ย้ำ ดับไฟใต้ แก้ไม่ได้ด้วยการ ‘ปราบปราม’ วอนก้าวข้ามวาทกรรม “แบ่งแยกดินแดน”

นักวิชาการ ภาคประชาสังคมชายแดนใต้ เชื่อ กระบวนการพูดคุยสันติภาพ ยังจำเป็น ยกกรณีศึกษา ปมขัดแย้งในหลายประเทศ ใช้การปราบปรามไม่ช่วยแก้ปัญหา ชี้ รัฐต้องแสดงเจตจำนงทางการเมืองให้ชัด ก้าวข้ามวาทกรรม “คุยกับโจร” “แบ่งแยกดินแดน” มั่นใจหาก ‘ความยุติธรรม’ เกิดขึ้นได้ ความรุนแรงจะหายไป

สืบเนื่องจากการก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่ชายแดนใต้ กลับมาเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องอีกครั้ง ในช่วงของการเข้าสู่ปีที่ 21 ของเหตุการณ์ความไม่สงบ สภาประชาสังคมชายแดนใต้, สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และภาคีเครือข่าย ภาคประชาสังคม นักวิชาการ ที่ทำงานในพื้นที่ จึงกลับมาตั้งคำถามเพื่อหาคำตอบบว่า 20 ปี ทำไม ? ต้องคุยเรื่องสันติภาพ 

ภาคประชาสังคมที่ทำงานในพื้นที่ชายแดนใต้ ระบุว่า หากดูจากสถานการณ์ สังคมส่วนใหญ่ และกระแสในโลกโซเชียล ต่างมองการแก้ปัญหาชายแดนใต้ โดยเน้นไปที่เรื่องการปราบปามมากว่าการพูดคุยสันติภาพ ขณะที่คนในพื้นที่เอง ต่างก็ยังยืนยัน อยากให้เปิดพื้นที่พูดคุยเพื่อให้เกิดข้อยุติ โดยให้ความเห็นว่า หากใช้วิธีปราบปรามคนที่ได้รับผลกระทบ คือ ประชาชนที่อยู่ตรงกลาง 

ความรุนแรงลดลงได้ พูดคุยสันติภาพต้องเริ่ม

ผศ.ศรีสมภพ จิตรภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (deep south Wacht) ในฐานะที่เคยอยู่ในคณะพูดคุยสันติภาพ เมื่อปี 2556 ช่วงรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ให้ความเห็นว่า จากข้อมูลทางวิชาการและหลักฐานข้อมูลทางประวัติศาสตร์ความต่อเนื่องของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นชี้ให้เห็นว่า เหตุการณ์ความรุนแรงที่ลดลงอย่างเป็นระบบ เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2556 ที่มีกระบวนการพูดคุยสันติสุขเกิดขึ้น 

“ไม่ใช่ข้อมูลของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้เท่านั้น แม้กระทั้ง กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ที่นำเสนอโดยแม่ทัพภาค 4 ก็ชี้ให้เห็นว่าหลังปี 2556 ความรุนแรงลดลง”

ผศ.ศรีสมภพ จิตรภิรมย์ศรี

โต๊ะเจรจา เปิดหน้าคุยทุกฝ่ายอย่างเปิดเผย

การเปิดโต๊ะเพื่อพูดคุยสันติภาพ เป็นการเปิดหน้าคุยอย่างเป็นระบบจากฝ่ายตัวแทนของรัฐบาล และฝ่ายของขบวนการ BRN การพูดคุยอย่างเปิดเผยชัดเจนในความรู้สึกที่แบ่งปันกัน ความเจ็บปวดได้แสดงออกความคับแค้น ข้องใจในอดีต และประวัติศาสตร์ก็ได้แสดงออกอย่างเปิดเผย 

“ไม่ได้มีผลเพียงแต่ว่าระดับสูงขององค์กร หรือผู้นำมาคุยเท่านั้น แต่ว่ามันมีผลต่อข้างล่างประชาชนในพื้นที่ กองกำลังทั้งฝ่ายรัฐ และฝ่ายขวนการ จะมองเห็นภาพการพูดคุยอย่างเปิดเผย หลังจากคุยก็มีการเผยแพร่ว่ามีการคุยเรื่องอะไร ถึงแม้ในตอนนั้นยังไม่ได้มีข้อตกลงกัน แต่ว่าเป็นมิติใหม่ที่ทำให้เกิดความคลี่คลายในอารมณ์ความรู้สึกของสันติภาพมันมีขั้นตอนที่จะร่วมมือกันคือสิ่งที่เกิดขชึ้นตอนนั้น”

