เครือข่ายรักษ์พะโต๊ะ -ระนอง สภาประชาชนภาคใต้ จัดเวทีคู่ขนาน ชี้  ไม่ไว้วางใจนายกฯ แพทองธาร  

จี้ หยุด​ แลนด์บริดจ์  พ.ร.บ. SEC  เปิดโอกาสต่างชาติเข้ามาถือครองที่ดินเกือบ 99  ปี  อนาคตคนในพื้นที่อาจพลัดถิ่น ไร้ที่อยู่ ไร้รายได้ ไร้อาชีพ 

วันนี้  ( 24 มี.ค.68 ) ในเวที หยุดแลนด์บริดจ์ / SEC  ที่จัดขึ้นโดยเครือข่ายรักษ์พะโต๊ะ -ระนอง และสภาประชาชนภาคใต้  ณ  อ.พะโต๊ะ จ.ชุมพร  โดยภาคประชาชนในพื้นที่ตั้งใจให้เป็นเวทีคู่ขนานการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีแพทองธาร  เนื่องจากคาดว่าประเด็นนี้อาจไม่ถูกหยิบยกมาอภิปรายในรัฐสภา และคงไม่รอให้แค่ฝ่ายค้านออกมาอภิปราย  แต่ภาคประชาชนผู้ที่ได้รับผลกระทบในเรื่องนี้ในพื้นที่จะขออภิปรายให้สังคมได้รับรู้ด้วยตนเอง 

สมบูรณ์ คำแหง  ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน ( กป.อพช.)  กล่าวว่า  โครงการแลนด์บริดจ์ ชุมพร-ระนอง  เป็นโครงการเมกะโปรเจคที่ถูกนำเสนอตั้งแต่รัฐบาลเศรษฐาเข้ามาบริหารประเทศ  ได้เดินสายไปขายโครงการนี้ให้หลายประเทศ เพื่อให้มาลงทุนโครงการดังกล่าวในประเทศไทย  และอาจต้องใช้เงินลงทุน 1.1 ล้านล้านบาท เป็นเมกะโปรเจค ที่ถูกส่งต่อมาจากปลายรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา 

และมาในยุครัฐบาลแพทองธาร  ชินวัตร  ก็สืบทอดโครงการนี้ต่อ  และได้มีการนำเสนอโครงการนี้ต่อนานาชาติเช่นกัน ล่าสุดรัฐบาลได้มีการร่าง พ.ร.บ.ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ หรือ พ.ร.บ.SEC ฉบับรัฐบาลซึ่งได้ร่างเสร็จแล้ว และมีร่างของพรรคภูมิใจไทย 2 ฉบับ และพรรครวมไทยสร้างชาติอีก 1 ฉบับ  โดยร่างของรัฐบาลคลอดออกมาแล้ว อยู่ระหว่างการรับฟังความเห็น นั่นหมายความว่าโครงการแลนด์บริดจ์  และกฎหมายที่จะเป็นเครื่องมือให้โครงการนี้เดินได้ ถูกขับเคลื่อนแล้วในรัฐบาลชุดนี้  จึงเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องจับตา และหยิบยกมาอภิปรายโดยภาคประชาชนในวันนี้ 

สมโชค จงจาตุรันต์ เครือข่ายรักษ์ระนอง  เริ่มต้นด้วยการชี้ถึงเหตุผลสำคัญที่ประชาชนไม่อาจไว้วางใจรัฐบาลทุกรัฐบาล จนมาถึงนายกฯแพทองธาร  ในการเดินหน้าโครงการแลนด์บริดจ์ ชุมพร-ระนอง และ พ.ร.บ.SEC ได้ แม้นายกฯปัจจุบันจะบอกว่าตนเองเป็น GEN Y   แต่การเดินหน้าโครงการนี้ ทำให้ตนอดมองไม่ได้ว่า วายนั้น คือวอดวายมากๆกับหลักการคิด   เพราะข้อมูลมีการนำเสนอ 2 ร่าง ที่จัดทำและศึกษาโดย สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข. ) ภายใต้กระทรวงคมนาคม    อีกฉบับคือรายงานของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่จัดทำโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเท่าที่ศึกษารัฐบาลเลือกหยิบยกรายงานของ สนข. ด้านเดียวเท่านั้น  ว่าโครงการแลนด์บริดจ์สามารถสร้างรายได้  สร้างอาชีพ รองรับตู้คอนเทนเนอร์ได้ด้านละประมาณ 20 ล้านตู้  แต่อยากให้นายกฯไปศึกษารายงานของสภาพัฒฯ เขาเขียนอย่างไรด้วย ถ้าท่านจำไม่ได้จริงๆ อยากให้ดูรายการย้อนหลังที่นายทักษิณ ชินวัตร เคยไปให้สัมภาษเรื่องแลนบริดจ์ไม่คุ้มค่า ซึ่งนายกฯต้องกลับไปศึกษา รวมไปถึงการทำลายระบบนิเวศรวมพื้นที่กว่าแสนไร่ ผ่านอุทยานแห่งชาติ ป่าสงวน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ที่ราชพัสดุ พื้นที่เกษตร พื้นที่อาศัย  สิ่งเหล่านี้ท่านไม่ได้พูดถึง 

“ประกอบกับ ร่าง พ.ร.บ. SEC  ที่ศึกษามาทุกร่างทุกพรรค 67 มาตรา แทบไม่ต่างกันเลย หลักใหญ่ใจความเหมือนกัน จนมาร่าง สนข. ทำขึ้น แม้ในร่างนี้ไม่ได้เขียนเรื่องที่มีข้อกังวลคือการทำให้ต่างชาติมาถือครองที่ดินได้ 99 ปี แต่ผมเชื่อว่าเมื่อถูกดันเข้าไปทั้ง 4 ร่าง จะกลายเป็นยำใหญ่ในร่างนี้  เรื่อง 99 ปี กลับมาแน่  และจริงๆ กม.นี้  ไม่ต้องให้นักการเมืองคิด ตาสีตาสาก็คิดได้  เพราะแค่ก๊อปปี้เพลสมาจาก พ.ร.บ. EEC  ชัดว่า คิดเพียงเรื่องเดียว มุ่งเน้นให้เกิดนิคมอุตสาหกรรมเท่านั้น ดังนั้นจึงไม่อาจไว้วางใจรัฐบาลนี้ได้เลย ” สมโชค กล่าว

เช่นเดียวกับ ณัฐยา  แสงสวัสดิ์ เครือข่ายรักษ์พะโต๊ะ   เป็นอีกเสียงที่บอกว่าไม่สามารถไว้วางใจรัฐบาลตั้งแต่ต้น และไว้วางใจรัฐบาลได้อีกต่อไป  เพราะแค่ความจริงใจในการรับฟังความเห็นแต่ละครั้งยังไม่มี  เพราะตนและครอบครัวเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง  มีที่ทั้ง นส.3ก และที่ดินที่เป็นโฉนด เคยไปขอลงชื่อผู้ได้รับผลกระทบ ในเวทีรับฟังความเห็นรอบ 2 แต่กลับถูกปฏิเสธโดยให้เหตุผลว่าไม่มีชื่อ ไม่ได้รับซองเชิญ 

“ที่น่าผิดหวัง คือเมื่อถามเหตุผลว่าใช้หลักเกณฑ์อะไรในการเชิญ  ได้คำตอบจากเจ้าหน้าที่ว่า ใช้วิธีการสุ่มเชิญ แล้วจะครอบคลุมอย่างไร เหมือนเวทีที่กำลังจะจัดวันที่ 26 มี.ค.นี้ ก็ได้ยินว่าเชิญแค่ 2 คน อยากถามรัฐบาลว่านี่คือหลักเกณฑ์อะไร ที่สำคัญข้อมูลที่ทางการให้เราไม่มีอะไรชัดเจนเลย อยากให้ทางการให้รายละเอียดทั้งหมดกับประชาชนในพื้นที่ได้รับรู้ข้อมูลโดยละเอียด”  ณัฐยา กล่าว

ทั้งนื้ ยืนยัน การมารวมตัวไม่ใช่การเรียกร้องค่าเวนคืน แต่เพราะรัฐไม่มีความชัดเจนอะไร ไม่บอกความจริงอะไรกับชาวบ้านในพื้นที่  และที่มาบอกพวกเราว่า ไม่เป็นไรเดี๋ยวฝึกอาชีพให้  ยิ่งสะท้อนว่าไม่ได้ศึกษาเลย ว่า คนพะโต๊ะมีอาชีพมีรายได้อยู่แล้ว โดยส่วนตัวจึงไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี และรัฐบาลได้อีกต่อไป  

