หลังถูกเจ้าหน้าที่อพยพจากถิ่นฐาน 2 รอบ พร้อมขอให้ชะลอคดีชาวบ้าน รวมถึงแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการทรัพยากรทั้งหมด ที่เห็นว่าล้าหลังและไม่เป็นธรรม พร้อมวางนโยบายจัดการที่ดินทรัพยากรแบบมีส่วนร่วม
วันนี้ ( 22 ส.ค.66 ) ที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ( องค์การมหาชน ) กลุ่มบางกลอยคืนถิ่น ภาคีเซฟบางกลอยร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรม “3 ปี บางกลอยคืนถิ่น ถึงไหน ทำไมยังไม่ได้กลับบ้าน“ โดยมีการจัดนิทรรศการภาพถ่าย ซึ่งรวบรวมจากสังคมภายนอกที่เคยลงพื้นที่ติดตามเรื่องราวของชาวบางกลอย และเห็นปัญหาต่าง ๆ รวมถึงร่วมต่อสู้เรียกร้องเพื่อชาวบางกลอย พร้อมทั้งข้อมูลลำดับเหตุการณ์ เพื่อเป็นการทบทวนสะท้อนภาพปัญหา ผลกระทบชาวกะเหรี่ยงบางกลอย จ.เพชรบุรี ที่ยังไม่สามารถกลับถิ่นฐานเดิมเพื่อดำรงวิถีชีวิตวัฒนธรรมของชาวปกาเกอะญอ ในการทำไร่หมุนเวียน ซึ่งเป็นความมั่นคงทางอาหารและความมั่นคงในชีวิตของพวกเขา หลังถูกรัฐอพอพจากบางกลอยบน ตั้งแต่ปี 2539 และรอบสองในปี 2554 ให้มาอยู่บางกลอยล่าง หมู่บ้านโป่งลึกบางกลอย
พงษ์ศักดิ์ ต้นน้ำเพชร ตัวแทนชาวกะเหรี่ยงบางกลอย และกลุ่มบางกลอยคืนถิ่น กล่าวว่า การอพยพชาวบางกลอย ออกจากถิ่นฐานบางกลอยบนใจแผ่นดิน ไม่ใช่แค่ห้วงเวลา 3 ปี ที่หลายคนเห็นภาพชาวบ้านที่ต่อสู้เพื่อกลับถิ่นฐานบ้านเกิดบางกลอยบน แต่เกิดขึ้นมายาวนานถึง 27 ปีแล้ว หลังจากที่รัฐอพยพชาวบ้านลงมา 2 ครั้งการให้ชาวบ้านมาอาศัยในพื้นที่ที่รัฐจัดสรรให้ ซึ่งต้องมาแบ่งพื้นที่ชาวบ้านที่อยู่มาแต่เดิมในบางกลอยล่าง ได้สร้างปัญหาความลำบากใจและความขัดแย้งในพื้นที่ ส่วนพื้นที่ซึ่งรัฐจัดสรรให้ก็มีน้อยและเป็นพื้นที่ไม่เหมาะแก่การทำเกษตร ชาวบ้านต้องอยู่แบบ อดๆอยากๆ
“ ดินแห้งแล้งเป็นหิน ไม่สามารถทำกินได้ ทำให้ขาดความมั่นคงทางอาหาร เด็กหลายคนมีภาวะขาดสารอาหาร ดังนั้นการกลับไปถิ่นฐานบ้านเกิดเพื่อดำรงวิถีชีวิตทำไร่หมุนเวียนจึงเป็นทางรอดและความมั่นคงในชีวิต“
พงษ์ศักดิ์ ต้นน้ำเพชร ตัวแทนชาวกะเหรี่ยงบางกลอย และกลุ่มบางกลอยคืนถิ่น
และแม้ว่าเมื่อวันที่ 19 เมษายนที่ผ่านมา รัฐบาลรักษาการ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ลงนามรับรองมติคณะกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหา ชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย หมู่ที่ 1 ตำบลห้วยแม่เพรียงอำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ให้ดำเนินการตามแนวทางการแก้ไขปัญหา โดยมอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่งตั้งคณะทำงาน 3 ฝ่าย ประกอบด้วยชาวบางกลอยที่ประสงค์กลับขึ้นไปทำไร่หมุนเวียน 2. กรรมการอิสระ และ3.ตัวแทนจากกระทรวงฯ เพื่อให้ชาวบ้านบางกลอยสามารถกลับขึ้นไปทดลองทำไร่หมุนเวียน เป็นเวลา 5 ปี ควบคู่กับการศึกษารวบรวมข้อมูลทางวิชาการ แต่กลับไม่มีความคืบหน้า
