ผู้แทนคณะพูดคุยสันติสุขฯ ย้ำ สานต่อข้อตกลงเดิม มุ่งหลักคิด เศรษฐกิจ สังคม แทนการทหาร เดินหน้า สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ การมีส่วนร่วม สร้างสันติภาพยั่งยืน ขณะที่ รองประธาน กมธ.วิสามัญสันติภาพชายแดนใต้ เตรียมเชิญ BRN พูดคุย เชื่อบทบาทสภาฯ สะพานเชื่อม เรื่องใต้พรมต้องพูดได้
วันนี้ (23 ธ.ค.66) มูลนิธิความร่วมมือสันติภาพ (PRC) จัดเวทีเสวนา “เหลียวหลัง แลหน้า : ทิศทาง อนาคตกระบวนการสันติภาพปาตานี/จังหวัดชายแดนภาคใต้” โดยมีตัวแทนคณะพูดคุยสันติสุขฝ่ายไทย ฝ่ายกลุ่มเห็นต่าง นักวิชาการ และภาคประชาสังคมทั้งในไทย และมาเลเซีย เข้าร่วมสะท้อนมุมมอง บทเรียนกระบวนการพูดคุนสันติภาพในอนาคต
ผศ.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) ระบุถึง ข้อค้นพบตลอดช่วง 10 ปีของกระบวนการพูดคุยสันติภาพ พบว่ามีความก้าวหน้าที่สัมผัสได้ชัดเจน คือ เหตุการณ์ความรุนแรงค่อย ๆ ลดลง ตั้งแต่ปี 2556 เห็นได้ชัดเจนจากข้อมูล สถิติต่าง ๆ รวมทั้งมองด้วยสายตาก็ลดลงอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งถือเป็นภาพใหญ่ที่มองเห็นว่ากระบวนการสันติภาพเกิดประโยชน์ ทั้งยังพบว่า กระบวนการพูดคุยปี 2556 มีความต่อเนื่อง การพูดคุยน่าสนใจ เป็นไปอย่างเปิดเผย เป็นแนวนโยบายรัฐ มีระบบการทำงาน มีระเบียบ กฎหมาย มีคำสั่งชัดเจนจากฝ่ายบริหารมารองรับกระบวนการนี้ รวมถึงการเข้าร่วมของฝ่ายผู้เห็นต่าง ทั้งกลุ่ม มาราปาตานี และ BRN นอกจากนั้นภายหลังการพูดคุยครั้งล่าสุด ยังทำให้มีพื้นที่กลางขึ้นพูดคุยปัญหาความขัดแย้งในประเด็นสันติภาพจากหลายฝ่าย ทั้ง คนพุทธ มุสลิม มลายู กลุ่มผู้หญิง กลุ่มเยาวชน คนรุ่นใหม่ ซึ่งถือเป็นกระบวนการที่มีความหลากหลาย เกิดการมีส่วนร่วมมากขึ้น และขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
ขณะเดียวกันพื้นที่การพูดคุยยังเกิดพัฒนาการ โดยทุกฝ่ายก็พยายามสร้างพื้นที่กลางให้เกิดขึ้น ถือเป็นความเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจ จากความพยายามพูดคุยของฝ่ายภาคประชาชน ฝ่ายขบวนการกลุ่มเห็นต่าง อย่าไม่เป็นทางการ ผลที่เกิดขึ้นทำให้เห็นองค์ความรู้ ทักษะจัดการในพื้นที่กลางด้วย พร้อมทั้งมีผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ เข้ามาสนับสนุนกระบวนการพูดคุยสร้างสันติภาพ แม้ช่วงแรกฝ่ายรัฐอาจไม่ยอมรับ ไม่ชอบให้ต่างประเทศเข้ามาแทรกแซง แต่ช่วงหลังก็เปิดใจมากขึ้น นี่คือกระบวนการใหม่ เพื่อเปิดพื้นที่ให้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง
“สิ่งใหม่ ๆ เหล่านี้จะนำไปสู่พัฒนาการอีกขั้นของกระบวนการพูดคุยได้หรือไม่ อีกทศวรรษใหม่สำหรับกระบวนการสันติภาพจึงเป็นสิ่งท้าทายมาก ไม่รู้อะไรจะเกิดขึ้น ที่ผ่านมาเรามองโลในแง่ดี มองมุมบวก ก็คงต้องพูดคุยกันต่อไปเรื่อย ๆ เชื่อว่ากระบวนการพูดคุย จะเป็นทางออกที่ดีที่สุด ภายใน 5 ปี 10 ปี เหตุการณ์จะเปลี่ยนไปเยอะมาก แต่ถ้ามองในแง่ร้าย ก็ยังไม่รู้ว่าจะเกิดความผิดพลาด หรือ เหตุฉุกเฉินอะไรเกิดขึ้นมาบ้างระหว่างทาง รวมทั้งจากนี้ไป เจตจำนงทางการเมืองจะเข้มแข็งมากพอหรือไม่ เพราะถ้าเจตจำนงของฝ่ายการเมืองไม่ชัดเจน เกิดครางแคลงใจ มีอะไรแอบแผง กระบวนการนี้ก็จะสะดุดได้ เหตุการณ์ไม่คาดฝันก็อาจเกิดขึ้นได้ เราไม่อยากให้สิ่งที่คาดไม่ถึงเกิดขึ้นอีก จึงต้องระวังความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้น เจตจำนงทางการเมืองจึงต้องเข้มแข็ง เพื่อนำพาปาตานีไปสู่มิติใหม่”
ผู้แทน BRN วอนรัฐไทย คุ้มครองความปลอดภัย ร่วมเวทีรับฟังความเห็นสาธารณะ
ขณะที่ Ustaz Khalil Abdullah ผู้แทนคณะพูดคุยสันติภาพขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติ (BRN) ซึ่งเข้าร่วมเวทีผ่านช่องทางออนไลน์ เปิดเผยว่า การแก้ปัญหาในพื้นที่ชายแดนใต้ต้องมุ่งไปที่การแก้ปัญหาด้วยการเมือง และทำให้เกิดการมีส่วนร่วมให้มากขึ้น เพื่อการรับประกันความปลอดภัยของสังคมปาตานี รวมถึงความปลอดภัยของตัวแทนจากต่างประเทศที่มาร่วมแลกเปลี่ยนพูดคุย ต้องมีกระบวนการคุ้มครองผู้คนที่มาร่วมพูดคุยด้วย นอกจากนั้นยังมีแง่มุมเชิงลบ ที่มองว่าหลักการกระบวนการพูดคุยที่ยังมีข้อกังขา ระหว่างประชาชน องค์กรต่างประเทศไม่มากพอ ความมุ่งมั่นหาทางออกร่วมกันยังไม่มากพอ การไม่ได้รับหลักประกันในประเด็นสังคม วัฒนธรรม อัตลักษณ์ ยังไม่ได้เปิดโอกาสให้องค์กรระหว่างประเทศเข้ามามีส่วนร่วมอย่างใกล้ชิด สะท้อนถึงการพูดคุยที่ยังเป็นเชิงลบเกิดขึ้น
ผู้แทนคณะพูดคุยจาก BRN ยังมองว่า อนาคตการแก้ปัญหาความขัดแย้งต้องหาพื้นที่แสดงออกทางการเมือง จำเป็นต้องเจรจาต่อรองได้ ยอมรับว่าไม่มีอะไรได้ 100% แต่กระบวนการต้องยืนบนหลักการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความยุติธรรมอย่างยั่งยืน เปิดพื้นที่ให้สังคมชุมชนปาตานี มีพื้นที่ มีหลักประกันเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการรับฟังความเห็นสาธารณะ ให้พื้นที่คณะพูดคุยฝ่าย BRN มีส่วนในกระบวนการรับฟังความเห็น โดยได้รับการคุ้มครอง ซึ่งต้องเป็นเวทีที่ทั้ง 2 ฝ่าย ได้จัดร่วมกัน พูดคุยกันถึงประเด็นที่เป็นรากเหง้าของปัญหา ที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่
เชื่อบรรยากาศใหม่ ทำเส้นทางพูดคุยสันติภาพไม่เหมือนเดิม
