มาเลเซียจับมือ ‘ไทย-บีอาร์เอ็น’ แถลงร่วมหลังคุยสันติภาพ

การพูดคุยที่ห่างหายไปปีกว่าได้บทสรุปว่าสองฝ่ายร่วมกันหารือและจัดทำโรดแม็ปสันติภาพ มาเลเซียยืนยันชัดมีการเชิญทุกฝ่ายเข้าร่วม

วันนี้ (22 กุมภาพันธ์ 2566) มีการแถลงของผู้อำนวยความสะดวกคนใหม่ของมาเลเซีย ‘ตันศรีซุลกิฟลี บิน ไซนัล อะบีดีน’ ในช่วงบ่ายวันนี้มีหัวหน้าคณะผู้แทนทั้งไทย พลเอก วัลลภ รักเสนาะ และ คณะผู้แทนกลุ่มบีอาร์เอ็น นำโดยอุสตาซอานัส อับดุลเราะห์มาน ได้พบปะหารือและพูดคุยแบบเต็มคณะ ครั้งที่ 6 (วันที่ 21-22 กุมภาพันธ์ 2566) ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย โดยการประชุมครั้งนี้มีผู้สังเกตการณ์จากต่างประเทศเข้าร่วมด้วย เพื่อกำหนดแนวทางการปฏบัติการร่วมกันและกรอบเวลาที่ชัดเจนในการแก้ไขความขัดแย้งและนำสันติสุขสู่จังหวัดชายแดนภาคใต้

ผู้อำนวยความสะดวกจากมาเลเซีย แถลงระบุว่า ในการประชุมครั้งนี้มีพัฒนาการเชิงบวก เมื่อทั้งสองฝ่ายคือ คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ และคณะผู้แทนบีอาร์เอ็น เห็นพ้องและมีความเข้าใจร่วมเพื่อจัดทำ “แผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติภาพแบบครอบคลุม” (Join Comprehensive Plan towards Peace, JCPP) ซึ่งเป็นแผนที่นำทาง (roadmap) สำหรับการพูดคุยสันติภาพในช่วง 2 ปี ระหว่างปี 2566 – 2567

“แผนการนี้ JCPP จะสร้างแผนที่นำทางชี้ให้เห็นถึงความหวังสำหรับประชาคมปาตานีในจังหวัดชายแดนใต้ของประเทศไทย และมีโอกาสที่จะทำให้ความขัดแย้งสิ้นสุด”

ซุลกิฟลี บิน ไซนัล อะบีดีน แถลงระบุอีกว่า คู่พูดคุยสันติภาพได้มอบหมายให้คณะทำงานทางเทคนิคของแต่ละฝ่าย นัดหมายจัดการหารือแลกเปลี่ยนอย่างไม่เป็นทางการ ในช่วงระหว่างเดือนมีนาคม – พฤษภาคมนี้ เพื่อร่วมกันจัดทำรายละเอียดของ JCPP ให้เสร็จสิ้นและนำเสนอต่อการพูดคุยแบบเต็มคณะในเดือนมิถุนายน 2566 เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบเพื่อเริ่มต้นขั้นปฏิบัติ ไปใช้เป็นกรอบแนวทางการพูดคุยในปีนี้และปีหน้า

“ทั้งสองฝ่ายเอาจริงเอาจัง แต่โรดแมปนี้ไม่ใช่แค่สำหรับสองฝ่ายเท่านั้น ประชาชนในพื้นที่ต้องสนับสนุนด้วย ผมเชื่อว่าถ้าเราอธิบายให้ประชาชนเข้าใจได้ เราจะเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์”

