รัฐต้องรับผิดชอบ งบฯ เจ็บป่วย แทนผู้ประกันตน ม.33 – 39

“นิมิตร์ เทียนอุดม” ตัวแทนเครือข่าย ‘ประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ’ เสนอ รวมระบบสุขภาพ ลดเหลื่อมล้ำ เพิ่มประสิทธิภาพการใช้งบฯ รัฐ เสนอ 3 ทางเลือกรวมระบบสุขภาพ ยันระบบประกันสุขภาพต้องเป็น “สิทธิ์” ของทุกคนไม่ใช่แค่ “คนจน”

สถานการณ์สาธารณสุขไทยในปัจจุบัน สะท้อนภาพความเหลื่อมล้ำ แม้จะมี 3 กองทุนด้านสุขภาพ แต่การเข้าถึงการรักษายังไม่ทั่วถึง ครอบคลุม โดยมีรูปแบบและอัตราการจ่ายที่แตกต่างกัน งานวิจัยหลายฉบับยังพบว่ากลุ่มเปราะบางในการเข้าถึงบริการสาธารณสุข คือ กลุ่มคนยากจน กลุ่มแรงงาน และกลุ่มคนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล มักจะได้รับผลกระทบด้านสิทธิ์การรักษาพยาบาล จึงกลายเป็นคำถามว่า จะเป็นไปได้แค่ไหนที่ไทยจะยกระดับคุณภาพระบบสุขภาพ ให้เป็น “สิทธิ์” ของทุกคน ไม่ใช่แค่ “คนจน”

ขณะที่ประเทศไทยมีปัญหาเรื่องงบประมาณ และการกระจายทรัพยากรด้านสาธารณสุขที่ยังไม่เหมาะสม ส่งผลต่อการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพและคุณภาพของประชาชน ขณะที่การเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพส่งผลให้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เผชิญกับความไม่ยั่งยืน เมื่อได้รับงบประมาณที่ไม่เพียงพอ หรือ ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น จนเป็นความเสี่ยงด้านการคลังสาธารณสุข

นิมิตร์ เทียนอุดม ตัวแทนเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ และผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เสนอแนวทาง ปฏิรูประบบสุขภาพ รวมระบบสุขภาพในประกันสังคม กับ ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) โดยระบุว่า ปัจจุบันกองทุนในประเทศไทยมี 3 กองทุน แบ่งเป็น กองทุนประกันสังคม กองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) และกองทุนสวัสดิการข้าราชการ

โดยครั้งนี้ นิมิตร์ เสนอให้รวมระบบสุขภาพโดยยังไม่แตะกับกองทุนสวัสดิการข้าราชการ โดยมีหลักการสำคัญ คือ “การสร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ ทำให้เกิดการกระจายงบประมาณอย่างเป็นธรรม เพื่อทำให้ทุกคนเข้าถึงระบบสุขภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ และรัฐจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพให้ประชาชนอย่างเท่าเทียม” เขาย้ำว่า หากรัฐทำได้ จะทำให้ผู้ประกันตนจะมีบำนาญเพิ่มทันที 2% โดยเสนอทางเลือก 3 แนวทาง คือ การใช้มาตรา 10 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อรวมระบบสุขภาพ 2 กองทุน แก้ไขระเบียบ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ผู้ประกันตนเลือกสิทธิด้านสุขภาพ

รวมถึง ข้อเสนอแก้ไข ม.54 ของ พ.ร.บ.ประกันสังคม ให้สิทธิด้านสุขภาพของผู้ประกันตน (เฉพาะงบฯ เจ็บป่วย ไม่รวมป่วยจากงานและคลอด) รวมอยู่ใน สิทธิบัตรทอง (UC) โดยเสนอให้ แก้มาตรา 54 ให้เหลือแค่ 6 จากทั้งหมด 7 สิทธิประโยชน์  ผู้ประกันตนจ่ายสมทบเท่าเดิม 1.06% (เพื่อจ่ายค่ารักษาพยาบาล) ไปใช้เป็นเงินบำนาญในอนาคตของผู้ประกันตน โดยที่ผ่านงบประมาณส่วนนี้ทั้งสิ้นอยู่ที่ 40,735.98 ล้านบาท แบ่งเป็นส่วนของ ลูกจ้างสมทบ, รัฐสมทบ, นายจ้างสมทบ กลุ่มละ 13,578.66 ล้านบาท ดังนั้น หากรัฐจะทำให้กลุ่มผู้ประกันตนมีสิทธิ์เท่ากับกลุ่มที่ถือบัตรทอง จำเป็นจะต้องจัดสรรเพิ่ม จ่ายแทนผู้เจ็บป่วยทั้งหมดแทนผู้ประกันตน ม.33 และ ม.39 เพิ่มอีก 27,157.32 ล้านบาทต่อปี

ด้าน นพ.ณัฐ ศิริรัตน์บุญขจร อนุกรรมการพัฒนาสิทธิประโยชน์ ตัวแทนฝ่ายผู้ประกันตน แพทย์รังสีรักษาและมะเร็งวิทยารามาธิบดี ระบุว่า ตนเห็นความเหลื่อมล้ำในระบบรักษาสุขภาพชัดเจน การรักษาล่าช้าในหลายกรณี  คิดว่าถ้ารัฐยอมจ่าย 27,000 ล้านบาท จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้อย่างมาก แต่ผู้ประกันตนก็อาจจะสงสัยเรื่องการใช้สิทธิ์ใน รพ.เอกชน ว่าจะสามารถทำได้เหมือนกันหรือไม่เป็นสิ่งที่จะต้องคุยกันในรายละเอียดเรื่องการรวมระบบสุขภาพต่อไป

ขณะที่ รชตะ อุ่นสุข ผอ.กลุ่มงานกฎหมายด้านสวัสดิการรักษาพยาบาล กรมบัญชีกลาง มองว่าการดัน แก้ ม.54 อาจต้องเพิ่มกลไกการพูดคุยกับภาครัฐมากขึ้นเพื่อให้เห็นประโยชน์จากการผลักดันการแก้ปัญหา 

เช่นเดียวกับ สหัสวัต คุ้มคง โฆษกคณะกรรมาธิการการแรงงาน เห็นด้วยทั้ง 3 แนวทาง แต่ก็ยังกังวลเรื่องแรงต้านที่มองว่าประเด็นนี้อาจกลายเป็น ภาระงบประมาณ 

อย่างไรก็ตาม แนวทางนี้ยังต้องอาศัยการสนับสนุนจากหลายภาคส่วน รวมถึงการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดย นิมิตร์ ย้ำว่า การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวควรทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้ระบบสามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ข้อเสนอนี้ได้รับความสนใจจากทั้งภาคประชาสังคม และผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุข ซึ่งมองว่าอาจเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาระบบสุขภาพของไทย แต่ยังต้องพิจารณารายละเอียดเพิ่มเติมเพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในระยะยาว

สำหรับข้อเสนอดังกล่าว ถูกนำเสนอระหว่างการบันทึกเทป รายการนโยบาย by ประชาชน ซึ่งมีกำหนดออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ช่องดิจิทัลหมายเลข 3 เร็ว ๆ นี้ นอกจากนี้ จะถูกรวบรวมและนำเสนอบนเว็บไซต์ Policy Watch ของไทยพีบีเอส เพื่อเปิดให้ประชาชนเข้าไปร่วมแสดงความคิดเห็น และโหวตให้กับนโยบายที่ชื่นชอบหรือพร้อมจะให้การสนับสนุนต่อไป

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active