เมื่อ ‘โรงเรียน’ ยังไม่ปลอดภัย! เด็กไทย ยังเผชิญ ‘ความรุนแรง’

เปิดผลสำรวจ พบ 42% เคยเผชิญหน้าความรุนแรงในโรงเรียน ทั้งทางร่างกาย จิตใจ ขณะที่ ‘สภาองค์กรของผู้บริโภค’ เล็งผลักดันวาระระดับชาติ สร้างโรงเรียนปลอดความรุนแรง ย้ำ การละเลยความปลอดภัย เท่ากับ ลดทอนโอกาสการเรียนรู้เด็ก

เมื่อเร็ว ๆ นี้ สภาองค์กรของผู้บริโภค จัดเวทีสาธารณะภายใต้หัวข้อ “Safe Zone: เปลี่ยนโรงเรียนให้เป็นพื้นที่ปลอดภัย” เปิดพื้นที่ให้ตัวแทนจากภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งนักเรียน ผู้ปกครอง ครู บุคลากรทางการศึกษา และภาคนโยบาย ร่วมถกปัญหาและแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับสถานการณ์ความรุนแรงในโรงเรียน พร้อมผลักดันข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อให้โรงเรียนเป็นพื้นที่เรียนรู้ที่ปลอดภัยและเกื้อหนุนต่อสุขภาวะของเด็ก

ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล ประธานคณะอนุกรรมการด้านการศึกษา สภาผู้บริโภค ระบุว่า เวทีนี้ต้องการให้เสียงของนักเรียนที่มีประสบการณ์ตรงได้ถูกส่งต่ออย่างเท่าเทียม ควบคู่ไปกับผลสำรวจออนไลน์ที่จัดเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างเกือบ 1,000 คน โดยหวังว่า เวทีจะเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างความเปลี่ยนแปลงทั้งในระดับนโยบายและวัฒนธรรมโรงเรียน

“เวทีนี้จึงเน้นให้เสียงของนักเรียน ผู้มีประสบการณ์ตรง ได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็นอย่างเท่าเทียม ร่วมกับครู ผู้ปกครอง และผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันหาทางออกอย่างสร้างสรรค์และยั่งยืน หวังว่าเวทีนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับเด็กและเยาวชนทั้งในโรงเรียนและในสังคมในอนาคต” 

อรรถพล อนันตวรสกุล

เด็กไทย 40% เคยเผชิญความรุนแรงในโรงเรียน

ผลสำรวจความคิดเห็นที่เก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 8 – 22 เมษายน 2568 จากกลุ่มตัวอย่าง 798 คน พบว่า 42% หรือ 337 คน เคยเผชิญหรือพบเห็นความรุนแรงในโรงเรียน โดยปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้จำกัดอยู่เพียงการใช้กำลังทางร่างกาย แต่รวมถึงความรุนแรงทางวาจา สังคม และโลกออนไลน์ด้วยกว่า 40% ของผู้ตอบแบบสอบถามเคยเผชิญหรือใกล้ชิดกับความรุนแรงในโรงเรียน ทั้งในรูปแบบทางกาย วาจา สังคม และในโลกออนไลน์

เมื่อพิจารณาประเภทของความรุนแรงที่พบมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ ความรุนแรงทางร่างกาย เช่น การถูกตี (62.6%) และต่อย (52.8%) ความรุนแรงทางวาจา เช่น คำพูดทำร้ายจิตใจ (68.7%) และการนินทา (63.3%)

รวมถึง ความรุนแรงทางสังคม เช่น การล้อเลียนต่อหน้าคนหมู่มาก (50.1%) และการปล่อยข่าวลือ (50.1%) นอกจากนี้ ยังพบการรังแกในโลกออนไลน์ โดยเฉพาะการโพสต์ด่าทอ (27.6%) และการกีดกันทางสังคมออนไลน์ (12.9%)

