ชู นโยบายหลัก 12 นโยบาย กระจายความเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ ที่อยู่อาศัย การศึกษา และการเดินทาง เดินหน้าสร้างสังคมเมืองที่เป็นธรรม ‘ธนาธร’ เชื่อ กทม. เปลี่ยนได้ด้วยนักบริหารเมืองที่มีเจตจำนงทางการเมืองแน่วแน่
วันนี้ (27 มี.ค. 2565) วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. จากพรรคก้าวไกล แถลงเปิดตัวนโยบายหลัก 12 ด้าน เพื่อสร้าง “เมืองที่คนเท่ากัน” มี ฐาปนีย์ สุขสำราญ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ก. เขตประเวศ อิชย์อาณิคม์ ชิตวิเศษ นักสื่อสารนโยบาย Think Forward Center ศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต พรรคก้าวไกล และ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ร่วมแสดงวิสัยทัศน์
อิชย์อาณิคม์ ชิตวิเศษ พูดถึงเมืองในหัวข้อ “Romantic Town” พร้อมเชื่อมโยงปัญหาความสัมพันธ์ระดับบุคคลกับภาพเมืองในระดับการลงทุนและพัฒนามหภาค ด้วยการตั้งคำถามว่าทำไมคนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ถึงโสด อิชย์อาณิคม์ อธิบายว่า คนส่วนใหญ่ ใช้ชีวิตไปกับการจัดการปัจจัยภายนอก ซึ่งมาจากปัญหาหลัก 4 ข้อ ได้แก่ (1) ชั่วโมงการทำงานสูง (2) ชั่วโมงการเดินทางบนท้องถนน (3) ค่าครองชีพสูง (4) พื้นที่สาธารณะน้อย นั่นทำให้บุคคลมีโอกาสที่จะมีปฏิสัมพันธ์หรือเริ่มต้นความสัมพันธ์กับผู้อื่นยากมาก เพราะลำพังเพียงภาระในการจัดการชีวิตของตนเองในเมืองนี้ ก็มากพอแล้ว
ด้าน ฐาปนีย์ สุขสำราญ เล่าถึงประสบการณ์การทำงานร่วมกับผู้นำชุมชนในเขตประเวศกว่า 17 ปี โดยเล่าถึงปัญหาที่ชุมชนในเขตประเวศส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นชุมชนริมคลอง ต้องพบเจอ ชุมชนเหล่านี้มีทางเข้า-ออกที่เรียกกันว่าสะพาน คสล. มีขนาดกว้างเพียง 1.7 เมตรเท่านั้น ทำให้รถจักรยานยนต์ไม่สามารถสวนทางกันได้ บางเส้นยาวถึง 3 กิโลเมตร หากมีคนเจ็บป่วยรถพยาบาลไม่สามารถเข้าถึงตัวคนในชุมชน ประเด็นนี้เป็นตัวอย่างของการพัฒนาที่ไม่เท่าเทียม คนไม่เท่ากัน คนกรุงเทพที่อยู่ในชุมชน มีรายได้น้อย ต้องเสียโอกาสและมีคุณภาพชีวิตที่ย่ำแย่
นอกจากประสบการณ์ของชุมชน ฐาปนีย์ยังได้พูดถึงประสบการณ์ในการแม่ของลูกที่โตใน กทม. ขณะที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กใน กทม. กลับไม่มีความพร้อมในการดูแลเด็กเล็ก เนื่องมาจากนโยบายและงบประมาณ ฐาปนีย์ ยกตัวอย่าง ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในเขตประเวศ ซึ่งอยู่ติดกับโรงกำจัดขยะอ่อนนุชที่ส่งกลิ่นเน่าเหม็นตลอดทั้งวัน ซ้ำยังมีปัญหาในการจัดการงบประมาณของศูนย์ฯ ทำให้ต้องมีการรับบริจาคสิ่งของต่าง ๆ เพื่อใช้เป็นสื่อการเรียนการสอน ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ฉุดรั้งการพัฒนา กทม. ในทุกด้าน และเป็นแรงบันดาลใจให้ตนเองตัดสินใจเข้ามาทำงานการเมือง เพื่อให้อนาคตลูกหลานคนในกรุงเทพดีกว่านี้ คนเท่าเทียมกันกว่านี้