ผศ.ศรีสมภพ จิตรภิรมย์ศรี

กระทั้งมีการรัฐประหารปี 2557 แต่ยังพบว่า ฝ่ายความมั่นคงในตอนนั้น มองว่า การพูดคุยยังเป็นส่วนสำคัญในการแก้ไขปัญหา สิ่งนั้นส่งผลให้การแก้ปัญหาเรื่องความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนใต้มีความต่อเนื่อง ผศ.ศรีสมภพ ให้ความเห็นว่า เหตุการณ์ที่เพิ่มขึ้นในช่วงหลัง มีเหตุมาจากการพูดคุยสันติภาพหยุดชะงัก เกิดขึ้นช่วงเปลี่ยนรัฐบาล เมื่อปี 2567 

“เหตุการณ์มันเพิ่มสูงขึ้น ใปี 2567 โดยเฉพาะการหยุดพูดคุยจริง ๆ เดือนสิงหาคม การที่รัฐบาลแพทองธาร เข้ามาสู่ตำแหน่ง เริ่มยุติ ไม่แต่งตั้งหัวหน้าคณะพูดคุย ไม่มีการดำเนินการอะไรทั้งสิ้น บอกว่าจะทบทวนนโยบาย วางแผนใหม่ และคิดว่าการพูดคุยเป็นการไปติดกับดักของฝ่ายขบวนการทำให้แพ้ และไม่ได้ทำให้เกิดเหตุการณ์ที่ดีขึ้น ทั้ง ๆ เหตุการณ์ที่ผ่านมาลดลงอย่างเห็นได้ชัด และอันนี้ชัดเจนเลยว่าการพูดคุยมันจำเป็น”

ผศ.ศรีสมภพ จิตรภิรมย์ศรี

เจรจาสันติภาพ ไม่ใช่แยกประเทศ

อัญชนา หีมมิหน๊ะ จากกลุ่มด้วยใจ ตอบคำถามว่า ทำไม ? ต้องเจรจาสันติภาพ เพราะสิ่งที่เห็นสอดคล้องกับ ผศ.ศรีสมภพ คือ การลดความรุนแรงในช่วงที่มีการเจรจาสันติภาพ แต่ปลายทางของการเจรจาสันติภาพเพื่อเป็นเป้าหมายให้ทุกคนมองเห็นว่า ถ้าเจรจาสันติภาพแล้วจะเกิดผลลัพธ์แบบใด โดยยกตัวอย่างของประเทศศรีลังกา และโซมาเลีย ที่มีการต่อสู้ภายใน 

“ศรีลังกา เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนสงครามภายในประเทศ สิ้นสุดลงเพราะว่ามีการปราบปรามที่ถล่มทั้งหมู่บ้าน แต่สุดท้ายในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา พบความล่มสลาย เพราะมีความไม่เท่าเทียมของเชื้อชาติ ชาติพันธุ์ในศรีลังกา อันนี้เป็นเรื่องของกระบวนการสันติภาพที่ไม่สำเร็จ”

อัญชนา หีมมิหน๊ะ

ส่วนที่มีความกังวลต่อรัฐบาลไทย เรื่องการเจรจาสันติภาพ จะนำไปสู่การแยกประเทศหรือไม่นั้น ในกรณีนี้ อัญชนา เห็นว่า การแยกประเทศที่เห็นชัดและสำเร็จคือประเทศติมอร์-เลสเต และซูดาน แต่กลับพบปัญเรื่องความขัดแย้งที่ยังมีอยู่ รวมไปถึงการพัฒนาที่ไม่มากนัก เนื่องจากการสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติจากความขัดแย้ง 

ตรงกันข้ามหากมองไปที่ประเทศที่การเจรจาที่นำไปสู่ความสำเร็จ และมีความยั่งยืนมาจนถึงปัจจุบัน คือพื้นที่อาเจะห์, มินดาเนา, นอร์ทไอแลนด์ นับว่าเป็นเมืองที่สำเร็จ ทั้งหมดมีการต่อสู้มาไม่ต่ำกว่า 30 ปี  

“ในกลุ่มประเทศที่เขาเจรจาสำเร็จ ดำเนินการที่จะเปลี่ยนผ่านจากพื้นที่ที่มีความขัดแย้งไปสู่พื้นที่ที่มีความสงบ เขาไม่ได้แยกประเทศเลย เขามีเขตปกครองพิเศษ แต่มันแก้ปัญหาเรื่องความอยุติธรรม แก้ปัญหาเรื่องการจัดสรรทรัพยากร แก้ปัญหาเรื่องการปกครอง ความไม่เข้าใจชาติพันธุ์ และศาสนา และที่สำคัญคือแก้ปัญหาระหว่างประเทศ”

