เปิดภาพใต้น้ำหลังเส้น 12 ไมล์ทะเล พิสูจน์คุณค่าทะเลไทยมีมากกว่า ‘ปลากะตัก’

วงเสวนา “สภาปลาเล็ก” เปิดภาพชีวิตใต้สมุทรหลังเส้น 12 ไมล์ทะเล พิสูจน์ทะเลไทยมีมากกว่า ‘ปลากะตัก’ แต่ทั้งห่วงโซ่อาหารจะถูกทำลาย หากอวนตาถี่ถูกใช้จากการแก้ไขมาตรา 69 ใน พ.ร.ก.ประมง

วันนี้ (22 กุมภาพันธ์ 2568) ก่อนวุฒิสภาจะพิจารณาร่างแก้ไข พ.ร.ก.ประมง วาระ 2 และ 3 ในวันที่ 25 ก.พ.เครือข่ายสมาคมรักษ์ทะเลไทย สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้าน นักวิชาการทางทะเล และกลุ่มช่างภาพใต้น้ำ ร่วมเปิดเวทีเสวนา “สภาปลาเล็ก ถ้าไม่มา ไม่มีปลากินแล้วนะ” จัดแสดงภาพถ่ายสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทย เพื่อสร้างความเข้าใจและกระตุ้นการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล ก่อนที่ความอุดมสมบูรณ์จะสูญหายไป จากการแก้ไข พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 โดยเฉพาะมาตรา 69 ที่อนุญาตให้ใช้อวนล้อมจับปลากะตักในเวลากลางคืน และการใช้ไฟล่อปลาจะทำลายห่วงโซ่อาหารและส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในระยะยาว

ภาพรวมวงเสวย้ำถึงคุณค่าของทะเลของไทย ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพเป็นอย่างมาก และต้องได้รับการปกป้อง “เพราะทะเลเป็นของเราทุกชีวิตบนโลก มิใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง”

เส้นทางสู่ทะเลไทยที่ห่างออกไป 12 ไมล์ทะเล

กลุ่มช่างภาพใต้น้ำได้รวมตัวกันเพื่อออกสำรวจและบันทึกภาพสัตว์น้ำขนาดเล็กในท้องทะเลไทย การเดินทางครั้งนี้เริ่มต้นจากแนวคิดเล็ก ๆ ที่ต้องการพิสูจน์ให้เห็นว่าการใช้แสงไฟกลางคืนในทะเลส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตใต้น้ำอย่างไร ด้วยความตั้งใจและแรงสนับสนุนจากเครือข่ายทางโซเชียลมีเดีย พวกเขาสามารถระดมทุน ได้รับการบริจาคและสนับสนุนจากเพื่อนนักดำน้ำ จนเตรียมการเดินทางได้สำเร็จ

แม้จะมีอุปสรรคมากมายตั้งแต่ขั้นตอนการวางแผนจนถึงวันออกเดินทาง ทั้งเรื่องข้อจำกัดด้านงบประมาณ ปัญหาทางเทคนิค และความไม่แน่นอนของสภาพอากาศ ระหว่างทางมีการถอนตัวของสมาชิกบางส่วน การเปลี่ยนแผนการเดินทาง รวมถึงปัญหาสุขภาพของทีมงานบางคน อย่างไรก็ตาม ทุกคนยังคงเดินหน้าด้วยจิตวิญญาณของนักสำรวจและความมุ่งมั่นต่อการอนุรักษ์ทะเลไทย

การดำน้ำในทะเลเปิดยามค่ำคืนเป็นงานที่ท้าทายอย่างยิ่ง ด้วยสภาพแวดล้อมที่มืดสนิทและคลื่นลมที่ไม่เอื้ออำนวย การปฏิบัติงานในคืนแรกต้องปรับแผนเนื่องจากกระแสน้ำแรงจนส่งผลต่อการเก็บภาพ ทีมงานตัดสินใจย้ายจุดสำรวจมายังพื้นที่ที่ปลอดภัยขึ้น และแม้ว่าภารกิจจะเต็มไปด้วยความยากลำบาก แต่ทุกคนก็ยังสามารถบันทึกภาพที่สำคัญได้ ซึ่งเป็นหลักฐานที่มีคุณค่าในการสื่อสารถึงผลกระทบของแสงไฟต่อสิ่งมีชีวิตใต้น้ำ

กลุ่มช่างภาพและนักประดาน้ำย้ำว่า ภารกิจนี้ไม่ใช่เพียงแค่การเก็บภาพปลาเล็กเท่านั้น แต่ยังเป็นการฉายภาพความเชื่อมโยงของมนุษย์กับระบบนิเวศทางทะเล ข้อมูลและภาพถ่ายที่ได้จากการเดินทางครั้งนี้จะถูกนำไปใช้ในการสื่อสารและรณรงค์เพื่อสร้างความเข้าใจต่อสังคมว่า ท้องทะเลไม่ใช่เพียงทรัพยากรที่ถูกใช้สอย แต่เป็นบ้านของสิ่งมีชีวิตนับไม่ถ้วนที่ต้องการการปกป้องและฟื้นฟู

