คดีเยาวชนพุ่งกว่า 200 ราย! 3 เดือน สูงกว่ายอดรวมทั้งปี ศูนย์ทนายสิทธิฯ หวั่น มีเด็กตกหล่น ไม่ได้รับการประกันตัว

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษชน เผย ตัวเลขคดีทางการเมืองสูงเฉียด 800 คดี มีผู้ถูกดำเนินคดีกว่า 1,458 คน ในจำนวนนี้เป็นเยาวชนมากถึง 200 ราย ‘ทิชา’ มอง องค์กรคุ้มครองเด็กในไทยยังนิ่ง

26 ต.ค. 2564 – ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เก็บสถิติตัวเลขของประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองและการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2563 จนถึง 21 ตุลาคม 2564 พบว่ามีประชาชนถูกดำเนินคดีไปแล้วอย่างน้อย 1,458 คน จำนวน 794 คดี ซึ่งในจำนวนผู้ถูกดำเนินคดีทั้งหมดนี้ เป็นกลุ่มเด็กและเยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีจำนวน 254 คน และเป็นยาวชนที่ถูกจับกุม ในการชุมนุมที่ดินแดง อย่างน้อย 192 คน ใน 61 คดี คิดเป็น 75 % ของเด็กและเยาวชนที่ถูกดำเนินคดีทั้งหมด

คุ้มเกล้า ส่งสมบรูณ์ จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า ตัวเลขของเยาวชนที่ถูกดำเนินคดีตั้งแต่กรกฎาคม 2563 ถึง กรกฎาคม 2564 มีเด็กและเยาวชนถูกดำเนินคดี อยู่ที่ 50 คน ขณะที่มีตัวเลขที่น่าสนใจ คือ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ถึง ตุลาคม 2564 มีเยาวชนถูกดำเนินคดีเพิ่มขึ้นเกือบ 200 คน ภายใน 3 เดือนที่ผ่านมา ส่วนมากจะอยู่ในพื้นที่การชุมนุมในพื้นที่ดินแดง

ข้อมูลจาก เว็บไซต์ของ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า มีผู้ถูกจับกุมจากการชุมนุมเกิดขึ้น ในช่วงเดือนกันยายน จำนวน 2 ใน 3 ของรอบเดือน ซึ่งคิดเป็นตัวเลขไม่น้อยกว่า 269 ราย เป็นเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี อย่างน้อย 80 ราย อายุต่ำสุดอยู่ที่ 12 ปี คิดเป็นอัตราส่วน เท่ากับร้อยละ 29 ของผู้ถูกจับกุมทั้งหมด เท่าที่ศูนย์ทนายสิทธิฯ เก็บสถิติ

ข้อมูลระบุอีกว่า ในจำนวนนี้ มีเยาวชนกลุ่มหนึ่งที่ไม่ได้รับการประกันตัวเนื่องจากเป็นเยาวชนที่ต้องมีผู้ปกครองมาลงลายมือชื่อรับทราบ แต่ปรากฏว่า 3 รายในจำนวนที่ระบุมานี้ เป็นหญิงไร้บ้านชาวกัมพูชา 1 คน จากกรณี #ม็อบ11กันยา มีปัญหาในเอกสารการยืนยันตัวบุคคล, เยาวชนชายอายุ 16 ปี ถูกจับกุมจากกรณีการทุบตู้ควบคุมไฟจราจร ไม่มีผู้ปกครองมารองรับการประกันตัว และอีกหนึ่งคน เป็นผู้ชุมนุมทะลุแก๊สชาย ที่ถูกจับกุมซ้ำ 2 คน ทำให้ศาลเห็นว่าผิดเงื่อนไขการประกันตัว จึงทำให้ไม่สามารถที่จะประกันตัวออกมาได้ ซึ่งขณะนี้ถูกฝากไว้ที่สถานพินิจ

