต่คนในระบบการศึกษายังมีความกังวล ซึ่งไม่สามารถแก้ไขได้ ต้องแก้ได้ด้วยการปฏิบัติ
อยากให้มองเรื่องนี้ว่าเป็นการปรับการศึกษาให้เป็นโฉมใหม่ อยากให้หน่วยงานของรัฐเป็นผู้ทำเป็นหลัก และต้องมีการสนับสนุนด้านงบประมาณที่เอื้อการลงทุนในเรื่องนี้ up skill -reskill
รศ.วีระเทพ ปทุมเจริญวัฒนา หัวหน้าภาควิชาการศึกษาตลอดชีวิต คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า ในบางประเทศพยายามตอบโจทย์ความหลากหลายของการศึกษา เช่น การศึกษานอกระบบ การเรียนแบบ Home School ที่สามารถตอบโจทย์ผู้เรียนเป็นรายบุคคลได้ ซึ่งแต่ละประเทศก็จะมีวิธีการจัดการ และเคารพการทำงานตรงนี้
ส่วนประเทศไทย ตัวกฎหมาย พ.ร.บ.การศึกษา 2542 ตอบโจทย์เรื่องความหลากหลายเยอะ เพราะในมาตรา 12 บอกว่า นอกเหนือจาก ภาครัฐ เอกชน องค์กรท้องถิ่นหรือหน่วยงานอื่น ๆ ก็สามารถจัดการศึกษาได้ ไม่ว่าจะเป็น ครอบครัว ชุมชม สามารถทำตามแนวคิดที่มีได้ ตัวกฎหมายค่อนข้างใช้ได้ แต่พอมาในเชิงปฏิบัติ เช่น การทำงานของหน่วยงานภาครัฐที่บางทีไม่ค่อยยืดหยุ่น เวลาขออนุญาตก็ต้องใช้เวลา ภาครัฐต้องมีการปรับตัว เพื่อปรับระบบการศึกษาให้หลากหลายได้จริง
ไม่ต่างจาก เมธชนนท์ ประจวบลาภ ผู้อำนวยการศูนย์การเรียนเซนต์ ยอห์นบอสโก บอกว่า นอกจากรัฐ เอกชน ยังระบุให้ชุมชน ศูนย์การเรียนรู้ และอื่น ๆ สามารถจัดพื้นที่การเรียนรู้ได้ ผู้เรียนนอกระบบสามารถเทียบโอนวุฒิได้ แต่ปัญหาหลักคือ เจ้าหน้าที่เขตพื้นที่การศึกษา ไม่เข้าใจว่าการเทียบโอนสามารถทำได้อย่างไร ซึ่งการเทียบโอนแต่ละวิชาค่อนข้างจะใช้เครื่องมือเยอะ และขึ้นอยู่กับสถานศึกษา
ต้องมีกรรมการ และตั้งเกณฑ์มา เพื่อประเมินสมรรถนะ มีหลายการเรียนรู้ที่สามารถนำมาวัดผลการเรียนรู้ได้ เช่น การศึกษาตามอัธยาศัย หน่วยงานรัฐไม่เข้าใจว่าการเรียนนอกระบบ การเทียบโอนคืออะไร ต้องกลับมาตั้งคำถามที่ครู และให้ครูทำความเข้าใจก่อน
บุษกร เสนีย์โยธิน นักวิชาการมาตรฐานวิชาชีพ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ย้ำว่าระบบการเทียบโอน ตอนนี้พร้อมใช้แล้ว ทั้งกฎหมายและพรบ. แต่ระบบการศึกษายังจำกัด ในทางปฏิบัติ เพราะผู้ปฏิบัติยังไม่เข้าใจการเทียบโอน และเข้าใจไม่ตรงกัน ขอแค่เปิดใจยอมรับการยกระดับคุณวุฒิ และวิชาชีพ
“ผลประโยชน์ของผู้เรียน ไม่ได้สอดคล้องกับผลประโยชน์ของคนในระบบ”
ณิชา พิทยาพงศกร
ช่วงสุดท้าย ณิชา เสนอว่า 1. ภาครัฐควรมีความยืดหยุ่น แต่พร้อมเพรียง เพราะกฎเกณฑ์ต่าง ๆ มีอยู่แล้วแต่พอลงไปถึงระดับปฏิบัติ จะทำอย่างไรให้ทำได้อย่างพร้อมเพรียงกัน เป็นไปได้ไหมที่จะมีหน่วยประสานงาน ช่วยลดการซับซ้อนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 2. ต้องหลากหลายและทันสมัย ให้วุฒิทางวิชาชีพที่หลากหลายกว่าทุกวันนี้ ต้องรับรองทักษะใหม่ ๆ ที่สำคัญ 3. ต้องรับว่าทักษะบางอย่างเอกชนทำได้ดีกว่า จะทำยังไงให้คนกลุ่มต่าง ๆ สามารถเข้าถึงการศึกษาและการทำงานได้อย่างไร ส่วนหนึ่งต้องสนับสนุนให้มีการ up skill และ re – skill แต่จะพึ่งเพียงภาครัฐไม่ได้ แต่ต้องอาศัยภาครัฐด้วย
สำหรับภาคประชาชน อยากให้ชวนคิดว่า มีความจำเป็นอย่างมากที่ภาคเอกชน ปละภาคประชาสังคมต้องรวมตัวกัน “สร้างวุฒิของตัวเอง” วุฒิที่ยอมรับร่วมกันได้ หรือสร้างกระบวนการสร้างคนที่มีทักษะพื้นฐาน บางบริษัทต้องออกแบบการประเมินความสามารถตั้งแต่แรกเข้า เพราะถ้าหวังพึ่งวุฒิแค่อย่างเดียว บางครั้งวุฒิก็อาจจะไวไม่ทันความต้องการ