หวั่นมหาดไทย แทรกแซงการแก้ปัญหาเกาะหลีเป๊ะ ตั้งข้อสังเกตอาจยึดโยงภาคธุรกิจในพื้นที่ถ่วงเวลาแก้ปัญหา เร่งสางปัญหาข้อพิพาทที่ดินเกาะหลีเป๊ะให้เสร็จภายใน 15 ก.ย. นี้
วันนี้ (1 ก.ย. 2566) ไมตรี จงไกรจักร ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท เปิดเผยกับทาง The Active จากกรณีล่าสุดเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2566 ที่ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (รองผบ.ตร) ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อมูลและข้อเท็จจริงกรณีปัญหาข้อพิพาทในที่ดินที่เกี่ยวข้องกับชุมชนชาวเล เกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล และคณะ ลงพื้นเกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล เพื่อติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาชาวเลและสำรวจลำรางสาธารณะร่วมกับชาวบ้าน โดยมีชาวอูรักลาโว้ยบนเกาะหลีเป๊ะที่ได้รับผลกระทบมารอติดตามผลกว่า 100 คน
ภายหลังประชุม พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ เปิดเผยถึงกรณีข้อกังวลของชาวเล ที่ร้องเรียนไปแล้ว แต่กลับโดนเจ้าหน้าที่รัฐดำเนินคดี 14 รายนั้น ตนยืนยันว่า ที่ประชุมหารือกันแล้วโดยจะแก้ไขปัญหาไม่ให้ทุกคนต้องถูกดำเนินคดี ตนคือเครื่องหมายความยุติธรรมที่ลงมาทำเรื่องนี้เพื่อต้องการนำที่ดินคืนให้ชาวเล ยืนยันว่าในส่วนของคดีชาวเล ได้ตรวจสอบและนำพยานลักฐานมาหักล้างแล้วพบว่า ไม่เป็นความผิด โดยจะเอากระบวนการมาหักล้างให้ทั้งหมด 14 ราย ขอให้ชาวเลสบายใจได้
พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ยังให้สัมภาษณ์ ถึงความคืบหน้าการเพิกถอนเอกสารสิทธิทับที่สาธารณะแปลงที่ 11 บนเกาะหลีเป๊ะว่า ได้ดำเนินการตามมาตรา 61 ของประมวลกฎหมายที่ดิน กำลังเร่งรัดให้เพิกถอนที่ดินแปลงที่ 11 ซึ่งเป็นเส้นทางสัญจร พื้นที่โรงเรียน ที่มีการกั้นรั้วปิดกั้น จะดำเนินการเพิกถอนในส่วนนี้ก่อน โดยคณะกรรมการตามมาตรา 61 ได้รวบรวมหลักฐานภาพถ่ายทางอากาศ ภาพถ่ายกรมแผนที่ทหารและอื่น ๆ พร้อมดำเนินการแล้ว เมื่อเพิกถอนแปลงที่ 11 แล้ว จากนั้นจะไล่ไปยังพื้นที่อื่นทั่วทั้งเกาะ โดยจะต้องดำเนินการภายในวันที่ 15 กันยายนนี้ หากเจ้าหน้าที่หรือกรมที่ดินไม่ดำเนินการ ก็จะเข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 157 ได้ ซึ่งตนจะเร่งรัดโดยเร็วที่สุด ส่วนที่มองว่ากรมที่ดินพยายามดึงเวลานั้น จะดึงยังไงก็แล้วแต่ ต้องเสร็จในวันที่ 15 กันยายนนี้ ส่วนที่มีคำถามว่าคณะกรรมการชุดนี้ จะทำงานได้ต่อเนื่องหรือไม่ เมื่อเข้าสู่รัฐบาลใหม่ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์กล่าวยืนยัน เดินหน้าต่อเนื่อง
“คำสั่งตั้งคณะกรรมการฯ มาจากคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ตนมองว่าเป็นคำสั่งที่เกี่ยวข้องกับความเดือดร้อนของประชาชนยังไงก็ต้องทำต่อ เมื่อเป็นหน้าที่ในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้กับประชาชนยังไงก็ต้องทำต่อเพราะที่ทำกันมาก็ถือว่าคืบหน้าไปมากแล้ว“
พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร ในฐานะปธ.คกก.ตรวจสอบข้อมูลและข้อเท็จจริงฯ เกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล
โดยจากกรณีดังกล่าว ไมตรี เห็นว่า เมื่อที่ประชุมดังกล่าวรับรองเอกสารทุกฉบับ ทั้งการอ่านแปรภาพถ่ายทางอากาศ และส่งไปให้กรรมการเพิกถอนตามมาตรา 61 และกรรมการมีนัดว่าจะประชุมวันที่ 15 ก.ย. นี้ เป็นนัดสุดท้าย หลักฐานทั้งหมดทุกฝ่ายที่อยู่ในกรรมการมองว่าเพียงพอต่อการประกอบในการเพิกถอนแล้ว เพราะฉะนั้นเราก็ฟังกรรมการบางท่านก็เชื่อมั่นว่าได้หลักฐานประกอบซึ่งน่าจะออกโดยมิชอบจริง ในที่ประชุมเลยเห็นว่าต้องเพิกถอน เพราะฉะนั้นความหมายก็คือว่าวันที่ 15 ก.ย.นี้ เขาจะมีประชุมกรรมการ และ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ คงตรวจสอบข้อมูลทั้งหมดแล้ว ประกอบกับความเห็นกรรมการบางส่วน แต่ที่กังวลจะมีปัญหาในความรู้สึกของพี่น้องชาวเลก็คือว่า ยังกังวลกับกรมที่ดินอยู่ดี
“เพราะว่า ในกรรมการมีกรมที่ดินเป็นฝ่ายเลขาฯ และก็เอกสารบางส่วนในการประชุมครั้งที่แล้ว ยังไม่ได้เอาเข้าที่ประชุม คราวนี้บิ๊กโจ๊กเลยยืนยันว่า ถ้าเอกสารที่กรรมการส่งให้ทั้งหมด ไม่นำเข้าที่ประชุมครั้งนี้ อาจจะต้องดำเนินคดีกับกรรมการตามมาตรา61 เราเลยยังกังวลว่า ผลมันจะออกมาตามเอกสารหลักฐานที่มีรึเปล่าทั้งกระบวนการยุติธรรม คำสั่งศาล ทั้งการอ่านแปรภาพถ่ายทางอากาศ ที่เห็นชัดว่า มีการทำกินขงอชาวบ้านมาก่อนหน้านั้นแล้ว “
ไมตรี จงไกรจักร ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท
ส่วนการเปลี่ยนรัฐบาลใหม่จะส่งผลต่อการเดินหน้าแก้ปัญหาหรือไม่ นายไมตรีมองว่า โดยหลักการคำสั่งนายกรัฐมนตรี เมื่อยังไม่มีการยกเลิกกรรมการยังคงดำเนินการไปตามคำสั่ง เพราะว่า แต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรี และที่ประชุมยังยืนยันชัดเจนว่า เมื่อยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ คณะกรรมการชุดนี้ก็จะทำงานจนให้บรรลุผล ส่วนที่ 2 เราเชื่อว่าปัญหาของชาวบ้าน ไม่ว่ารัฐบาลไหน โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรี ก็ต้องดำเนินการตามคำสั่งเดิม
แต่ที่อดกังวลไม่ได้ คือกระทรวงที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะรัฐมนตรีมหาดไทย ซึ่งมาจากพรรคภูมิใจไทย ที่ถูกตั้งข้อสังเกต มองว่าอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจเอกชนในจังหวัดสตูลเยอะ
“ตอนนี้ สส.ในพื้นที่จังหวัดสตูล ก็เป็นพรรคภูมิใจไทยทั้งหมด เราเลยกังวลอยู่เหมือนกันว่า ถ้าดำเนินการไม่ทัน แล้ว รมว.กระทรวงมหาดไทยมีทีท่าเป็นอย่างอื่น ชาวบ้านก็กังวลอยู่เหมือนกันว่า จะยึดมั่น ยึดโยงประชาชนแค่ไหน หรือจะมุ่งเน้นไปทางเศรษฐกิจ โดยมองภาคเอกชนที่ยึดโยงพรรคการเมืองที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยด้วย อันนี้เป็นข้อกังวลและข้อสังเกตของชาวบ้านอยู่ เราเลยอยากให้เร่งรัดดำเนินการ แต่อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ก็จะเป็นสิ่งที่สะท้อนรัฐบาล นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย ที่จะเข้าปฏิบัติหน้าที่ ว่ายึดประโยชน์และให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาให้กับประชาชนที่เดือดร้อนหรือไม่“
ไมตรี จงไกรจักร ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไทย
ไมตรี ยังฝากให้ประชาชน ทุกคนในสังคมช่วยกันจับตาการทำงานของรัฐบาล นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่ถูกตั้งข้อสังเกตอาจยึดโยงกับภาคเอกชนในพื้นที่ เกี่ยวโยงกับธุรกิจการเมืองในจังหวัดสตูล ว่าจะเข้ามาแทรกแซงแก้ปัญหา ที่ไม่ตอบการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในที่ดินทำกินที่อยู่อาศัยหรือไม่ หรือจะเดินหน้าสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นจริง เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรของประชาชนสู่ความยั่งยืน