ม็อบดินแดง สะท้อนปัญหาหลายเรื่องยังไม่ได้รับการแก้ไข

นักรัฐศาสตร์ ชี้ การเคลื่อนไหวครั้งนี้ไม่ใช่แค่ประเด็นทางการเมืองแต่สะท้อน ปัญหาความเหลื่อมล้ำ เศรษฐกิจ มองการเลือกตั้งจะเป็นเครื่องมือทางการเมืองที่ช่วยบรรเทาความขัดแย้ง

หลังเสร็จสิ้นกิจกรรม “เดินไล่ตู่” จากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถึง อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ นี่เป็นการกลับมารวมกันอีกครั้งของ การชุมนุมมวลชนอิสระในรอบ 7 เดือน นับจากครั้งสุดท้ายใน เดือน พ.ย. 2564 ที่เรียกร้องให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ลาออกจากตำแหน่ง และเตรียมนัดชุมนุมกันต่อเนื่อง โดยเฉพาะ พื้นที่สามเหลี่ยมดินแดงที่เกิดเหตุปะทะ และยังเป็นพื้นที่สะท้อนปัญหาความเหลื่อมล้ำของเมืองในหลายมิติ

The Active สัมภาษณ์ รศ.ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ซึ่งมองความเคลื่อนไหวครั้งนี้สะท้อนถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำ นอกจากจะเป็นโค้งสุดท้ายของ รัฐบาล ม็อบครั้งนี้สะท้อนว่า ปัญหาหลายเรื่องยังไม่ถูกแก้ไข ขณะที่ความเหลื่อมล้ำส่วนหนึ่งก็ยังเป็นผลพวง นโยบาย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

“การชุมนุมที่ดินแดง สะท้อน ความเดือดร้อนในทางเศรษฐกิจ ขณะที่การแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างในพื้นที่ก็ยังเห็นภาพไม่ชัด ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ยังเป็นผลมาจากนโยบายรัฐ สะท้อนผ่าน 8-9 ปี หลังรัฐประหาร ตัวเลขจากธนาคารโลก ชี้ชัดไทยมีช่องว่างคนรวย-คนจนเพิ่มขึ้น รัฐให้ความสำคัญกับกลุ่มทุน ละเลยภาคประชาสังคม ทำให้ปัญหาตรงนี้ถูกผลิตซ้ำ การแก้ปัญหาจะมองแค่ว่าเป็นเรื่องของม็อบ ความรุนแรง รายได้ปากท้อง อาจจะไม่พอ จำเป็นต้องแก้ปัญหาในเชิงนโยบาย และเชิงระบบด้วย…”

รศ.ยุทธพร อิสรชัย นักรัฐศาสตร์

โค้งสุดท้าย รัฐบาล คสช. อยู่ครบวาระ

รศ.ยุทธพร ย้ำว่าปัญหาหลายอย่าง ยังไม่ได้รับการแก้ไขทั้ง การเมือง เศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำในสังคม การกลับมาเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาจึงยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยเหลือเวลาอีกไม่ถึง 1 ปี สภาผู้แทนราษฎรก็จะครบวาระการดำรงตำแหน่ง เป็นผลให้รัฐบาลต้องสิ้นอายุตามไปด้วย แต่จุดที่น่าสนใจ คือ กระบวนการตรงนี้หากปลายทางมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น โอกาสที่จะเห็นทางออกความขัดแย้ง ยังพอมีโอกาส แต่หากการเลือกตั้งไม่เกิดขึ้น การออกมาเรียกร้องชุมนุมก็ยังมีโอกาสเกิดขึ้น

