นักรัฐศาสตร์ ชี้ ระบบราชการเก่า อาจขัด 214 นโยบาย “ชัชชาติ”

วิเคราะห์ปัญหากทม. ไม่มีความอิสระขาดการกระจายอำนาจ ส.ก. ทำงานผิดฝาผิดตัว การทะลุข้อจำกัดต้องใช้เวลาแก้เชิงโครงสร้าง เสนอปรับเป็น ‘New Local Governance’ ดึงภาคีเครือข่ายต่างๆ เข้ามาร่วมทำงาน

แม้ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ว่าที่ผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่จะชนะขาดลอยด้วย คะแนน 1.3 ล้านเสียง แต่สิ่งที่น่ากังวล คือ กระบวนการใช้อำนาจหลังจากนี้อาจไม่โรยด้วยกลีบกุหลาบ หลายฝ่ายตั้งคำถามถึง 214 นโยบายว่าจะทำไหวหรือไม่?

หากพิจารณารายละเอียดจะพบว่าทุกนโยบายไม่มีเมกกะโปรเจค เน้นวิธีคิดลงสู่ชุมชน แก้จุดย่อย ร้อยเรียงปัญหาสู่ภาพใหญ่ แต่ก็ใช่ว่าจะไร้ปัญหา เพราะต้องไม่ลืมว่า กทม. มีทั้งกฎหมาย และมีรัฐส่วนกลางครอบอยู่อีกชั้น การจะให้ กทม. เป็นรูปแบบการปกครองที่พิเศษ มีการทำงานแบบใหม่ที่มีทั้งความร่วมมือ และความเป็นอิสระ เป็นทั้งความหวัง และความท้าทายของผู้ว่า กทม. คนใหม่ ที่ชื่อ “ชัชชาติ”

การเมืองระดับชาติ ครอบงำ การเมืองท้องถิ่น

The Active สัมภาษณ์พิเศษ รศ.โอฬาร ถิ่นบางเตียว นักรัฐศาสตร์ ม.บูรพา และ รศ.ยุทธพร อิสรชัย นักรัฐศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช ทั้ง 2 คนเห็นตรงกันว่า กรุงเทพมหานคร ไม่ได้มีความเป็นอิสระจริง เช่นเดียวกับท้องถิ่นอีกหลายแห่งที่มักถูกครอบด้วยการกำกับของรัฐส่วนกลาง ขณะที่ไทยติดกฎหมายสำคัญอย่าง “พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน” ซึ่งมีโครงสร้างการบริหารงานตั้ง ระดับส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และท้องถิ่น มาอย่างยาวนาน การจะปฏิรูประบบราชการ และนโยบายภาพใหญ่ของประเทศจึงเป็นเรื่องยาก

รศ.ยุทธพร อธิบายเพิ่มถึงความยากในการเปลี่ยนแบบระบบราชการ โดยเฉพาะการทำงานภายใต้ผู้บริหาร กทม. เพราะจากอดีตยังไม่เคยมี ผู้ว่า กทม. คนใดพูดถึงการปฏิรูประบบราชการ การปรับโครงสร้าง กทม. หรือหากมีความพยายามบ้าง แต่ก็ไม่สำเร็จ โดยทุกครั้งที่เกิดรัฐประหารในไทย จะให้ความสำคัญกับการจัดการอำนาจของ กทม. เช่น คณะรัฐประหาร 2515 ที่พยายามรวบและรวมศูนย์ คล้ายกับรัฐประหารปี 2557 พอเกิดการรัฐประหารแล้ว ก็ให้ท้องถิ่นยุติการเลือกตั้งทั้งหมด และแช่แข็งการเลือกตั้งผู้ว่า กทม.นานถึง 9 ปี สิ่งนี้สะท้อนถึงการเมืองระดับชาติที่มุ่งกำกับท้องถิ่น

