เผยปัญหายืดเยื้อกว่า 40 ปี ขณะที่ ทั่วโลกสามารถรองรับผู้ลี้ภัยได้เพียง 1% ซึ่งขณะนี้มีอยู่กว่า 100 ล้านคนทั่วโลก ส่วนผู้ลี้ภัยในไทย มีโอกาสได้ไปประเทศที่ 3 ปีละไม่เกิน 200 คน ด้าน ชาวบ้านใกล้แคมป์แม่หละ หนุนวางระบบให้ผู้ลี้ภัยได้ทำงานถูกกฎหมาย แต่ขอเข้มงวด คุมโรคระบาดลามออกภายนอก
วันนี้ (7 ก.พ. 68) The Active สำรวจเสียงสะท้อนจากชาวบ้านที่อยู่ใกล้กับศูนย์พักพิงชั่วคราวฯ บ้านแม่หละ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ซึ่งเป็นค่ายผู้ลี้ภัยที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย หลังสหรัฐฯ ตัดลดงบประมาณสนับสนุนองค์กร NGO ระหว่างประเทศจนทำให้ โรงพยาบาลสนามในค่ายต้องปิดตัวลง นอกจากนี้ยังอาจจะมีผลกระทบอื่น ๆ ตามมาอีกหลายด้าน
ที่บ้านตีนดอย ม.5 ต.แม่หละ ชาวกะเหรี่ยงสัญชาติไทยคนหนึ่ง เล่าถึงสถานการณ์ในค่ายผู้ลี้ภัยแม่หละ ว่า ภาวะขาดแคลนอาหารและความช่วยเหลือที่ลดลง ทำให้ผู้ลี้ภัยจำนวนมากต้องออกมาหางานทำข้างนอก เช่น รับจ้างหักข้าวโพด ก่อนจะลักลอบกลับเข้าไปในค่าย
“คนในค่ายผู้ลี้ภัยหลายคนต้องออกมาหางานทำ เพราะอาหารที่แจกไม่เพียงพอ”
ตอนนี้ได้ข่าวว่ามีการตัดงบประมาณด้านมนุษยธรรม ถ้าการแจกจ่ายเสบียงลดลง หรือหยุดไปเลย ผู้ลี้ภัยอาจต้องออกจากค่ายมากขึ้น ในค่ายมีหลายโรคระบาด โดยเฉพาะวัณโรค และ HIV แต่ถ้าไม่มีการดูแลทางการแพทย์ คนที่ป่วยอาจไม่มีทางเลือก นอกจากต้องออกมารักษาข้างนอก
เมื่อพูดถึงเรื่องโรคระบาดในค่าย เขาแสดงความกังวลว่า โรคติดต่ออย่างวัณโรค และ HIV เป็นปัญหาใหญ่ เพราะคนป่วย ไม่ได้รับยาต่อเนื่อง อาจทำให้เกิดการแพร่เชื้อเมื่อออกมานอกค่าย
“เป็นห่วงเรื่องนี้มาก เพราะ คนที่ออกมาข้างนอกอาจนำโรคมาติดต่อสู่ชุมชน เราไม่รู้เลยว่าใครป่วยบ้าง คนที่เคยได้รับการรักษา แต่ถูกตัดยา ก็อาจนำเชื้อแพร่กระจายต่อได้”
ชายชาวกะเหรี่ยง สัญชาติไทยคนนี้ ยังได้พูดถึง ข้อเสนอที่เขามองว่าเป็นทางออก สำหรับผู้ลี้ภัย โดยเสนอให้ผู้ลี้ภัยในค่ายได้รับโอกาสทำงานในประเทศไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมายแทนที่จะพึ่งพาการช่วยเหลือจากหน่วยงานภายนอก เขาเชื่อว่า การให้ผู้ลี้ภัยทำงาน จะช่วยให้พวกเขา เอาตัวรอดได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากรัฐบาลหรือองค์กรระหว่างประเทศที่อาจถูกตัดงบประมาณไป
บางคนอยู่ในค่ายมานานแล้ว ควรมีทางออกให้พวกเขา ถ้ากระทรวงมหาดไทยสามารถจัดระเบียบ ให้พวกเขาอาศัยและทำงานได้อย่างถูกต้อง ก็น่าจะเป็นทางออกที่ดี อาจไม่ต้องให้บัตรประชาชน แต่ให้มีสิทธิทำงานได้
“ถ้าให้พวกเขาอยู่ในหมู่บ้านและทำงานได้ ตามกฎหมาย พวกเขาจะสามารถเลี้ยงตัวเองได้และไม่ต้องเป็นภาระต่อรัฐ”
ขณะที่ หญิงชาวกะเหรี่ยงสัญชาติไทย ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ใกล้ค่ายผู้ลี้ภัยแม่หละ เล่าถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นว่า มีผู้ลี้ภัยจำนวนมากออกมาหางานทำในหมู่บ้าน เนื่องจากความช่วยเหลือที่ลดลง
