ชุมชนชาวอีสาน ต.ภูเขาทอง อ.สุคิริน จ.นราธิวาส เดินหน้าสืบสานประเพณีบุญบั้งไฟ ทำให้หายคึดฮอดบ้าน ขณะที่ แม่ทัพภาคที่ 4 ย้ำ เดินหน้าส่งเสริมสังคมพหุวัฒนธรรม
วันนี้ (8 มิ.ย. 67) องค์การบริหารส่วนตำบลภูเขาทอง อ.สุคิริน จ.นราธิวาส จัดงานบุญบั้งไฟ แห่งแรกและแห่งเดียวในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ครั้งที่ 45 ถือเป็นการสืบสานประเพณี วัฒนธรรมของพี่น้องชาวอีสาน ที่โยกย้ายมาตั้งถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่ ต.ภูเขาทอง อ.สุคิริน โดยการจัดงานปีนี้มี พล.ท.ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 และ ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 4 เป็นประธาน ซึ่งพิธีเปิดเริ่มต้นด้วยขบวนนางรำ และรถแห่บั้งไฟเอ้ ที่ผู้คนในชุมชนร่วมกันตกแต่งอย่างสวยงาม เพื่องานสำคัญประจำปีที่ชาวบ้านทุกคนรอคอย
พล.ท.ศานติ บอกว่า ตั้งใจมาร่วมประเพณีบุญบั้งไฟที่ภูเขาทอง อ.สุคิริน ซึ่งจัดมาต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 45 แล้ว ซึ่งที่นี่ถือเป็นแห่งแรก และแห่งเดียวของงานบุญบั้งไฟในพื้นที่ชายแดนใต้ ถือเป็นงานสำคัญที่พี่น้องชาวอีสานสืบทอดกันมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่ย้ายถิ่นฐานมาตั้งรกรากทำมาหากินอยู่ในพื้นที่สุคิริน โดยงานที่จัดขึ้นนี้สะท้อนได้เป็นอย่างดีถึงการอยู่ร่วมกันผู้คนในสังคมพหุวัฒนธรรม ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญที่หน่วยงานภาครัฐ และทาง กอ.รมน. ตั้งใจให้การสนับสนุนประชาชนทุกกลุ่ม ทุกเชื้อชาติ ศาสนา อย่างเท่าเทียมกัน และให้ทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข ปลอดภัย
ขณะที่ภายในงานมีการจุดบั้งไฟล้าน บั้งไฟแสน บั้งไฟหมื่น พร้อมทั้งแข่งขันบั้งไฟเหมือนเช่นทุกปี โดยมีตัวแทนชุมชนทั้ง 8 หมู่บ้านของ ต.ภูเขาทอง ในแต่ละค่ายผลิตบั้งไฟส่งเข้าแข่งขัน ทำให้บรรยากาศเต็มไปด้วยความสนุกสนาน มีผู้คนทั้งชาวพุทธ มุสลิม ในพื้นที่เดียวกันและใกล้เคียงให้ความสนใจติดตามการแข่งขันบั้งไฟจำนวนมาก
สำหรับบั้งไฟที่ใช้แข่งขัน ถูกกำหนดให้มีความยาวไม่เกิน 1 เมตร โดยส่วนผสมของดินที่จุดระเบิดเป็นสูตรลับเฉพาะที่แต่ละพื้นที่คิดค้นขึ้นสำหรับการแข่งขัน ทั้งนี้เมื่อบั้งไฟถูกจุดขึ้นสู่ท้องฟ้า จะเริ่มจับเวลาเพื่อวัดกันว่าบั้งไฟของค่ายไหนใช้เวลาตั้งแต่ขึ้นจนตกถึงพื้นนานที่สุด โดยที่ส่วนประกอบสำคัญอย่างหางบั้งไฟต้องไม่ขาดออกจากตัวบั้งไฟ ไม่เช่นนั้นถือว่าผิดกติกาไม่ถูกนับเวลา
อนุธิดา นิ่มนวล วัย 51 ปี ชาวบ้านหมู่ที่ 5 บ้านน้ำตก ต.สุคิริน อ.สุคิริน จ.นราธิวาส บอกว่า เธอย้ายรกรากมาจาก จ.มหาสารคาม มาพร้อมกับครอบครัวตั้งแต่ช่วงปี 2530 เมื่อต้องอยู่ไกลบ้านเกิด งานบุญบั้งไฟเป็นประเพณีสำคัญที่พี่น้องชาวอีสานที่สุคิรินทุกคนต่างใจจดใจจ่อ เพราะถือว่าได้ร่วมกันสนุกสนาน ทำให้หายคิดถึงบ้านได้ไม่น้อย เพราะกิจกรรมก็จัดคล้าย ๆ กับตอนอยู่ที่อีสาน
