‘บุญบั้งไฟสุคิริน’ การถ่ายเทสัมพันธภาพดี ๆ ที่ชายแดนใต้

นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ชายแดนใต้ สะท้อนมุมคิด โยกย้ายชุมชนอีสาน มาไว้ปลายด้ามขวาน ตอกย้ำความปกติสังคมพหุวัฒนธรรม ที่ไม่ต้องปรุงแต่ง แนะรัฐรักษา อย่ามองข้ามจุดเล็ก ๆ ก่อนฝันถึงสันติภาพระยะยาว

วันนี้ (9 มิ.ย. 67) งานบุญบั้งไฟ ของชุมชนชาวอีสาน ในพื้นที่ ต.ภูเขาทอง อ.สุคิริน จ.นราธิวาส ซึ่งถือเป็นประเพณีบุญบั้งไฟเพียงแห่งเดียวในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จัดขึ้นเป็นวันสุดท้ายแล้ว นอกจากชี้ให้เห็นวัฒนธรรม ประเพณี ของชุมชนชาวอีสานในชายแดนใต้ สิ่งนี้ยังสะท้อนอะไรในมุมมองเชิงประวัติศาสตร์ การโยกย้ายถิ่นฐานของผู้คน

The Active พูดคุยประเด็นนี้กับ ชุมศักดิ์ นรารัตน์วงศ์ นักวิชาการ นักวิจัยด้านประวัติศาสตร์มลายู และพื้นที่ชายแดนใต้ อธิบายว่า การที่คนอีสานจากหลายพื้นที่โยกย้ายมาอยู่ในพื้นที่ชายแดนใต้ บ่งบอกได้ถึงการถ่ายเทของผู้คนที่เกิดขึ้นทุกยุคมัย เพราะหากย้อนกลับไปในยุคที่ใช้เส้นสมมติแบ่งเรื่องพรมแดน ผู้คนที่ถ่ายเทมายังพื้นที่ชายแดนใต้ในยุคบุกเบิก ไม่มีเอกสารสิทธิ์ที่ดิน รัฐเปิดโอกาสให้ผู้คนเข้ามาแผ้วถาง จับจอง ถางป่าสร้างชุมชน ใครมีกำลังแค่ไหน ก็เอาที่ไปขึ้นเป็นสิทธิ์ของตัวเอง

ขณะที่ในยุคหลัง ก็ยังมีการถ่ายเทผู้คนมาอีกเป็นระลอก อย่างที่ อ.สุคิริน ก็เกิดขึ้นในช่วงหลังที่มีความเป็นรัฐมากขึ้น มีกระแสของการพยายามดึงคงข้างนอกมาอยู่ในพื้นที่ให้บุกเบิกที่ดิน มีกระแสคนจากภาคอื่น ๆ เข้ามาอยู่อาศัยทำกินในพื้นที่ชายแดนใต้ เพราะต้องยอมรับว่า ฐานทรัพยากรบริเวณปลายแหลมมลายูค่อนข้างสมบูรณ์กว่าในพื้นที่อื่น ๆ ดังนั้นคนจากภาคอีสานจึงก็ได้รับการกระตุ้น การเชื้อเชิญให้มาอยู่ในพื้นที่นิคมสร้างตนเอง ซึ่งที่สุคิรินก็เป็นหนึ่งในนั้น พอมาอยู่ด้วยกันนาน ๆ เข้า นอกจากเอาชีวิตมาแล้ว ก็เอาศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณีมาด้วย มีเอกลักษณ์ อัตลักษณ์เฉพาะตัวของคนอีสาน ชัดเจนที่สุดก็คืองานบุญบั้งไฟ ซึ่งในอดีตช่วงเริ่มต้นช่วงปี 2520 ก็จัดกันเล็ก ๆ ในชุมชน นานวันเข้าประเพณีได้รับความสนใจก็เริ่มจัดใหญ่ขึ้น

ชุมศักดิ์ นรารัตน์วงศ์

“ช่วงหลังจากโควิดมานี้ เห็นภาพชัดเจนว่ามีผู้คนจากต่างพื้นที่ ไปร่วมงานเยอะมาก เพราะสำหรับคนใต้แล้ว ไม่เคยเห็น จึงบอกกันปากต่อปาก ว่า ที่สุคิรินมีบั้งไฟ คนก็มากันเยอะทุกปี”

ชุมศักดิ์ นรารัตน์วงศ์

โยกย้าย ถ่ายเทผู้คน หรือ กลืนกลายวัฒนธรรม ?