“เขาออกมาข้างนอกเยอะขึ้น เพราะในค่ายไม่มีเงินใช้ อาหารก็ไม่พอ ต้องมาหักข้าวโพด มารับจ้าง พอหมดฤดูเก็บเกี่ยวก็คงหางานอื่นทำต่อ”
สิ่งที่ทำให้เธอกังวลคือ การไม่มีมาตรการคัดกรองโรคที่ชัดเจน เวลาคนในค่ายออกมา ไม่มีใครตรวจว่าป่วยหรือไม่ป่วย มันอาจมีคนที่ติดวัณโรคหรือโรคอื่น ๆ ออกมาโดยที่เราไม่รู้ตัว แล้วพวกเราที่อยู่ข้างนอกก็ต้องเจอเขาทุกวัน ก็รู้สึกกังวลเหมือนกัน
“ได้ยินว่าหมอข้างในไม่ค่อยมีแล้ว พอไม่มีหมอ คนที่ป่วยในค่ายก็อาจไม่ได้รับการรักษา วัณโรคเอย โรคอื่น ๆ เอย ถ้าไม่มีหมอดูแล มันก็ลามออกมาข้างนอกได้”
เธอยังบอกอีกว่า ไม่อยากให้ส่งผลกระทบต่อชาวบ้านข้างนอก ชาวบ้านอยู่ตรงนี้ใกล้ค่าย ก็ต้องรับผลกระทบไปด้วย อยากให้มีการตรวจคัดกรองให้ดีกว่านี้ หรือหาทางช่วยเหลือให้คนในค่ายได้รับการรักษาที่เหมาะสม
เมื่อถามว่าอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงอะไรในระยะยาว เธอถอนหายใจ ก่อนตอบว่า “มันก็คงต้องมีทางออกที่ชัดเจนกว่านี้ ถ้าไม่มีมาตรการที่ดี ปัญหาก็จะยิ่งแย่ลงเรื่อย ๆ ตอนนี้ก็ดูเหมือนจะแย่ลงทุกวันแล้ว”
เปิด 3 ทางเลือกแก้ปัญหาค่ายผู้ลี้ภัย
ขณะที่ กัณวีร์ สืบแสง สส.พรรคเป็นธรรม ในฐานะกรรมาธิการว่าด้วยการส่งเสริมกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ซึ่งลงพื้นที่ชายแดน จ.ตาก ก่อนหน้านี้ ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมกับ The Active ว่า ค่ายผู้ลี้ภัยบ้านแม่หละ เป็นหนึ่งในค่ายผู้ลี้ภัยที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ปัจจุบันมีประชากรราว 30,000 คน ซึ่งรวมถึงทั้งผู้ที่ลงทะเบียนอย่างถูกต้องและผู้ที่ยังไม่ได้ลงทะเบียน การลงทะเบียนเป็นสิ่งสำคัญ เพราะผู้ที่ไม่ได้ลงทะเบียนจะไม่สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือจากภาครัฐและองค์กรระหว่างประเทศได้
ในค่ายพักพิงผู้ลี้ภัยทั้งหมด 9 แห่งของไทย งบประมาณที่ใช้ในการดูแลผู้ลี้ภัยนั้นมาจากเงินบริจาคของต่างประเทศ 100% โดยประเทศผู้บริจาคหลักได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และยุโรป เงินเหล่านี้ถูกจัดสรรผ่านองค์กร NGO ระหว่างประเทศ เช่น IRC และ UNHCR รวมถึง NGO ไทย เงินบริจาคถูกนำไปใช้ในหลายด้าน เช่น การศึกษา การแพทย์ และอาหาร
อย่างไรก็ตาม งบประมาณจากไทยที่ใช้ในค่ายนั้นมีเพียงค่าใช้จ่ายของเจ้าหน้าที่รัฐ เช่น เงินเดือนปลัดอำเภอที่ทำหน้าที่หัวหน้าค่าย และค่าเบี้ยเลี้ยงเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเท่านั้น ดังนั้น เมื่อประเทศผู้บริจาคลดงบประมาณลงหรือหยุดให้ความช่วยเหลือ ผู้ลี้ภัยในค่ายก็จะได้รับผลกระทบโดยตรง
