ย้ำข้อกังวลต่อการดำเนินงานของ ศอ.บต. ไม่สอดคล้องกับบริบทและไม่ตอบโจทย์ปัญหาที่ต้องแก้ไขในพื้นที่ หวั่นต่อยอดความขัดแย้งให้เกิดขึ้น ยก 4 ข้อเสนอสำคัญ เร่งแก้ไข เพื่อการพัฒนา จ.สตูล
วันนี้ (27 ก.พ.66) ตัวแทนภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคมจังหวัดสตูล นำโดย วิรัช โอมณี จากเครือข่ายภัยพิบัติจังหวัดสตูล, สมยศ ฤทธิ์ธรรมนาถ เครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน (ทสม.) จังหวัดสตูล, กัลยาทรรศ ติงหวัง สมาคมคุ้มครองผู้บริโภคจังหวัดสตูล, อับดุลรอซัก เหมหวัง สมาคมชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดสตูล และ วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี สมาคมรักษ์ทะเลไทย ร่วมกันอ่านจดหมายเปิดผนึก ถึง พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) เรื่อง ข้อเสนอเพื่อการพัฒนาจังหวัดสตูล และข้อกังวลต่อการดำเนินงานของ ศอ.บต. โดยมีสาระสำคัญระบุว่า จากกรณีที่รองนายกรัฐมนตรี ประวิตร วงษ์สุวรรณ มีกำหนดเดินทางมาปฏิบัติราชการที่จังหวัดสตูล พร้อมกับมีการนำคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ กพต. มาประชุมสัญจรเพื่อพิจารณาแผนการพัฒนาในพื้นที่จังหวัดสตูล ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของจังหวัดที่อยู่ภายใต้การบริหารงานของ ศอ.บต. หรือศูนย์อำนายการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ถือเป็นเรื่องน่ายินดี โดยในฐานะภาคีและเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคม ที่มีการขับเคลื่อนงานในมิติต่าง ๆ ทั้งด้านสังคมวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม การศึกษา เศรษฐกิจชุมชน และอื่น ๆ แต่ยังมีข้อกังวลต่อแนวทางและวิธีการทำงานของ ศอ.บต. ดังนี้
1. จังหวัดสตูลมีบริบทที่แตกต่างจากพื้นที่ความขัดแย้งของ 3 จังหวัดภาคใต้ คือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาสจึงไม่ควรนำชุดความคิด วิธีการ หรือกลยุทธ์ในการทำงานแบบเดียวกันมาใช้ในพื้นที่แห่งนี้ อันเป็นดินแดนที่มีความสงบสุขและเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม
2. จังหวัดแห่งนี้มีการรวมตัวของเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมที่เข้มแข็งจังหวัดหนึ่ง ทั้งมีการทำงานที่เชื่อมร้อยกันทั้งในเชิงประเด็นและเชิงพื้นที่ และมีการจัดทำสมัชชาเพื่อเป็นข้อเสนอการพัฒนาให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดและนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดทุกปี เราจึงไม่อยากเห็นการย่อยสลายหรือด้อยค่าองค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่ ด้วยวิธีการที่ ศอ.บต. ใช้ทำกับพี่น้องภาคประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
อย่างไรก็ตาม ศอ.บต. ถือเป็นกลไกราชการที่ใช้ภาษีของประชาชนในการดำเนินงาน ทั้งยังมีหน้าที่โดยชอบด้วยกฏหมายที่จะต้องพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และในโอกาสที่ได้เดินทางมารับฟังและพิจารณาแผนการพัฒนาในครั้งนี้ เครือข่ายภาคประชาสังคมจังหวัดสตูล จึงมีข้อเสนอเพื่อ ให้รับไว้พิจารณา ดังนี้ 1. จังหวัดสตูลมีชาวประมงพื้นบ้านจำนวนมากอยู่ในพื้นที่ 4 อำเภอ และต้องพึ่งพาทรัพยากรประมงที่อุดมสมบูรณ์ เป็นฐานเศรษฐกิจอันดับต้นของจังหวัด เราจึงขอให้ท่านได้เห็นความสำคัญต่อเรื่องนี้ และต้องกำหนดแผนการพัฒนา ฟื้นฟู อนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำวัยอ่อน รวมถึงการสนับสนุนระบบเศรษฐกิจชุมชนด้านการประมงแบบครบวงจร เพื่อยกระดับมาตรฐานด้านการประมงให้เท่าทันยุคสมัย
2. เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2566 มีการจับเรืออวนลากจำนวน 27 ลำ ในเขตอุทยานแห่งชาติตะรุเตา ซึ่งถือเป็นการปฏิบัติงานที่ถูกต้องตามกฏหมาย อันเป็นผลจากการสั่งการของ พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จึงต้องการให้ท่านย้ำเรื่องนี้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหลายให้ดำเนินการกับเรือเหล่านั้นตามขั้นตอนของกฏหมายอย่างถึงที่สุด เพื่อเป็นการป้องปรามของผู้กระทำผิดซ้ำซาก และถือเป็นภัยร้ายของการทำลายทรัพยากรสัตว์น้ำวัยอ่อนในพื้นที่จังหวัดสตูล
3. กรณีปัญหาที่ดินเกาะหลีเป๊ะ ซึ่งท่านและรัฐบาลทราบเรื่องนี้ดี โดยมีการตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่มี พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ หักพาล เป็นประธานคณะทำงาน ซึ่งทราบว่าท่านได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้และอยู่ระหว่างการดำเนินการ จึงต้องการให้ท่านได้ติดตามและใช้โอกาสนี้ นำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ดินในเกาะหลีเป๊ะทั้งระบบ เพื่อให้การท่องเที่ยวและกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล ซึ่งเป็นชาวบ้านกลุ่มดั้งเดิมในพื้นถิ่น สามารถที่อยู่ร่วมกันได้อย่างมีศักดิ์ศรี และไม่ถูกริดรอนสิทธิในที่ดิน ซึ่งพวกเขาถูกละเมิดสิทธิ์นั้นมาตั้งแต่บรรพบุรุษ
4. การพิจารณาโครงการพัฒนาต่าง ๆ ตามที่ท่านได้ดำเนินการในวันนี้นั้น เรารับรู้ได้ว่าเป็นความตั้งใจดีของท่านและคณะ อย่างไรก็ตามในบางโครงการที่มีการเสนอเพื่อให้ท่านและคณะพิจารณา จะต้องสอบถามความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่อย่างรอบด้าน และต้องระมัดระวังว่าจะไม่นำไปสู่ความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงสังคมวัฒนธรรมของคนสตูลด้วย ดังเช่น โครงการพัฒนาเกาะอาดังเพื่อการท่องเที่ยวระดับโลก
ทั้งนี้ ในนามของเครือข่ายภาคีภาคประชาสังคมจังหวัดสตูล เบื้องต้นรวม 32 เครือข่าย หวังว่าข้อเสนอเพื่อการพัฒนา รวมถึงข้อกังวลต่อวิธีการดำเนินงานตามที่นำเรียนไปนั้น จะได้รับการพิจารณาต่อไป
ด้าน วิโชคศักดิ์ กล่าวย้ำในช่วงท้ายว่า ขยายความเน้นย้ำ ประเด็นสำคัญ ทั้งการแก้ปัญหาที่ดินเกาะหลีเป๊ะการลักลอบทำประมงผิดกฎหมายในเขตอุทยานและเขตทะเลชายฝั่ง เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องแก้ไข เพราะ 7 วันทำลายทรัพยากรไป 300,000 กิโลกรัม ดังนั้น อย่าทิ้งเรื่องเหล่านี้ไว้กลางคัน ต้องเร่งแก้ไข
“เกรงว่าท่านมาประชุม อาจได้รับการสื่อสารขอให้งดเว้น เห็นใจกลุ่มอุตสาหกรรมอวนลากคู่เราไม่เห็นด้วย และเราสงสัยต่อว่า 10 ปีที่ผ่านมามีการกระทำแบบนี้กี่รอบแล้ว และจริงๆองค์กรต่างประเทศมาเสนอให้ไทยควรยกเลิกการใช้อวนลาก ก็ยังอ้างเรื่องเศรษฐกิจที่ต้องทำต่อไป แต่ขอให้ อย่าเข้าไปในเขตอนุรักษ์และเขตทะเลชายฝั่ง เราเชื่อว่าตอนนี้มีคนกำลังวิ่งเต้นอย่าดำเนินคดีเรือที่ลักลอบถูกจับ อันนี้หวังว่าท่านต้องยึดหลักการสำคัญดำเนินคดีให้เด็ดขาด ที่เรากังวลเพราะช่วงนี้เป็นช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง อย่าใช้การหาเสียงหวังคะแนนนิยมมาทำลายหลักการเรื่องนี้“
วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี สมาคมรักษ์ทะเลไทย
วิโชคศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า บริบทและลักษณะวิธีคิดของคนสตูลมีความแตกต่าง ไม่สามารถใช้วิธีคิดแบบ หรือกลยุทธแบบ 3 จังหวัดมาใช้ได้ เป็นเรื่องที่ต้องระวัง เพราะจะทำให้พื้นที่เกิดความขัดแย้งความเป็นพี่เป็นน้องถูกทำลายไป