เครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล ตั้งข้อสังเกตการขอพื้นที่จัดที่อยู่อาศัยให้ชาติพันธุ์มันนิถูกปฏิเสธ แต่กลับพยายามเดินหน้าสัมปทานเหมืองหินในพื้นที่อุทยานธรณีโลก ร้อง กมธ.สภาฯ สอบ EIA ขาดการมีส่วนร่วม
ไม่ใช่แค่คุณค่าที่องค์การยูเนสโกรับรองให้จังหวัดสตูลเป็นอุทยานธรณีโลกแห่งแรกของประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2562 แต่พื้นที่แหล่งหิน 1 ใน 3 ลูก อย่างเขาลูกเล็กลูกใหญ่ ในอำเภอทุ่งหว้า ก็ยังเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของกลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิมที่ดำรงวิถีชีวิตอยู่มาก่อนในป่าใหญ่ อย่างชาติพันธุ์มันนิ ร่วม 200 คน
แต่พื้นที่ดังกล่าวอยู่ระหว่างดำเนินการอนุญาตสัมปทานแหล่งหิน (ระเบิดหินอุตสาหกรรม) ในจังหวัดสตูล ซึ่งมีข้อมูลว่าได้รับอนุมัติผลการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรือ EIA และการอนุญาตให้ใช้พื้นที่ป่าจากกรมป่าไม้แล้ว ทำให้ เครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนา จังหวัดสตูล กังวลว่าการให้สัมปทานดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวมันนิที่อาศัยอยู่ในป่า
สมบูรณ์ คำแหง ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล ระบุว่า ตอนนี้ มันนิได้รับบัตรประชาชนแล้ว พวกเขาคือคนไทย แต่การพัฒนาคุณภาพชีวิต การเข้าถึงสวัสดิการต่างๆการศึกษา เขาไม่เท่าเราแน่นอน โดยเฉพาะเรื่องที่อยู่อาศัย ที่ผ่านมาพวกเราในฐานะ เครือข่ายคนสตูลพยายามหารือกับทางจังหวัด ว่าจะทำยังไงให้มีพื้นที่หนึ่ง บริเวณชายป่าก็ได้ กันพื้นที่ให้พวกเขาอยู่เป็นชุมชนแม้ไม่ใช่ทั้งหมด
“ทางป่าไม้บอกให้ไม่ได้ ขนาดเขาไปสร้างเพิงพัก ขอหลังคา มีคนช่วยเหลือเอากระเบื้องมาให้มุง หน่วยงานรัฐบอกไม่ได้เป็นถาวรวัตถุและเข้าข่ายบุกรุกอุทยานฯ จึงมีข้อสังเกตว่า ถ้างั้นมันนิจำนวนนับร้อยจะไปอยู่ที่ไหน ในขณะเดียวกันกลับอนุญาตให้สัมปทานป่าเป็น 100 ไร่ แต่มันนิอยู่ไม่ได้ อันนี้ก็ค่อนข้างชัดเจน ในเรื่องการย้อนแย้ง “
สมบูรณ์ คำแหง ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล
ร้องกมธ.ตรวจสอบปมจัดทำ EIA ใช้พื้นที่ป่าผิดวัตถุประสงค์
เครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล กังวลว่าการปล่อยให้มีการสัมปทานแหล่งหินดังกล่าวจะส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อแหล่งอุทยานธรณีจังหวัดสตูลและต่อสิ่งแวดล้อมในภาพรวม ซึ่งอาจจะส่งผลต่อการตัดสินใจรับรองให้จังหวัดสตูลเป็นแหล่งอุทยานธรณีระดับโลกในการประเมินรอบต่อไป จึงเรียกร้องให้คณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองการสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร ตรวจสอบการดำเนินการของหน่วยงานดังกล่าวใน 4 ประเด็น
1. โครงการสัมปทานเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูนเพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้างในพื้นที่อำเภอทุ่งหว้า(เขาลูกเล็กลูกใหญ่) ที่บริษัทสตูลไมน์นิ่ง จำกัด เป็นผู้ขอสัมปทาน ซึ่งทราบว่าปัจจุบันนี้โครงการได้รับอนุมัติผลการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรือ EIA. และการอนุญาตให้ใช้พื้นที่ป่าจากกรมป่าไม้แล้ว หากแต่ในข้อเท็จจริงดังกล่าวกลับมีข้อควรสงสัยถึงกระบวนการการศึกษาที่ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่อย่างครบถ้วน รวมถึงเนื้อหาของงานศึกษาดังกล่าวที่ไม่มีข้อเท็จจริงอย่างครบถ้วน อันขัดกับหลักเกณฑ์ของพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560
2. ข้อร้องเรียนในกระบวนการดำเนินการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ในกรณีได้เคยมีการร้องเรียนจากประชาชนในพื้นที่หลายครั้ง แต่กลับไม่มีการนำข้อร้องเรียนเหล่านั้นไปสู่การพิจารณาแต่อย่างใด ทั้งที่ยังเดินหน้าจัดทำจนแล้วเสร็จใน พ.ศ. 2564 ทั้งที่อยู่ในสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิดอย่างหนัก