รศ.ยุทธพร อิสรชัย นักรัฐศาสตร์

ขณะเดียวกันหลังการเลือกตั้ง ผู้ว่าฯ กทม. เรื่องของเมืองถูกปลุกให้เกิดขึ้น และมีกิจกรรมที่เกิดขึ้นในเมืองอย่างหลากหลาย เช่น ดนตรีในสวน หรือแม้กระทั่งการชุมนุมทางการเมือง ฯลฯ ถือเป็นมิติการมีส่วนร่วม แต่ที่น่ากังวลคือความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากการชุมนุม ซึ่งยังไม่ชัดเจนว่า เป็นความรุนแรงที่เกิดขึ้นโดยรัฐ หรือจากกลุ่มผู้ชุมนุมหากยืดเยื้อ และยังหาข้อยุติไม่ได้ว่าเกิดขึ้นจากฝ่ายใดอย่างแท้จริง

หลังจากนี้ไปกระบวนการที่จะเข้าสู่สมัยประชุมที่สำคัญ ทั้งการพิจารณากฎหมาย-งบประมาณ การยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ ทั้งเรื่องคำวินิจฉัยนายกฯ 8 ปี แม้กระทั่ง การประชุมเอเปค ซึ่งมีความเกี่ยวโยงกันทั้งหมดที่อาจเห็นการเปลี่ยนแปลงทางสังคม และในทางการเมือง โดยเฉพาะการประชุมเอเปค รศ.ยุทธพร มองความเป็นไปได้ 2 ประเด็น คือ

  1. ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ และเป็นประธานเอเปค หากสถานการณ์ไม่ถึงที่สุด เชื่อว่าจะเห็นการดึงระยะเวลาของรัฐบาลไปถึงการประชุมเอเปค
  2. กฎหมายงบประมาณ ครั้งนี้คงจะไม่มีปัญหาเพราะเป็นงบประมาณโค้งสุดท้าย ทั้งฝ่ายค้าน และรัฐบาล ต้องการงบประมาณด้วยกันทั้งสิ้น โอกาสที่จะพูดคุยได้อย่างลงตัวมีความเป็นไปได้สูง งบประมาณจึงเป็นเหตุผลของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหลังการประชุมเอเปค
  3. หลังการประชุมเอเปค เป็นช่วงการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชประจำเรียบร้อยแล้ว จึงเป็นอีก หนึ่งยุทธศาสตร์เตรียมสู่การเลือกตั้ง ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงสำหรับการยุบสภาฯ

ม็อบดินแดงสะท้อนเหลื่อมล้ำ กับ ความหวังการบริหารท้องถิ่นพิเศษ กทม.

ในข้อเท็จจริงมีการชุมนุมไปถึงบริเวณดินแดง และเห็นความรุนแรงในการปราบม็อบ ใช้กระสุนยางที่เข้มข้นมากกว่า เรื่องนี้ รศ.ยุทธพร มองถึงการเมืองในเชิงพื้นที่ ตั้งแต่ประวัติศาสตร์ การตั้งถิ่นฐานชุมชน โครงสร้างประชากร และเศรษฐกิจในดินแดง ขณะเดียวกันก็เป็นพื้นที่ที่มักจะถูกควบคุมฝูงชนอย่างเข้มข้น เพราะอยู่ใกล้กับบ้านพัก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา การชุมนุมที่ดินแดงจึงไม่ใช่แค่ประเด็นทางการเมือง แต่เป็นความเดือดร้อนจากผู้คน การลงพื้นที่ในทางวิชาการต่างๆ ก็มักจะเห็นภาพเป้าประสงค์ผู้มาชุมนุมในดินแดง ล้วนเป็นปัญหาในเชิงเศรษฐกิจ-สังคม สิ่งเหล่านี้สะท้อนว่า การแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างในดินแดงไม่ค่อยภาพการแก้ปัญหานี้ชัดนัก