อัญชนา หีมมิหน๊ะ

เจรจา คือ ไม่ใช้อาวุธ ลดความสูญเสีย

ทั้งนี้การเจรจากลายเป็นวิถีปฏิบัติการแก้ปัญหาความขัดแย้งในภูมิภาคยุโรปด้วย การเจรจาไม่ใช้อาวุธ ฉะนั้นหากมองกลับมาที่ประเทศไทย หากเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วม และมีการเจรจาแบบไม่ต้องใช้อาวุธ ก็จะไม่มีความสูญเสียของประชาชนในพื้นที่ ไม่ใช่เพื่อชีวิตใครคนหนึ่งแต่หมายถึงชีวิตของทุกคนได้  

“ถึงแม้ตอนนี้ความเข้าใจเรื่องความปลอดภัยไม่เท่ากัน ความเข้าใจเรื่องของการบังคับใช้กฎหมายไม่เท่ากัน แต่อย่างน้อยทำให้คุยกันได้ ทำให้เกิดความสัมพันธ์ และนำมาสู่การฟื้นคืนการปรองดองของสังคมได้ ที่สำคัญคือว่า เมื่อเราแก้ปัญหาที่รากเหง้า การพูดคุยเรื่องของประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์ ศาสนา พื้นที่รูปแบบการปกครอง มันจะนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ยั่งยืนอันนี้คือเป้าหมายเจรจา”

อัญชนา หีมมิหน๊ะ

‘ความยุติธรรม’ เกิดขึ้นได้… ‘ความรุนแรง’ จะหายไป

ผศ.มุคตาร์ อับดุลกอเดร์ จาก Insani บอกว่า สันติภาพเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับคนมุสลิมอยู่แล้วผ่านคำที่ใช้ในการละมาด การขอพร อยู่ในชีวิตประจำวัน แสดงให้เห็นว่า เรื่องสันติภาพเป็นสิ่งที่คนมุสลิมทุกคนต้องการ นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับ ความยุติธรรม โดยให้เหตุผลว่า หากสามารถสร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้นได้ ความรุนแรงจะหายไป นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมถึงต้องคุยสันติภาพ 

ขณะที่ ความรุนแรงเชิงกายภาพ ระเบิด การยิง หรือความรุนแรงอื่น ๆ ที่ปรากฎจะไม่หายไป หากไม่ขจัดวัฒนธรรมความรุนแรง โครงสร้างความรุนแรงไม่ได้รับการแก้ไข 

“แต่สิ่งที่ให้ความสำคัญคือการพูดคุยสันติภาพ เพื่อนำไปสู่ความยุติธรรม เพราะความยุติธรรมจะเป็นส่วนที่ลดโครงสร้างความขัดแย้งหรือความรุนแรงได้”

ผศ.มุคตาร์ อับดุลกอเดร์

ประชาชนต้องคุยเรื่องสันติภาพอย่างตรงไปตรงมาได้

ขณะที่ ซุลกิฟลี ลาเต๊ะ จาก The Patani ในฐานะคนรุ่นใหม่ในพื้นที่ชายแดนใต้ ย้ำว่า ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา เห็นพัฒนาการของสังคมไทย สังคมไทยเรื่องประชาธิปไตยที่ทุกคนสามารถสื่อสารพูดคุยอย่างมีเสรีภาพไม่ถูกจำกัด รวมทั้งเห็นพัฒนาการบางอย่างเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งชายแดนใต้ ในช่วง 2013 ได้เห็นการแสดงออกของประชาชนผ่านเวทีสาธารณะ และมีการตั้งคำถามถึงข้อเสนอของ BRN ชอบธรรมหรือไม่ วิธีการจัดการปัญหาความขัดแย้งของรัฐบาลไทยใช่สำหรับที่นี่หรือไม่ แต่ปรากฎว่า ในช่วงที่ผ่านมาขาดหายไป การสื่อสาร การแสดงออกของพี่น้องประชาชนที่นี่หลายครั้งถูกจำกัด พี่น้องประชนที่จัดงานก็ถูกดำเนินคดี ถูกจำกัดเสรีภาพ ภาพแบบนี้เป็นภาพที่ทำให้เขารู้สึกว่าประชาชนไม่สามารถพูดเรื่องสันติภาพได้อย่างตรงไปตรงมา

“ปี 2563 ผมและเพื่อน ๆ ยอมทุ่มเทกำลังเต็มที่เพื่อที่จะผลักดันวาระที่กรุงเทพฯ เราเชื่อว่าถ้ามันดีจริง ๆ กระบวนการสันติภาพ หรือการพูดคุยในพื้นที่ชายแดนใต้ จะดีมากขึ้นไม่ต้องหวาดกลัวว่าจะต้องเข้าคุก หมายความว่าตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ผมได้ยินอยู่แค่ 2 คำ จากรัฐ อยากจะคุยแต่ไม่เชื่อว่าเป็นตัวจริง อยากจะคุยแต่กลัวว่าจะนำไปสู่การแบ่งแยกดินแดน อยากจะคุยแต่ก็กลัวว่าจะยกสถานะพวกเขาให้เป็นองค์กรอื่น ๆ

รัฐบาลไทย กับ เจตจำนง ‘สันติภาพ’ ?