3. การอนุญาตให้ใช้พื้นที่ป่าจำนวน 118 ไร่ ซึ่งได้เคยมีการสำรวจร่วมกันระหว่างนักวิชาการป่าไม้ชำนาญการของสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสตุล ร่วมกับประชาชนในพื้นที่ โดยพบว่าเป็นพื้นที่ป่าเพื่อการอนุรักษ์ (Zone C) ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 และ 17 มีนาคม 2535 และยังพบว่าพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 2 ตามมติคณะรัฐมนตรี 7 พฤศจิกายน 2532 ซึ่งหากจะให้อนุญาตจะต้องเป็นมติคณะรัฐมนตรีเท่านั้น จึงมีข้อสงสัยว่ากรมป่าไม้ได้ใช้อำนาจใดในการออกใบอนุญาตดังกล่าวได้
4. ขอให้ตรวจสอบกรณีโครงการสัมปทานเหมืองหินอุตสาหกรรมเขาโต๊ะกรังหรือเขาลูกช้าง ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณารายงานการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งพบว่ามีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นที่ไม่เป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี พ.ศ. 2548 และตามระเบียบของขั้นตอนของ พรบ.แร่ พ.ศ. 2560 ซึ่งได้มีการร้องเรียนไปแล้วหลายครั้ง รวมถึงครั้งล่าสุดที่มีการจัดเวทีเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2565 แต่ไม่มีการแจ้งให้ประชาชนในพื้นที่รับทราบอย่างทั่วถึงแต่อย่างใด รวมถึงความพยายามที่จะไม่นำข้อเท็จจริงในพื้นที่อันเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะนำไปสู่การอนุญาตหรือไม่อนุญาตตามหลักเกณฑ์ของ พรบ.แร่ (มาตรา 17) อย่างเช่นเรื่องแหล่งน้ำซับซึม และแหล่งโบราณสถาน
จี้ ก.ทรัพยากรฯ รับผิดชอบ ละเลยรักษาทรัพยากรธรรมชาติ
ด้าน ประเสริฐพงษ์ ศรนุวัฒน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เป็นผู้แทนรับหนังสือและรับจะเร่งยื่นข้อเรียกร้องให้กมธ.ทั้ง 2 ชุด เร่งดำเนินการตรวจสอบ ส่วนตัวเห็นว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องรับผิดชอบ โดยเฉพาะกระทรวงทรัพยากธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกรมศิลปากร
“พื้นที่ดังกล่าว อธิบดีกรมศิลปากร ต้องออกมาแสดงความรับผิดชอบด้วย และผมต้องขอเรียกร้องตรงนี้ โดยเฉพาะนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องนี้จะปากว่าตาขยิบไม่ได้ เรื่องทรัพยากรธรรมชาติเป็นสิ่งสำคัญ และความผิดพลาดที่ผ่านมา นี่คือโอกาสที่ท่านจะได้ช่วยรักษาธรรมชาติของประเทศไทย และชาวโลกเอาไว้ ขอเรียกร้องไปยังรัฐมนตรีดังกล่าว ให้ออกมาเคลื่อนไหวเรื่องนี้ ส่วนหน้าที่ของกมธ.2 ชุด แน่นอนเราจะรีบเร่งรัดเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาชี้แจง “
ประเสริฐพงษ์ ศรนุวัฒน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล
“ต้องถามไปถึงกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะที่ทั้งสร้างและทำลายเลยนะผมว่า เพราะกรมทรัพยากรธรณี ยกให้เป็นอุทยานธรณีโลก แต่ในส่วนสํานักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กลับดำเนินการอนุญาต EIA โดยไม่สนใจประชาชนในพื้นที่เลย และกรมป่าไม้ ยังอนุญาตการใช้พื้นที่ป่าอย่างไม่ใส่ใจด้วย จึงต้องถามว่าอนุญาติได้อย่างไร “
สมบูรณ์ คำแหง ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล
ตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชน ยังเห็นว่า ในพระราชบัญญัติแร่ ปี 2560 ควรจะต้องให้มีการทบทวนการประกาศแหล่งแร่ทั้งประเทศ และจังหวัดสตูลควรเป็นจังหวัดแรกๆ ที่ต้องทบทวนแหล่งแร่ เพราะเป็นพื้นที่แหล่งธรณีโลก และประเด็นที่เกิดขึ้นกับจ.สตูล ไม่ใช่กรณีเดียว ยังมีพื้นที่อื่น อย่างจังหวัดตรังก็มีการขออนุญาตระเบิดภูเขา ในพื้นที่ชาติพันธุ์ จึงขอให้คณะกรรมาธิการที่เกี่ยวข้องเร่งตรวจสอบข้อเท็จจริง ให้เกิดความเป็นธรรม