“ทุกครั้งที่เกิดการรัฐประหาร อำนาจ กทม. จะถูกให้ความสำคัญ เช่น การรัฐประหาร 2557 รัฐประหารแล้วก็ให้ ‘ท้องถิ่น’ ยุติการเลือกตั้งทั้งหมด และแช่แข็งการเลือกตั้งผู้ว่า กทม. นาน 9 ปี เพราะการเมืองระดับชาติ มุ่ง กำกับท้องถิ่น”

รศ.ยุทธพร อิสรชัย นักรัฐศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช
รศ.ยุทธพร อิสรชัย นักรัฐศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช

อ.ยุทธพร อธิบายเพิ่มว่า ในต่างประเทศ ที่มีความก้าวหน้าด้านการปกครอง อย่าง เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อังกฤษ ตัดการปกครองส่วนภูมิภาคออกไป ท้องถิ่นมีอิสระจากการลดกลไกการกำกับจากส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ขณะที่กลไกรัฐไทยแก้ไขได้ยาก เพราะฝังรากลึกมานานกว่า 100 ปี การจะปฏิรูประบบราชการ นโยบายภาพใหญ่จึงเป็นเรื่องยาก หลายพรรคการเมืองเคยหยิบจับประเด็นนี้ขึ้นมาแก้ปัญหาระบบราชการแก้รัฐรวมศูนย์ ก็มักจะมีแรงต้านอยู่บ่อยครั้ง

อีกปัญหาคือ การทำงานของ กทม. ที่ไม่แตกต่างจากเทศบาลขนาดใหญ่ กทม.เหมือน อปท.อื่นๆ ที่ไม่มีความเป็นอิสระ ติดปัญหาการกระจายอำนาย แม้จะมีเงินอุดหนุน 80,000 ล้านบาทจากรัฐ และจากการจัดเก็บโดย กทม. เอง 20,000 ล้านบาท แต่ก็ยังมีความกังวลลักษณะของการรวมศูนย์ รวมถึงการทำงานที่ผิดฝาผิดตัว สมาชิกสภากรุงเทพฯ หรือ ส.ก. ทำตัวคล้าย นายกเทศมนตรีประจำเขต การทำหน้าที่อยู่ในฐานะสภาท้องถิ่น หรือ นิติบัญญัติ ต้องเข้ามาตรวจสอบถ่วงดุล ผู้ว่าฯ กทม. ดังนั้นก็ควรเป็นทีม ส.ก. ที่มาจากคนละทีมกับ ผู้ว่าฯ กทม. แต่การมีปัญหาเรื่องโครงสร้างทำให้ ส.ก. ทำงานแบบผิดฝาผิดตัว

“การที่ กทม. เป็นเมืองโตเดี่ยว มีการย้ายถิ่นฐานของผู้คน ไปยังปริมณฑลมากขึ้น แต่จังหวัดเหล่านั้น ยังใช้ระบบการจัดการแบบภูมิภาค เชื่อมต่อแบบไร้รอยต่อจะทำได้ยาก สะท้อนข้อจำกัดของ กทม. เหมือนระบบราชการอื่น ๆ ในประเทศ การที่ คุณชัชชาติ พยายามทะลุข้อจำกัด ต้องใช้เวลาแก้เชิงโครงสร้าง การจะทะลุข้อจำกัดระยะสั้น ต้องเป็นผู้ว่าฯผู้ประสานงาน โดยหลังจากนี้ให้ข้าราชการไปศึกษานโยบาย และหันหน้าให้ ประชาชน ต้องรอดูว่าจะมีการลงพื้นที่แก้ปัญหาจุดต่างๆ ได้มากน้อยแค่ไหน”

ชัชชาติ ทะลุกรอบ กทม. ไปต่อได้ ?