ที่มา: สภาองค์กรของผู้บริโภค

เสียงสะท้อนจากผู้ตอบแบบสอบถามเรียกร้องให้โรงเรียนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินมาตรการเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย พร้อมจัดระบบดูแลและแจ้งปัญหาที่เข้าถึงได้จริง ที่สำคัญคือการส่งเสริมให้ครูและผู้ใหญ่ในโรงเรียน “ฟังเด็ก” อย่างแท้จริง และได้รับการอบรมเพื่อเข้าใจพฤติกรรมเด็กและจัดการความรุนแรงอย่างเหมาะสม

สภาองค์กรของผู้บริโภค เล็งเห็นว่า เพื่อให้การแก้ปัญหาเกิดผลอย่างยั่งยืน ควรผลักดันให้มีนโยบายระดับชาติที่ส่งเสริม “โรงเรียนปลอดความรุนแรง” โดยมีระบบติดตามผลเชิงประจักษ์ เช่น แบบสอบถามนิรนามประจำภาคเรียน รวมถึงการมีหน่วยงานกลางที่นักเรียนสามารถร้องเรียนโดยไม่เปิดเผยตัวตนได้อย่างปลอดภัย พร้อมทั้งนำเสียงของนักเรียนเข้าสู่กระบวนการกำหนดนโยบายมากขึ้น

หลากหลายเสียงสะท้อน สู่ ‘โรงเรียนปลอดภัย’ สำหรับทุกคน

กิตติกวิน พิมพ์วัน ตัวแทนนักเรียน ให้ความเห็นว่า ความรุนแรงในโรงเรียนไม่จำกัดเพียงแค่การทำร้ายร่างกาย แต่ยังรวมถึงแรงกดดันทางจิตใจจากค่านิยมและความคาดหวังของผู้ใหญ่ในสังคม โดยเฉพาะระบบการศึกษาไทยที่ยังคงให้ความสำคัญกับมาตรฐานมากกว่าความเป็นมนุษย์ พร้อมเสนอให้สังคมทบทวนค่านิยม และเปิดพื้นที่ให้เยาวชนได้แสดงตัวตนโดยไม่ถูกตัดสิน

“ผมว่าจุดเริ่มต้นของความรุนแรงในโรงเรียนมันมาจากคนใกล้ตัวเลยครับ แล้วก็มาจากตัวเราเองด้วย ก่อนจะมองไปรอบข้าง เราต้องเริ่มมองจากตัวเราเองก่อน ผมเคยห่วงความรู้สึกคนอื่นมากจนลืมดูแลความรู้สึกของตัวเอง ทั้งที่เราก็ควรมีสิทธิ มีเสรีภาพของตัวเองเหมือนกัน”

กิตติกวิน พิมพ์วัน

ปาณิตา กัณสุทธิ์ จากสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ ระบุว่า จากผลสำรวจพบว่าเด็กกว่า 60% ที่ถูกกลั่นแกล้ง ถูกกระทำในโรงเรียนเอง โดยกลุ่มเป้าหมายหลักมักเป็นเด็กที่มีความแตกต่าง เช่น ลักษณะทางกายภาพ เพศสภาพ โดยเฉพาะกลุ่ม LGBTQ+ ซึ่งยังเป็นกลุ่มเปราะบางที่ขาดกลไกคุ้มครองในโรงเรียน

โรงเรียนปลอดภัย ต้องไม่ใช่แค่ภาระครู

ทัตชญา ศิริทรงภากุล ครูแนะแนว และตัวแทนเครือข่ายก่อการสิทธิเด็ก ย้ำว่า การสร้างโรงเรียนปลอดภัยไม่ใช่ภาระของครูเพียงลำพัง แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ตั้งแต่ครอบครัว ชุมชน จนถึงภาครัฐ โดยเฉพาะการออกแบบกฎเกณฑ์ด้านความปลอดภัยที่เปิดโอกาสให้เด็กมีส่วนร่วม จะเป็นกุญแจสำคัญในการป้องกันปัญหาความรุนแรงได้อย่างยั่งยืน

