ส่องประวัติ ผลงานนักการเมือง สส.คนไหน ลงมติร่างกฎหมายตรงใจ? WeVis ชวนส่อง Parliament Watch หวังใช้ข้อมูลเป็นเครื่องมือสร้างความโปร่งใสและความรับผิดชอบในกระบวนการรัฐสภาไทย
วันนี้ (26 ต.ค.2567) ท่ามกลางสังคมที่ประชาชนตื่นตัวกับการเข้าไปมีส่วนร่วมในการติดตามตรวจสอบการทำงานของภาครัฐ เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2567 WeVis องค์กรพัฒนาเทคโนโลยีภาคประชาชน ได้จัดงาน Eyes on House! รัฐสภาในสายตาประชาชน เชิญชวนภาคประชาสังคม สื่อมวลชน และประชาชนที่สนใจติดตามการทำงานของรัฐสภามาร่วมระดมความคิดเห็น เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย พร้อมเปิดตัวเว็บไซต์ Parliament Watch หวังเป็นเครื่องมือสร้างความโปร่งใสและความรับผิดชอบในกระบวนการรัฐสภาของประเทศไทย
ธนิสรา เรืองเดช CEO และผู้ร่วมก่อตั้ง Wevis ได้กล่าวถึงที่มาของโปรเจกต์ Parliament Watch ที่มีความเป็นมายาวนานถึง 5 ปี จนสุดท้ายได้ออกมาเป็น Parliament Watch ที่เห็นกันในวันนี้ โดยเว็บไซต์ดังกล่าวจะเป็นการเปิดเผยข้อมูลที่ดำเนินอยู่ในรัฐสภา ข้อมูลนักการเมือง การติดตามการลงมติ การเสนอกฎหมาย และคำสัญญาทางการเมือง พร้อมยกตัวอย่างการนำไปใช้งานจริง
“โปรเจกต์นี้เป็นไอเดียที่ทำมา 5 ปีแล้ว ตั้งแต่เลือกตั้ง ปี 2562 ตอนนั้นเราทำข้อมูลการเลือกตั้งในนาม ELECT หลังจากเลือกตั้งเสร็จ เรามีคำถามว่าเราจะสามารถทำอะไรได้อีกนอกจากข้อมูลเลือกตั้ง เลยคิดว่าอยากติดตามต่อไปว่าคนที่เข้าไปเป็น สส. เขาเข้าไปทำอะไรในสภาต่อ มีกฎหมายอะไรออกมาบ้าง อยากเห็นนโยบายของพรรคจัดตั้งรัฐบาลที่บอกไว้ตอนหาเสียง ว่ามีความคืบหน้าในทางนิติบัญญัติอย่างไรบ้าง”
ธนิสรา เรืองเดช
เบื้องหลังของ Parliament Watch ได้รับการพัฒนาจากเครื่องมือหลายตัวในอดีต เช่น They Work for Us, Law Tracker และ Promise Tracker ที่ WeVis สร้างขึ้น และสุดท้ายจึงรวมทุกอย่างไว้ใน Parliament Watch โดยมี Contributors กว่า 50 คนที่เป็นประชาชนคนทั่วไป โดย ธนิสรา ย้ำว่าโครงการนี้ จึงไม่เพียงสร้างเครื่องมือการตรวจสอบ แต่ยังสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนอีกด้วย
“เราหวังว่ามันจะเปลี่ยนแปลงอะไรไปตลอด เช่น ปรับปรุงการทำงานของรัฐสภาที่ทำให้การเข้าถึงข้อมูลง่าย ส่วนกระบวนการสำคัญที่เรากำลังทำอยู่ คือการ cross data ระหว่างประเทศ ซึ่งจะทำให้ตรวจสอบนักการเมืองได้ดีขึ้น”
ธนิสรา เรืองเดช
ศุภวิชญ์ พิพัฒน์ ผู้จัดการโครงการ ขึ้นกล่าวแนะนำการใช้งานเครื่องมือ และเน้นว่าหัวใจของโครงการนี้คือทำให้การติดตามข้อมูลเป็นไปได้ง่ายขึ้น เช่น เมื่อดูที่ข้อมูลนักการเมือง ก็จะเห็นว่าเขาลงมติอย่างไรในประเด็นกฎหมายต่าง ๆ พร้อมทั้งขอบคุณอาสาสมัครและทีมงานทั้งหมด ทั้งคนที่เตรียมข้อมูลและนักพัฒนาใน Github ที่ช่วยทำให้มันสำเร็จ
ในช่วงถามตอบ ผู้เข้าร่วมได้สอบถามถึงอุปสรรคในการติดตามข้อมูล ศุภวิชญ์ ชี้แจงว่าข้อมูลจากหน่วยงานรัฐบาลบางครั้งถูกลบหรือเปลี่ยนแปลง วิธีการแก้ไขคือต้องแนบลิงก์ web archive เพื่อให้สามารถตรวจสอบข้อมูลในอดีตได้ และเกณฑ์การวัดความสำเร็จของคำสัญญาขึ้นอยู่กับผลลัพธ์ที่ตรงกับที่หาเสียงไว้
ในช่วงท้ายของกิจกรรม มีการระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับการติดตามการทำงานของรัฐสภาอย่างมีประสิทธิภาพ โดยตัวอย่างปัญหาที่พบเมื่อต้องการติดตามข้อมูลรัฐสภา ได้แก่ ข้อมูลที่เปิดเผยไม่มีคุณภาพ ข้อมูลกระจัดกระจายไปตามหน่วยงานย่อยต่างๆ อยู่ในรูปแบบที่นำไปใช้งานต่อได้ยาก ไม่ถาวร หรือเผยแพร่ล่าช้า รวมทั้งการเปิดเผยในวงจำกัดซึ่งไม่ได้มีความหมายเท่ากับการเผยแพร่โดยผู้เข้าร่วมได้เสนอแนะแนวทางในการปรับปรุงคุณภาพข้อมูล เช่น
- เปิดเผยข้อมูลอย่างครบถ้วน
- ปฏิรูประบบข้าราชการ
- เปลี่ยนโครงสร้างการทำงานให้มีผู้รับผิดชอบด้านการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะโดยไม่ทับซ้อนกันหลายฝ่าย
- ปรับปรุงวิธีการสื่อสารในเว็บไซต์รัฐสภาให้ใช้ภาษาที่ประชาชนเข้าใจได้ง่าย
- โครงสร้างเว็บไซต์ที่เป็นมิตรกับผู้ใช้
- มีบันทึกการประชุมที่ระบุไทม์สแตมป์
- กำหนดโปรโตคอลสิ่งที่ต้องเปิดเผย รูปแบบ และวิธีการในการเปิดเผย
นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมยังเสนอแนะแนวทางในการมีส่วนร่วมเพิ่มเติม เช่น กระบวนการรับฟังความเห็นควรเป็นในเชิงรุก การเปิด “ลานประชาชน” ในรัฐสภาสำหรับการดีเบตหรือไฮด์ปาร์ก