พลเทพ ธนโกเศศ ในฐานะเลขานุการคณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนใต้ชุดใหม่ ยอมรับว่า การพูดคุยในวันนี้พิเศษ และแตกต่างออกไปจากที่ผ่าน ๆ มา เพราะเป็นครั้งแรกที่บรรยากาศทางการเมืองไม่เหมือนเดิม มีรัฐบาล พลเรือนจากการเลือกตั้ง ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย สิ่งนี้เป็นสิ่งสำคัญที่จะส่งผลต่อทิศทางกระบวนการพูดคุยในห้วงต่อไป ส่วนคำถามว่าจะใช้ถ้อยคำไหนระหว่าง สันติภาพ หรือ สันติสุข จริง ๆ แล้วคณะพุดคุยก็ใช้ทั้ง 2 คำนี้ ซึ่งมีความหมายแตกต่างกันน้อยมาก ทั้ง 2 คำมุ่งเป้าไปสู่การสร้างความสงบ สร้างสุขให้ผู้คนอยู่ร่วมกัน
พลเทพ ยังระบุถึงกระบวนการพูดคุยที่ผ่านมา ตั้งแต่คณะของ พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ ถือว่ามีความสำเร็จ มีพัฒนาการหลายอย่างเป็นที่ประจักษ์กันมาตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยเฉพาะสิ่งที่เรียกกว่า การบรรลุข้อตกลงหลักการทั่วไปว่าด้วยกระบวนการพูดคุยสันติสุข เอกสารนี้ ระบุ ไว้ชัดเจนว่าจะคุยอะไรกันบ้าง เพื่อลดความรุนแรง การเปิดพื้นที่หารือ และการแสวงหาทางออกด้วยการเมือง ซึ่งการพูดคุยกันต้องเป็นไปตามความต้องการของชุมชนปาตานี ภายใต้รัฐเดี่ยวข้องไทย ตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งทางฝ่ายเห็นต่าง อย่าง กลุ่ม BRN ก็ให้ความเห็นชอบ ว่าเป็นแผนร่วมการทำงานขับเคลื่อนไปสู่สันติภาพ ลดความรุนแรง ที่มีกรอบเวลาชัดเจน
ขณะที่ปัจจุบันนี้ เมื่อรัฐบาล ได้แต่งตั้งคณะพูดคุยชุดใหม่ ซึ่งมีผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ รวมถึงฝ่ายเลขานุการที่เป็นบุคคลกลุ่มเดิม ๆ ที่เคยอยู่ในกระบวนการพูดคุยมาแล้ว จึงมั่นใจได้ว่ากระบวนการนี้จะมีความต่อเนื่อง ซึ่งเมื่อวันที่ 8 ธันวาคมที่ผ่านมา ฉัตรชัย บางชวด หัวหน้าคณะพูดคุยฯ ชุดใหม่ ได้เข้าพบและพูดคุยกับผู้อำนวยความสะดวกจากมาเลเซีย เพื่อวางทิศทางขับเคลื่อนกระบวนการในห้วงต่อไป และอีกไม่กี่วันจะประชุมกับทางฝ่ายคณะพูดคุย เพื่อวางแผนขับเคลื่อนงาน โดยคาดว่าจะนัดคุยกับทางฝ่าย BRN อีกครั้งภายในเดือนมกราคม 2567
“คณะพูดคุยสันติสุขชุดใหม่ มีหลักสำคัญ 3 ประการ 1. สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ เพราะก่อนที่จะมาคุยกันได้ ต้องไว้ใจกัน คุยกันอย่างเต็มที่ ตรงนี้คือสิ่งสำคัญ 2. การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน 3. การมีสันติภาพอย่างยั่งยืน ไม่ใช่แค่คุย หรือมองแค่การทำให้ไม่มีเหตุรุนแรงระยะสั้น ๆ เท่านั้น แต่ต้องพูดคุยไปสู่สันติภาพที่ยั่งยืน ต้องมองไปถึงรากเหง้าปัญหาว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร”
พลเทพ ธนโกเศศ
ย้ำเดินหน้าสานต่อข้อตกลงสู่เส้นทางสันติภาพ