ประเด็นสำคัญคือ สถานะของค่ายผู้ลี้ภัยในไทยยืดเยื้อมานานกว่า 40 ปี ซึ่งถือว่านานเป็นอันดับสองของโลก คำถามคือ เราจะจัดการอย่างไรต่อไป เพราะในหลายประเทศ ค่ายผู้ลี้ภัยมักอยู่ในช่วงเวลาไม่เกิน 5-10 ปี แต่ในไทยกลับยาวนานกว่านั้นมาก
หากงบประมาณจากต่างประเทศลดลงหรือยุติไปในอนาคต เราจะมีมาตรการรองรับอย่างไร จะปล่อยให้ผู้ลี้ภัยดำรงชีวิตอย่างไร และประเทศไทยจะสามารถจัดการกับปัญหานี้ได้อย่างไร นี่คือเรื่องที่ต้องหาทางออกโดยเร็ว
ตอนนี้รัฐบาลยังไม่มีนโยบายที่ชัดเจนเกี่ยวกับแนวทางจัดการค่ายผู้ลี้ภัย ปัญหานี้ดำเนินมาอย่างยาวนานตั้งแต่ปี 2527 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งนับว่านานมากเมื่อเทียบกับมาตรฐานสากล ปัจจุบันมีแนวทางแก้ปัญหา 3 ทาง ได้แก่
- การให้ผู้ลี้ภัยเดินทางกลับประเทศโดยสมัครใจ
- การโยกย้ายไปตั้งถิ่นฐานในประเทศที่สาม
- การหาทางให้พวกเขาอยู่ในประเทศไทยได้อย่างถูกกฎหมาย
กัณวีร์ บอกอีกว่า ทั่วโลกรองรับผู้ลี้ภัยได้เพียง 1% การย้ายผู้ลี้ภัยไปตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศที่สาม (Resettlement) ดำเนินมาตั้งแต่มีการตั้งค่ายผู้ลี้ภัยในไทย ซึ่งกินเวลานานกว่า 40 ปีแล้ว แต่กระบวนการนี้มีข้อจำกัด เพราะทั่วโลกสามารถรองรับผู้ลี้ภัยได้เพียง 1% ของจำนวนผู้ลี้ภัยทั้งหมด ซึ่งขณะนี้มีอยู่กว่า 100 ล้านคนทั่วโลก
ถ้าเราดูสถิติ ผู้ลี้ภัยในไทยมีโอกาสได้รับการตั้งถิ่นฐานใหม่เพียงปีละไม่เกิน 200 คน ถ้ายังเป็นเช่นนี้ กว่าจะย้ายผู้ลี้ภัยทั้งหมดออกจากค่ายในไทยอาจต้องใช้เวลากว่า 180 ปี นี่คือเหตุผลว่าทำไมแนวทางนี้ไม่สามารถเป็นทางออกระยะยาวได้
ทางออกที่ 3 คือการผสมผสานกลมกลืน (Local Integration) หรือ การให้ผู้ลี้ภัยสามารถตั้งรกราก และใช้ชีวิตในไทยได้ แต่ที่ผ่านมาเรื่องนี้เป็นประเด็นอ่อนไหวในสังคม หลายคนมองว่า ผู้ลี้ภัยควรต้องเดินทางกลับประเทศของตน
ถ้าดูในมิติของข้อเท็จจริง กลุ่มผู้ลี้ภัยบางส่วนอยู่ในไทยมาแล้วกว่า 40 ปี หลายคนสามารถพูดภาษาไทยได้ และมีความคุ้นเคยกับวัฒนธรรมไทย พวกเขาอาจมีศักยภาพที่จะเข้ามาเป็นแรงงานในระบบอย่างถูกกฎหมาย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศด้วย
หนุนเปิดรับผู้ลี้ภัยเข้ามาเป็นแรงงานในระบบ
กัณวีร์ ยังย้ำว่า ไทยต้องเผชิญความจริงว่าผู้ลี้ภัยบางส่วนไม่สามารถกลับประเทศได้จริง ๆ เช่น ในปี 2015 เคยมีความพยายามส่งตัวผู้ลี้ภัยกลับเมียนมา ภายหลังการทำข้อตกลงหยุดยิงระหว่างรัฐบาลทหารเมียนมากับกลุ่มชาติพันธุ์ แต่เมื่อเกิดรัฐประหารในปี 2564 ทำให้สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายลง การส่งผู้ลี้ภัยกลับประเทศจึงเป็นไปไม่ได้ในระยะนี้
หากแนวทางส่งตัวกลับและตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศที่สามใช้เวลานานมาก หรือแทบเป็นไปไม่ได้ แนวทางการให้ผู้ลี้ภัยที่อยู่มานานมีโอกาสเข้าสู่ระบบแรงงานไทยก็เป็นอีกทางเลือกที่ควรพิจารณา
