เรียกร้องแก้ รธน. ยกเลิกอำนาจ ส.ว. สร้างประชาธิปไตยเต็มรูปแบบ ย้ำ การเรียกร้องให้นายกฯ ลาออก เป็นไปตามหลักเคารพกฎหมายและแนวทางประชาธิปไตย ไม่ใช่เปิดทางสู่รัฐประหารซ้ำ
เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2565 ที่ ตึกมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ร่วมกันอ่านแถลงการณ์เรื่อง แนวทางการขับเคลื่อนเพื่อ “สร้างสังคมประชาธิปไตยใหม่ ประชาชนต้องกำหนดอนาคตของตนเอง บนหลักสิทธิมนุษยชน เท่าเทียมและเป็นธรรม”
สาระสำคัญของแถลงการณ์ ระบุว่า ในการบริหารประเทศภายใต้รัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา กป.อพช. เห็นว่า ได้นำพาประเทศไปสู่ความเป็นรัฐราชการรวมศูนย์ ที่เต็มไปด้วยนักการเมืองสมคบคิดกับกลุ่มทุน และได้ร่วมกันปล้นแผ่นดิน โดยการเข้ายึดกุมฐานทรัพยากรส่วนรวม ทั้ง ดิน น้ำ ป่า ทะเล
“โดยการผลิตนโยบายและโครงการต่าง ๆ เช่น ทวงคืนผืนป่า คุกคามสิทธิชุมชน รวมถึงสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์การสร้างโครงการขนาดใหญ่ เช่น นิคมอุตสาหกรรม, ท่าเรือน้ำลึก, สร้างเขื่อน, ขุดแร่ การหาผลประโยชน์จากฐานพลังงาน ทั้งไฟฟ้าแลน้ำมันเชื้อเพลิง ไม่สนใจความทุกข์ร้อนของประชาชน การผลักดัน CPTPP (ข้อตกลงความครอบคลุมและความก้าวหน้าเพื่อหุ้นส่วนทางการค้าภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก) ที่เอื้อประโยชน์กลุ่มทุนเกษตรเคมี และไม่สนใจที่จะสร้างระบบรัฐสวัสดิการประชาชน ทั้งยังลดทอนและทำลายความคิดเห็นและเสรีภาพทางสังคมการเมืองของประชาชนทุกกลุ่ม เพียงเพื่อรักษาไว้ซึ่งฐานอำนาจของตนเองและพวกพ้อง จนทำให้สูญเสียความเป็นประชาธิปไตยของประเทศ“
แถลงการณ์ยังระบุถึงข้อเรียกร้อง 3 ข้อ คือ
1. นายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องลาออกจากตำแหน่งโดยไม่มีเงื่อนไข เพื่อแสดงสปิริตต่อการเคารพกฏหมายบนพื้นฐานของหลักนิติรัฐ
2. ต้องดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีความเป็นประชาธิปไตยเต็มรูปแบบ โดยเฉพาะการยกเลิกอำนาจของสมาชิกวุฒิสภาในการเลือกนายกรัฐมนตรี
3. ต้องปล่อยตัวและยกเลิกการดำเนินคดีกับคนที่เคลื่อนไหวทางการเมือง ซึ่งถูกจับกุมในคดีต่าง ๆ ทุกคน ทุกกลุ่ม ทั้งนี้ เพื่อให้บรรยากาศทางการเมืองดำเนินไปอย่างสร้างสรรค์ก่อนการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นอีกไม่นาน
สมบูรณ์ คำแหง ประธาน กป.อพช. กล่าวว่า ตอนนี้มีความเป็นไปได้ว่านายกรัฐมนตรีจะลาออก หรือยุบสภา ซึ่งวันที่ 24 สิงหาคมนี้ จะเป็นตัวชี้ขาด ทั้งนี้ประเมินว่าศาลรัฐธรรมนูญอาจจะวินิจฉัยไม่ทัน แต่ต้องจับตาว่า จะมีคำสั่งพักการทำหน้าที่ของพลเอกประยุทธ์หรือไม่ แต่จุดยืนของเครือข่ายที่ร่วมแถลงยืนยันในวันที่ 24 สิงหาคม หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ตามข้อเรียกร้อง จะนัดหมายเพื่อเคลื่อนไหวอีกครั้งอย่างแน่นอน
“กป.อพช. พยายามเชื่อมร้อยองค์กรต่าง ๆ สู่การพัฒนา เปลี่ยนแปลงสังคม ทั้งในเชิงโครงสร้าง ประชาธิปไตย และย้ำว่าเรื่องนายกฯ ต้องออกจากตำแหน่งคือเรื่องเร่งด่วน การที่นายกฯ ลาออกเป็นการเคารพหลักนิติรัฐ เมื่อรัฐบาลอยากให้ประชาชนเคารพกฎหมาย ท่านก็ต้องแสดงสปิริต ตามหลักการพื้นฐาน สิ่งนี้จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ รวมถึงการยับยั้งลดอำนาจ ส.ว.”
