จี้ ส.ว. มีสปิริต หยุดสืบทอดอำนาจสร้างความเสียหาย-ความขัดแย้งในประเทศ ย้ำ การเลือกตั้งจะไม่มีทางเป็นธรรมและไม่เป็นที่ยอมรับจากประชาชนได้หากส.ว. ที่มาจาก คสช.ยังคงมีอํานาจเหนือประชาชน
วันนี้ (6 ก.ย.65) ที่อาคารสัปปายะสภาสถาน รัฐสภา เครือข่ายองค์กรภาคประชาชนคัดค้าน ม.272 ซึ่งเป็นการรวมตัวกันกว่า 130 องค์กร ร่วมกันจัดกิจกรรมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ โดยใช้กรรไกรตัดป้ายผ้า ที่มีข้อความว่า “ตัดอำนาจ ส.ว.“ เรียกร้องรัฐสภา ส.ส. และ ส.ว.โหวตตัดอำนาจ ส.ว.
จากนั้นเคลื่อนขบวนเข้าไปยังอาคารรัฐสภา เพื่อยื่นหนังสือถึง ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ผ่าน ณัฐกานต์ ชูชนะ เลขานุการคณะทำงานทางการเมืองของประธานสภาผู้แทนราษฎร ขอให้พิจารณายกเลิกรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 โดยเร็ว แบบสามวาระรวด
ตัวแทนเครือข่ายองค์กรภาคประชาชนคัดค้าน ม.272 กล่าวว่า อํานาจที่มากเป็น “พิเศษ” ของสมาชิกวุฒิสภา ที่มีที่มาแบบ “พิเศษ” นั้น เป็นปัจจัยสําคัญที่ทําให้รัฐสภาแห่งนี้ไม่ได้รับการเชื่อถือยอมรับ และทําให้รัฐบาลที่มาจากเสียงสนับสนุนของสมาชิกวุฒิสภาขาดความชอบธรรม ขาดการยึดโยงกับประชาชน อันเป็นสาเหตุสําคัญที่ทําให้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองอย่างรุนแรงในปัจจุบัน
เครือข่ายฯ เห็นว่า ต้ังแต่ คสช.ทํารัฐประหารเมื่อปี พ.ศ. 2557 ก็ได้ยึดอํานาจการปกครองประเทศไปไว้ในมือคนกลุ่มเดียว และยังไม่คืนอํานาจให้อยู่ในมือของประชาชนอย่างแท้จริง แต่ยังคงยึดกุมอํานาจไว้ด้วยกลไกหลากหลายใน รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน รวมไปถึงกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ ประกาศและคําสั่งของ คสช. และองค์กรอีกมากมายที่ถูกแต่งตั้งขึ้น ทั้งนี้ครื่องมือที่เห็นได้เด่นชัดที่สุดจากผลพวงเหล่านั้นคืออํานาจของสมาชิกวุฒิสภาในการเลือกนายกรัฐมนตรี อันเป็นปัจจัยที่กําลังนําไปสู่การสืบทอดอํานาจของคนกลุ่มเดิมต่อไป
ทั้งนี้ กลไกที่จะคืนอํานาจให้ประชาชนได้ดีที่สุด คือ “การจัดการเลือกตั้งทั่วไปที่บริสุทธ์โปร่งใสและเป็นธรรมโดยเร็ว” ซึ่งการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในอีกไม่นานนี้ จะไม่มีทางเป็นธรรมและไม่เป็นที่ยอมรับจากประชาชนได้หากสมาชิกวุฒิสภาที่มาจาก คสช.ยังคงมีอํานาจ “เหนือ ประชาชน” ที่ยังสามารถลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีคนต่อไปและรัฐบาลชุดต่อไปได้