เมื่อถามว่า ถ้าจะให้ผู้ลี้ภัยเข้าสู่ระบบแรงงานไทย ต้องทำอย่างไร ? กัณวีร์ บอกว่า กระทรวงแรงงานควรมีแนวทางที่ชัดเจนเกี่ยวกับการอนุญาตให้ผู้ลี้ภัยเข้ามาทำงานอย่างถูกกฎหมาย ปัจจุบันประเทศไทยมีตำแหน่งงานที่ขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะในกลุ่มแรงงานที่ใช้ทักษะต่ำ ซึ่งคนไทยไม่ต้องการทำ หากผู้ลี้ภัยได้รับโอกาสเข้าสู่ระบบแรงงาน พวกเขาจะสามารถช่วยเติมเต็มช่องว่างนี้ได้
นอกจากนี้ หากผู้ลี้ภัยเข้าสู่ระบบแรงงานอย่างเป็นทางการ จะช่วยให้รัฐสามารถควบคุมและกำกับดูแลได้ดีขึ้น ลดปัญหาการทำงานผิดกฎหมายและการค้ามนุษย์
“เราต้องยอมรับความจริงว่าปัญหานี้ไม่สามารถแก้ได้ด้วยแนวทางเดียว การตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศที่สามเป็นไปได้ยากและใช้เวลานาน การส่งตัวกลับก็มีข้อจำกัดจากสถานการณ์ความไม่สงบในเมียนมา ดังนั้น ไทยควรพิจารณาเปิดโอกาสให้ผู้ลี้ภัยบางส่วนที่อาศัยอยู่มานานสามารถเข้าสู่ระบบแรงงานไทยได้อย่างถูกต้อง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทั้งต่อพวกเขาและต่อเศรษฐกิจของประเทศ”
กัณวีร์ สืบแสง
ส่วนที่หลายฝ่ายกังวลว่าหากให้ผู้ลี้ภัยเข้ามาทำงาน อาจแย่งงานคนไทยนั้น กัณวีร์ เชื่อว่า ไม่ใช่ปัญหาแน่นอน เพราะมีตำแหน่งงานจำนวนมากที่คนไทยไม่ทำ เช่น ก่อสร้าง ประมง และงานใช้แรงงานอื่น ๆ แรงงานเหล่านี้จะเข้ามาเติมเต็มในจุดที่ขาดแคลน ไม่ใช่เข้ามาแย่งงานคนไทย และเมื่อพวกเขาเข้ามาทำงานในระบบ จะต้องจ่ายภาษี มีการควบคุมจากภาครัฐ ซึ่งสุดท้ายจะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจโดยรวม
ความไม่โปร่งใส-ผลประโยชน์ ในค่ายผู้ลี้ภัย ?
เมื่อถามว่า มีปัจจัยอะไรที่อาจทำให้ฝั่งไทยไม่อยากเปิดค่าย หรือให้ผู้ลี้ภัยเข้าสู่ระบบ ? กัณวีร์ วิเคราะห์ว่ามาจากหลายปัจจัย บางส่วนอาจเกี่ยวกับผลประโยชน์ เช่น ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นภายในค่าย, ค่าธรรมเนียมต่าง ๆ รวมถึงธุรกิจบางอย่างที่อาจได้รับผลกระทบหากสถานะของผู้ลี้ภัยเปลี่ยนไป
ลองนึกภาพว่าภายในค่ายมีระบบเศรษฐกิจเล็ก ๆ ของตัวเอง เช่น ค่าข้าวสารที่ขายถูก ๆ ค่าภาษีแฝงจากสินค้าที่หมุนเวียนในค่าย หรือแม้แต่บริการบางอย่างที่มีค่าใช้จ่าย อย่างค่ารถเข้าออกจากค่าย หรือค่าแรงที่ถูกกดต่ำกว่าค่าจ้างมาตรฐาน
นอกจากนี้ การจะเข้าไปตรวจสอบหรือทำข่าวเกี่ยวกับค่ายผู้ลี้ภัยก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องได้รับอนุญาตจากหลายหน่วยงาน ทั้งกระทรวงมหาดไทย กรมการปกครอง และเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการนำเสนอข้อมูลอย่างโปร่งใส
“สิ่งสำคัญคือต้องทำให้เรื่องนี้โปร่งใสและเป็นธรรม ไม่ใช่ปล่อยให้สถานการณ์ดำเนินไปเรื่อย ๆ โดยไม่มีทางออกที่เป็นรูปธรรม และท้ายที่สุด ผู้ลี้ภัยที่อยู่ในไทยมานานก็ควรได้รับโอกาสในการดำเนินชีวิตที่มีศักดิ์ศรี ไม่ใช่ถูกจำกัดให้อยู่ในค่ายโดยไม่มีอนาคต”
กัณวีร์ สืบแสง