เพราะทุกคนเป็นนัก ‘วิทยาศาสตร์พลเมือง’
จึงเป็นเรื่องที่รัฐต้องฟัง

เพชร มโนปวิตร ที่ปรึกษาอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ด้านพื้นที่คุ้มครองทางทะเล ได้กล่าวถึงประเด็นสำคัญเกี่ยวกับการประมงยั่งยืน โดยเน้นว่ามนุษย์ไม่ควรเอาเปรียบธรรมชาติมากเกินไป การจับปลาแบบไม่เลือกโดยใช้อวนลากส่งผลให้เกิดการสูญเสียทรัพยากรทางทะเลอย่างมหาศาล ทั้งที่เรามีความอุดมสมบูรณ์อยู่ในมือ แต่กลับใช้มันอย่างไม่รู้คุณค่า เช่น การจับปลากะตักไปผลิตน้ำปลาเพียงอย่างเดียว

กิจกรรมการดำน้ำแบบ Black Water สะท้อนให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของทะเลไทย ไม่เพียงแต่มีความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจหรือการท่องเที่ยว แต่ยังเป็นคลังข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ชุมชนที่สำคัญที่สะท้อนไปถึงนโยบายภาพใหญ่ได้ว่า ตอบโจทย์พื้นที่จริงหรือไม่? ทะเลไทยเป็นทรัพยากรที่มีค่า แต่ต้องอาศัยการดูแลและอยู่ร่วมกับมันอย่างสมดุล กิจกรรมนี้ยังพิสูจน์ว่าใคร ๆ ก็เข้าถึงวิทยาศาสตร์ได้ และวิทยาศาสตร์โดยพลเมืองนี้เอง

เพชร ยังฝากข้อกังวลเกี่ยวกับอนาคตของท้องทะเลไทย โดยชี้ให้เห็นว่าการดำน้ำสำรวจนอกเขต 12 ไมล์ทะเลครั้งนี้ เป็นตัวอย่างของพลังจากคนตัวเล็ก ๆ ที่สามารถสร้างอิมแพคเชิงข้อมูลให้กับสังคม ทำให้คนทั่วไปได้ตระหนักว่าประเทศไทยมีทรัพยากรทางทะเลที่ดีไม่แพ้ที่อื่น สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่าทะเลไทยมีศักยภาพในการสร้างรายได้อย่างมหาศาล แต่เราจำเป็นต้องรู้จักถนอมและอยู่ร่วมกับมันอย่างยั่งยืน

“คุณูปการของการพยายามแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ ทำให้เราเห็นว่ามีคนรักท้องทะเลอยู่ และยืนยันว่ากฎหมายประมงจะไม่ถอยหลังกลับไป ผมเชื่อว่าเรามีบทเรียนไม่น้อยเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ เราเลยอยากสร้างการตระหนักรู้เป็นวงกว้างผ่านการเล่าเรื่องอย่างมีศิลปะ ถ้าสังคมเข้าใจ เราจะไม่ใช่แค่หยุดกฎหมายที่ทำลายทะเล แต่จะเป็นจุดเริ่มต้นของการร่วมมือกันสร้างเครือข่ายปกป้องทะเลไทย”

เพชร มโนปวิตร

ระบบนิเวศเบื้องหลัง 12 ไมล์ทะเล
ทำให้เรามีกินมีใช้

นัท สุมนเตมีย์ ช่างภาพสารคดี กล่าวถึงปลาที่เราเห็นในนิทรรศการว่า หลายคนอาจมองว่ามันแปลกตาหรือไม่น่าพิสมัย บางชนิดเรารู้จักเพียงแค่ในแง่ของการบริโภค แต่แท้จริงแล้วปลาเหล่านี้มีคุณค่ามากกว่านั้น พวกมันเป็นส่วนสำคัญของห่วงโซ่อาหาร แม้ว่าปลาบางตัวอาจไม่ได้มีประโยชน์โดยตรงกับมนุษย์ แต่ก็มีบทบาทสำคัญในการรักษาสมดุลของแนวปะการังและระบบนิเวศทางทะเล ซึ่งในท้ายที่สุด ความสมดุลนี้ก็จะส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหารของประชาชนทั่วประเทศ

