กสม. เผย ข้อร้องเรียนเรื่อง “สถานะ” มากกว่า 700 เรื่อง จี้ มหาดไทย ไม่ควรมีใครเสียสิทธิและโอกาสระหว่างรอสัญชาติไทย เครือข่ายทำงานด้านนโยบายเด็กฯ และการแก้ปัญหาคนไทยพลัดถิ่น เตรียมเข้าหารือ รมว.มหาดไทย ผลักดันสวัสดิการ ดูแลคนไม่มีบัตรประชาชน โดยเฉพาะเด็กเล็กที่ควรมีสวัสดิการ “ถ้วนหน้า”
วันนี้ (17 ก.ย. 2566) คณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า เพื่อคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน จัดวงเสวนาคุยปัญหา “คนไทยพลัดถิ่น และดูแลเด็กที่กำลังอยู่ระหว่างการขอคืนสัญชาติ” เพื่อหาแนวทางการแก้ปัญหาให้กับคนไทยพลัดถิ่น ที่ยังได้รับผลกระทบด้านสิทธิ ที่อำเภอบางสะพานน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยภาพรวมมีการถ่ายทอดประสบการณ์ตรงจากคนไทยพลัดถิ่น และเห็นการขับเคลื่อนงานของภาคีหลายส่วน เช่น นักวิชาการ, คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, ปลัดอำเภอ, สส.สัดส่วนชาติพันธุ์ พรรคก้าวไกล, กลุ่มชนเผ่าพื้นเมือง ฯลฯ
โดยสรุปมีข้อเสนอให้ตั้งคณะกรรมพิเศษขึ้นมาแก้ปัญหาเร่งด่วน และระหว่างทางของการได้สัญชาติไทย ควรดูแลด้านสวัสดิการให้กับกลุ่มคนที่ยังไม่มีบัตรประชาชน โดยเฉพาะการผลักดันประเด็นเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า ไม่ว่าเด็กเหล่านั้นจะมีบัตรประชาชนหรือไม่
นักวิจัย เปิดตัวเลขคนไทยพลัดถิ่นยังรอการช่วยเหลือกว่า 900 ราย ย้ำ ไม่ควรมีใครต้องสูญเสียสิทธิ ระหว่างรอสัญชาติ
วรรธิดา เมืองแก้ว นักวิจัยคนไทยพลัดถิ่น เปิดเผยตัวเลขคนไทยพลัดถิ่นจากการทำวิจัยรวมแล้วกว่า 900 ราย กลุ่มตกสำรวจ และไม่มีเลขทะเบียน เป็นกลุ่มที่ใหญ่ และยังอยู่ระหว่างการนิยามให้ชัดเจน เพื่อแบ่งแยก จัดกลุ่มที่ชัดเจน ก่อนนำไปสู่แนวทางการช่วยเหลือตามแนวทางของแต่ละกลุ่ม การแก้ปัญหาไม่ใช่แค่ปัญนายทะเบียน แต่ต้องแก้อย่างมีส่วนร่วม ควรมีกลไก หรือนโยบายที่กำหนดได้ว่า จะสำเร็จจากการร่วมมือของทุกภาคส่วน ขณะเดียวกันกลุ่มที่ยังไม่ได้รับสัญชาติไทย ก็ควรได้รับการช่วยเหลือ เยียวยาการเข้าถึงสิทธิ์ให้ได้ “ระหว่างการรอสัญชาติไม่ควรมีใครสูญเสียสิทธิ์ และโอกาส…”
กิติพร บุญอ่ำ นักวิชาการ สำนักงานคณะกรรมสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ระบุ กสม. เคยเสนอแนะเรื่องการทำงานที่ล่าช้าของในการแก้ปัญหาคนไทยพลัดถิ่นไปแล้ว ขณะที่ข้อร้องเรียนปัญหาสัญชาติก็มีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากข้อร้องเรียนของ กสม. ภาพรวมมากกว่า 2,000 เรื่อง เป็นเรื่องปัญหาสถานะ มากกว่า 700-800 เรื่อง จึงมีข้อเสนอ 3 ประเด็นแก้ปัญหาสถานะ คือ การขับเคลื่อนงานร่วมกับภาคี, การส่งเสริมองค์ความรู้ของเจ้าหน้าที่ และสวัสดิการ, ผลักดันรวมกับภาคีเครือข่าย ทั้งมิติการผลักดันแก้ไขกฎหมาย การทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ย้ำว่าการทำงานต่อจากนี้ควรเอาข้อเสนอ และข้อมูลที่มีอยู่แล้วไปผลักดันต่อโดยไม่ต้องเริ่มต้นใหม่จากศูนย์
ปลัดอำเภอ ชี้ ที่ผ่านมหาดไทย รู้เรื่องสัญชาติน้อย ขณะที่ “คนไทยพลัดถิ่น” เสนอ รัฐควรแก้ให้จบภายในปี 2567
ขณะที่ในวงเสวนา ยังมี ประชานารถ สุวรรณสิทธิ์ ปลัดอำเภอบางสะพานน้อย มองว่า ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่กระทรวงมหาดไทย มีความเชี่ยวชาญด้านสัญชาติน้อย โดยเฉพาะแนวรบตะวันตก ตะวันออก พื้นที่ติดชายแดน ความรู้ความเข้าใจ และเจ้าหน้าที่บางคนก็ไม่เปิดใจในการแก้ปัญหา เสนอตั้งวอร์รูมสร้างความเข้าใจเรื่องนี้ พร้อมขอโทษประชาชนที่ทำงานล่าช้าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา
สอดคล้องกับ มานพ คีรีภูวดล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล แนะควรจ้างคนที่มีความรู้เข้ามาทำงาน แต่งตั้งคณะทำงานที่มีความรู้ และจัดรูปแบบการช่วยเหลือในแพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อให้การทำงานง่ายและสะดวกรวดเร็ว ขณะเดียวกันยังมั่นใจว่าการทำงานเรื่องสถานะไม่ได้ซ้ำซ้อนอย่างที่คิดเพียงแต่ต้องมีคนที่เข้าใจเข้ามาทำงาน เตรียมชวนเครือข่ายภาคประชาชน เข้าพบ รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาให้เร็วที่สุด
นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอจากคนไทยพลัดถิ่น ให้ตั้งคณะกรรมการที่มีความรู้ ควาามเข้าใจทั้งในระดับอำเภอ และระดับจังหวัด เฉพาะในพื้นที่ที่สำรวจพบปัญหาคนไทยพลัดถิ่น และควรจะแก้ปัญหาได้จบในปี 2567 โดยมีสิทธิในชีวิตขั้นพื้นฐาน เช่น การทำกินบนที่ดินทำกิน, มีสิทธิในการถูกปกป้องและคุ้มครองด้านสิทธิมนุษยชน, ประกาศให้การอุดหนุนเด็กเป็นวาระแห่งชาติ โดยครอบคลุมไปถึงเด็กทุกคนที่อยู่ในประเทศไทยไม่ว่าจะมีเชื้อสายไทยหรือไม่ เป็นต้น