สมบูรณ์ คำแหง
ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ กรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน กล่าวว่า ไม่ว่าจะมีการสั่งให้ยุติ แล้วมีรักษาการนายกฯ แทน หรือพลเอก ประยุทธ์ จะยังนั่งรัฐมนตรีว่าการประทรวงกลาโหม ตามที่หลายฝ่ายวิเคราะห์คาดการณ์ไว้หรือไม่ แต่จุดยืนของพวกเรา กป.อพช. และเครือข่ายที่ร่วมแถลงจุดยืน คือ วันที่ 24 สิงหาคม นายกรัฐมนตรีต้องลาออกเท่านั้น
“จริง ๆ แล้วการที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยสำคัญน้อยกว่าด้วยซ้ำ เพราะเขาอยู่มาเกิน 8 ปีแล้ว และในรัฐธรรมนูญมาตรา 158 ระบุไว้ชัดว่าเขาอยู่ไม่ได้ ดังนั้น หากจะอยู่ก็ไม่มีความชอบธรรม ซึ่งเรายังคงย้ำว่า นายกรัฐมนตรีต้องลาออกด้วยตัวเอง“
ยิ่งชีพ อัชฌานนท์
ณัฐพร อาจหาญ กรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน ย้ำว่า การให้นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่ง เป็นไปตามแนวทางเคารพกฎหมายและแนวทางประชาธิปไตย ไม่ใช่การเปิดทางเรียกให้ทหารกลับมา นำไปสู่การรัฐประหาร โดยยืนยันคัดค้าน บนหลักการพาสังคมสู่ประชาธิปไตยไม่ย้อนกลับสู่เผด็จการ
สำหรับ คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน หรือ กป.อพช. (ระดับชาติ) ก่อตั้งมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2528 ถึงปัจจุบัน มีองค์กรภาคีเครือข่ายที่เป็นคณะกรรมการฯ ในระดับภูมิภาคทั้ง 5 ภาค และมีองค์กรสมาชิกล่าสุดกว่า 300 องค์กร ทั่วประเทศ โดยได้มีการกำหนดยุทธศาสตร์การเคลื่อนไหวทางสังคม “สร้างสังคมประชาธิปไตยใหม่ ประชาชนต้องกำหนดอนาคตของตนเอง บนหลักสิทธิมนุษยชน เท่าเทียมและเป็นธรรม“ โดยมียุทธศาสตร์สำคัญ 4 ข้อ
1. สนับสนุนการขับเคลื่อนของขบวน กป.อพช. และขบวนประชาชนในระดับภูมิภาค เพื่อให้มีการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเชิงพื้นที่ รวมถึงการการแก้ไขกฏหมายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองสิทธิชุมชน สิทธิมนุษยชนและการปกป้องฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
2. สร้างการเปลี่ยนแปลงระดับโครงสร้าง ผ่านการรณรงค์ ผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับเพื่อให้มีความเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์
3. สนับสนุนให้มีการเสริมสร้างขบวนคนรุ่นใหม่ เพื่อเปิดพื้นที่การเชื่อมโยงกับขบวนประชาชนจากทุกภูมิภาค
4. เชื่อมโยงกับกลไกระหว่างประเทศ เพื่อประสานความร่วมมือในการปกป้องประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชนระดับสากล