‘กรมสุขภาพจิต’ – รพ.สวนปรุง กลุ่มวิชาชีพ ร่วมพัฒนาแบบทดสอบมาตรฐานวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน (TSAT) ฉบับแรกของไทย อิงทฤษฎีเชาวน์ปัญญา การรู้คิด ประเมินปัญหาความบกพร่องการเรียนรู้ อ่าน เขียน คำนวณ เพื่อช่วยเหลือเด็กอย่างตรงจุด
เมื่อวันที่ 16 พ.ค. 67 กรมสุขภาพจิต เปิดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพนักจิตวิทยาด้านการใช้ แบบทดสอบมาตรฐานวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนไทย (Thai Standardized Achievement Test: TSAT) ซึ่งเป็นฉบับแรกของประเทศไทย เล็งร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) หวังใช้ตรวจ วินิจฉัย ค้นหาเด็กมีภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้ และช่วยเหลือเด็กต่อไป
ภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้ (Learning Disorder) เป็นความบกพร่องของกระบวนการเรียนรู้ที่แสดงออกทางด้านปัญหา การอ่าน การเขียน การสะกดคำ การคำนวณ และเหตุผลเชิงคณิตศาสตร์ ทำให้ผลการเรียนของเด็กต่ำกว่าศักยภาพที่แท้จริง โดยที่เด็กมีความสามารถและสติปัญญาด้านอื่นปกติดี สาเหตุของภาวะดังกล่าวมาจาก 1) สมองมีการทำงานบางตำแหน่งบกพร่อง 2) โครโมโซมมีความผิดปกติ และ 3) ถ่ายทอดจากกรรมพันธ์ โดยลักษณะของภาวะดังกล่าวปรากฎเห็นเป็น 3 ด้าน ได้แก่
- การอ่าน : เด็กจะขาดทักษะในการสะกดคำ การจดจำ พยัญชนะ สระ จึงอ่านหนังสือไม่ออก ด้านนี้จะพบมากที่สุด
- การเขียน : เด็กเขียนพยัญชนะ สระ วรรณยุกต์ ไม่ถูก บางครั้งเรียงลำดับอักษรผิด มักพบร่วมกับด้านการอ่าน
- คณิตศาสตร์ : เด็กไม่เข้าใจค่าของตัวเลข การนับจำนวน สูตรคูณ สัญลักษณ์ต่าง ๆ ทำให้ไม่สามารถคำนวณได้
ภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้ เป็นปัญหาสำคัญที่พบมากขึ้นในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานของไทย ข้อมูลจาก สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ปี 2559 พบว่า จำนวนนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้สูงถึง 245,972 คน (5.76%) และความชุกของความบกพร่องทางการเรียนรู้ในกลุ่มนักเรียนประถมฯ มีถึงร้อยละ 6.3% ซึ่งภาวะดังกล่าวทำให้เด็กเกิดความยากลำบากในการเรียนรู้ ทั้งการอ่าน การเขียน และการคำนวณ และยังส่งผลต่อความภาคภูมิใจในตัวเอง นำไปสู่ความรู้สึกแปลกแยก มีภาวะเครียด ซึมเศร้า ก้าวร้าว และการออกจากระบบการศึกษาก่อนวัยอันควร
นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ระบุว่า สถานการณ์ปัญหาสุขภาพจิตเด็กในประเทศไทยมีความน่าเป็นห่วงมากขึ้น กรมสุขภาพจิต จึงได้อนุมัติงบประมาณในการพัฒนาแบบทดสอบมาตรฐานวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนไทย (TSAT) ซึ่งเป็นฉบับแรกในประเทศไทย เพื่อใช้สำหรับตรวจวินิจฉัยภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้ ทำให้นักจิตวิทยาคลินิกสามารถวางแผนช่วยเหลือดูแลเด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม
อธิบดีกรมสุขภาพจิต ย้ำว่า ตัวแบบทดสอบนี้อยู่ในขั้นตอนที่ใช้ในโรงพยาบาลเป็นหลัก เล็งที่จะขยายต่อไปยังสถานศึกษา โดยบุคลากรด่านหน้าที่มีส่วนสำคัญในการค้นหาเด็กที่มีภาวะเหล่านี้ คือครูผู้สอนผู้ใกล้ชิดนักเรียนมากที่สุด เมื่อครูมีเครื่องมือแล้ว ก็จะช่วยตรวจหาเด็กได้ตรงจุดมากขึ้น และนำไปสู่การปรับวิธีการสอนให้เหมาะสมกับเด็กมากยิ่งขึ้น เพื่อไม่ให้เด็กรู้สึกแปลกแยก ตามเพื่อนไม่ทัน และตกหล่นจากระบบการศึกษาไป
“เรามีระบบ 3 ส่วนที่สำคัญในเรื่องนี้ ส่วนหนึ่งระบบสาธารณสุข และอีกด้านคือระบบการศึกษา อย่างกระทรวงศึกษาธิการที่จะช่วยเชื่อมต่อให้การคัดกรอง ช่วยเหลือเด็กเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และอีกส่วนหนึ่งคือ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นที่ตอนนี้ก็มีบางหน่วยงานเข้ามามีส่วนร่วมแล้ว ซึ่งก็จะช่วยกระจายผลของโครงการได้ดียิ่งขึ้น”
นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์
นพ.กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้ช่วยอธิบดีกรมสุขภาพจิต และ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสวนปรุง เปิดเผยว่า แบบทดสอบดังกล่างมีเพื่อวัดความบกพร่องทางการเรียนรู้ของเด็กไทย อายุระหว่าง 6 – 12 ปี โดยพัฒนาแบบทดสอบตามทฤษฎีการวัดผล ทฤษฎีเชาวน์ปัญญาและการรู้คิด และอิงกับหลักสูตรแกนกลางของกระทรวงศึกษาธิการ
มีเกณฑ์มาตรฐานที่สามารถระบุได้ถึงปัญหาความบกพร่องทางการเรียนรู้ของเด็ก ทั้งด้านการอ่าน การเขียนและการคำนวณ ทั้งนี้ ยังมีการจัดพิมพ์คู่มือ เพื่อให้นักจิตวิทยาคลินิกและผู้ที่เกี่ยวข้องจะได้นำไปใช้ในการตรวจประเมินเด็ก หากพบปัญหาจะได้ส่งต่อเข้าสู่การวางแผนการช่วยเหลืออย่างเหมาะสม โดยสถาบันการศึกษาและครอบครัวสามารถช่วยเหลือได้ ดังนี้
- การช่วยเหลือจากสถาบันทางการศึกษา
- ทำความเข้าใจกับครูถึงปัญหาการสอนเสริมในทักษะที่บกพร่อง
- สอนเป็นกลุ่มย่อยเพื่อให้เด็กเข้าใจเนื้อหาในบทเรียนได้มากขึ้น
- ส่งเสริมทักษะด้านอื่น ๆ ที่เด็กสนใจ เช่น ดนตรี กีฬา ศิลปะ เพื่อให้เด็กเกิดความภาคภูมิใจในตนเอง
2. การช่วยเหลือจากครอบครัว
- ให้เด็กและครอบครัวทราบถึงปัญหาและความรู้สึกของเด็กที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำ
- เปลี่ยนพฤติกรรมจากการตำหนิลงโทษเป็นความเข้าใจ และสนับสนุนทักษะการเรียนรู้ของเด็ก
- ชื่นชมเมื่อเด็กทำสำเร็จ แม้ในเรื่องเล็กน้อยเพื่อให้เกิดความภาคภูมิใจในตนเอง
กรมสุขภาพจิต โดยโรงพยาบาลสวนปรุง ตั้งเป้าหมายว่าการพัฒนาศักยภาพนักจิตวิทยาด้านการใช้แบบทดสอบมาตรฐานวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนไทย Thai Standardized Achievement Test (TSAT) ในครั้งนี้จะเป็นรุ่นนำร่องเพื่อนำเครื่องมือไปใช้ตรวจวินิจฉัย โดยสมาคมนักจิตวิทยาคลินิกไทยจะได้ยกระดับและนำไปใช้ในการดูแลเด็กที่มีปัญหาการเรียนร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการต่อไป