คุ้มเกล้า ส่งสมบรูณ์ ยังระบุอีกว่า มีความคาดหวังเกี่ยวกับหน่วยงานของรัฐ เพราะมองว่าในประเทศไทยมีหน่วยงานที่ทำงานเกี่ยวกับสิทธิเด็กและเยาวชนจำนวนมาก

“สิทธิในการได้รับการประกันตัว เป็นของคนทุกคน รวมถึงเด็กและเยาวชนด้วย ตราบใดที่ศาลยังไม่ตัดสิน เราก็ยังเป็นผู้บริสุทธ์ ยังได้รับการประกันตัวเพื่อออกมาต่อสู้คดี เราต้องทำความเข้าใจร่วมกันว่า ปัจจุบัน โอกาสแบบนี้เกิดขึ้นได้อยู่แล้ว ที่เด็กจะเติบโตมาในพื้นที่ ที่บ้านไม่ใช่ที่ปลอดภัย หรืออาจจะเป็นคนที่ถูกทอดทิ้งตั้งแต่เด็ก แล้วไม่มีพ่อแม่ และเมื่อเขาถูกดำเนินคดีอาญา จริง ๆ รัฐเองต้องมีกลไกการแก้ปัญหา หรือดำเนินการเพื่อแสวงหาผู้ปกครองให้กับเด็กคนนี้”

ทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก มองว่าเหตุการณ์เช่นนี้ คือ ความไม่เป็นธรรมที่เยาวชนได้รับ การที่พวกเขายังไม่ถูกตัดสิน แต่เขาต้องเข้าไปอยู่ในการดูแลของสถานพินิจ นั่นหมายถึงว่าเขาเข้าไปพร้อมกับความพ่ายแพ้ และไม่ได้รับความเป็นธรรม ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมของเขาในอนาคต รวมทั้งเหตุการณ์เหล่านี้กำลังสะท้อนความล้มเหลวของกระบวนการทำงานของภาครัฐ ที่มีบทบาทหน้าที่เกี่ยวกับเด็กและเยาวชน ทำให้ตอนนี้องค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนอยู่ในสภาวะสูญญากาศ

“เราก็ไม่เห็นองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการทำร้ายเด็ก หรือสิทธิเด็ก ออกมาพูดแทนเด็ก พูดแทนครอบครัว และปกป้องเด็ก นั่นแสดงให้เห็นว่า การมองผ่านทางปรากฏการณ์ มันอาจจะทำให้คนกลุ่มหนึ่งขาดความกล้าหาญที่จะออกมาปกป้อง โดยเฉพาะในเรื่องการเมือง ก็เลยเหมือนกับปล่อยให้เป็นชะตากรรมส่วนตัว ใครสู้ได้ก็สู้ไป ใครสู้ไม่ได้ก็จบกันไป”

ทั้งนี้ คุ้มเกล้า ส่งสมบรูณ์ ทนายความ จากศูนย์ทนายสิทธิฯ เสนอว่า นักการเมือง อย่างเช่นกรรมาธิการที่ทำงานในส่วนของเด็กและเยาวชน ควรเร่งนำเรื่องนี้เข้าไปพิจารณาในสภา และองค์กรที่เกี่ยวกับเด็กและเยาวชน ควรเร่งจัดการและเข้ามามีบทบาทในเหตุการณ์มากกว่านี้ เพื่อให้เด็กได้รับความเป็นธรรมตามหลักสิทธิมนุษยชน ว่าด้วยอนุสัญญาสิทธิเด็ก ทั้งสิทธิในการชุมนุมแสดงความคิดเห็น สิทธิที่เขาจะได้รับการคุ้มครองและประกันตัว

ซึ่งขณะนี้ยังมีการตามจับกุมผู้ชุมนุมอย่างต่อเนื่อง เช่น เมื่อวันที่ 21 ตุลาคมที่ผ่านมา มีรายงานว่า มีการจับกุมผู้ชุมนุมเพิ่มอีก 11 คน หนึ่งในนั้นเป็นเยาวชนอายุ 17 ปี