ชัชชาติ ย้ำ จัดงบฯ ตามหลักความจำเป็น ประสิทธิภาพ โปร่งใส สอดคล้องยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนากทม. เดินหน้า กรุงเทพฯ เมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน ส.ก. ก้าวไกล เสนอสูตรเพิ่มประสิทธิภาพหารายได้ นำเงินไปพัฒนาเมือง
วันนี้ (6 ก.ค.2565) ที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร พิจารณาญัตติ ร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 วงเงิน 7.9 หมื่นล้านบาท ถือเป็นการพิจารณางบประมาณ ของ กทม.โดย ส.ก.ที่มาจากการเลือกตั้งครั้งแรก ในรอบ 8 ปี โดยมีการถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊กและยูทูบ “สภากรุงเทพมหานคร Thai pbs และ เพจ The Active
- กางร่างงบฯ กทม.ปี 66 วงเงิน 7.9 หมื่นล้านบาท
- 10 เรื่องต้องรู้ ก่อนการพิจารณางบประมาณ กทม. ปี 66
- ไทยพีบีเอส ร่วมกับ สภา กทม. ถ่ายทอดสดออนไลน์พิจารณางบฯ 66
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรงุเทพมหานคร กล่าวชี้แจงต่อที่ประชุมว่า กทม. ขอเสนอร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 โดยกำหนดวงเงินให้เหมาะกับสภาวะเศรษฐกิจ และสถานะการเงินการคลังของกรุงเทพมหานคร บนหลักของความจำเป็น ประสิทธิภาพและความโปร่งใส โดยประเมินสถานการณ์ที่ผ่านมาเศรษฐกิจหดตัวจากสถานการณ์โควิด-19 สถานการณ์สงครามรัสเซียและยูเครนที่มีผลต่อรายได้ครัวเรือนมีแนวโน้มลดลง ขณะที่ค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้น แต่สถานการณ์มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากการแก้ปัญหาโควิด-19 ได้ดี ประกอบกับมาตรการช่วยเหลือด้านค่าครองชีพที่ส่งผลให้เศรษฐกิจดีขึ้นตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม เริ่มมีการจัดทำข้อบัญญัติฯเรื่องงบประมาณรายจ่ายประจำปีตั้งแต่ 15 พ.ย. 64 ตนเข้ามารับตำแหน่งในวันที่ 1 มิ.ย. 2565 ในช่วงที่เกือบจะร่างเสร็จแล้ว และได้ส่งมอบต่อประธานสภากทม. เมื่อวันที่ 20 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยพิจารณาเหตุผลความจำเป็นในการใช้จ่ายงบประมาณ ตามภาระ อำนาจ หน้าที่ เกิดความคุ้มค่า ประหยัด คำนึงถึงผลสัมฤทธิ์สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 แผนพัฒนากรุงเทพมหานคร 20 ปี แผนปฏิบัติราชการกรุงเทพมหานคร ประจำปีพ.ศ. 2565
นอกจากนี้ ยังปรับให้สอดคล้องกับบางส่วนของวิสัยทัศน์การบริหารงานกรุงเทพมหานครของตน คือกรุงเทพฯเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน โดยนำดัชนีชี้วัดเมืองน่าอยู่ของ Economist Intelligence Unit (EIU) เป็นฐานคิดพัฒนานโยบายนำมาสู่ นโยบาย 9 มิติ และ แผนปฏิบัติการมากกว่า 200 ข้อ หวังว่าที่สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร จะให้การสนับสนุนรับหลักการร่างข้อบัญญัติฉบับนี้เพื่อประโยชน์ต่อประชาชนและกรุงเทพมหานครสืบไป
บรรยากาศในที่ประชุม ส.ก. ได้ลุกขึ้นอภิปรายงบประมาณในประเด็นต่าง ๆ ทั้งในภาพรวมของการจัดงบประมาณ รวมไปถึงการจัดเก็บรายได้ของ กทม. ที่มีผลต่อการนำมาพัฒนาในโครงการต่าง ๆ ของกทม.