เลขานุการคณะพูดคุยสันติสุขฯ ยังชี้ให้เห็นทิศทาง อนาคตการพูดคุยของคณะชุดปัจจุบัน สิ่งสำคัญคือ จะสานต่อความสำเร็จต่าง ๆ ที่เคยเกิดขึ้น โดยจะไม่เริ่มใหม่ เพราะที่ผ่านมาเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ก็พบว่ากระบวนการพูดคุยต้องเริ่มต้นใหม่ ไม่ต่อเนื่อง แต่ครั้งนี้มั่นใจได้ว่าคณะพุดคุยจะนำความสำเร็จต่าง ๆ มาสานต่อ ขณะเดียวกันเชื่อว่า กระบวนการพูดคุยในห้วงต่อไปจะเน้นความเป็นประชาธิปไตย มีพลเรือนนำ ภายใต้กรอบ รัฐธรรมนูญ ถือเป็นสิ่งสำคัญเพื่อทำให้กระบวนการสันติภาพประสบความสำเร็จได้ ทุกภาคส่วนต้องแสดงความเห็น มีส่วนร่วมได้ ตามหลักการประชาธิปไตย เพื่อเป็นรากฐานสำคัญของกระบวนการสันติภาพอย่างยั่งยืน ซึ่งแน่นอนว่าการที่พลเรือนนำการพูดคุย หลักคิดต่าง ๆ จะเปลี่ยนไปจากเดิมที่มุ่งแต่เรื่องความมั่นคง และการทหาร ต่อไปจากนี้หลักคิดจะเน้นไปที่เศรษฐกิจ สังคม การเมือง มากขึ้นภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ
“กระบวนการพูดคุยต่อไปคาดหวังว่า ต้องเปลี่ยนแปลงให้เป็นรูปธรรม คนในพื้นที่จับต้องได้ การคุยไม่ใช่คุยเป็นสัญลักษณ์แล้วก็จบไป คุยแล้วไม่รู้สึกว่าได้อะไร เราต้องทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงให้ได้ในพื้นที่ของเรา ต้องยอมรับว่ามีปัญหา การที่จะแก้ปัญหาได้ต้องเปลี่ยนแปลง เชื่อว่า คณะพูดคุยพร้อมเปลี่ยนแปลงไปสู่สันติสุขสันติภาพยั่งยืน พร้อมทำงานร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ อย่างสร้างสรรค์ อีกสิ่งสำคัญ คือ การสนับสนุนจากฝ่ายนิติบัญญัติ การมีกรรมาธิการสันติภาพชายแดนใต้ ขึ้นมาจึงอยากให้ฝ่ายนิติบัญญัติให้ข้อเสนอที่เป็นประโยชน์ผลักดันการพูดคุยให้เกิดผลเป็นรูปธรรม”
พลเทพ ธนโกเศศ
เลขานุการคณะพูดคุยสันติสุขฯ ยังมองว่า บทบาทของกรรมาธิการวิสามัญสันติภาพชายแดนใต้ เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ทำให้ผู้แทนประชาชน มีท่าทีสนับสนุนต่อกระบวนการต่อไป จะสำเร็จได้ต้องได้รับการสนับสนุนจากคนทั้งประเทศ พร้อมทั้งอยากเห็นข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ เช่น การปรึกษาหารือ จะทำอย่างไรให้ได้ประโยชน์มากที่สุด กฎหมายที่เกื้อหนุนต่อกระบวนการสันติภาพควรมีหรือไม่ ทั้งนี้ยืนยันว่า ต้องทำให้กระบวนการพูดคุยกลับเข้าสู่พื้นที่ให้มากขึ้น ก่อนที่จะเปิดพื้นที่ปรึกษาหารือ ต้องมีความชัดเจนในฝ่ายรัฐเอง จะทำอย่างไรให้มีหลักประกันความปลอดภัยให้ทุกฝ่ายเข้ามาร่วมพูดคุย ต้องเปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่ายจริง ๆ ซึ่งมีอยู่แล้วในนโยบาย จะต้องทำให้เกิดขึ้นให้ได้
หวังผลักดันสังคมพหุวัฒนธรรมปาตานี จากโมเดลในมาเลเซีย
