รองผู้ว่าฯ กทม. หารือจัดสรรงบฯ จ้างงานต่อเนื่อง ตั้งเป้าอย่างน้อยเขตละ 6 คน ย้ำ ต้องเปิดกว้าง ไม่จำกัดวุฒิฯ
1 สิงหาคม 2565 คือวันแรกของการดำเนินนโยบายการจ้างงานคนพิการ ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายด้านคนพิการของกรุงเทพมหานคร โดยมี ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯ กทม. เป็นประธาน และได้มอบหมายสำนักพัฒนาสังคมและสำนักงานเขต 50 เขต เร่งประกาศรับสมัครคนพิการตามโครงการจ้างงาน ช่วงต้นเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา
The Active ลงพื้นที่สำนักงานเขตบางขุนเทียน ซึ่งตรงกับวันที่มีการสัมภาษณ์ผู้ที่ยื่นสมัครเข้าทำงานจำนวน 2 อัตรา หนึ่งในนั้นคือ เสาวลักษณ์ เชื้อทอง หรือ ส้ม อายุ 30 ปี พิการขาข้างขวาจากอุบัติเหตุเมื่อ 17 ปีก่อน และต้องใช้ไม้ค้ำยัน เธอมาพร้อมคุณสมบัติสำเร็จการศึกษาชั้นปริญญาตรี คณะบริหารธุรกิจ และผ่านประสบการณ์การทำงานในหน่วยงานราชการ
“ตอนนั้นรถไฟที่โดยสารไปทำงานหยุดให้บริการชั่วคราวประมาณ 1 เดือนจากปัญหาโควิด แล้วจากบ้านไปที่ทำงานก็ค่อนข้างไกลกันมาก รถเมล์ที่สะดวกกับเราก็มีน้อย เราเลยตัดสินใจลาออก ว่างงานมาประมาณ 7 เดือนแล้ว”
เสาวลักษณ์ เชื้อทอง
นี่เป็นเหตุผลที่เธอตัดสินใจยื่นใบสมัครในตำแหน่งฝ่ายพัฒนาชุมชน และสวัสดิการสังคม สำนักงานเขตบางขุนเทียน เนื่องจากอยู่ไม่ไกลจากบ้านของเธอมากนัก ซึ่งเธอมองว่าปัญหาการเดินทางของคนพิการเป็นต้นทุนสำคัญในการเริ่มต้นทำงานหรือออมเงิน เพราะไม่สามารถเดินทางด้วยพาหนะที่หลากหลายหรือมีราคาถูกได้ เมื่อเปรียบเทียบกับคนร่างกายปกติ
บรรยากาศในการสัมภาษณ์ มีฝ่ายพัฒนาชุมชน และสวัสดิการสังคม จำนวน 3 คน โดยบรรยากาศเป็นไปด้วยความเป็นกันเอง ซึ่งเสาวลักษณ์ ตอบคำถามด้วยความมั่นใจ และเชื่อว่าเธอจะมีโอกาสได้ทำงานในตำแหน่งที่ตั้งใจไว้ ซึ่งจะประกาศผลผู้ผ่านการสมัครในวันที่ 25 ก.ค. และเริ่มงาน 1 ส.ค. นี้
“สำคัญมากนะคะ เงินคนพิการเดือนละ 800 บาท มันไม่พอให้เราทำอะไรอย่างอื่นได้ ก็คาดหวังว่าเราจะได้ทำในตำแหน่งที่เหมาะสมกับเรา เช่น งานเอกสาร หรือการใช้งานคอมพิวเตอร์ เพราะเรามีความชำนาญมาก ท้ายที่สุดก็อยากจะสอบติดราชการเพราะอยากจะสานต่อความฝันตามคุณพ่อด้วย”
เสาวลักษณ์ เชื้อทอง
พงษ์จักรินทร์ ถาวรพงษ์ ผู้อำนวยการเขตบางขุนเทียน ที่ร่วมสังเกตการณ์การสัมภาษณ์ในครั้งนี้ด้วย กล่าวว่า เดิมทีเขตบางขุนเทียน มีบุคลากรที่เป็นคนพิการอยู่แล้ว 1 ตำแหน่ง จาก 6 ตำแหน่ง มีสิ่งอำนวยความสะดวกคนพิการขั้นพื้นฐาน เช่น ทางลาด ห้องน้ำ ลิฟต์สำหรับคนพิการ และได้ทำการเปิดรับสมัครผ่านเว็บไซต์ และช่องทางออนไลน์ มาก่อนแล้ว ซึ่งแม้จะเป็นตำแหน่งในสังกัดฝ่ายพัฒนาชุมชน และสวัสดิการสังคม แต่ก็สามารถโยกย้ายตำแหน่งได้ตามความเหมาะสม และศักยภาพของคนพิการแต่ละคน เพื่อให้รู้สึกถึงความมีคุณค่า เป็นหนึ่งเดียวกับองค์กร พร้อม