สัณห์สิทธิ์ เนาถาวร ส.ก.เขตวัฒนา พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า การจัดเก็บรายได้ของ กทม.ยังไม่มีประสิทธิภาพ เช่น ภาษีที่ดินและสิ่งปลูก ถ้าเรามีเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ เข้าถึงข้อมูล ให้แรงจูงใจเจ้าหน้าที่ที่สามารถจัดเก็บได้เกินเป้าก็จะได้โบนัส ทำให้กทม.มีรายได้เพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ อยากให้ กทม.เป็นกทม. ที่เราภูมิใจเป็นเมืองหลวงที่ยิ่งใหญ่ เก็บภาษีได้อย่างสมเหตุสมผล ยกตัวอย่างโซนเอกมัยที่เป็นพื้นที่สีแดงพื้นที่พาณิชย์ แต่กลับมีคนไปปลูกกล้วยกลางเมือง ควรจะละเว้นภาษีเกษตรกรรมในพื้นที่ได้หรือไม่ หรือยกเพดาภาษีให้สูงสุด
ขณะที่ในส่วนของค่าธรรมเนียมเก็บขยะ 7,000 ล้านบาท ตั้งเป้าเก็บ ปี 2566 แค่ 800 ล้านบาท ด้านหนึ่งแม้จะดีกับประชาชนที่ไม่ต้องควักกระเป๋าจ่าย แต่ผู้ประกอบการนายทุนที่มีรายได้เป็นร้อยล้านบาท กลับจ่ายค่าขยะ 3-4 หมื่นบาท ตรงนี้จะมีการปรับอัตราการเก็บขยะนายทุนใหม่หรือไม่ ถ้าจัดเก็บภาษีแบบก้าวไกลจะมีเงินเพิ่ม 5,300 ล้านบาท แบ่งเป็นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 5,290 ล้านบาท ภาษีบำรุงท้องที่ 10 ล้านบาท สามารถนำงบจำนวนนี้ไปทำอะไรได้หลายอย่าง ทั้งงบที่ประชาชนมีส่วนร่วม ไปพัฒนาศูนย์เด็กเล็กทั่วกทม. กว่า 262 แห่ง หรือไปลอกท่อ ส่วนตัวรู้สึกเสียดายและผิดหวังกับการจัดเก็บรายได้ที่ตกหล่นหากให้โฮกาสนี้มีวิธีการจัดเก็บที่มีศักยภาพก็จะนำเม็ดเงินที่ได้ไปพัฒกทม.ได้มากยิ่งขึ้น
สุทธิชัย วีรกุลสุนทร ส.ก. เขตจอมทอง พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า งบประมาณในส่วนของสำนักการระบายน้ำ 6,466 ล้านบาท มีพันธกิจแก้ปัญหาน้ำท่วมของบมาเยอะมากทุกปี แต่ฝนตกน้ำก็ยังท่วม คนกรุงเทพฯ เดินทางลำบาก ในรายละเอียดจะมี โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำคลองเปรมประชากรจากคลองบางบัวลงแม่น้ำเจ้าพระยา 9,800 ล้านบาท ซึ่งมีประโยชน์อย่างยิ่ง แต่พอไปดูรายละเอียดของบฯ มาแล้วแต่กลับมีความคืบหน้าไม่มากนัก จึงอยากถามสำนักระบายน้ำว่า ปี 2569 โครงการนี้จะเสร็จตามแผนหรือไม่ เพราะถ้ายิ่งช้าประชาชนยิ่งเดือดร้อน
นอกจากนี้ ยังมีรายละเอียดแต่ละโครงการที่พบมีการจ้างที่ปรึกษา รวม 390 ล้านบาท อยากถามว่าจ้างที่ปรึกษาทำอะไร เพราะในการทำโครงการ ที่ปรึกษาจะเก่งกว่า สำนักการระบายน้ำของเราหรือไม่ สำนักการระบายน้ำ มีทั้งช่างเครื่องกลจำนวนมาก มีโครงสร้างการทำงาน มีคนที่มีคามสามารถ จะไปจ้างที่ปรึกษาทำไม นำไปใช้ทำอย่างอื่นจะเหมาสะมกว่าไหม และหากโครงการมีปัญหา ที่ปรึกษารับผิดชอบหรือไม่ ถึงเวลาต้องแก้ปัญหาน้ำท่วมให้ครบระบบ
ด้าน จักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าฯ กทม. ชี้แจงว่า ในการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง มีปัญหาอยู่หลายด้าน เช่น จากข้อมูลโฉนดที่ได้มาไม่ตรงกับสภาพจริง เวลาฝ่ายจัดหารายได้ลงไปสำรวจแล้วไม่ได้รับความร่วมมือ หรือประเมินแล้วไม่รับใบประเมินมากกว่าครึ่งถูกตีกลับ จึงได้เชิญหัวหน้าฝ่าย 50 เขตมาหารือในขณะที่ระบบปัจจุบันก็ยังมีปัญหา บุคลากรยังมีอัตราไม่เต็มจำนวน ขณะนี้กำลังทำสารสนเทศภาษีเพื่อเป็นฐานเก็บภาษี ถ้าระบบดำเนินการได้แล้วเสร็จ การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างก็จะเพิ่มขึ้น ตั้งเป้าว่าปี 2566 จะจัดเก็บได้ 7,710 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่า ปี 2565