จริง ๆ แล้ววัฒนธรรม ประเพณี อาจเป็นผลพลอยได้ของการถ่ายเทผู้คนต่างถิ่น แต่ถ้ามองในเชิงประวัติศาสตร์ ชุมศักดิ์ ก็ชี้ให้เห็นว่า เป้าหมายนโยบายโยกย้ายผู้คนของภาครัฐตั้งแต่อดีต เกิดขึ้นด้วยหลายปัจจัย ซึ่งเรื่องหนึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับแนวคิดกลืนกลายวัฒนธรรมในรัฐบางยุค เช่น เห็นว่าประชากรในพื้นที่มีน้อยก็เอาประชากรจากที่อื่นมาอยู่ร่วมด้วย ซึ่งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ การกลืนกลายอาจเป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของแนวคิด จากนโยบายที่รัฐเน้นความช่วยเหลือประชาชนที่ยากไร้ ไม่มีที่ดินทำกิน อยากมาสร้างชีวิตใหม่ ก็พร้อมจัดสรรที่ดินให้ คนก็โยกย้ายมาอยู่ตามนโยบายรัฐให้มาบุกเบิกที่ดินใหม่ มองในแง่ความงามก็เท่ากับการใช้พื้นที่รัฐซึ่งไม่ได้ทำอะไร ให้เกิดประโยชน์ต่อผู้คน

“พี่น้องในภาคอื่น ๆ ลำบากก็ต้องถ่ายเทเข้ามาในพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์มากกว่า คือแง่มุมของความงดงาม อย่างคนมลายูมุสลิมในพื้นที่ ก็โยกย้ายไปอยู่ที่อื่นเยอะแยะ ความเป็นชาติพันธุ์ ศาสนา ไม่มีรั้วกัน ถ่ายเทกันไปมาอยู่เป็นปกติ คนมาเลย์ก็มีเชื้อสายสยาม มาเลย์ที่มาอยู่ในไทย ในชายแดนใต้ก็เยอะ คนจากชายแดนใต้ ไปอยู่อีสาน อยู่เหนือก็เยอะ ถือเป็นการถ่ายเทผู้คนตามกระแสปัจจัยแวดล้อมของแต่ละยุค”

ชุมศักดิ์ นรารัตน์วงศ์

หลากปัจจัย ผู้คนโยกย้าย-ถ่ายเท

แต่สำหรับพื้นที่ชายแดนใต้ ต้องยอมรับว่า มีปัจจัยแวดล้อมเฉพาะที่ส่งผลให้เกิดการถ่ายเท โยกย้ายคนในช่วงหลังมานี้ โดยนักวิชาการ มองว่า เกิดขึ้นได้ทั่วโลก อยู่ที่ปัจจัยสถานการณ์ ณ เวลานั้น ๆ ถ้าสังเกตดูก่อนในอดีตความรุนแรงถ้าจะเกิดขึ้นในพื้นที่จะอยู่รอบนอก ดังนั้นคนที่อยู่ในชุมชนในเมือง ก็ไม่ได้รู้สึกถึงผลกระทบ ไม่มีปัญหา แต่พอช่วงเวลาผ่านไปจนถึงช่วงในรอบ 20 ปีมานี้ พบว่า เหตุความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากกลุ่มเห็นต่าง กลับมาเคลื่อนไหวก่อเหตุในพื้นที่เขตเมืองมากขึ้น แม้แต่คนมลายูมุสลิมเอง ก็เลือกที่จะย้ายออกไปที่อื่น เพราะอยู่แล้วไม่มีความสุข รู้สึกถึงความไม่ปลอดภัย