เครือข่ายฯ จึงมีความเห็นร่วมกันว่า นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลในอนาคตนั้นจะต้องมีที่มาจากระบอบประชาธิปไตยที่ยึดโยงกับประชาชน จึงเสนอให้ที่ประชุมรัฐสภาเห็นถึงความสําคัญเรื่องนี้ โดยเห็นชอบกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 272 เพื่อยกเลิกอํานาจพิเศษของ ส.ว.ซึ่งถือเป็นภารกิจสำคัญและเร่งด่วน เพื่อนําไปสู่การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งให้ลดลง
“ หลายครั้งที่เรามีการยื่นร่างรัฐธรรมนูญเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นของพรรคฝ่ายค้าน หรือพรรคของฝ่ายรัฐบาล และเครือข่ายภาคประชาชน ยื่นมา 5 ครั้ง เราจะเห็นว่า ส.ว.ไม่เคยยกมือให้ร่างรัฐธรรมนูญของภาคประชาชนที่ต้องการตัดอำนาจ ส.ว.ให้เราเลย เราจึงขอให้ทั้งสมาชิกวุฒิสภา และสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร ได้มีการยกมือ 3 วาระรวดเลยในวันพรุ่งนี้ เพื่อให้ร่าง รธน.ฉบับนี้ผ่าน และเราคิดว่ามันไม่ควรจะมีการตั้ง กมธ. มาศึกษาอะไรอีกแล้ว เพราะว่าเราขอตัดแค่วรรคแรกของมาตรา 272 นั่นคือ ตัดอำนาจ ส.ว.ในการเลือกนายกฯ “
ธนพร วิจันทร์ ตัวแทนเครือข่ายองค์กรภาคประชาชนคัดค้าน ม.272
ตัวแทนเครือข่ายฯ ยังเห็นว่า หากยังคงอำนาจนี้ไว้ จะยิ่งเพิ่มความขัดแย้ง และสร้างความเสียหายให้กับประเทศมากขึ้น
“ เราเห็นปัญหา 8 ปี ที่ผ่านมาที่ สว. 250 คน ที่เลือก พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ฟังเสียงประชาชน ไม่ฟังเสียงของคนรุ่นใหม่ หรือไม่ฟังเสียงในการแก้ไขปัญหาใดๆทั้งสิ้น ปัดตกกฎหมาย แม้แต่กฎหมายในช่วงสถานการณ์โควิด ที่เราพยายามเรียกร้องให้มีเรื่องของบำนาญ เรื่องของสวัสดิการ นายกใช้แค่อำนาจของนายกรัฐมนตรี ซึ่งมาจากการเลือกตั้งจาก ส.ว.250 คน ปัดตกกฎหมายของเราทั้งหมด เราเห็นปัญหาที่มันไม่เกิดการแก้ไข และ 8 ปีมันสะสมปัญหามาเยอะ ตอนนี้เราคิดว่ามันควรหมดเวลาแล้ว ส.ว.ควรจะต้องมีสปิริตแล้วว่าอย่าทำให้บ้านเมืองย่ำแย่ไปมากกว่านี้ เราควรจะให้สิทธิ ส.ส.ในการเลือกนายกฯ เพราะเป็นตัวแทนที่ประชาชนเลือกมา “
ธนพร วิจันทร์ ตัวแทนเครือข่ายองค์กรภาคประชาชนคัดค้าน ม.272
โดยหลังยื่นหนังสือถึงประธานสภา ตัวแทนเครือข่ายฯ ได้ร่วมกันจัดกิจกรรม ฉีกกระดาษที่มีข้อความ เช่น ตัดอำนาจ ส.ว. ปิดสวิตช์ ส.ว. เปิดสวิตช์แก้ รธน.
ตัวแทนเครือข่ายฯ ยืนยันจะจับตาเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด ว่า ส.ว.จะมีความกล้าหาญในการปิดสวิตช์ ตัดอำนาจมาตรา 272 ตามข้อเรียกร้องประชาชนหรือไม่ ขณะเดียวกันจะจับตา ส.ส. และพรรคการเมืองแต่ละพรรค หากมีพรรคการเมืองใด หรือนักการเมืองคนใดที่ไม่เคารพและไม่ยืนเคียงข้างประชาชน จะบันทึกชื่อเอาไว้ และ จะรณรงค์ร่วมกันทั้งประเทศไม่ให้เลือก ส.ส.และพรรคเหล่านั้น เป็นผู้แทนของประชาชนค่ะ