ผู้สื่อข่าวรายงานคณะพูดคุยฝ่ายไทยเรียกโรดแม็ปนี้ว่า “แผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม” แถลงการณ์ของไทยอธิบายว่า แผนนี้จะเป็นการกำหนดแนวทางในการพูดคุยและจะมีกรอบเวลาชัดเจนดังกล่าวแล้ว โดยมีสาระสำคัญ 2 ประการคือ การลดความรุนแรงในพื้นที่และการจัดการปรึกษาหารือกับประชาชนเพื่อนำไปสู่การแสวงหาทางออกทางการเมือง โรดแม็ปนี้จะต้องสอดคล้องกับสาระของ “หลักการทั่วไปของกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้” หรือ General Principles of the Peace Dialogue Process ที่กำหนดกันเอาไว้ก่อนหน้านี้

การพูดคุยเมื่อ 21-22 กพ.นี้ เป็นการพบปะกันแบบเต็มคณะ ฝ่ายไทยมี พล.อ. วัลลภ รักเสนาะ เป็นหัวหน้าคณะ ส่วนกลุ่มบีอาร์เอ็นมี อานัส อับดุลเราะห์มาน เป็นหัวหน้าคณะ เป็นการพูดคุยกันครั้งแรก หลังจากทิ้งช่วงมาปีกว่าดำเนินการภายใต้ผู้อำนวยความสะดวกคนใหม่ ซุลกิฟลี ไซนัล อะบีดีน ซึ่งเพิ่งได้รับการแต่งตั้งเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา หลังจากเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของ ‘อันวาร์ อิบรอฮิม’

สำนักข่าว Patani Note รายงานเพิ่มเติมว่า ซุลกิฟลี ไซนัล อะบีดีน กล่าวยืนยันกับผู้สื่อข่าวทั้งมาเลเซียและไทยที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ว่า จากที่ได้อำนวยความสะดวก พบว่าคู่พูดคุยต่างมีเจตนายึดมั่นในการพูดคุย มีความไว้วางใจกัน และหากการพูดคุยมีการรวมผู้เกี่ยวข้องเข้าไว้ด้วยกัน มีความโปร่งใส รวมทั้งมีท่วงทำนองที่เป็นการเปิดพื้นที่ให้กับการแสดงออกชี้ให้เห็นว่ามีสิ่งที่เห็นพ้องกันได้ เช่นทั้งสองฝ่ายต่างตกลงกันว่าจะไม่ตกลงกันเรื่องใดบ้าง การคุยกันจะกระทำอย่างตรงไปตรงมา ลักษณะเช่นนี้ทำให้เชื่อว่าการคุยสันติภาพจะเดินหน้าไปได้ ส่วนมาเลเซียนั้น มีหน้าที่แค่อำนวยความสะดวก จะไม่ผลักดันสิ่งใด ๆ เพราะไม่มีธง สิ่งที่มาเลเซียทำคือให้แน่ใจว่าทั้งสองฝ่ายมีพื้นที่ที่จะพูดในสิ่งที่ต้องการจะพูด รวมทั้งพยายามที่จะหาทางออกให้กับความขัดแย้ง

ตันศรีซุลกิฟลี บิน ไซนัล อะบีดีน บอกว่า โต๊ะพูดคุยเห็นพ้องกันว่า การพูดคุยสันติภาพควรจะรวมทุกฝ่ายเข้าไว้ด้วยกัน มีการเชื้อเชิญทุกฝ่ายให้เข้าร่วม เข้าใจว่ากำลังมีการทำงานอย่างหนักเพื่อให้สิ่งนี้เกิดขึ้นจริง เขาเปิดเผยด้วยว่า เขาจะเดินทางไปเยือนภาคใต้ของไทยในวันจันทร์ที่ 27 กุมภาพันธ์นี้ เพื่อเข้าร่วมการเสวนาที่ปัตตานี เขาจะกล่าวปราศรัยเป็นกรณีพิเศษ และจะถือโอกาสนี้เดินทางไปพบปะกับผู้คนในสามจังหวัดภาคใต้ “ผมยินดีที่จะพบกับทุกคน” ตันศรีอะบีดีนย้ำ 

