ผู้ว่าฯ ชัชชาติ แจง งบฯการศึกษาลดลงเกือบ 50% ไม่หายไปไหน แทรกอยู่ในภารกิจสำนักงานเขต เผย เตรียมเงินอุดหนุนชุมชนละ 2 แสนให้ ปชช. ร่วมออกแบบพัฒนาพื้นที่ตนเอง รับ หนักใจ ‘หนี้บีทีเอส’
วันนี้ (14 ส.ค. 67) ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยกับ The Active ถึงการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2568 ว่ามีหลายวิธีที่นำมาใช้ในการร่างงบฯ อย่างช่องทาง Traffy Fondue ที่นับว่าเป็นหนึ่งช่องทางที่ให้ประชาชนแจ้งเรื่องเข้ามาจำนวนมาก รวมทั้ง สภากรุงเทพมหานคร (สก.) ที่เป็นตัวแทนของประชาชน ก็จะสะท้อนความต้องการเข้ามา รวมถึงโครงการต่อเนื่อง โดยพยายามทำให้งบประมาณตอบโจทย์ให้มากที่สุดในแต่ละมิติ
โดยเฉพาะเรื่องสำคัญอย่างด้านสุขภาพ ด้านการศึกษา ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องเร่งรัดดูแล โดยงบประมาณด้านสุขภาพเพิ่มขึ้นจากปี 2567 ร้อยละ 49.80 นั้น จะเน้นการแก้ปัญหาในเรื่องระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ มีการสร้างโรงพยาบาลเพิ่มเติม สร้างศูนย์บริการสาธารณสุขเพิ่ม ส่วนงบฯ ด้านการศึกษา ที่ดูเหมือนว่าถูกลด จะไปอยู่ในงบประมาณสำนักงานเขต ทำให้ตัวเลขไม่เห็นโดดเด่นชัดเจน เนื่องจากสำนักงานเขตดูแลโรงเรียนเป็นหลัก ทำให้งบประมาณไม่ได้ปรากฏอยู่ในสำนักการศึกษา แต่อย่างไรก็ตามหากพบว่าไม่เพียงพอ อาจจะมีการเพิ่มเติมในช่วงการแปรญัตติงบประมาณ
ชัชชาติ กล่าวว่า การจัดงบประมาณหลังผ่านการทำงานมา 2 ปี ถือว่าดี เนื่องจากเป็นการจัดงบฯ เอง ซึ่งเป็นไปตามแผนงานและนโยบายที่วางไว้ ทั้งนโยบาย 9 ด้าน 9 ดี การพัฒนาคุณภาพชีวิต แต่มีข้อกังวลที่งบประมาณไม่เยอะ เนื่องจาก กทม.มีภาระเรื่องหนี้บีทีเอสที่ต้องจ่าย
“จะเห็นว่าปีนี้กับปีที่แล้ว งบประมาณเท่ากันเลยคือ 90,000 ล้าน เราต้องระมัดระวัง เพราะเรามีภาระที่มันเกิดขึ้น เรื่องการจ่ายหนี้ต่าง ๆ เราไม่สามารถที่จะเพิ่มงบประมาณ ตามระดับเงินเฟ้อ หรือ ความต้องการได้ครบถ้วน แต่มีค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เราต้องดูด้วย เพราะเราเป็นงบประมาณสมดุล เราไม่สามารถไปกู้เงินมาใช้จ่ายงบประมาณได้”
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์
เมื่อถามถึงปัญหาเรื้อรังใน กทม. เช่น น้ำท่วม ฝุ่น คนไร้บ้าน ผู้ว่าฯ กทม. ระบุว่า ในเรื่องปัญหาเหล่านี้อาจจะสามารถแก้ได้ แต่อาจะไม่ 100% อย่าง ปัญหาคนไร้บ้าน ตั้งเป้าว่าจะทำศูนย์คนไร้บ้านที่แม้นศรีเพิ่มเติม ขณะที่ เรื่องมลพิษทางอากาศ จะเน้นในการทำงานเชิงป้องกัน อาจจะไม่ได้วางงบประมาณไว้มากมาย แต่จะเน้นมากตรการ เนื่องจากเราไม่ใช่คนก่อมลพิษ แต่เป็นผู้คนเอกชนต่าง ๆ ดังนั้นเรื่องมลพิษทางอากาศ จะเน้นเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย การออกกฎหมาย การหาความร่วมมือมากกว่าการใช้งบประมาณ ส่วนประเด็นเรื่องน้ำท่วมขัง จำเป็นต้องใช้งบประมาณเพราะต้องสร้างเขื่อนกั้นน้ำและระบบระบายน้ำต่าง ๆ
ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวเสริม ในส่วนของงบประมาณ ที่ภาคประชาชนจะสามารถเข้ามามีส่วนร่วมว่า กทม. ได้จัดทำงบประมาณทั้งสิ้น 401,400,000 บาท ซึ่งจะอยู่ภายใต้งบประมาณสำนักพัฒนาสังคม ในโครงการชุมชนเข้มแข็งพัฒนาตนเองตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ชุมชนสามารถจัดทำแผนพัฒนาชุมชน เพื่อดำเนินการพัฒนาชุมชนของตนเองได้ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมกระบวนการเรียนรู้ชุมชน ที่เน้นส่งเสริมและสนับสนุนคุณภาพชีวิตของประชาชนในชุมชน โดยจะโอนงบประมาณให้สำนักงานเขตชุมชนละ 200,000 บาท เพื่อให้เป็นค่าใช้จ่ายสนับสนุนโครงการหรือกิจกรรมตามแผนพัฒนาชุมชน
“แต่เดิมจะมีงบประมาณที่สำนักงานเขตต่าง ๆ ตอนนี้เรากันงบฯ ส่วนหนึ่งที่เรียกว่า Participatory Budgeting (งบประมาณแบบมีส่วนร่วม) โดย 200,000 บาทนี้ให้ประชาชนคิดเลย ชุมชนอยากทำอะไรให้เขาคิดเลย หลังจากนั้นเมื่อเขาคิดเสร็จ ทางสำนักงานเขตก็จะมาซื้อ อนาคตก็จะออกเป็นข้อบัญญัติหนึ่ง ที่จะให้เงิน เป็นคล้าย ๆ เงินอุดหนุนไปที่ชุมชนและให้ชุมชนนำเงินไปซื้อเองได้ ที่ผ่านมามีโครงการลักษณะคล้ายกัน แต่ติดปัญหาการจัดซื้อ ทำให้อาจจะไม่ได้ของตามที่ต้องการเพราะล็อกสเป็กไม่ได้ แต่เมื่อเป็นแบบเงินอุดหนุนก็จะสามารถนำเงินไปซื้อได้เลย”
ศานนท์ หวังสร้างบุญ