กรมทะเลฯ เร่งติดตั้งป้ายบอกแหล่งหญ้าทะเล เขตลดความเร็วเรือ พร้อมจัดงานครบรอบ “มาเรียม” 17-19 ส.ค.นี้
วันนี้ (14 ส.ค.67) ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนล่าง ระดมทีมแพทย์ช่วยเหลือลูกพะยูน เพศผู้ อายุ 2 เดือน ที่เกยตื้นเพราะพลัดหลงกับแม่ในทะเลกระบี่ และมาเกยตื้นบริเวณเกาะปอดะ ต.อ่าวนาง จ.กระบี่ โดยพบมีแผลที่ตาซ้าย
ความคืบหน้าอาการของพะยูนน้อยมีพฤติกรรมโดยทั่วไป สามารถดำน้ำและว่ายน้ำดีขึ้น มีการผายลมถี่ขึ้นเพื่อระบายแก๊ส ซึ่งจากการถ่ายภาพรังสีวินิจฉัยเพื่อติดตามปริมาณแก๊สที่สะสมอยู่บริเวณลำไส้ พบว่าแก๊สสะสมในลำไส้ลดลง และดำเนินการเก็บตัวอย่างเลือดเพื่อนำไปตรวจวิเคราะห์ทางโลหิตวิทยา จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าค่ากลูโคสในกระแสเลือดต่ำ ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เจ้าหน้าที่จึงปรับสัดส่วนของอาหารทดแทนนมเพื่อให้เหมาะสมต่อความต้องการโภชนะของลูกพะยูนมากขึ้น โดยให้นมทดแทนสำหรับลูกสัตว์และอิเล็กโทรไลต์ทางการสอดท่อทุก 3-4 ชั่วโมง รวมถึงทำการตรวจเฉพาะทางโรคตาเพื่อวินิจฉัยความผิดปกติบริเวณตาซ้าย ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นแผลที่กระจกตา จึงให้ยาหยอดตาเพิ่มเติม
สันติ นิลวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนล่าง บอกว่า ตอนนี้มีการระดมทีมสัตว์แพทย์จากหลายหน่วยงาน ทั้งจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง สัตว์แพทย์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตนครศรีธรรมราช สัตว์แพทย์ จากประเทศสิงค์โปร์ ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านสูตรอาหารพะยูนมาช่วย ตอนนี้ลูกพะยูนคุ้นเคยกับทีมทำงาน อาการทั่วไปดีขึ้นกว่าวันแรกที่มา เริ่มปรับตัวได้ สดใสขึ้น
ด้าน ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า จากการอนุบาลและปฐมพยาบาลเบื้องต้นทางสัตวแพทย์ได้วางแผนการรักษารวมถึงการวินิจฉัยเพิ่มเติม ได้แก่ เก็บตัวอย่างเลือดเพื่อวิเคราะห์ทางโลหิตวิทยาและค่าชีวเคมีในเลือด การเพาะเชื้อตรวจหาความไวของยาต่อเชื้อแบคทีเรียเพื่อประกอบการพิจารณาการให้ยาปฏิชีวนะ การให้ยาอิเล็กโทรไลต์เพื่อลดสภาวะการขาดน้ำ การให้ยาระบายแก๊สและยาลดปวดเพื่อรักษาประคองอาการให้สัตว์รู้สึกสบายตัว รวมถึงจัดหานมผงสูตรสำหรับลูกพะยูนโดยเฉพาะเพื่อให้เหมาะสมกับความต้องการทางโภชนาการของตัวสัตว์มากยิ่งขึ้น เบื้องต้นตรวจค่าน้ำตาลในเลือดได้ 62 mg/dl ยังต้องเฝ้าระวังภาวะช็อกและให้สารน้ำทดแทนอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ยังวางแผนการจัดการการจัดหาอาสาสมัครในการดูแลและช่วยเหลือสัตวแพทย์ในการทำหัตถการ รวมถึงติดตามอาการของลูกพะยูนตลอด 24 ชั่วโมงต่อไป
หากเปรียบเทียบกับมาเรียม พะยูนตัวนี้เลี้ยงในสถานที่ปิดสามารถควบคุมดูแลได้ง่ายในบ่อน้ำขนาด 5 เมตร แต่มาเรียมอนุบาลในพื้นที่เปิดธรรมชาติ สภาพน้ำขุ่นกว่า การสังเกตอาการจะยากกว่า โดยอายุพะยูนตัวนี้น้อยกว่ามาเรียม ยังเป็นทารก
อย่างไรก็ตาม ทีมสัตวแพทย์และเจ้าหน้าที่จำเป็นจะต้องให้นม สารฟื้นฟูและบำรุงร่างกาย ยาและเวชภัณฑ์ทางการแพทย์เป็นประจำทุกวัน รวมถึงใช้ระบบ Life Support System คอยช่วยเหลือให้พะยูนน้อย ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่ต้องใช้เงินเป็นจำนวนมาก ดังนั้น จึงขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนที่มีจิตอนุรักษ์ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือพะยูนน้อยให้รอดปลอดภัย ทั้งนี้ ทุกท่านสามารถร่วมบริจาคเงินสมทบทุนเป็นค่าใช้จ่ายต่างๆ ได้ที่ บัญชีธนาคารกรุงไทย ชื่อบัญชี มูลนิธิไทย-เดนมาร์ก สำหรับสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เลขที่ 660-7-33412-1
เช่นเดียวกับ รศ. สพ.ญ.นันทริกา ชันซื่อ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประกาศขอรับบริจาคสายใช้ป้อนอาหารพะยูนน้อย เป็น (Duodenal ) Ryles Tube เบอร์ 14 125 เซนติเมตร ที่ไม่ใช้ หมดอายุ sterile แล้ว เนื่องจากต้องเปลี่ยนทุกวัน สามารถมารถติดต่อได้ที่ สพญ. ปิยรัตน์ คุ้มรักษา เบอร์โทรศัพท์ 084-456-6786 หรือส่งที่มาที่ ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนล่าง 179 ม.3 ต.ไม้ฝาด อ.สิเกา จ.ตรัง 92150
ด้าน ผ.ศ.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระบุว่า ตอนนี้ต้องช่วยรักษาลูกพะยูนให้กลับมาแข็งแรง ประคับประคองให้โตกว่านี้ ส่วนสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ลูกพะยูนพลัดหลงจากแม่ คือการสัญจรทางน้ำ ซึ่งกรมทะเลฯ และ กรมอุทยานฯ เร่งติดตั้งป้ายบอกแหล่งหญ้าทะเล เขตลดความเร็วเรือ เพื่อให้ปลอดภัยต่อพะยูน ทั้งที่อยู่เดิมและที่อพยพเข้ามาเนื่องจากวิกฤตหญ้าทะเล จึงขอร้องว่า หากเห็นป้าย เห็นทุ่น ขอให้ช่วยกันลดความเร็วเรือลง
ทั้งนี้ ในวันที่ 17-19 ส.ค.67 จังหวัดตรัง จะจัดงานวันพะยูนแห่งชาติ ซึ่งเป็นวันที่มาเรียมตาย โดย พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากร จะมาร่วมงาน และลงพื้นที่ดูการอนุบาลลูกพะยูน