ด้าน รศ.โอฬาร มองว่า เรื่องใหญ่หลังการเลือกตั้ง ผู้ว่า กทม. ครั้งนี้ คือ ต้องทำให้ กทม. เป็นการปกครองแบบพิเศษจริงๆ คือสามารถที่จะบริหารจัดการตัวเองได้อย่างเต็มที่ ระเบียบที่เป็นอุปสรรคต้องทำให้เกิดความคล่องตัว ตามอำนาจหน้าที่ของผู้ว่าฯ กทม. โดยที่กระทรวงมหาดไทย รัฐบาลกลาง จะต้องแทรกแซงน้อยที่สุด ยกตัวอย่างการทำงานสมัย พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ซึ่งใช้ระบบราชการนำ ข้อดีคือ ไม่ผิดระเบียบแบบแผนทางกฎหมาย ข้อเสียคือ ล่าช้า และไม่สามารถให้บริการประชาชนได้

“หากต้องการจะเปลี่ยน กทม. จริงๆ ต้องปรับรูปแบบการปกครอง กทม. แนวใหม่ หรือในต่างประเทศเรียกว่า ‘New Local Governance’ โดยดึงเอาภาคีเครือข่ายต่างๆ เข้ามาร่วมทำงาน ทั้งภาคประชาชน และเอกชน ร่วมกำหนดนโยบายตั้งแต่ระดับเขต ผ่านการสร้างแรงจูงใจมาตรการทางภาษี เปิดโอกาสให้นักการเมือง ได้มีโอกาสสร้างปฏิส้มพันธ์กับ ชุมชน ก็จะช่วยทำให้ 214 นโยบายของชัชชาติเข้าใกล้ความจริงมากขึ้น”

รศ.โอฬาร ถิ่นบางเตียว นักรัฐศาสตร์ ม.บูรพา

“สมัย ผู้ว่าฯ อัศวิน ขวัญเมือง ใช้ระบบราชการนำ ข้อดีคือ ไม่ผิดระเบียบแบบแผนกฎหมาย ข้อเสียคือล่าช้า ไม่สามารถบริการประชาชนได้ กทม.ต้องเปลี่ยน ไม่ใช้ระบบราชการนำ หรือ New Local Governance ดึงภาคีเครือข่ายอื่นเข้ามาร่วมทำงาน ให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ ให้ประชาชนได้ประโยชน์

รศ.โอฬาร ถิ่นบางเตียว นักรัฐศาสตร์ ม.บูรพา

นอกจาก กฎระเบียบระบบราชการใน กทม. แล้ว วัฒนธรรมองค์กร ยังเป็นโจทย์ใหญ่ที่ท้าทายการใช้อำนาจของ ผู้ว่า กทม. คนใหม่ รศ.โอฬาร มองว่า ชัชชาติ กำลังถูกท้าทายภายใต้ระบบราชการเดิม เพราะแม้ผู้นำจะมีวิสัยทัศน์ดี สามารถสื่อสารได้ แต่ทำงาน หรือ ประสารงานกับคนในองค์กรไม่ได้ก็อาจจะเป็นเรื่องยากลำบาก สุดท้ายผู้นำ อาจจะต้องใช้อำนาจนิยม ผ่านระเบียบกฎหมาย หากใครไม่ทำก็จะถูกบีบ ตามตัวชี้วัด KPI และอาจทำให้องค์กรปั่นป่วน กระทบระบบวัฒนธรรมแบบเดิม หากข้าราชการปรับตัวไม่ทัน ก็อาจกลายเป็นผลเสีย

การเปลี่ยนวัฒนธรรม ให้ข้าราชการแข่งขันกันทำงานเพื่อประชาชน จึงเป็นคอนเซ็ปต์ในฝัน เช่นเดียวกับการทลายรัฐรวมศูนย์ และกฎระเบียบของระบบราชการ จะทลายลงได้หรือไม่ก็อยู่ที่ วิสัยทัศน์ และฝีมือในการประสานงาน ทั้งบู้ และบุ๋นของทีมงาน ชัชชาติ และข้าราชการทุกฝ่าย

Author

Alternative Text
AUTHOR

บุศย์สิรินทร์ ยิ่งเกียรติกุล

เรียนจบสายวิทย์-สังคมฯ-บริหารรัฐกิจฯ ทำงานไม่ตรงสาย และกลายเป็น "เป็ด" โดยไม่รู้ตัว สนใจการเมือง จิตวิทยาเด็ก วิธีคิดการมองสังคม และรักการสัมภาษณ์ผู้คน