ด้าน ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ยกบทเรียนจากกรุงลอนดอน ในการออกแบบเมืองเพื่อแก้ไขปัญหามลภาวะ PM2.5 และมีเป้าหมายที่ชัดเจนในการสร้างเมืองที่ปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ภายในปี 2030 คนในเมืองไม่ต้องเผชิญกับอากาศที่เป็นพิษและโรคทางเดินหายใจ และออกนโยบาย ULEZ หรือ Ultra Low Emission Zone ซึ่งเป็นนโยบายเก็บค่าธรรมเนียมเข้าเมืองสำหรับยานพาหนะที่ปล่อยมลภาวะเกินมาตรฐาน
ธนาธร ยังย้ำว่า ตัวอย่างเมืองและปัญหาที่ยกมานั้น ไม่ได้ออกโดยนักบริหารที่เชี่ยวชาญ แต่ต้องอาศัยคนที่มีเจตจำนงทางการเมืองแน่วแน่และชัดเจน ที่จะไม่ยอมอ่อนข้อให้กับปัญหา นายทุนและเครือข่าย พร้อมทั้งต้องมีความทะเยอทะยานในการสร้างเมืองให้ดี ตรงนี้คือจุดเด่นของวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ในการสู้ศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯ ในครั้งนี้
วิโรจน์ เปิดตัว 12 นโยบาย เพื่อสร้างกรุงเทพฯ ที่คนเท่ากัน
วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ว่าที่ผู้สมัคร ผู้ว่าฯ กทม. จากพรรคก้าวไกล แถลงเปิด 12 นโยบาย ภายใต้แนวคิด “เมืองที่คนเท่ากัน” ระบุพร้อมชนกับต้นตอของปัญหา และจะทำให้ปัญหาของทุนคนได้รับการดูแลอย่างเท่าเทียม โดย 12 นโยบายมีรายละเอียดดังนี้
- นโยบายด้านสวัสดิการคนเมือง เพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุ 60 ปี เป็น 1,000 บาทต่อเดือน เพิ่มสวัสดิการเลี้ยงดูเด็กเป็น 1,200 บาทต่อเดือน และเพิ่มเบี้ยคนพิการเป็น 1,200 บาทต่อเดือน
- นโยบายวัคซีนฟรีเพื่อให้คนกรุงเทพฯ เข้าถึงวัคซีนโรคปอดอักเสบ หลังพบว่า คนกรุงเทพฯ มีอัตราป่วยด้วยโรคนี้สูงเป็นอันดับ 3 และยังมีอัตราการเสียชีวิตสูงเป็นอันดับ 3 ของประเทศ รวมทั้งวัคซีนโรคไข้หวัดใหญ่และไข้เลือดออก ยกระดับ “ศูนย์สาธารณสุขชุมชน” ให้เป็นศูนย์ฉีดวัคซีนฟรี
- นโยบายหยุดระบบอุปถัมภ์ ด้วยการเพิ่มงบประมาณ “ชุมชน” ปีละ 500,000–1,000,000 บาท ตามขนาดของชุมชน นอกจากนี้จะจัดสรรงบประมาณให้แต่ละเขตเฉลี่ยปีละ 50 ล้านบาท และจัดสรรงบประมาณให้กรุงเทพฯ ปีละ 200 ล้านบาท และให้คนในชุมชน, เขต และทุกคนในกรุงเทพฯ เป็นคนตัดสินใจเลือกเอง ว่าจะนำงบประมาณก้อนนี้ไปจัดสรรพัฒนาอะไร ไม่ต้องไปร้องขอและใช้เส้นสายในการดึงงบประมาณเหมือนที่ผ่านมา
- นโยบายบ้านคนเมืองที่ทุกคนเข้าถึงได้ โดยสร้างที่อยู่อาศัยใจกลางเมือง 10,000 ยูนิต ภายใน 4 ปี และให้คนกรุงเทพฯ เช่าได้ระยะยาว 30 ปี รวมทั้งจะเริ่มรวบรวมที่ดิน (Land Bank) จากที่ดินที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์
- นโยบายลดค่าครองชีพด้วยค่าเดินทางที่ทุกคนจ่ายไหว โดยจัดให้มีรถเมล์คุณภาพ ทำตั๋วคนเมืองที่จ่ายในราคา 70 บาท แต่สามารถใช้เป็นค่าโดยสารได้ 100 บาท ผลักดัน “ตั๋วร่วม” ขึ้นรถไฟฟ้าในราคา 15-45 บาทได้ตลอดสายแบบไร้รอยต่อ รวมทั้งแก้ปัญหาจุดเชื่อมต่อรถเมล์-รถไฟฟ้า-เรือ
