ยื่น 6 พันรายชื่อ ถึงศาลฎีกา สนับสนุนข้อเรียกร้อง ‘แบม-ตะวัน’ 

คณาจารย์คณะนิติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ร้องศาลฎีกา ให้คืนสิทธิ์ปล่อยชั่วคราวให้แก่ผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีการเมือง ด้าน ตัวแทนฯ ชี้ หากยังไม่มีความคืบหน้า จะเดินหน้ายกระดับการเรียกร้อง

วันนี้ (30 ม.ค. 2566) กลุ่มราษฎร กลุ่มทะลุวัง ตัวแทนคณาจารย์คณะนิติศาสตร์ทั่วประเทศไทย และประชาชน เดินขบวนยื่น 6,514 รายชื่อต่อศาลฎีกา สนับสนุนข้อเรียกร้องของสองนักกิจกรรม ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือ ตะวัน และ อรวรรณ ภู่พงศ์ หรือ แบม ในวันที่ 16 มกราคมที่ผ่านมาซึ่งเรียกร้องให้มีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมที่คำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน 

ข้อเรียกร้องดังกล่าวระบุว่าต้องมีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ยุติการดำเนินคดีความกับประชาชนที่ใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นการชุมนุมและการแสดงออกทางการเมือง และพรรคการเมืองทุกพรรคต้องเสนอนโยบายเพื่อประกันสิทธิเสรีภาพและการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน โดยการยกเลิกมาตรา 112 และมาตรา 116 

ภายหลังจากที่ข้อเรียกร้องดังกล่าวไม่ได้รับการตอบสนอง กระทั่งวันที่ 19 มกราคม 2566 มีการยกระดับการเรียกร้องโดยทั้งสองประกาศ “อดอาหาร และอดน้ำ” จนกว่าข้อเรียกร้องของพวกเขาจะบรรลุผล จนกระทั่งสุขภาพทรุดโทรมลงเข้าขั้นวิกฤต 

ทั้งนี้  ยังมีหนังสือเปิดผนึกของคณาจารย์คณะนิติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ กว่า 66 รายชื่อ   เรียกร้องให้คืนสิทธิ์ในการได้รับการปล่อยชั่วคราวให้แก่ผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีการเมือง  พร้อมระบุว่า จากการที่ศาลอนุญาตให้ถอนประกัน ตัวทั้งสองคนนั้นทำให้ในขณะนี้มีผู้ต้องหาในคดีทางการเมืองที่ถูกควบคุมตัวทั้งก่อนและระหว่างพิจารณาในชั้นศาล เป็นจำนวนกว่า 15 คน โดยไม่ได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว จึงเรียกร้อง

1.ขอให้ศาลพิจารณาเพิกถอนคำสั่งถอนประกันตัวของ ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และ อรวรรณ ภู่พงษ์ เพื่อให้ทั้งสองได้รับอิสรภาพโดยเร็วที่สุดก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป 

2.ขอให้ศาลพิจารณาปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีการเมืองทุกคดีตามหลักกฎหมาย เพื่อธำรง ไว้ซึ่งนิติรัฐและหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ในคดีอาญา 

3. ขอให้ศาลพิจารณายกเลิกกำหนดเงื่อนไขการประกันตัวที่ขัดต่อหลักความได้สัดส่วนและขัดต่อหลัก สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ในคดีอาญา ในสถานการณ์ความขัดแย้งของสังคมอันเนื่องมาจากความแตกต่างทางความคิด การใช้อำนาจตุลาการ อย่างเป็นธรรมและสอดคล้องกับกฎหมายและรัฐธรรมนูญจะเป็นกลไกสำคัญในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของ ประชาชนทุกฝ่าย และทําให้สถานการณ์ความขัดแย้งไม่ลุกลามบานปลาย 

ทั้งนี้ มีตัวแทนจากศาลฎีกามารับหนังสือ แต่ไม่มีการแถลงการณ์ใด ๆ อย่างไรก็ตาม ตัวแทนขบวนของประชาชนที่เดินขบวนวันนี้ ระบุว่า หลังจากนี้หากยังไม่มีท่าทีรับข้อเสนอพิจารณา และไม่มีความคืบหน้า จะมีการเดินขบวนเช่นนี้อีกพร้อมทั้งคาดการณ์ว่าอาจจะมีมวลชนที่ให้ความสนใจเพิ่มขึ้น

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active