เธอ ยอมรับว่า การมาอยู่ที่สุคิรินเหมือนได้เริ่มต้นชีวิตใหม่ เพราะที่นี่มีทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ แตกต่างจากพื้นที่บ้านเกิดซึ่งแห้งแล้ง และไม่ค่อยมีงานทำ ทำการเกษตรก็ได้ผลผลิตไม่ค่อยดี แต่เมื่อย้ายมาอยู่ที่สุคิรินแรก ๆ ก็ยากลำบาก เพราะเป็นคนต่างถิ่น แต่ตอนนี้ถือว่าอยู่ได้อย่างลงตัว มีอาชีพเลี้ยงตัวเอง
“พี่ได้ทำสวนผลไม้ ทำสวนยาง ชีวิตถือว่าเปลี่ยนไปอย่างมาก มีงาน มีรายได้ หรือถ้าวันไหนไม่มี ก็แค่หยิบกระทะร่อนทอง ลงไปร่อนทองภายในคลองโต๊ะโมะ ก็พอได้หาทองมาเป็นค่ากับข้าวแล้ว ถือว่าอุดมสมบูรณ์มาก ๆ แม้ว่าจะคิดถึงบ้านอยู่บ้าง แต่เมื่อเทียบกันแล้วอยู่ที่นี่ทำให้มีชีวิตที่ดีกว่ามาก”
อนุธิดา นิ่มนวล
ขณะที่ สมหวัง จันทร์อ่อน วัย 65 ปี ชาวบ้านหมู่ที่ 5 บ้านน้ำตก ต.สุคิริน อ.สุคิริน จ.นราธิวาส เป็นอีกคนที่ตั้งรกรากอยู่ในพื้นที่สุคิรินมาตั้งแต่ปี 2518 ซึ่งถือเป็นช่วงแรก ๆ ของนโยบายการให้ที่ดินทำกินแก่ราษฎร จนถึงตอนนี้ถือว่าชีวิตดีขึ้นมีที่ดินทำกิน มีอาชีพ มีรายได้ แต่ถึงยังไงก็ยอมรับว่ายังคิดถึงบรรยากาศที่บ้านเกิดใน จ.สุรินทร์ ทำให้งานบุญบั้งไฟที่จัดขึ้น เป็นประเพณีสำคัญที่ลูก ๆ หลาน ๆ ทุกคนจะได้มารวมตัวกัน หนึ่งปีมีครั้งก็ทำให้หายคิดถึงบ้านได้เช่นกัน
ไม่ต่างจาก อนงค์นาฎ สอนสุข วัย 57 ปี ชาวบ้านหมู่ที่ 4 บ้านไอกะเปาะ ต.ภูเขาทอง อ.สุคิริน จ.นราธิวาส ก็ย้ายมาจาก จ.อุดรธานี พร้อมกับพ่อแม่ มาตั้งรกรากอยู่ที่สุคิรินกว่า 50 ปีแล้ว ยอมรับว่าคิดถึงบรรยากาศที่บ้านเกิด เพราะเท่าที่จำความได้ตอนอยู่ที่อีสาน ก็เข้าร่วมงานประเพณีบุญบั้งไฟตลอดไม่เคยขาด ถือเป็นงานสำคัญของพี่น้องชาวอีสาน การได้สืบทอดกิจกรรมแบบนี้แม้ว่าอยู่ต่างพื้นที่ก็ทำให้หายคิดถึงบ้านเกิดได้ไม่น้อยเลย
“ตอนแรกที่มาอยู่ มีญาติ ๆ ตามมาด้วยอีกเป็น 10 คน แต่เขาอยู่กันไม่ได้ ก็หนีกลับกันไปหมด แต่พ่อแม่ก็ยังสู้ทำมาหากิน จนในทุกวันนี้มีชีวิตอยู่อย่างสบาย ไม่ลำบาก เพราะพื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์อย่างมาก”
อนงค์นาฎ สอนสุข
ข้อมูลจากหนังสือ “ย่องไปชายแดนใต้” หลากเรื่องผูกพันผ่านรากเหง้าสัมพันธ์ของผู้คนในโลกมลายู เขียนโดย ชุมศักดิ์ นรารัตน์วงศ์ ระบุเอาไว้ว่า คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2506 มีมติให้กรมประชาสงเคราะห์ในขณะนั้น จัดตั้งนิคมพัฒนาตนเองภาคใต้ จ.นราธิวาส เพื่ออพยพราษฎรที่มีฐานะยากจนและไม่มีที่ดินทำกินจากท้องที่ต่าง ๆ เข้ามาอยู่อาศัย ประกอบอาชีพในเขตนิคมฯ ครอบคลุมพื้นที่ อ.สุคิริน และ อ.จะแนะ โดยให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินจัดสรรพัฒนาพื้นที่บริเวณชายแดนไทย-มาเลเซีย
สำหรับนิคมสร้างตนเองสุคิริน มีเนื้อที่รวมเกือบ 3 แสนไร่ ครอบคลุมหลายตำบล โดยราษฎรจะได้รับการจัดสรรที่ดินให้ 18 ไร่ แบ่งเป็นที่ทำกิน 16 ไร่ ที่อยู่อาศัย 2 ไร่