สภานักศึกษา มธ. มอบรางวัล จารุพงษ์ ทองสินธุ์ เพื่อประชาธิปไตย ให้เยาวชนที่เสียชีวิตจากการร่วมชุมนุมที่ดินแดง ย้ำว่าคนธรรมดาจะไม่ถูกลืมในฐานะเหยื่อความรุนแรง ด้าน “กลุ่มราษฎร” ประกาศเรียกร้องยุบสภา จัดการเลือกตั้งให้เร็วที่สุด จี้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปมกฎหมายลูก พร้อมเริ่มเคลื่อนไหวกดดันตั้งแต่วันนี้
วันนี้ (6 ต.ค. 2565) ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีการจัดงานรำลึก 46 ปี 6 ตุลา 2519 มีตัวแทนญาติวีรชน คนเดือนตุลา นักการเมือง นักวิชาการ และประชาชนเข้าร่วมวางพวงมาลาไว้อาลัยถึงผู้จากไปในเหตุการณ์สังหารหมู่ประชาชนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมีปาฐกถา และการมอบรางวัลจารุพงษ์ ทองสินธุ์ ภายในงานนี้ด้วย
สำหรับการมอบรางวัลจารุพงษ์ ทองสินธุ์ เพื่อประชาธิปไตย ในปีนี้ มอบให้กับ “วาฤทธิ์ สมน้อย” เยาวชนอายุ 15 ปี ที่เสียชีวิตจากการถูกยิงบริเวณใกล้ สน.ดินแดง เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2564 และนอนรักษาตัวอยู่ห้องผู้ป่วยวิกฤต (ICU) โรงพยาบาลราชวิถี นานเกือบ 3 เดือน ก่อนจะเสียชีวิต ในวันที่ 28 ตุลาคม 2564 โดยการมอบรางวัลในครั้งนี้เพื่อเป็นการย้ำว่าคนธรรมดาคนหนึ่งจะไม่ถูกลืมในฐานะเหยื่อของความรุนแรง
รางวัลจารุพงษ์ ทองสินธุ์ เพื่อประชาธิปไตย คือ รางวัลโดยสภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่มอบให้แก่ผู้ที่เคลื่อนไหวเรียกร้องและปกป้องประชาธิปไตย เช่นเดียวกันกับจารุพงษ์ ทองสินธุ์ ที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งในการมอบรางวัลระบุว่า ทั้งจารุพงษ์ และวาฤทธิ์ ล้วนมีอุดมการณ์แห่งประชาธิปไตย และมีเจตจำนงเสรีอย่างชัดเจน ซึ่งยังมีคนธรรมดาอีกหลายคนที่เป็นเช่นนี้ และต่างก็เป็นเหยื่อของความรุนแรง สำหรับผู้ที่เคยได้รับรางวัลจารุพงษ์ ทองสินธุ์ ที่ผ่านมา ได้แก่
ปี 2562 สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ จ่านิว
ปี 2563 อานนท์ นำภา และภาณุพงศ์ จาดนอก
ปี 2564 พริษฐ์ ชิวารักษ์
และปี 2565 วาฤทธิ์ สมน้อย โดยมี นายแพทย์ทศพร เสรีรักษ์ เป็นผู้รับรางวัลแทนครอบครัว
กลุ่มราษฎร ประกาศข้อเรียกร้องยุบสภา จัดการเลือกตั้งให้เร็วที่สุด
“นับถอยหลังประมาณ 7 เดือน กับการกำหนดอนาคตทางการเมืองของประเทศไทย แต่ระหว่างที่พวกเขาครองอำนาจ เราไม่อาจมั่นใจได้ว่าจะนำประเทศไปสู่ทิศทางใด จึงขอเรียกร้องให้ยุบสภา และคืนอำนาจให้ประชาชนโดยเร็วที่สุด และต้องทำทันที เมื่อผ่านองค์ประกอบ 3 ประการ…”
‘มายด์’ ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล แกนนำกลุ่มราษฎร นำประกาศข้อเรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภา และจัดการเลือกตั้งโดยเร็วที่สุด ผ่านเงื่อนไข 3 ข้อ คือ 1.) ศาลรัฐธรรมนูญ ต้องวินิจฉัยคดีที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายเลือกตั้งโดยเร็ว เพื่อให้กฎหมายมีผลบังคับใช้ ในการกำหนดกติกาการเลือกตั้งที่ชัดเจน 2.) คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ต้องกำหนดกติกาการเลือกตั้ง และรายละเอียดที่ชัดเจนโดยเร็วที่สุด และบังคับใช้อย่างเท่าเทียมกับผู้สมัครทุกพรรค ทั้งการประกาศสูตรคำนวณคะแนน การแบ่งเขตเลือกตั้ง และเปิดโอกาสให้ประชาชนสังเกตการณ์การเลือกตั้งในทุกขั้นตอน จนถึงการเปิดเผยคะแนนอย่างโปร่งใส
สุดท้ายคณะรัฐมนตรีต้องมอบหมายไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเดินหน้าสู่การเลือกตั้งที่โปร่งใสและเป็นธรรม และประกาศยุบสภาในทันที ทั้งนี้ หากไม่ตอบรับ กลุ่มราษฎรจะเดินหน้ากดดัน เคลื่อนไหวเรียกร้องต่อพรรคการเมือง และองค์กรอิสระ รวมถึงสังคมทั่วไป เพื่อกดดันไปยังรัฐบาล ต่อการบรรลุเป้าหมายร่วมกันของราษฎรต่อไป
ด้าน จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ‘ไผ่ ดาวดิน’ กล่าวว่า เห็นด้วยว่าต้องมีการเลือกตั้ง และทุกคนอยากเลือกตั้ง แต่การเลือกตั้งอย่างเดียวคงไม่พอ จะทำอย่างไร เพื่อให้เกิดการเลือกตั้งได้เร็วสุด และเป็นธรรมโปร่งใสที่สุด คือสิ่งที่ราษฎรจะทำนอกเหนือจากรอการเลือกตั้ง