‘อธิบดีกรมสุขภาพจิต’ ยอมรับ การเร่งเพิ่มหอผู้ป่วยจิตเวชในช่วงเวลาสั้น ๆ อาจเกิดความผิดพลาดที่ส่งผลต่อความปลอดภัยของผู้ป่วย และผู้ให้บริการ เพราะต้องใช้ทักษะเฉพาะ เสี่ยงถูกทำร้าย ทั้งยังขาดบุคลากร สั่งทบทวนระบบ เพิ่มการฝึกอบรมบุคลากรดูแลผู้ป่วยจิตเวชที่มีพฤติกรรมก้าวร้าว
จากกรณี เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลกันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ ซ้อมคนไข้รักษาติดเหล้าเสียชีวิต ล่าสุด สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข สั่งย้าย ผอ.รพ.กันทรลักษ์ เข้าส่วนกลาง พร้อมสั่งให้ 2 เจ้าหน้าที่หยุดปฏิบัติหน้าที่
วันนี้ (11 ธ.ค. 67) นพ.กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ระบุว่า กระทรวงสาธารณสุขได้มีนโยบายในการเปิดหอผู้ป่วย จิตเวชยาเสพติด ซึ่งในปี 2566 สามารถดำเนินการได้ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดยเป้าหมายที่สำคัญคือรองรับการดูแลผู้ป่วยที่มีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
ในระยะ 3 – 4 ปีที่ผ่านมาจากการแพร่ระบาดของปัญหายาเสพติด ซึ่งมีบุคคลที่คลุ้มคลั่งถูกนำส่งโรงพยาบาลกระทรวงสาธารณสุขกว่าแสนรายต่อปี โดยกรมสุขภาพจิตร่วมกับสำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข ออกแบบระบบบริการ จิตเวชและยาเสพติด พร้อมทั้งจัดทำแนวทางการดูแลผู้ป่วยจิตเวชฉุกเฉินในโรงพยาบาล ตั้งแต่ปี 2563 ซึ่งมีการฝึกอบรมเพื่อการดูแลผู้ป่วยอย่างปลอดภัยในทุกวิชาชีพ
“แต่อย่างไรก็ตามการเพิ่มจำนวนหอผู้ป่วยในระยะเวลาอันสั้น เพื่อรองรับผู้ที่มีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง ต้องใช้ทักษะเฉพาะด้านในการจัดการและมีความเสี่ยงที่จะถูกทำร้ายในขณะปฎิบัติหน้าที่ทำให้ขาดแคลนบุคลากร รวมถึงทักษะบุคลากรอาจจะไม่สมบูรณ์ในทุกพื้นที่ นำไปสู่ความผิดพลาดหรือความไม่ปลอดภัยทั้งผู้ป่วยและผู้ให้บริการได้”
นพ. กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์
นพ.กิตติศักดิ์ กล่าวต่ออีกว่า ผู้ป่วยที่มีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงสามารถพบได้เสมอในโรงพยาบาลทุกแห่ง และเกิดได้จากหลายสาเหตุทั้งโรคทางด้านกาย เช่น โรคทางสมอง โรคจากการถอนพิษจากสุราและสารเสพติด และโรคทางด้านจิตเวช พฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงในผู้ป่วย จึงถือว่าเป็นอาการเจ็บป่วยอย่างหนึ่งที่ต้องได้รับการรักษา
เมื่อได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง แก้ปัญหาที่ต้นเหตุของผู้ป่วยก็จะทำให้อาการก้าวร้าวรุนแรงดีขึ้นได้ ผู้ป่วยที่มีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงนอกจากจะส่งผลเสียต่อตัวผู้ป่วยเองแล้ว ยังมีความเสี่ยง ที่บุคลากรทางการแพทย์จะถูกทำร้าย รวมทั้งสิ่งแวดล้อมภายในโรงพยาบาลถูกทำลายด้วย
ดังนั้นการดูแลผู้ป่วยที่มีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงจึงมีความจำเป็นเร่งด่วนและต้องยึดถือแนวทางปฏิบัติที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด ซึ่งแนวทางปฏิบัติการจำกัดพฤติกรรมของผู้ป่วย ที่มีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงมีหลายแนวทางเริ่มตั้งแต่การจำกัดพฤติกรรมโดยการใช้วาจาพูดคุย การจำกัดพฤติกรรมโดยการใช้ยา การจำกัดพฤติกรรมโดยการผูกมัด แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการทำร้ายร่างกาย ผู้ป่วยเป็นวิธีการที่ไม่พึงกระทำ และไม่ยอมรับการใช้ความรุนแรงต่าง ๆ ในโรงพยาบาล
อธิบดีกรมสุขภาพจิต ยังได้สั่งการให้โรงพยาบาลจิตเวชทุกแห่งเตรียมความพร้อมในการที่จะจัดทีมวิทยากร ช่วยอบรมการดูแลผู้ป่วยที่มีพฤติกรรมก้าวร้าวได้ให้แก่โรงพยาบาลทุกแห่ง ในเขตสุขภาพ เพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพและสร้างความมั่นใจให้กับบุคลากรที่เกี่ยวข้องต่อไป
ด้าน นพ.จุมภฏ พรมสีดา รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต ระบุด้วยว่า ในระยะต่อไปก็คือการทบทวนระบบการดูแลผู้ป่วยที่มีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงให้เป็นไปตามแนวทางปฏิบัติรวมทั้งจัดการอบรมเพิ่มเติมศักยภาพแก่บุคลากร เพื่อสร้างความมั่นใจในการเข้าไปดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ รวมทั้ง ให้กำลังใจแก่บุคลากรซึ่งอาจจะได้รับผลกระทบทางด้านจิตใจและอารมณ์ รวมทั้งเปิดพื้นที่ให้มีการให้คำปรึกษาและสนับสนุนทางด้านจิตใจแก่บุคลากร ในส่วนของกรมสุขภาพจิต