ก้าวไกล จี้ กสทช. ปิดประตูควบรวมทรู – ดีแทค

“ศิริกัญญา” มองกฤษฎีกาตีความแล้ว มีอำนาจเต็มร้อย พบพิรุธที่ปรึกษาอิสระ ขาดความเป็นกลาง อาจเอื้อผูกขาดธุรกิจโทรคมนาคม

ต่อกรณีที่มีรายงานข่าวจากสำนักข่าวต่าง ๆ เกี่ยวกับการตีความอำนาจ กสทช. โดยคณะกรรมการกฤษฎีกา ในการอนุญาตหรือไม่อนุญาตควบรวมทรู-ดีแทค ซึ่งหลายสำนักข่าวได้ให้ข่าวไปในทิศทางว่า กสทช. คณะกรรมการกฤษฎีกาปลดล็อกให้การควบรวมทรู-ดีแทค ทำได้โดยไม่ต้องขออนุญาตนั้น ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้ความเห็นไปในทิศทางตรงข้ามว่าความเห็นของกฤษฎีกาครั้งนี้ยิ่งเป็นการตอกย้ำว่าอำนาจในการอนุญาตควบรวมกิจการนั้นเป็นอำนาจหน้าที่ กสทช. อย่างเต็มที่

“เอกสารความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาครั้งนี้ ตีความแบบที่ต้องตีความอีก และเต็มไปด้วยความคลุมเครือ ทำให้คนอ่านสับสนและต้องมานั่งตีความกันหลายชั้นว่าตกลง กสทช. มีอำนาจพิจารณาอนุญาตให้เกิดการควบรวมหรือไม่ ทั้ง ๆ ที่คำถามของ กสทช.นั้นตรงไปตรงมา”

อย่างไรก็ตาม ศิริกัญญา มองว่า ถึงแม้ความเห็นของกฤษฏีกาจะกล่าวได้คลุมเครือ แต่เอกสารฉบับนี้มีสาระสำคัญที่ต้องพิจารณา 2 เรื่อง คือ คณะกรรมการกฤษฎีกาบอกอย่างชัดเจนว่าเรื่องส่วนใหญ่ที่ กสทช. ถามไปนั้น เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการใช้ดุลยพินิจตามกฎหมาย กสทช. คณะกรรมการกฤษฎีกาไม่อาจให้ความเห็นในส่วนอำนาจหน้าที่ กสทช. อันเป็นองค์กรอิสระได้

และเรื่องที่สอง คือ คณะกรรมการกฤษฎีกายังเขียนอย่างชัดเจนว่าเพื่อกำกับดูแลมิให้การรวมธุรกิจมีผลเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันจึงให้อำนาจ กสทช. กำหนดเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะตามประกาศ ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกาได้อ้างถึง ข้อ 8 ของประกาศปี 2549 และข้อ 9 ของประกาศปี 2561 ส่วนหนึ่งของการให้ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีการะบุว่า

“…เพราะในกรณีที่เข้าข่ายตามข้อ 8 ของประกาศฉบับปี 2549 กสทช. ก็มีอำนาจอนุญาตตามข้อ 8 นั้นได้อยู่แล้ว”

ศิริกัญญา กล่าวต่อว่า เนื้อความในข้อ 8 ตามประกาศปี 2549 พูดถึงการถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกัน โดยการเข้าซื้อหุ้นเกินกว่าร้อยละสิบ ของผู้รับใบอนุญาตรายอื่น หรือการเข้าซื้อสินทรัพย์ ไม่ว่าจะกระทำโดยทางตรงหรือทางอ้อมผ่านตัวแทนจะกระทำไม่ได้ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจาก กสทช. ดังนั้นความเห็นทางกฎหมายนี้จึงยิ่งตอกย้ำว่า กสทช. ไม่อาจปัดความรับผิดชอบในการพิจารณาหยุดยั้งการผูกขาดธุรกิจโทรคมนาคมครั้งนี้ได้ เพราะเข้าข้อ 8 เต็ม ๆ ว่าเป็นการถือหุ้นทางอ้อม ของบริษัทแม่ในบริษัทลูกอย่างทรู และดีแทค

ความแปลกประหลาดของข่าวที่มีการส่งให้นักข่าว และเผยแพร่กันอยู่ตอนนี้ คือมีการอ้างถึงรองเลขาธิการ กสทช. นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล ทั้ง ๆ ที่ข่าวนี้ไม่ได้ถูกส่งจาก สำนักงานกสทช. และไม่ได้มีมติจากบอร์ดให้เผยแพร่ ถ้าจำกันได้เคยมีกรณีที่สั่งลบอินโฟกราฟิกโดยอ้างว่าไม่ได้มีมติบอร์ดกสทช.ให้เผยแพร่ จึงเป็นที่น่าสงสัยไอ้โม่งคนไหนที่ส่งข่าวนี้ให้นักข่าวกันแน่ นอกจากนี้ ยังมีอีกข้อสังเกตของความไม่ชอบมาพากลของ “ที่ปรึกษาอิสระ” ที่ว่าจ้างโดยทรู และดีแทค เพื่อให้เป็นไปตามประกาศ กสทช. เข้ามาจัดทำรายงานศึกษา คือ บล.ฟินันซ่า ซึ่งจากรายงานข่าวในหน้าสื่อ มีการเปิดโปงถึงความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับบริษัททรู

จากการตรวจสอบผู้ถือหุ้นใหญ่ของ บล.ฟินันซ่า คือ บล.ที่ปรึกษาลงทุน เอฟเอสเอส อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (บล.เอฟเอสเอส) มี บล.ฟินันเซีย ไซรัส ถือหุ้นอยู่ถึง 89.99% ซึ่งปรากฎผู้ถือหุ้นจำนวนหนึ่ง และผู้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ เป็นผู้บริหารของกลุ่มบริษัททรู ศิริกัญญา จึงตั้งข้อสังเกตว่า บล.ฟินันซ่า ขาดคุณสมบัติในเรื่องความเป็นอิสระมาตั้งแต่ต้น และอาจส่งผลให้การยื่นขอควบรวมของทรู-ดีแทค เป็นโมฆะหรือไม่

“ถ้าพิจารณากันด้วยเหตุผล ไม่มีเหตุผลใดเลยที่ กสทช. จะยอมรับให้การควบรวมธุรกิจโทรคมนาคมของประเทศเหลือเพียง 2 เจ้าใหญ่เกิดขึ้นได้ เรื่องนี้จึงเหลือแค่ด่านสุดท้ายคือให้ กสทช. มีความกล้าหาญทำตามหน้าที่ของตนเอง ปกป้องผลประโยชน์ประชาชนโดยอย่างตรงไปตรงมา โดยไม่เกรงใจกลุ่มทุน”ฃ

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active