นอกจากนั้น ผู้อำนวยความสะดวกยังย้ำเรื่องเจตนาจะให้มีเสถียรภาพและความปลอดภัยในพื้นที่ในระหว่างที่มีการเลือกตั้งของประเทศไทยด้วย ซึ่งเป็นเรื่องของตัวแทนรัฐบาลไทยและบีอาร์เอ็นที่จะทำให้เกิดขึ้นได้

ส่วนทางด้านกลุ่มบีอาร์เอ็นระบุว่า ในการพบปะกันหนนี้ฝ่ายบีอาร์เอ็นจะไม่ออกแถลงการณ์ต่างหากดังที่เคยทำมาก่อนหน้านี้  ดังนั้น จะมีเพียงแค่การแถลงโดยผู้อำนวยความสะดวกที่ตัวแทนกลุ่มเข้าร่วมเท่านั้น พร้อมกับยืนยันว่า บีอาร์เอ็นจะเข้าร่วมหารือเพื่อจัดทำโรดแม็ปที่ว่าและแสดงออกว่า ความกระตือรือร้นของตันศรีอะบีดีนได้ช่วยผลักดันกระบวนการให้เดินหน้าได้ดีขึ้น

สำนักข่าว Patani Note ยังรายงานอีกว่า ความกระตือรือร้นของมาเลเซียแสดงออกก่อนหน้านี้ ตั้งแต่เมื่อนายกรัฐมนตรีคนใหม่นายอันวาร์ อิบราฮิมเยือนไทย เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เขาได้กล่าวในการแถลงข่าวโดยพยายามจะทำให้มาเลเซียได้รับความไว้วางใจจากรัฐบาลไทย เช่นเรื่องของการแต่งตั้งผู้อำนวยความสะดวกคนใหม่ที่นายทหารระดับสูงของไทยรวมทั้งนายกรัฐมนตรีรู้จัก รวมทั้งวางแนวทางชัดเจนว่ามาเลเซียไม่สนับสนุนความรุนแรง ขณะที่ส่งสัญญานชัดเจนว่ามาเลเซีย “รับรู้” ความวิตกกังวลของฝ่ายต่าง ๆ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้

ส่วนคณะพูดคุยฝ่ายไทยก็แสดงความกระตือรือร้นในการผลักดันเนื้อหาการพูดคุยด้วยการเผยแพร่เอกสารกราฟฟิกที่แสดงแผนงานที่จะจัดทำในปีนี้และปีหน้า อธิบายขั้นตอนการทำงานเอาไว้ในเรื่องการลดความรุนแรงและเรื่องของการหารือสาธารณะ อย่างไรก็ตาม กระบวนการพูดคุยที่กำลังได้แรงกระตุ้นจากมาเลเซียขณะนี้ มีคำถามใหม่ที่หลายฝ่ายหยิบยกขึ้นมา คือเรื่องของผลจากการเลือกตั้งในไทยว่าจะมีต่อเนื่องถึงเรื่องของรัฐบาลใหม่ แนวทางใหม่และกระบวนการพูดคุยอย่างไร

อนึ่ง ตันศรีอะบีดีน จะเข้าร่วมงานสมัชชาสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี ครั้งที่ 4 วันที่ 28 กุมภาพันธ์นี้ ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เนื่องในโอกาสครบรอบ 10 การพูดคุยสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี โดยช่วงเช้าเขาจะปาถกฐาพิเศษในหัวข้อ “10 ปี กระบวนการพูดคุยสันติภาพ ประชาชนชายแดนใต้ปาตานี บทเรียนและการเรียนรู้ สู่ทิศทางและความหวังในอนาคต” ส่วนช่วงบ่ายนั้น  จะมีการปาถกฐาพิเศษจากหัวหน้าคณะผู้แทนคู่ขัดแย้งทั้งฝ่ายไทยและขบวนการบีอาร์เอ็น ว่า 10 ปีที่ผ่านมา ประชาชนชายแดนใต้ปาตานีได้อะไร จากนั้นภาคประชาสังคมจะนำเสนอข้อเรียกร้องเพื่อให้กระบวนการสันติภาพเดินหน้าได้อย่างมั่นคง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active