ซุลกิฟลี ระบุด้วยว่า ความกลัวของรัฐทั้งหมดที่กล่าวมา คือแนวทางทางการเมือง แต่เหตุใดไทยต้องกลัว ในเมื่อองค์กรติดอาวุธต้องการต่อสู้ทางการเมือง ภาวะแบบนี้แสดงชัดว่า รัฐบาลไทยไม่ได้มีเจตจำนงที่อยากจะมีกระบวนการสันติภาพ  

“BRN บอกว่า ยินดีที่จะปักหลักพูดคุยสันติภาพแน่ ๆ สาธารณะรับทราบ ขณะเดียวกันเรายังไม่เห็นท่าทีของฝ่ายรัฐบาลไทย ที่อยากจะคุยสันติภาพ ไม่มีแม้กระทั่งคณะทำงาน ไม่มีแม้กระทั่งหัวหน้าคณะพูดคุย ไม่มีแม้กระทั่งเจตจำนงต่าง ๆ ที่จะทำให้เราเชื่อได้ว่าพวกเขาต้องการสร้างสันติภาพที่นี่”

ซุลกิฟลี ลาเต๊ะ

อย่าปล่อยให้วาทกรรมการเมือง เป็นตัวถ่วงสันติภาพ!

ซุลกิฟลี ยังเน้นย้ำว่า การคาดหวังต่อการพูดคุยสันติภาพ คือ ต้องมีกระบวนการสันติภาพที่ดีด้วย จึงมีข้อเสนอจากภาคประชาสังคมที่ทำงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ดังนี้

  1. ขอให้ประชาชนไม่ว่าจะนับถือศาสนาใด หรือไม่ได้มีศาสนา ได้โปรดอดทน ต่อเหตุการณ์ที่มีลักษณะยั่วยุ ให้เกิดความหวาดระแวง และแตกแยกระหว่างกัน สถานการณ์ที่ยากลำบากเช่นนี้ ยิ่งต้องทำให้เราเห็นอกเห็นใจกัน และเป็นกำลังใจให้กัน

  2. ขอให้สื่อมวลชนระมัดระวังในการรายงานข่าวสาร ที่อาจกลายเป็นการเลือกปฏิบัติ ตีตรา เหมารวม หรือ สร้างอคติความเกลียดชังระหว่างศาสนา และชาติพันธุ์

  3. เสียงจากคนในพื้นที่พุทธ อิสลาม และศาสนาอื่น ๆ พวกเราไม่เอาความรุนแรง ต้องการให้ใช้สันติวิธี ขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายต้องแสดงความรับผิดชอบร่วมกันต่อกระบวนการสันติภาพ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีบทบาทการใช้ความรุนแรง ต้องยุติการกระทำที่ละเมิดหลักสิทธิมนุษยชน และต้องออกแบบอนาคตร่วมกันด้วยความรับผิดชอบและเกียรติภูมิ 

  4. เรียกร้องให้รัฐบาลแสดงเจตจำนงทางการเมืองอย่างชัดเจน และเป็นรูปธรรมรัฐบาลต้องเดินหน้าการเจรจาสันติภาพอย่างเป็นทางการ ด้วยท่าทีเปิดกว้างไปให้พ้นจากวาทกรรมทางการเมือง “คุยกับโจร” “คุยกับตัวจริง หรือ ตัวปลอม” วาทกรรมเหล่านี้ คือตัวถ่วงทำลายกระบวนการสันติภาพ อันเป็นกระบวนการหลักการสากลในพื้นที่ขัดแย้งทุกพื้นที่ในโลก

  5. สันติวิธี คือ ทางออกเดียวของปัญหาความขัดแย้งกระบวนการสันติภาพ ไม่ใช่เครื่องมือเชิงยุทธศาสตร์ แต่คือการเปลี่ยนผ่านอย่างลึกซึ้ง และซื่อตรงไม่มีพื้นที่ ขัดแย้งใดในโลก ที่ความขัดแย้งจบลงด้วยปลายกระบอกปืน ความขัดแย้งจบลงด้วยการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active