- นโยบายขึ้นค่าเก็บขยะห้างใหญ่ เอาเงินไปปรับปรุงการเก็บขยะครัวเรือน โดยให้นายทุนต้องจ่ายค่าจัดการขยะเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 10 เท่าของที่จ่ายอยู่ในปัจจุบัน เพื่อไม่ต้องนำภาษีของประชาชนไปจ่ายให้นายทุน ปรับปรุงจุดทิ้งขยะทั่วกรุงเทพฯ และแก้ไขกลิ่นเหม็นจากโรงงานขยะ
- นโยบายลงทุนศูนย์ละ 5 ล้านบาท ในระยะเวลา 4 ปี อัพเกรดศูนย์เด็กเล็ก กทม. ให้มีคุณภาพเท่าเอกชน ครูและพี่เลี้ยงเด็กต้องได้สัญญาจ้างงานประจำ มีครูสำหรับเด็กพิเศษที่พัฒนาการช้า และเพิ่มศูนย์รับเลี้ยงเด็กที่ยังขาดแคลนในหลายพื้นที่
- นโยบายสร้างการศึกษา ที่ทุกคนวิ่งตามความฝันของตัวเองได้ วิชาที่ไม่จำเป็นตัดออก เหลือเพียงวิชาบังคับ 4 วิชา เพิ่มการเรียนรู้นอกห้องเรียน ทำให้เป็นโรงเรียนที่ปราศจากการรังแก (Bullying-Free School)
- นโยบายลอกท่อทั่วเมือง ลอกคลองทั่วกรุง ด้วยการเปลี่ยนงบประมาณอุโมงค์ยักษ์ปีละ 2,000 ล้านบาท เป็นงบปรับปรุงระบบระบายน้ำเพื่อให้ระบายได้เร็วขึ้น แยกระบบท่อน้ำฝน – ท่อน้ำเสีย และตั้งศูนย์รวมการจัดการน้ำไว้ที่เดียว (Single Command)
- นโยบายเปลี่ยนที่รกร้างเป็นสวนสาธารณะ โดยใช้กลไกภาษีที่ดิน ออกข้อบัญญัติให้หน้าอาคารที่จะก่อสร้างใหม่ทุกแห่งต้องมีพื้นที่สีเขียวที่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ได้ และเปิดพื้นที่สาธารณะให้เป็นที่ปลอดภัยสำหรับการชุมนุม
- นโยบายทางเท้าดี เท่ากันทั้งกรุงเทพฯ พร้อมชนกับนักขุด ไม่มีเงินทอน ไม่มีการจ้างช่วง ให้ประชาชนเป็นพยานตรวจรับงาน หากมีการขุดทางต้องคืนกลับมาในสภาพดีเหมือนเดิม ทางเท้าที่แคบกว่า 3.2 เมตร ห้ามตั้งแผงลอย แต่จะหาพื้นที่ใกล้เคียงให้ค้าขาย และทางม้าลายต้องปลอดภัย
- นโยบายเจอส่วยแจ้งผู้ว่าฯ สร้างกรุงเทพโปร่งใส ไร้คอร์รัปชัน นำกรุงเทพฯ เข้าร่วมภาคีความร่วมมือรัฐเปิดเผย (Open Government Partnership) การขอใบอนุญาตให้ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ใช้บุคคลที่สาม (Third Party) เป็นผู้ประเมินการขอใบอนุญาตและตรวจรับงาน และเปิดข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างทางเว็บไซต์ให้ประชาชนสามารถตรวจสอบได้
วิโรจน์ ยังย้ำถึงความสำคัญของนโยบายหลักทั้ง 12 นโยบาย ซึ่งเกิดภายใต้หลักคิดเมืองที่คนเท่ากัน โดยเชื่อว่าการที่คนเท่ากันจะเป็นบันไดขั้นแรกของเมืองที่มีความหวัง สามารถให้โอกาสในการตั้งตัวและคุณภาพชีวิตที่ดี ก่อนจะทิ้งท้ายว่า ท่ามกลางความขัดแย้ง คนกรุงเทพฯ ไม่ได้ต้องการผู้ว่าฯ ที่เป็นกลาง ไม่ฝักใฝ่การเมือง แต่ต้องเป็นผู้ว่าที่พร้อมเลือกยืนเคียงข้างประชาชน ต่อสู้เพื่อคนที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ พร้อมยืนยันว่า 22 พ.ค. 2565 กรุงเทพฯ จะเป็นโดมิโน่ตัวแรกในการเดินหน้า หลังถูกขโมยความฝันไปเมื่อ 22 พ.ค. 2557 ในเหตุการณ์รัฐประหาร