ขณะเดียวกันก็คาดหวังกับการประกาศรับสมัครคนพิการตามโครงการจ้างงานทั้ง 50 เขต ของ กทม. ว่า จะจุดประกายให้หน่วยงานราชการ เอกชน หันกลับมาจ้างงานคนพิการตามศักยภาพ และหากรับได้ในอัตราที่เพิ่มขึ้นก็จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตคนพิการซึ่งมีจำนวนมากในสังคมที่ไม่มีโอกาส สร้างให้เกิดความเท่าเทียมในสังคมอย่างแท้จริงทั้งในระดับจังหวัด และประเทศ
“ด้วยงบประมาณที่สภา กทม. มีจำกัด เดือน ต.ค. นี้ โควตาก็จะเหลืออยู่ 3 ตำแหน่ง ถ้าเป็นไปได้เราก็อยากจะวิงวอนไปยังสภาฯ และผู้บริหาร ถ้าเห็นความสำคัญอยู่แล้วก็อยากจะให้จ้างมากที่สุด เพราะแต่ละเขตสามารถรับได้ 6 คน หรือมากกว่านั้น ก็จะช่วยรองรับความต้องการของคนพิการได้มากขึ้น”
พงษ์จักรินทร์ ถาวรพงษ์ ผู้อำนวยการเขตบางขุนเทียน
ด้าน ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวถึงความคืบหน้าในการขับเคลื่อนนโยบายการจ้างงานคนพิการ จำนวน 306 คน คือ เขตละ 6 คน และสำนักพัฒนาสังคม 6 คน ซึ่งในการจ้างงานผู้พิการนั้นเป็นการเปิดกว้างไม่จำกัดวุฒิในการรับสมัคร โดยที่ผ่านมามีผู้สมัครทั้งไม่มีวุฒิทางการศึกษาและมีวุฒิการศึกษาระดับต่าง ๆ โดยในการดำเนินการจ้างงานผู้พิการนั้นจะคำนึงถึงศักดิ์ศรีและความสามารถของผู้พิการเป็นสำคัญ ลักษณะงานที่ทำจะเปิดกว้าง จะดูจากความรู้ความสามารถขอผู้พิการเป็นที่ตั้ง เบื้องต้นอาจเป็นการให้ช่วยงานด้านคนพิการและด้านสังคมในพื้นที่เขต รวมไปถึงความสามารถด้านอื่นๆ ที่ผู้พิการมีด้วย
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้รายงานว่า ขณะนี้มีผู้พิการสมัครเข้าทำงาน จำนวน 9 เขต ได้แก่
- เขตบางขุนเทียน 3 คน
- เขตปทุมวัน 6 คน
- เขตหลักสี่ 8 คน
- เขตบางเขน 6 คน
- เขตจตุจักร 7 คน
- เขตสัมพันธวงศ์ 2 คน
- เขตคันนายาว เขตราษฎร์บูรณะ 7 คน
โดยผู้พิการที่สมัครงานมีหลายประเภทความพิการ อาทิ ผู้พิการทางการได้ยินหรือสื่อความหมาย ผู้พิการทางการเห็น ผู้พิการทางสติปัญญา ผู้พิการออทิสติก ผู้พิการทางจิตใจ และผู้พิการทางการเคลื่อนไหว ซึ่งสำนักพัฒนาสังคมจะประสานกับสมาคมคนหูหนวกในการจัดหาล่ามภาษามือเพื่อช่วยเหลือในการสื่อสารคนพิการทางการได้ยิน อีกทั้งเพิ่มช่องทางการประชาสัมพันธ์การจ้างงานผู้พิการให้กว้างขวางมากขึ้น รวมถึงเพิ่มความร่วมมือกับเครือข่ายองค์กรคนพิการต่าง ๆ นอกจากนี้สำนักพัฒนาสังคมจะทำเรื่องขอจัดสรรงบประมาณสำหรับการจ้างงานผู้พิการอย่างต่อเนื่องในปีงบประมาณต่อไป เพื่อให้สามารถจ้างงานผู้พิการตามที่กำหนดไว้เขตละ 6 คน และได้รับค่าจ้างตามวุฒิการศึกษา