คืนชีพบัตรใบเดียว? ประชาชนเสียสิทธิ ถอดบทเรียนเลือกตั้ง 62

ถอดบทเรียนเลือกตั้ง 62 นักรัฐศาสตร์ มอง รัฐบาลผสมไร้ประสิทธิภาพ แนะ ระบบเลือกตั้งที่ดี ควรออกแบบเพื่อตอบสนองประชาชน สะท้อนเจตจำนง และสร้างทางเลือกเชิงนโยบาย

ท่ามกลางความไม่แน่นอนของ ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งฯ ว่าสูตรหาร 500 จะผ่านด่านที่ประชุมรัฐสภา หรือ ด่านศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ ก็เริ่มมีสัญญาณจากทำเนียบรัฐบาล ถึงแนวคิดการฟื้นคืนชีพบัตรเลือกตั้งใบเดียว เลือกทั้งคนเลือกทั้งพรรค เหมือนกติกาเดิมในรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งใช้ในการเลือกตั้งปี 2562

หากแนวคิดฟื้นคืนชีพบัตรเลือกตั้งใบเดียวนำไปสู่การปฏิบัติจริง หมายความว่า ความพยายามแก้รัฐธรรมนูญที่เสร็จสิ้นไปแล้ว ด้วยการกำหนด ส.ส. แบบแบ่งเขต 400 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เลือกคนที่รัก เลือกพรรคที่ชอบ จะสูญเปล่าทั้งหมด รวมถึงความพยายามแก้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ ก็จะไม่มีความหมาย เป็นการกลับไปกลับมาอย่างที่นักการเมืองบางคนนิยามว่า ถ้าทำแบบนั้นรัฐสภาไทยจะเป็น “สภาที่ประหลาดที่สุดในโลก”

พรรคร่วมได้เปรียบทางการเมือง แต่ประชาชนเสียสิทธิ ?

ชัดเจนว่าแนวคิดการฟื้นคืนชีพบัตรใบเดียว มาจากมุมมองของฝ่ายพรรคร่วมรัฐบาล ที่อาจสร้างความได้เปรียบทางการเมืองมากกว่าเลือกตั้ง 2 ใบ เหมือนครั้งที่ บัตรใบเดียว ก็เคยส่ง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกสมัย ภายใต้ความร่วมมือของพรรคร่วมรัฐบาลอีกกว่า 10 พรรค และเสียงจากสมาชิกวุฒิสภาอีก 250 เสียง ที่ คสช. แต่งตั้งขึ้นมาแล้ว

แต่ในทางวิชาการ การใช้บัตรใบเดียวเลือกทั้งพรรค เลือกทั้งคน อาจมองได้ว่าเป็นการตัดสิทธิทางการเมืองของผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้เหลือทางเลือกน้อยลง และอาจจะทำให้ผู้สมัครแบบแบ่งเขตมีความสำคัญมากขึ้น ผลคือ ระบบอุปถัมภ์ในสังคม ก็จะยิ่งเข้มข้นมากขึ้น

รศ.โอฬาร ถิ่นบางเตียว อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา มองว่า ในทางการเมือจะมีทั้งการเลือกด้วยความชอบส่วนตัว และความชอบในนโยบาย บัตรใบเดียวจึงมีข้อเสีย โดยยกตัวอย่าง ประสบการณ์ส่วนตัวของ รศ.โอฬาร ว่าเขาเองชอบ ส.ส. ที่ใกล้ชิด ดูแลพึ่งพาได้ หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ ใช้งานคล่อง เป็นตัวกลางที่ดีในการแก้ปัญหาระหว่างประชาชนกับรัฐได้ แต่หากคนที่เราชอบอยู่ในพรรคการเมืองที่นโยบายไม่ดี เราก็จำใจต้องเลือกทั้งที่นโยบายของพรรคไม่ตอบโจทย์ เพราะสังคมไทยอยู่ภายใต้วัฒนธรรมการเมืองแบบอุปถัมภ์มาอย่างยาวนาน ทำให้เรารู้สึกอยากเลือกคนที่เป็นปากเป็นเสียงแทนเราได้มากกว่า ดังนั้น หากเหลือบัตรเลือกตั้งเพียงใบเดียว เท่ากับว่าประชาชนจำเป็นต้องตัดสินใจเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ระหว่างคนที่รักกับพรรคที่ชอบ เราอาจจะต้องตัดสินใจเลือกระหว่างคนที่ดูแลชาวบ้านทั่วถึง แต่ขณะเดียวกันก็อาจจะต้องทิ้งเรื่องนโยบาย ต่างจากบัตร 2 ใบ ที่จะทำให้ประชาชนได้พิจารณาทั้งนโยบายของพรรคและตัวบุคคลที่สามารถดูแล เป็นที่พึ่งพาและเป็นตัวกลางให้กับประชาชนได้ พร้อมย้ำว่า นโยบายที่ดียังควรเน้นการกระจายอำนาจและทรัพยากรลงสู่ท้องถิ่น ขณะที่ ระบบก็ควรเอื้อให้ประชาชนมีสิทธิเลือกทั้ง “คนที่รักและพรรคที่ชอบ”

“หากเหลือบัตรเลือกตั้งเพียงใบเดียว เท่ากับว่าประชาชนจำเป็นต้องตัดสินใจเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ระหว่างคนที่รักกับพรรคที่ชอบ เราอาจจะต้องตัดสินใจเลือกระหว่างคนที่ดูแลชาวบ้านทั่วถึง แต่ขณะเดียวกัน อาจจะต้องทิ้งเรื่องนโยบาย”

รศ.โอฬาร ถิ่นบางเตียว อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

ขณะที่ รศ.ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) มีข้อเสนอว่า ระบบที่เหมาะสมกับไทยควรจะต้องเป็นบัตรสองใบแบบสัดส่วนผสม หรือ MMP (Mixed-member proportional) ซึ่งหัวใจของระบบนี้ คือ คะแนนบัญชีรายชื่อจะเป็นตัวกำหนดจำนวน ส.ส. ที่พรรคการเมืองแต่ะพรรคพึงมีในสภา และระบบเลือกตั้งแบบ MMP จะมีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ใบหนึ่ง เลือกพรรค อีกใบเลือก ส.ส. ในเขต ต่างจากของไทยที่พยายามใช้ระบบนี้แต่กลับใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว ในปี 2562 โดยผลที่ตามมา คือ การทำให้ไทยมีรัฐบาลแบบจัดสรรปันส่วนผสม หรือรัฐบาลผสมที่ไร้ประสิทธิภาพ และทำให้โครงสร้างระบบรัฐสภาบิดเบี้ยวในตัวเอง โดย รศ.ยุทธพร ได้สรุปบทเรียนจากการเลือกตั้งในปี 2562 ด้วยระบบบัตรเลือกตั้งใบเดียวไว้ถึง 11 ประการ คือ

  • สร้างระบบที่บิดเบือนและไม่ใช่การเลือกตั้งที่เป็นธรรม
  • สร้างความสับสนไม่สะท้อนเจตจำนงของประชาชน ทาง 3 แพร่งของเจตจำนงในการเลือกตั้ง
  • ทำลายโอกาสประชาชนในการใช้สิทธิแบบมีวิจารณญาณ
  • ปิดกั้นโอกาสในการใช้สิทธิเลือกตั้งอย่างเสรี
  • ทำให้การซื้อเสียงเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกิดการแข่งขันอย่างดุเดือด
  • การหาเสียงเชิงนโยบายลดลงการใช้อิทธิพลและเงินมากขึ้น
  • ทำให้เกิดภาวะ “รัฐบาลผสม” ไร้ประสิทธิภาพ พรรคใหญ่ได้เปรียบ พรรคเล็กไม่ได้อะไร พรรคกลางได้เปรียบ เกิดภาวะต่อรอง ในสภา และรัฐบาล โควตารัฐมนตรี
  • เกิดความขัดแย้งในพรรค ต่อรองลำดับในบัญชีรายชื่อ
  • คณิตศาสตร์ทางการเมืองทำงานได้ดี นำไปสู่การเมืองแบบชนชั้นนำ
  • เป็นระบบที่ให้โบนัสพรรคที่ทำงานการเมืองแบบล้าหลัง
  • ไม่ได้นับทุกคะแนนผู้แทนของทุกคนอย่างแท้จริง คะแนนผู้ชนะแบบแบ่งเขตกลับถูกลดทอนในระบบบัญชีรายชื่อ

รศ.ยุทธพร ยังได้เสนอระบบการเลือกตั้งที่ควรออกแบบเพื่อตอบสนองประชาชน โดยจำเป็นต้องสะท้อนเจตจำนงประชาชนและการสร้างทางเลือกเชิงนโยบาย, สะท้อนความเป็นตัวแทนประชาชน, สอดคล้องกับบริบททางสังคม, สะท้อนความหลากหลายทางอุดมการณ์ ความคิด และความหลากหลายทางสังคม เช่น กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มอัตลักษณ์ กลุ่ม LGBTQ, ต้องมีกลไกรับฟังความเห็นเสียงข้างน้อย และส่งเสริมการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ, มีความง่าย เข้าถึงได้ไม่สับสน, สร้างความบริสุทธิ์ ยุติธรรมเสมอภาคในการเลือกตั้ง

นี่จึงเป็นอีกประเด็นที่ภาคประชาชนควรจับตาก่อนการเลือกตั้งครั้งใหม่ ว่า แนวคิดการฟื้นคืนชีพบัตรเลือกตั้งใบเดียว จะกลับมาอีกหรือไม่ และจะซ้ำรอยการเลือกตั้งในปี 2562 ที่เป็นจุดเริ่มต้นของรัฐบาลผสมที่ไร้ประสิทธิภาพ และกลไกรัฐสภาที่ล้าหลังหรือไม่

Author

Alternative Text
AUTHOR

บุศย์สิรินทร์ ยิ่งเกียรติกุล

เรียนจบสายวิทย์-สังคมฯ-บริหารรัฐกิจฯ ทำงานไม่ตรงสาย และกลายเป็น "เป็ด" โดยไม่รู้ตัว สนใจการเมือง จิตวิทยาเด็ก วิธีคิดการมองสังคม และรักการสัมภาษณ์ผู้คน