วางแนวทางให้กับประชาชนสามารถปฏิบัติศาสนกิจได้อย่างปลอดภัย ลดความรุนแรงในพื้นที่สร้างสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อสันติสุขใน 44 วัน ช่วงเดือนรอมฎอน พร้อมตั้งคอนแท็ก เพอร์ซัน สองฝ่ายประสานงานกรณีมีเหตุฉุกเฉิน
วันนี้ (2 เม.ย. 2565 ) พลเอกวัลลภ รักเสนาะ หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ พล.ท. ธิรา แดหวา แม่ทัพน้อยที่ 4 รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า และคณะร่วมแถลงผลการพูดคุยสันติสุขพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 31 มีนาคม และ 1 เมษายน 2565 นำโดย พลเอก วัลลภ กับคณะผู้แทน BRN นำโดย อุซตาส อานัส อับดุลเราะห์มาน ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย โดยมี ตันซรี อับดุล ราฮิม บิน โมฮัมหมัด นอร์ เป็นผู้อำนวยความสะดวก และมีผู้เชี่ยวชาญร่วมสังเกตการณ์ด้วย โดยมีข้อสรุป ดังนี้
1) เมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2565 คณะพูดคุยฯ และ BRN ได้รับรองเอกสาร “หลักการทั่วไปว่าด้วยกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุข” ซึ่งเป็นประเด็นที่ทั้งสองฝ่ายตกลงจะพูดคุยกันในรายละเอียด โดยกำหนดให้มีกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีเกียรติและเปิดกว้างต่อการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย เพื่อบรรลุทางออกทางการเมือง ซึ่งเป็นไปตามความต้องการของประชาชนในพื้นที่ ตามแนวคิดชุมชนปาตานีภายใต้ความเป็นรัฐเดี่ยวของราชอาณาจักรไทยตามที่ได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ
2) ทั้งสองฝ่ายยังได้เห็นพ้องร่วมกันใน “ความริเริ่มรอมฎอนสันติสุข” ด้วยการสร้างสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อสันติสุขในห้วงเดือนรอมฎอน เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนสามารถปฏิบัติศาสนกิจได้อย่างปลอดภัย ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนในพื้นที่และสร้างความไว้วางใจต่อกระบวนการพูดคุย ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวจะมีลักษณะเป็นการปฏิบัติที่ต่างฝ่ายต่างปฏิบัติอย่างเกื้อกูลกัน เพื่อลดความรุนแรงในพื้นที่ให้เป็นไปตามหลักการทั่วไปว่าด้วยกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขตามที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น
3) นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้พูดคุยเรื่องบทบาทและขอบเขตหน้าที่การทำงานของคณะทำงานร่วมเพื่อขับเคลื่อนการพูดคุยในประเด็นสารัตถะ 3 คณะ ประกอบไปด้วย
หนึ่ง คณะทำงานร่วมเรื่องการลดความรุนแรง
สอง คณะทำงานร่วมเรื่องการปรึกษาหารือกับประชาชนในพื้นที่
สาม คณะศึกษาร่วมเรื่องการแสวงหาทางออกทางการเมือง โดยมีการมอบหมายบุคคลผู้ประสานงานเพื่อประสานการปฏิบัติของคณะดังกล่าว
คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ขอความร่วมมือให้ประชาชนและทุกภาคส่วนทั้งในและนอกพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ติดตามสถานการณ์ในการสร้างสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการสร้างสันติสุขในห้วงเดือนรอมฎอน โดยทั้งสองฝ่ายหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเป็นความก้าวหน้าที่สำคัญในการเสริมสร้างสันติสุขอย่างยั่งยืนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป
พลเอก วัลลภ กล่าวเสริมว่า เพื่อเป็นการสร้างบรรยากาศที่ดีในช่วงเดือนรอมฎอน ได้กำชับให้มีการการปลดป้ายผู้ต้องหาตามด่านต่างๆ และลดการปฏิบัติการเชิงรุกในพื้นที่โดยคำนึงความปลอดภัยของพี่น้องประชาชน พร้อมกันนี้ยังได้กำหนดตัว “คอนแท็ก เพอร์ซัน” ของทั้งฝ่ายไทยและ BRN ที่จะได้ประสานกันเวลาเกิดเหตุการไม่คาดคิดเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว
ด้าน พลโท ธิรา กล่าวว่า เชื่อมั่นใจความตั้งใจของทั้งสองฝ่ายที่จะนำไปสู่การสร้างสันติสุข แต่ก็ยังต้องระวังมือที่สามที่อาจเข้ามาสร้างสถานการณ์ในช่วงเวลานั้น จึงได้กำหนดตัว “คอนแท็ก เพอร์ซัน”เพื่อประสานงานกันทั้งสองฝ่าย สำหรับฝ่ายไทยเองจะเน้นสร้างบรรยากาศที่ดีในช่วงเวลา 44 วัน ตั้งแต่วันที่ 3 เม.ย. ต่อเนื่องจนถึงช่วงรายอ วันที่ 14 พ.ค. ซึ่งจะเน้นให้อำนวยความสะดวกให้ประชาชนในพื้นที่ปฏิบัติศาสนกิจ ทั้งจุดตรวจ ด่านมั่นคงที่จะลดระดับปรับมาจุดอำนวยความสะดวก จุดบริการประชาชน
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 1 เม.ย. ทางสำนักเลขาธิการการเจรจาสันติภาพ แนวร่วมปฏิวัติปาตานีมาเลย์แห่งชาติ (BRN) ออกแถลงการณ์ ภายหลังเจรจาสันติภาพรอบที่ 4 ระหว่างบีอาร์เอ็นและ PEDP/RTG ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 31 มี.ค. 2022 ถึง 1 เมษายน พ.ศ. 2565 และขอขอบคุณสื่อพันธมิตรที่พร้อมจะเข้าร่วมในวันนี้ และอย่าลืมขอบคุณชาวปาตานีนับล้านไม่ว่าพวกเขาจะอยู่ที่ไหน
ในการเจรจาครั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายได้ผลิตสิ่งต่าง ๆ ขึ้น ได้แก่ :
- การทำให้หลักการทั่วไปเป็นทางการซึ่งลงนามโดยผู้เชี่ยวชาญระดับนานาชาติสองคน และเสร็จสิ้นโดยการแลกเปลี่ยนจดหมายยืนยันโดย BRN และ RTG เพื่อเป็นหลักประกันความตกลงของหลักการทั่วไป
- ทั้งสองฝ่ายตกลงยุติความรุนแรงในช่วงเดือนรอมฎอนจนถึงวันที่ 10 เชาวาล ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน – 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2565 ข้อตกลงนี้เพื่อสร้างบรรยากาศที่ปลอดภัยและเจริญรุ่งเรืองให้กับชุมชนปาตานีในพื้นที่โดยเฉพาะและตาม กระบวนการสร้างความมั่นใจระหว่างทั้งสองฝ่ายในความพยายามที่จะสร้างสันติภาพที่มีความหมายในปาตานี
- ทั้งสองฝ่ายได้นำเสนอกรอบการทำงานหรือ TOR ที่เกี่ยวข้องกับคณะทำงานร่วม (JWG) ในประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1) การแก้ปัญหาทางการเมือง 2) การปรึกษาหารือสาธารณะ และ 3) การลดความรุนแรงสำหรับ [sic] ทั้งสองฝ่าย.
- ทั้งสองฝ่ายได้แต่งตั้งบุคคลที่ติดต่อภายใต้การจัดเตรียมของสำนักเลขาธิการของผู้อำนวยความสะดวกสำหรับประเด็นที่เป็นสาระสำคัญแต่ละประเด็นที่อยู่ใน “หลักการทั่วไป” โดยมีคณะทำงานสามคน (3) สำหรับแต่ละฝ่าย