ขณะที่ Saifulnizam Bin Muhamad รองหัวหน้าขบวนการยุวชนมุสลิมมาเลเซีย ประจำรัฐกลันตัน เน้นย้ำความพยายามทำให้เกิดการพบปะ พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากทางฝ่ายเยาวชน คนรุ่นใหม่ ทั้งมาเลเซีย และ ไทย ซึ่งที่ผ่านมา ได้พบพูดคุย คลุกคลีกันตลอดเวลา ยอมรับว่า การสนับสนุนให้ยกระดับชุมชนมลายู ถือว่าสำคัญ ซึ่งที่ผ่านมาสังคมไทยพูดถึงพหุวัฒนธรรมอย่างมาก จึงสอดคล้องกับการทำให้ชุมชนมลายูถูกยกระดับทำให้ผู้คนเข้าใจรากเหง้า จึงหวังว่า จะมีคณะจากรัฐบาลไทย มีเวทีเชื่อมสัมพันธ์กัน
“เรามีสาขาอยู่ทุกรัฐในมาเลเซีย เราจะพยายามส่งเสริมกิจกรรมที่เกี่ยวกับสันติภาพปาตานี ในพื้นที่ที่ติดกับชายแดนไทย เราพร้อมเคียงข้างกระบวนการสันติภาพปาตานี ซึ่งเราไม่สามารถคาดเดาว่าอีก 10 ปีข้างหน้า อะไรจะเกิดขึ้น แต่เราพร้อมอุ้มชูเรื่องนี้ ส่วนตัวได้ดูวิธีการทำงานของนายกฯ เศรษฐา ที่ปกติมีแนวคิดหารสอง ก็คาดหวังว่ารัฐบาลไทยจะทำให้กระบวนการสันติภาพมีระยะเวลาสั้นลง”
Saifulnizam Bin Muhamad
รองหัวหน้าขบวนการยุวชนมุสลิมมาเลเซีย ประจำรัฐกลันตัน ยอมรับด้วยว่า พื้นที่ปาตานีเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมซึ่งที่ผ่านมามาเลเซีย ก็มีบทเรียนกรอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรมแบบนี้ และที่มาเลเซียก็สร้างมาแล้วหลายปี เพื่อให้สอดคล้องกับชุมชนปาตานี ก็พร้อมยืนหยัดช่วยเหลือตรงนี้ได้ เพื่อให้เกิดการพูดคุยที่ช่วยขัดเกลาจนได้โมเดลที่ดีที่สุดเพื่อปาตานี จะเป็นนิมิตรหมายที่ยิ่งใหญ่มาก
กมธ.สันติภาพใต้ เตรียมเชิญ BRN เปิดพื้นที่ พูดคุยให้ข้อมูล
รอมฎอน ปันจอร์ รองประธานกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาและเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ สภาผู้แทนราษฎร ยอมรับว่า ยังมีงานอีกเยอะที่ต้องทำ กมธ.วิสามัญสันติภาพชายแดนใต้ เป็นส่วนหนึ่งที่เข้ามาเติมเต็มกระบวนการพูดคุยสันติภาพ โดยบทบาทของสภาฯ มาเป็นสะพานเชื่อมต่อกับโต๊ะเจรจา ซึ่งกรรมาธิการฯ ได้ขอต่ออายุการทำงานต่อไปอีกอย่างน้อย 90 วัน ทั้งนี้หากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงวันที่ 19-20 มกราคม 2567 กรรมาธิการฯ ชุดใหญ่ จะลงพื้นที่ชายแดนใต้ครั้งแรก และคาดว่า หากสามารถสร้างหลักประกันให้ผู้แทนกลุ่ม BRN มาร่วมหาทางออกในพื้นที่ได้ ก็จะเชิญผู้แทน BRN เข้ามาพูดคุย ให้ข้อมูลกับทางกรรมาธิการฯ ในเร็ว ๆ นี้
“สิ่งนี้ถือเป็นการเปิดพื้นที่ทางการเมืองอีกระดับ นี่คือกลไกอีกทางของสภาฯ อยากให้เป็นพื้นที่ฟังเสียงที่แตกต่างออกไป ในสถาบันทางการเมืองที่เป็นทางการมาก ๆ สิ่งนี้จะมีส่วนสนับสนุนกระบวนการสันติภาพ ทำให้เชื่อว่าพื้นที่การเมือง ความปลอดภัยแบบนี้ต้องขยายขึ้นอีกเรื่อย ๆ แม้ยังมีคนถูกดำเนินคดี แต่ต้องช่วยกัน สภาฯ จะเป็นพื้นที่เพื่อขยาย เรื่องอยู่ใต้พรมที่พูดไม่ได้ ต้องทำให้พูดได้”