รศ.ยุทธพร มองว่า ดินแดง ยังเป็นตัวสะท้อน การเมืองในระดับท้องถิ่นด้วย ว่า กทม.จะแก้ปัญหาอย่างไรในพื้นที่ของดินแดง เพราะเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาชุมชนและสังคม และอยู่ในมิติหนึ่งของการบริหาร กทม. นอกจากมิติเศรษฐกิจ การเมือง และข้อเรียกร้องต่าง ๆ ที่มีต่อรัฐบาล ซึ่งก่อนหน้านี้ ชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ ก็ออกมาแสดงความเห็นถึงการอำนวยความสะดวกในเชิงพื้นที่ของ กทม. ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญที่ผู้ว่า กทม.คนใหม่เน้นการแก้ปัญหาระดับชุมชน (เส้นเลือดฝอย) และการให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมแก้ปัญหาจึงคาดหวังจะเห็นการแก้ปัญหานี้ในระดับพื้นที่ หรือท้องถิ่นด้วยเช่นกัน ซึ่งจะเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับการเมืองระดับชาติด้วย เพราะ ที่ผ่านมาการชุมนุมมักจะเน้นไปที่การเมืองระดับชาติ แต่ในความจริงมีส่วนที่ทับซ้อนกับการเมืองท้องถิ่นอยู่ด้วย

“ที่ผ่านมา การชุมนุมมักจะเน้นไปที่การเมืองระดับชาติ แต่ในความจริงมันทับซ้อนอยู่กับการเมืองท้องถิ่นด้วย คาดหวังให้การแก้ปัญหาดินแดง เป็นตัวสะท้อนการเมืองระดับท้องถิ่น ต้องดูว่า กทม.จะแก้ปัญหาอย่างไรในพื้นที่ของดินแดง เพราะเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาชุมชนและสังคม และอยู่ในมิติหนึ่งของการบริหาร กทม. นอกจากมิติเศรษฐกิจ การเมือง และข้อเรียกร้องต่าง ๆ ที่มีต่อรัฐบาล”

รศ.ยุทธพร อิสรชัย นักรัฐศาสตร์

เลือกตั้งระดับชาติ ลดอุณหภูมิความขัดแย้ง

ในอดีตเราเห็นการเลือกตั้งในเชิงยุทธศาสตร์ ซึ่งแตกต่างจากการเลือกตั้งในช่วงเวลานี้ ที่เราเน้น “เลือกตั้งเพื่อการเปลี่ยนแปลง” หรือ Vote for Change ปลุกความต้องการของประชาชน ปลุกการมีส่วนร่วมให้เกิดขึ้น การเลือกตั้งที่เกิดขึ้นก็จะเป็นการเลือกตั้งเพื่อการเปลี่ยนแปลง รศ.ยุทธพร มองว่า 2 ส่วนที่ต้องสอดรับคือการเมืองระดับชาติ และท้องถิ่น ต้องทำงาน และแก้ปัญหาร่วมกัน โดยเฉพาะการเลือกตั้ง กทม.ที่ผ่านมา ที่มีความชอบธรรมทางการเมือง รศ.ยุทธพร ทิ้งท้ายว่า การเลือกตั้ง คือความหวังของประชาชน การเดินหน้าสู่กติกา ที่ชอบธรรม เป็นทางออกสำคัญของการแก้ความขัดแย้งทางการเมือง ขณะที่ฝ่ายนิติบัญญัติก็จำเป็นต้องทำหน้าที่ให้กระบวนการการเลือกตั้งถูกต้องเป็นธรรม และโปร่งใส การเลือกตั้งจึงเป็นเครื่องมือทางการเมืองที่จะช่วยบรรเทาความขัดแย้งการเข้าสู่อำนาจ มาสู่ สันติวิธี

Author

Alternative Text
AUTHOR

บุศย์สิรินทร์ ยิ่งเกียรติกุล

เรียนจบสายวิทย์-สังคมฯ-บริหารรัฐกิจฯ ทำงานไม่ตรงสาย และกลายเป็น "เป็ด" โดยไม่รู้ตัว สนใจการเมือง จิตวิทยาเด็ก วิธีคิดการมองสังคม และรักการสัมภาษณ์ผู้คน