ปัจจุบัน ผู้คนห่างไกลจากธรรมชาติมากขึ้น เราแทบไม่รู้จักปลาทะเลจริง ๆ เพราะตัวเลือกที่มีในตลาดส่วนใหญ่เป็นปลาเลี้ยง เมื่อพบเห็นปลาธรรมชาติที่แปลกตา หลายคนจึงไม่เข้าใจว่าทำไมเราต้องให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ หรือแม้แต่การที่ปลาในตลาดถูกแปรรูปเป็นปลากระป๋อง ทำให้เราขาดการเชื่อมโยงกับสิ่งมีชีวิตเหล่านี้

นัท เน้นว่า สิ่งสำคัญคือการสร้างความเข้าใจระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ โดยเฉพาะกับเด็ก ๆ และคนทั่วไป หากพวกเขาเข้าใจความสัมพันธ์นี้อย่างถ่องแท้ การออกกฎหมายที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ เช่น พระราชกำหนดประมง ก็จะไม่เกิดขึ้น เพราะสังคมจะตระหนักถึงความสำคัญของการอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างสมดุล

“แม้ปลาบางตัวมันไม่มีประโยชน์อะไรต่อเราเลย แต่มันช่วยรักษาสมดุลปะการัง และทรัพยากรธรรมชาติ และความรุ่มรวยนี้มันก็จะส่งไปยังปากท้องของประชาชนไทยทั่วประเทศ”

นัท สุมนเตมีย์

ใต้ผืนน้ำทะเลดำ ย้ำว่าเราไม่ได้เป็นสิ่งมีชีวิตเดียวบนโลก

วัชระ กาญจนสุต ครูสอนดำน้ำ ผู้เชี่ยวชาญ Blackwater Diving อธิบายว่า Black Water Diving เป็นการดำน้ำลึกในเวลากลางคืน ซึ่งต้องให้ความสำคัญกับความปลอดภัยอย่างมาก เนื่องจากต้องดำลงไปที่ระดับ 60–100 เมตร เหมาะสำหรับนักดำน้ำที่มีประสบการณ์สูงเท่านั้น แตกต่างจาก Bonfire Diving ที่เป็นการหย่อนแสงไฟในทุกระดับความลึกที่ตื้นกว่าเพื่อล่อสิ่งมีชีวิต ทำให้นักดำน้ำสามารถรับรู้ระดับความลึกและสังเกตพฤติกรรมของสิ่งมีชีวิตได้ชัดเจน

แต่ในการดำน้ำแบบ Black Water นักดำน้ำจะอยู่ในความมืดเกือบทั้งหมด แสงไฟที่ใช้มีน้อยและไม่ได้กระจายตัวมากนัก ทำให้การดำน้ำประเภทนี้ถูกนำมาใช้เพื่อหาข้อมูลในการศึกษาวิจัย และยังเป็นเทคนิคเดียวกับที่ชาวประมงใช้ในการล่อปลา

เขายังเล่าถึงปรากฏการณ์ที่เห็นจากแสงไฟใต้น้ำ ว่ามันสามารถดึงดูดสิ่งมีชีวิตขึ้นมา หลังจากกระโดดลงไปในน้ำ เขาได้เห็นฉลามหัวค้อนกำลังไล่ล่าปลาหมึกที่ระดับความลึกประมาณ 100 เมตร ซึ่งยืนยันถึงความอุดมสมบูรณ์ของทะเลไทย และยังพบฝูงปลาที่ใช้กองทางมะพร้าวเป็นที่หลบซ่อนจากผู้ล่า ท่ามกลางกระแสน้ำที่เชี่ยวกราก ภาพที่เขาเห็นช่วยให้เข้าใจพฤติกรรมของนักล่า เช่น ปลาหมึก และสะท้อนถึงระบบนิเวศที่ซับซ้อน เมื่อปลาเล็กเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ห่วงโซ่อาหารก็ยังคงทำงานอยู่ตามกลไกของธรรมชาติ

วัชระ เน้นย้ำว่า ทะเลไทยเต็มไปด้วยสิ่งมีชีวิตแปลกใหม่ที่พิเศษและหาดูได้ยาก สิ่งเหล่านี้ควรได้รับการอนุรักษ์ ไม่ว่ามันจะดูแปลกแค่ไหนก็ตาม เพราะมันเป็นส่วนสำคัญของระบบนิเวศ เราไม่ควรทำลายสิ่งเหล่านี้เพียงเพราะต้องการผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจในระยะสั้น ไม่มีความจำเป็นใดที่เราต้องทิ้งและทำลายเพชรงามที่มีอยู่แล้วในท้องทะเล เพื่อโกยเอาเพียงเศษพลอยมาประทังชีวิต

“ทำไมกฎหมายที่เอื้อให้ใช้เครื่องมือประมงที่ทำลายล้าง เช่น อวนตาถี่ ถึงได้รับการผลักดันอย่างรวดเร็ว แต่กฎหมายที่มุ่งเน้นการคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติและลดผลกระทบต่อระบบนิเวศกลับไม่ถูกให้ความสำคัญ?

วัชระ กาญจนสุต

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active