ด้าน เบญจวรรณ ทับทิมทอง  เครือข่ายรักษ์พะโต๊ะ  กล่าว่า ที่ผ่านมารัฐบาลมักจะคิดว่า คนพะโต๊ะ ชุมพร เป็นแค่ตาสีตาสา รายได้ไม่กี่ร้อย แต่ข้อมูลซึ่งปรากฎทั้ง จากพาณิชย์จังหวัดและเกษตรจังหวัด ชาวบ้านที่นี่มีรายได้รวมกันเป็นหมื่นล้าน จาก สวนพืชผลไม้ 7 ชนิด เช่น ทุเรียน มังคุด กาแฟ ลองกอง มะพร้าว   ตกถึงมือลูกจ้างที่มารับจ้างด้วยกว่า1,500 ล้านบาท  ซึ่งตรงนี้ยังไม่รวมสวนนายทุน และเกษตรกรรายใหญ่ ซึ่งเมื่อเทียบกับรายได้ของ EEC ซึ่งหลายจังหวัด อ้างหลักหมื่นล้าน แต่พะโต๊ะอำเภอเดียว ก็หลักหมื่นล้านแล้ว ดังนั้นไม่อาจไว้วางใจโครงการแลนด์บริดจ์  และพ.ร.บ.SEC ที่สำคัญคือ รัฐบาลไม่เคยย้อนดูผลกระทบ EEC ด้วยซ้ำ 

รสิตา  ซุ่ยยัง เครือข่ายรักษ์ระนอง กล่าวว่า 3-4 ปีแล้วที่รัฐพยายามทำเรื่องนี้  โดยไม่นึกถึงพี่น้องชาวไทยพลัดถิ่นกลุ่มชาติพันธุ์ชาวมอแกลน พี่น้องประมง พี่น้องกลุ่มเปราะบางในพื้น ที่ไม่เคยอยู่ในสมการของรัฐบาลเลย  ดังนั้นจึงอยากพูดถึงนายกฯที่เป็นผู้หญิง เป็นแม่ และเป็นลูกด้วย  ตอนนี้รู้หรือไม่ว่ากำลังละเมิดสิทธิมนุษยชนอยู่  รู้หรือไม่ว่าหลังจากประกาศ พ.ร.บ.SEC แล้วจะเกิดไรขึ้นกับลูกๆของชาวบ้านในพื้นที่หลายพันคน  ซึ่งลูกของคนเหล่านี้เป็นพันคนจะไม่สามารถวิ่งเล่นหน้าบ้านตัวเองได้  ไม่สามารถวิ่งเล่นที่ทำงานพ่อแม่ได้  ไม่เหมือนลูกนายกฯ และพ่อแม่คนในพื้นที่ก็เกิดความเครียด นอนไม่หลับ กินไม่ได้ เพราะเขาไม่รู้ว่าจะไปอยู่ที่ไหน ไปทำอาชีพอะไร เขาไม่มีอนาคตเลย 

“คุณกำลังละเมิดสิทธิคนในพื้นที่อยู่  คุณไม่มีความเห็นอกเห็นใจมนุษย์ด้วยกันเอง กำลังทำลายสถาบันครอบครัวคนอื่น รู้หรือไม่คนเหล่านี้จะไม่มีที่ทำกินแล้ว อ่าวอ่างที่พี่น้องทำมาหากินจะถูกถมไป 7,000 ไร่ พอถูกถมทะเลสัตว์น้ำหายหมด  พื้นที่ดำน้ำ เรื่องธุรกิจท่องเที่ยวก็ถูกทำลาย ชาวประมงก็จบ ทั้งที่ส่งอาหารทะเลไปหล่อเลี้ยงคนทั้งประเทศ” รสิตา กล่าว

ในขณะที่ปัญหา พี่น้องคนไทยพลัดถิ่น ที่เขากลับมาได้แล้ว มีกม.สัญชาติตรามาได้ 10 ปี กลับยังแก้ปัญหาไม่จบ ด้วยปัญหาทุจริตในพื้นที่เป็นอุปสรรคต่อการพิสูจน์สิทธิ เดินทางออกนอกจังหวัดไม่ได้ ลูกเข้าโรงเรียนไม่ได้ รักษาพยาบาลได้ ปัญหาเหล่านี้กลับไม่ถูกแก้  แต่กลับจะยัดปัญหาใหม่เข้ามาอีก   การที่นายกรัฐมนตรีคิดถึงแต่เศรษฐกิจพิเศษ ให้เฉพาะคนพิเศษ   จึงขอไม่ไว้วางใจนายกฯ เพราะไม่มีใจเอื้อเฟื้อต่อผู้อื่น ต่อประชาชน  

สมบูรณ์ คำแหง  ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน ( กป.อพช.) กล่าวปิดท้ายว่า เรื่องนี้ยังเป็นเรื่องสำคัญที่คนในพื้นที่ รวมทั้งสังคมต้องช่วยกันติดตามจับตาผลกระทบอย่างใกล้ชิด  และเห็นว่าฝ่ายค้านเองต้องสนใจในการตรวจสอบอภิปราย และชี้ให้เห็นปัญหาสำคัญๆที่เกี่ยวกับชีวิต ปากท้อง ความเป็นอยู่ ความเดือนร้อนต่างๆที่อยู่ในระดับภูมิภาคด้วย  

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active