บางครอบครัวเจอกระแสสังคมร่วมสมัย เมื่อส่งลูกหลานไปเรียนที่ส่วนกลาง ในเมืองใหญ่ ๆ พอลูกหลานเรียนจบก็ไม่อยากกลับมาทำงานที่บ้าน พ่อแม่อายุมากขึ้นก็ต้องย้ายตามขึ้นไป นี่ก็เป็นอีกลักษณะการเคลื่อนของผู้คนด้วยหลายปัจจัย

ชุมศักดิ์ ระบุอีกว่า เมื่อเกิดการโยกย้าย ถ่ายเทของผู้คน สิ่งที่ตามคือความหลากหลายของพื้นที่ ดูเฉพาะในชายแดนใต้ แม้มองว่าเป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยความละเอียดอ่อน แต่ที่ผ่านมาในอดีตจนถึงตอนนี้ก็มีคนโยกย้ายมาอยู่เป็นระลอก ไล่มาตั้งแต่คนจีน ที่มาทำทางรถไฟตั้งแต่สมัย ร.5 ระลอกต่อมาก็มีคนจากพื้นที่อื่น อีสาน เหนือ ย้ายมาอยู่ จนมาถึงกลุ่มข้าราชการ จากภาคใต้ตอนกลาง ตอนบน ก็มาเกษียณในพื้นที่ พร้อมตั้งถิ่นฐานอยู่ที่นี่ถาวร

“การที่ภายนอกสามารถมาลงหลักปักฐานในพื้นที่ชายแดนใต้ สะท้อนชัดเจนจากปัจจัยสำคัญคือ การทำมาหากินท่ามกลางทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ สัมพันธภาพของผู้คนในพื้นที่ส่วนใหญ่แม้เป็นคนมลายูมุสลิม แต่คนที่มาอยู่ใหม่ ก็เป็นมิตรกัน คนพุทธอาจน้อยกว่าแต่ก็อยู่ร่วมกันได้ ไม่ได้เกิดการแย่งชิงอาชีพมากนัก อย่างคนอีสานที่เข้ามาอยู่ ส่วนใหญ่เป็นคนระดับกลาง จนถึงระดับล่าง ที่นี่ทรัพยากรเยอะ จะมาทำรับจ้างเก็บยาง หาของป่า ทำประมง ก็ไม่ได้ติดขัดอะไรกัน เรื่องอัตลักษณ์ก็เป็นอีกเรื่องที่เห็นความสวยงาม ที่เป็นอัตลักษณ์จำเพาะ เช่น บุญบั้งไฟ ต่างฝ่ายต่างก็รักษาความงามในเชิงอัตลักษณ์ของตัวเองเอาไว้ แถมยังถ่ายเทวัฒนธรรมกันด้วยซ้ำ ส่วนเรื่องอาหาร ก็พบว่าช่วงหลัง ๆ ก็เริ่มเห็นปรากฎการณ์ที่น่าสนใจ เพราะมีพ่อค้าแม่ค้าชาวมลายูมุสลิม หันมาเปิดร้านส้มตำ ขายอาหารอีสานมากขึ้น และดัดแปลงวัตถุดิบจากปลาร้า มาเป็นน้ำบูดู เราเห็นการหลอมรวมวัฒนธรรมอาหารกันมากขึ้น”

ชุมศักดิ์ นรารัตน์วงศ์

นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ชายแดนใต้ ยังชี้ให้เห็นถึงลักษณะปัจเจกของคนอีสาน ที่พบว่าเข้ากับผู้คนได้ ไม่ใช้อำนาจ ให้เกียรติกัน ดูแลกัน นี่คือลักษณะสำคัญที่ช่วยยึดโยงหัวใจและความสัมพันธ์ของคนต่างศาสนาให้อยู่ด้วยกันได้ในพื้นที่ชายแดนใต้  