“สิทธิของเด็กไม่ควรถูกผูกไว้กับคำว่าหน้าที่ แต่คือรากฐานของพัฒนาการและการเรียนรู้ หากเด็กยังเข้าไม่ถึงความปลอดภัยในโรงเรียน เขาก็ไม่อาจเติบโตหรือเรียนรู้ได้เต็มศักยภาพ ระบบจึงต้องเปลี่ยน และเปลี่ยนจากความเชื่อก่อน เพราะเมื่อความเชื่อเปลี่ยน วิธีการก็เปลี่ยน และครูก็ไม่จำเป็นต้องต่อสู้เพียงลำพัง” 

ทัตชญา ศิริทรงภากุล

สำหรับในเชิงนโยบาย เธียรทอง ประสานพานิช ผู้อำนวยการกองคุ้มครองเด็กและเยาวชน ระบุว่า แนวคิด “เซฟโซน” เริ่มถูกผลักดันให้เกิดในโรงเรียนจริงจังมากขึ้น โดยภาครัฐได้ขยายบทบาทจากการรับมือหลังเหตุเกิด ไปสู่การป้องกันล่วงหน้า ทั้งในประเด็นความรุนแรงทางกาย จิตใจ และภัยในโลกออนไลน์ พร้อมสนับสนุนให้โรงเรียนริเริ่มระบบคุ้มครองเด็กด้วยตนเอง โดยไม่ต้องรอนโยบายจากส่วนกลาง

ละเลยความปลอดภัยในโรงเรียน = ลดทอนโอกาสการเรียนรู้

ขณะที่ สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน ที่ปรึกษาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เสนอว่า การปกป้องสิทธิเด็กควรเริ่มจากห้องเรียน โดยเปิดโอกาสให้เด็กมีส่วนร่วมคิด วิเคราะห์ และเสนอแนวทางแก้ไขระบบ เพราะเด็กเองมักมองเห็นช่องโหว่ที่ผู้ใหญ่มองไม่เห็น พร้อมเตือนว่าการละเลยความปลอดภัยในโรงเรียนเท่ากับการลดโอกาสในการเรียนรู้และพัฒนาเต็มศักยภาพของเด็ก

“ถ้าเรากลับเข้ามาที่โรงเรียน แล้วทำให้โรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้เด็กได้อย่างแท้จริง มันคือการลดปัญหา เพราะเด็กใช้ชีวิตในโรงเรียนมากกว่าครอบครัว ถ้าที่บ้านมีปัญหาแล้วโรงเรียนยังไม่มีใครรับฟัง เขาจะเหลือที่พึ่งที่ไหนอีก”

สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

นอกจากนี้ กิจกรรมในเวทียังมีการแบ่งกลุ่มเพื่อระดมความคิดเกี่ยวกับปัญหาที่พบในโรงเรียนของตนเอง และออกแบบข้อเสนอเชิงนโยบายแก้ปัญหาความรุนแรงในโรงเรียน ทั้งนี้ เสียงสะท้อนจากเวที และข้อมูลจากแบบสำรวจนี้จะถูกนำไปวิเคราะห์สถานการณ์ความรุนแรงในโรงเรียน สู่การพัฒนาเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายและแนวปฏิบัติที่เหมาะสม

ภายในเวทียังมีการจัดกิจกรรมกลุ่มเพื่อให้นักเรียนร่วมแลกเปลี่ยนปัญหาในโรงเรียนของตนเอง และร่วมกันออกแบบข้อเสนอเชิงนโยบาย โดยข้อสรุปและเสียงสะท้อนจากเวที รวมถึงข้อมูลจากผลสำรวจ จะถูกรวบรวมเพื่อจัดทำเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดโรงเรียนที่ปลอดภัยอย่างแท้จริงสำหรับเด็กทุกคน

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active