‘วราวุธ’ ระบุ TTRS หยุดให้บริการล่ามภาษามือชั่วคราว กระทบคนพิการ แม้ พม. ไม่มีงบฯ ช่วยเหลือโดยตรง แต่ประสานเร่งด่วนไปยัง กสทช. แล้ว ชี้ กสทช. ควรสนับสนุนงบฯ ไปก่อนเพื่อให้บริการได้ต่อเนื่อง ส่วนเหตุยิงกันในพารากอน พม. เน้นทำงานเชิงรุกแก้ปัญหาสังคม-ครอบครัว ห่วง ละเมิดสิทธิเด็กกรณีเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคล
วันนี้ (4 ต.ค. 2566) วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) แถลงข่าวการขับเคลื่อนภารกิจสำคัญ หลังประชุมผู้บริหารกระทรวง พม. ครั้งที่ 1 โดยหนึ่งในเรื่องที่มีการกล่าวถึง คือกรณีที่ ศูนย์บริการถ่ายทอดการสื่อสารแห่งประเทศไทย หรือ TTRS ประกาศปิดให้บริการล่ามภาษามือชั่วคราว 3 – 9 ต.ค. 2566 นั้น ขณะนี้ได้มีการประสานเร่งด่วนไปยังคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) แล้ว และมองว่า กสทช. ควรจะสนับสนุนงบประมานปีถัดไปไปก่อน เพื่อให้ TTRS ดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ยังเชื่อว่าภาระค่าใช้จ่ายที่ TTRS มีอยู่หลักสิบล้านนั้นเล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับงบประมาณทั้งหมดของ กสทช. จึงอยากให้เห็นความสำคัญของเรื่องนี้ เพราะเพียงแค่วันเดียว คนพิการก็ได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก ซึ่งบทบาทหลักของ พม. ในเรื่องนี้คือการช่วยประสานงาน เพราะไม่สามารถสนับสนุนงบประมาณได้ เนื่องจากงบฯ ของกระทรวงฯ เองก็มีจำกัด
ชี้ เหตุยิงกันในพารากอน พม. เร่งทำงานเชิงรุกแก้ปัญหาสังคม-ครอบครัว
สำหรับกรณีเหตุยิงกันในพารากอนเมื่อช่วงค่ำวานนี้ (3 ต.ค. 2566) กระทรวง พม. มีส่วนเกี่ยวข้องที่สำคัญ ทั้งเรื่องการเยียวยา การป้องกัน ไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก ทั้งการส่งสหวิชาชีพ นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ เพื่อเข้าช่วยเหลือดูแลอย่างต่อเนื่องจนปัญหาได้รับการแก้ไข ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อคืนต้องให้ความสำคัญของบริบทสังคมครอบครัว
“ในเคสนี้ถือว่าเป็นเด็ก การพูดคุยสอบปากคำต้องมีนักจิตวิทยา ผู้ที่เด็กร้องขอ ทนายความ และผู้ที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายกำหนด ซึ่งเป็นกติกาสากลสหประชาชาติ นักจิตวิทยา เจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ศาล ได้อยู่กับเคสตลอด แต่ไม่อยากให้ย้ำเรื่องกฎหมายว่าเป็นเด็กแล้วไม่ต้องรับโทษ เพราะจะกระตุ้นให้เกิดความเกลียดชังในสังคม อย่างไรก็ตาม ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้เสียชีวิต และผู้ที่ได้รับผลกระทบ โดยจะเร่งดำเนินการเยียวยาจิตใจ หากประชาชนต้องการความช่วยเหลือสามารถโทรสายด่วน 1300 มีนักจิตวิทยา สหวิชาชีพคอยดูแล ความรู้สึกของประชาชน”
วราวุธ ยังย้ำเรื่องภาพและอัตลักษณ์ของผู้ก่อเหตุ ว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น บัตรประจำตัวประชาชน บัตรสถานศึกษา ไม่ควรจะอยู่ในสื่อสังคมออนไลน์ ขอความกรุณาอย่าได้ส่งต่อ จะก่อให้เกิดความเกลียดชัง ถ้อยคำรุนแรง รวมถึงบทบาทของสื่อมวลชน ที่จะไม่ซ้ำเติมความรุนแรง ทั้งนี้ พม. จะส่งเสริมความเข้มแข็งของครอบครัว นั่นคือการสนับสนุนให้พ่อแม่อยู่ด้วยกัน คนแต่ละรุ่น มีความเข้าใจกันและกัน วันนี้ทุกคนมองว่าคนแต่ละเจเนอเรชันเป็นภาระที่ต้องดูแล ทำให้คนไม่อยากมีครอบครัว มีบุตร และทำให้ความผูกพันในครอบครัวต่างไปจากในอดีต กรมกิจการเด็กและเยาวชน ต้องหาแนวทางว่าจะทำอย่างไรให้พ่อแม่ลูกได้มีการทำกิจกรรมร่วมกัน ต้องปลูกฝัง โดยเฉพาะเด็กเล็กต้องการความอบอุ่น สังคมไทยเดิมเป็นสังคมที่อยู่กันในทุกช่วงอายุ ลูกหลานอยู่กับญาติผู้ใหญ่ อยากจะปรับเปลี่ยนค่านิยมเหล่านั้นให้เหมือนเดิม
“อย่างไรก็ตาม ฝากเรื่องคอนเทนต์ที่อยู่ในสื่อสังคมออนไลน์ มีการกำกับดูแลการเสพสื่อของลูกหลาน อาจจะไม่ใช่แค่เรื่องเกมอย่างเดียว แต่เป็นการเข้าถึงคอนเทนต์ต่าง ๆ ด้วย”
ทั้งนี้ พม. ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำงานเชิงรุก โดยเตรียมก่อตั้งศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน หรือ ศรส. เพื่อเป็นศูนย์กลางในการรวมเรื่องร้องเรียนทั้งการทำร้ายเด็ก ผู้สูงอายุ คนพิการ ความเท่าเทียมทางเพศ ทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ พม. และจะประสานต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เร่งเข้าช่วยเหลือต่อไป โดยจะทำงานร่วมกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ จะตั้งกรรมการมาพิจารณาเรื่องกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกระทรวง พม. เพื่อทบทวน แก้ไข หรือจัดทำกฎหมายเพิ่มเติม
“เดิม สายด่วนอาจจะรับเรื่องไว้แต่กระจายการปฏิบัติงานไม่ดีเท่าที่ควร การตั้งศูนย์นี้ขึ้นมาเพื่อเร่งรัดจัดการ เรารวมเจ้าหน้าที่ 6 กรม 2 รัฐวิสาหกิจ และ 1 องค์การมหาชน ซึ่งหน่วยงานภายใต้ พม. จะเข้ามาร่วมดูแลแบบบูรณาการ ต้องดำเนินงานไปด้วยกัน เพื่อเร่งจัดการตามความเหมาะสมและเร่งด่วน ไม่ต้องการให้ทำงานแยกส่วน เพราะอย่างเมื่อคืนนี้จะเห็นว่าต้องมีหลายกรม หลายหน่วยเข้าไปร่วมดูแลด้วย”