ภายในงานมีการจัดเวทีเสวนา ในหัวข้อ “ 3 ปี บางกลอยคืนถิ่น ถึงไหน ทำไมยังไม่ได้กลับบ้าน “
โดยมีผู้ร่วมเสวนาจากหลายภาคส่วน ทั้งพชร คำชำนาญ ภาคีSaveบางกลอย, ส.รัตนมณี พลกล้า ทนายความและผู้ประสานงาน มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน, อภินันท์ ธรรมเสนา กรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหาชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย, พงษ์ศักดิ์ ต้นน้ำเพชร บางกลอยคืนถิ่น และ เลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ สัดส่วนชาติพันธุ์ พรรคก้าวไกล
ซึ่งนอกจากสะท้อนให้เห็นภาพปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านบางกลอย ยังชี้ถึงการเดินหน้านโยบายการจัดการที่ดินและทรัพยากรที่ขาดการมีส่วนร่วม และเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชน มากกว่าชาวบ้าน จากข้อมูลการของสัมปทานใช้พื้นที่ป่าของเอกชน นโยบายการอนุรักษ์ที่มองเห็นแค่พื้นที่ป่า แต่ขีดเส้นคนอยู่กับป่าออกนอกพื้นที่ ซ้ำยังการรวบรัดดำเนินคดีกับชาวบ้าน ซึ่งกรณีบางกลอยมีความชัดเจนมาก โดยการต่อสู้ตลอด 3 ปี มีชาวบ้านถูกดำเนินคดีถึง 28 คน นี่จึงถือเป็นข้อจำกัดและอุปสรรคในการกลับไปถิ่นฐานเดิมของชาวบางกลอย แต่ในข้อจำกัดเหล่านี้ในเวทีก็มองเห็นถึงพลังและความหวัง ของการยืนหยัดร่วมต่อสู้ของสังคมภายนอกที่เข้าใจกลุ่มชาติพันธุ์และคนอยู่กับป่ามากขึ้น ทั้งนี้เห็นว่า หากจะสร้างคงามยั่งยืนในการจัดการทรัพยากรและลดความขัดแย้งลง รัฐบาลใหม่ต้องมีความชัดเจนในการวางนโยบายการจัดการที่ดินทรัพยากรที่เป็นธรรมและมีส่วนร่วม ชะลอคดีต่าง ๆที่ไม่เป็นธรรม
จากนั้นกลุ่มบางกลอยคืนถิ่น ได้ร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ เรื่อง 3 ปี บางกลอยคืนถิ่น ยืนยันกลับสู่ผืนดินบรรพบุรุษ ว่า เข้าสู่ปีที่ 3 ที่ชาวกะเหรี่ยงบางกลอย ซึ่งประสงค์จะกลับไปทำกินในรูปแบบไร่หมุนเวียนที่บ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน ได้ออกมาต่อสู้เรียกร้องสิทธิของพวกเราร่วมกับภาคีเซฟบางกลอย และเครือข่ายภาคประชาชนต่าง ๆ ที่ให้การสนับสนุน จนมีความคืบหน้าในแนวทางการแก้ไขปัญหา และจุดประกายข้อถกเถียงปัญหาคนอยู่กับป่า และระบบเกษตรแบบไร่หมุนเวียนให้เกิดขึ้นอีกครั้งในสังคมไทย
ในอีกด้านหนึ่ง ได้เห็นการดิ้นรนของกลุ่มอำนาจที่พยายามกดทับความหวังของพวกเราชาวบางกลอยให้จบสิ้นบ่อนทำลายความชอบธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทยด้วยการขัดขวางเส้นทางกลับสู่ผืนดินบรรพบุรุษของพวกเราทุกวิถีทาง ด้วยข้อกล่าวอ้างว่าประเทศไทยไม่มีชนเผ่าพื้นเมือง และสิ่งนี้ได้ถูกส่งต่อจากรัฐบาลหนึ่งสู่อีกรัฐบาลหนึ่ง ในผืนป่าแก่งกระจาน กลายเป็นเสมือนกรงขังภายใต้กรอบกฎหมายด้านการจัดการทรัพยากรอันสะท้อนภาพสังคมเผด็จการ ในวันที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานประกาศทับ สู่การขับไล่พวกเราออกจากถิ่นฐานดั้งเดิม ซ้ำเติมด้วยการบังคับสูญหาย ซ้ำยังทำลายวิถีเผ่าพันธุ์ของเราให้ยิ่งสิ้นสูญกลิ่นของความตายและดวงวิญญาณที่สิ้นสลายของบิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ, ปู่คออี้ โคอิ มีมิ และ กิ๊ป ต้นน้ำเพชร ยังคงย้ำเตือนว่า เราถูกกระทำอย่างไร้ความปราณี ภายใต้อาณานิคมอุทยานแห่งชาติ
“จนถึงวันนี้เป็นที่ประจักษ์ ว่าการต่อสู้ของชาวกะเหรี่ยงบางกลอย หาใช่ประเด็นเฉพาะเจาะจงเพียงหมู่บ้านใดบ้านหนึ่ง แต่คือภาพสะท้อนผลพวงจากรัฐเผด็จการที่กระทบต่อพี่น้องชนเผ่าพื้นเมืองและคนอยู่กับป่าในทุกพื้นที่“
แถลงการณ์ระบุ
กลุ่มบางกลอยคืนถิ่น มีข้อเรียกร้องถึงภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
1. กรณีชุมชนบ้านบางกลอย กลุ่มบางกลอยคืนถิ่น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และรัฐบาลใหม่ จะต้องเร่งดำเนินการให้ชาวบางกลอยได้สามารถกลับขึ้นไปทำไร่หมุนเวียนที่บางกลอยบน-ใจแผ่นดินโดยเร็วที่สุด ตามมติของคณะกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหาชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย และรวมถึงกระบวนการยุติธรรมที่ต้องให้ความยุติธรรมแก่ชาวบ้านที่ถูกดำเนินคดีทั้งหมด ให้ยุติคดีที่ไม่เป็นธรรมดังกล่าว
2. รัฐบาลใหม่ ต้องกล้าหาญที่จะแถลงขอโทษพวกเรากลุ่มชนเผ่าพื้นเมือง ที่เคยถูกรัฐไทยกระทำ กล้าหาญที่จะลงโทษผู้กระทำผิดต่อพวกเรากลุ่มชาติพันธุ์ โดยเฉพาะกรณีอุ้มหาย บิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ และกล้าหาญที่จะแถลงต่อองค์การสหประชาชาติว่าประเทศไทยมีชนเผ่าพื้นเมือง เพื่อชำระประวัติศาสตร์ขั้นแรก เปิดทางสู่การแก้ไขปัญหาด้านอื่น
3. แก้ไขกฎหมายที่ล้าสมัยและไม่เป็นธรรม โดยเฉพาะพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ให้สอดรับกับแนวคิดสิทธิชุมชนและชนเผ่าพื้นเมือง รวมถึงต้องร่วมกันผลักดันกฎหมายอื่น ๆ ได้แก่ กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิและสิ่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง, กฎหมายว่าด้วยการนิรโทษกรรมคดีป่าไม้-ที่ดินคนจน และกฎหมายป้องกันการซ้อมทรมาน-อุ้มหาย โดยต้องบรรจุแนวทางแก้และผลักดันกฎหมายทั้งหมดให้เป็นวาระเร่งด่วนหลังการจัดตั้งรัฐบาลแล้วเสร็จ และเร่งใช้กลไกสภาผลักดันให้มีผลบังคับใช้โดยเร็วที่สุด
ทั้งนี้ ยืนยันว่าจะสู้ต่อไป เพื่อเดินหน้าสู่การกลับถิ่นฐานดั้งเดิมที่บรรพบุรุษได้ก่นสร้างไว้ให้เป็นที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน และพื้นที่จิตวิญญาณของพวกเราชาวปกาเกอะญอในผืนป่าแก่งกระจาน และจะต่อสู้เพื่อคืนความเป็นธรรมต่อทุกความสูญเสียที่เกิดขึ้นในผืนป่าแก่งกระจาน และทวงคืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ต่อชนเผ่าพื้นเมืองทั่วประเทศด้วย