‘พหุวัฒนธรรม’ ในชีวิตปกติ ไม่ต้องปรุงแต่ง

ขณะเดียวกันก็ตอกย้ำชัดเจนถึงสังคมพหุวัฒนธรรม ที่แม้แต่ในกระบวนการแสวงหาแนวทางไปสู่สันติภาพในพื้นที่ก็มีเสียงเรียกร้องถึงการให้ความสำคัญในแง่มุมของความหลากหลาย แต่ในเวลานี้ต้องยอมรับว่า คำว่า พหุวัฒนธรรม กำลังเป็นคำหรู ๆ ที่ถูกประดิษฐ์สร้างขึ้น และฝ่ายความมั่นคงก็เอาไปใช้กันเยอะ จนคำว่าพหุวัฒนธรรมกลายเป็นคำแข็ง ๆ ดูเหมือนต้องสร้าง และส่งเสริมให้เกิดขึ้น ทั้ง ๆ ที่ผู้คนในชายแดนใต้อยู่ร่วมกันท่ามกลางความหลากหลายโดยธรรมชาติอยู่แล้ว ผู้คนเองแทบไม่เคยขัดแย้งกันในเชิงศาสนา ชาติพันธุ์ ในวิถีชีวิตแทบไม่เคยปะทะกันเลย อัตลักษณ์ ศรัทธา ความเชื่อของตัวเอง ถูกเปิดกว้าง ในพื้นที่ไม่มีปิดกั้น แต่ส่งเสริมซึ่งกันและกัน

“เหตุการณ์ทำร้ายพระ ทำลายอัตลักษณ์ทางศาสนา จริง ๆ เป็นเรื่องของปัจเจก เพราะคนที่มีความหลากหลายในชุมชนเดียวกันก็อยู่ด้วยกันมานาน เช่น มีศาลเจ้าจีนอยู่ใจกลางชุมชนมุสลิมก็ไม่เคยถูกทำลาย ช่วงวันตรุษจีนที่สายบุรี ที่สุไหงโก-ลก ก็จุดประทัด แห่เจ้าแม่กันทั้งเมือง ไม่มีปัญหา บั้งไฟก็เหมือนกัน เคยมีการคุยกันเล่น ๆ ว่า ที่อีสานจุดบั้งไฟไว้ขอฝน แต่บั้งไฟที่สุคิริน จุดเพื่อขอให้ฝนหยุดบ้าง เพราะมันอุดมสมบูรณ์มากในเขตป่ฮาลา-บาลา อยากให้ฝนหยุดตกบ้างชาวบ้านจะได้ไปกรีดยาง ก็เป็นปัจจัยที่สวยงามที่ไม่ได้มีความแปลกแยก ปิดกั้นให้เกิดความรู้สึกว่าเป็นวัฒนธรรมของใคร”

ชุมศักดิ์ นรารัตน์วงศ์

สุดท้ายสิ่งที่ ชุมศักดิ์ เน้นย้ำ คือ รากเหง้าร่วมกันของผู้คน ความสัมพันธ์เชิงบวกระหว่างวัฒนธรรม จำเป็นต้องรักษาเอาไว้ รัฐต้องให้ความสำคัญอย่างจริง ๆ จัง ๆ ซึ่งทุกฝ่ายต้องช่วยกันต่อไป ส่วนตัวยังเชื่อเรื่องของรากเหง้าการอยู่ร่วมกันอย่างสวยงามในพื้นที่ เชื่อในความเป็นเอกภาพ บนความหลากหลาย อะไรที่เป็นรากเหง้าเดิม ก็ต้องเก็บรักษาไว้อย่าให้มีม่านอะไรมาบังตา ต้องเคารพศักดิ์ศรีกัน

“เราเรียกร้องถึงสันติภาพระยะยาว เรามองภาพกว้าง ภาพไกล
แต่อาจลืมมองสันติภาพจากภายในครอบครัว ชุมชน
หากดำรงสันติภาพที่ใกล้ตัวผู้คนเอาไว้ได้
ทำให้สันติภาพเกิดขึ้นผ่านวิถีชีวิตผู้คนได้อย่างปกติ
ก็น่าจะเป็นผลดีกับพื้นที่ชายแดนใต้”   

ชุมศักดิ์ นรารัตน์วงศ์

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active