“ธรรมนัส” คุย “ยากกว่านี้ ก็ทำมาแล้ว” รับปากแก้ปัญหาช่วยชาวเล

ร่วมประกาศ “พื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชุมชนชาวเลหินลูกเดียว จ.ภูเก็ต” พร้อมรับปาก เดินหน้ายกระดับวิถีชีวิตชาวเล

ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่รับฟังปัญหาชาวเลมอแกลน ชุมชนหินลูกเดียว จ.ภูเก็ต

วันนี้ (26 พ.ย.66) ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยตัวแทนส่วนราชการต่าง ๆ ลงพื้นที่ชุมชนชาติพันธุ์ชาวเลมอแกลนชุมชนหินลูกเดียว ต.ไม้ขาว อ.ถลาง จ.ภูเก็ต เพื่อติดตามปัญหาของชาวเลในชุมชนหินลูกเดียว ซึ่งตัวแทนชาวเลได้สะท้อนผลกระทบที่เกิดขึ้นกับวิถีชีวิต ทั้งในประเด็นการเข้าไม่ถึงที่อยู่อาศัยที่มั่นคง เข้าไม่ถึงระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ไฟฟ้า น้ำประปา, กลุ่มเปราะบางในชุมชน เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง ที่ส่วนใหญ่ครอบครัวมีฐานะยากจน โดย รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบเงินช่วยเหลือเบื้องต้น และรับปากจะแก้ปัญหาให้กับชาวบ้านอย่างเร่งด่วน

ภายหลังลงพื้นที่รับฟังเสียงสะท้อนชาวเล ร.อ.ธรรมนัส ยังได้เป็นประธานในพิธี “ประกาศเขตพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลหินลูกเดียว ต.ไม้ขาว อ.ถลาง จ.ภูเก็ต” ซึ่งถือเป็นพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตชาวเล แห่งที่ 2 และ เป็นพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ แห่งที่ 19 โดยได้ร่วมลงนามในหลักเขตพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตฯ พร้อมด้วยหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาให้กับชาวเล

ร.อ.ธรรมนัส ย้ำว่า รัฐบาลให้ความสำคัญการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน ซึ่งตนเองในฐานรองประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือ พีมูฟ จึงได้ลงพื้นที่มารับฟังปัญหาด้วยตัวเอง เบื้องต้นในประเด็นปัญหาที่สามารถแก้ไขได้ทันที อย่างกรณีชุมชนเข้าไม่ถึงสาธารณูปโภค ไม่มีห้องน้ำใช้ โดยพบว่าชุมชนหินลูกเดียวถึง 17 ครัวเรือนที่ยังไม่มีห้องน้ำใช้ จึงได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดงบประมาณเร่งด่วนเพื่อแก้ปัญหาให้กับชาวบ้านได้ทันที

ส่วนประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการพิสูจน์สิทธิที่อยู่อาศัย ประเด็นนี้ ร.อ.ธรรมนัส รับปากจะเร่งรัดให้เกิดการพิสูจน์สิทธิ์ ซึ่งเท่าที่ติดตามประวัติศาสตร์ชาวเลส่วนใหญ่ก็พบว่าอยู่ในพื้นที่ดั้งเดิมมาก่อนเป็นเวลาหลายร้อยปี ซึ่งก็ยืนยันชัดเจนว่าชุมชนอยู่มาก่อนพื้นที่จะถูกครอบครองโดยรัฐ หากพิสูจน์สิทธิ์ได้ชัดเจนก็ต้องคืนพื้นที่ให้กับชุมชน และชาวบ้าน

“ยอมรับว่าอุปสรรคสำคัญของการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนอยู่ที่ระบบราชการ ดังนั้นรัฐบาล และผู้บริหารหน่วยงานต่าง ๆ ต้องเอาจริงเอาจัง และต้องมีหลักพิงให้กับข้าราชการได้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ เน้นข้อเท็จจริง ตามหลักกฎหมาย เรื่องเหล่านี้รัฐบาลจะแก้ไขอย่างเอาจริงเอาจัง เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทำยากกว่านี้ ก็ทำมาแล้ว ดังนั้นจะเร่งรัดให้”

ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า

จากนั้น ร.อ.ธรรมนัส ได้เดินทางเปิดงาน “รวมญาติชาติพันธุ์ชาวเล” (มอแกน มอแกลน อูรักลาโว้ย) ครั้งที่ 13 ภายใต้ชื่อ “โอบกอดฉันไว้ จนกว่าจะเจอความยุติธรรม” จัดขึ้นที่ชุมชนชาวเลแหลมหลา โดยตัวแทนชาวเล 5 จังหวัดอันดามัน ได้ยื่นข้อเรียกร้องการแก้ไขปัญหาต่อ ร.อ.ธรรมนัส ด้วย

ขณะที่ ไมตรี จงไกรจักร ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท คาดหวังให้กลไกที่เกิดขึ้นตามมติ ครม. 16 ตุลาคม 2566 เห็นชอบหลักการและแนวทางการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม และมอบหมายให้คณะอนุกรรมการที่แต่งตั้งขึ้น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งพิจารณาแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนนั้น เป็นกลไกที่เดินหน้าอย่างเป็นรูปธรรม โดยภายใน 1 ปี ต้องมีแผนและแนวทางให้ชัดเจนว่าจะประกาศพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์พื้นที่ไหน คณะกรรมการฯ ยังต้องร่วมกันทบทวนมติ ครม.ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหากลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล และขอให้กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) ตั้ง “สำนักชาติพันธุ์” ขึ้นมาเฉพาะ เพื่อดำเนินการให้ชัดเจน ที่สำคัญคือรัฐบาลต้องเร่งผลักดันร่าง พ.ร.บ.ชาติพันธุ์ อย่างเร่งด่วน

“เราคาดหวังว่าคณะกรรมการฯ ที่นายกฯ ตั้งขึ้นจะบูรณาการทำงานเพื่อฟื้นฟูวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวเลให้เป็นรูปธรรม ให้ข้าราชการ คนปฏิบัติงานในหน่วยงานรัฐเข้าใจ และต้องทำตามบทบาทหน้าที่ที่ถูกกำหนดขึ้นให้ชัดเจน เพราะตอนนี้ถือว่ารัฐบาลเริ่มเข้าใจปัญหาแล้ว ที่มีมติ ครม.รองรับทุกอย่าง ทำให้การแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ต้องรายงานความคืบหน้าต่อนายกฯ ต่อ ครม. อย่างสม่ำเสมอ เชื่อว่าการแก้ไขปัญหาจะเดินหน้าอย่างเต็มที่ จึงถือเป็นความหวัง และโอกาสของพี่น้องชาวเล และกลุ่มชาติพันธุ์ทั่วประเทศ”

ไมตรี จงไกรจักร

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active